ตอนที่ 184 : ความวิบัติของมนุษย์

         ขอความเจริญในพระสัทธรรมจงมีแด่ท่านผู้อ่านทุกท่าน

         เราได้ยินคำว่า “วิบัติ” หรือ “พิบัติ” เช่น ภัยพิบัติที่เกิดจากภัยธรรมชาติ เช่น อุทกภัย วาตภัย ถ้าโจรภัยเขาไม่เรียกว่าภัยพิบัติ หรือสงครามซึ่งมนุษย์เป็นผู้ทำความพิบัติหรือวิบัติให้แก่มนุษย์ด้วยกัน ในความวิบัตินั้นถ้าไม่มีมนุษย์เสียอย่างหนึ่งมันก็ถือเป็นธรรมชาติ เช่น เกิดภัยธรรมชาติในสถานที่ต่าง ๆ โดยไม่มีมนุษย์อยู่ เมื่อมนุษย์ไม่ได้รับความเสียหายมันก็ไม่มีคำว่า “วิบัติ” หรือ “พิบัติ” แต่ถ้ามนุษย์อยู่ด้วยมนุษย์ก็เดือดร้อน เมื่อมนุษย์เดือดร้อนมนุษย์ก็บอกว่านั่นแหละคือ “ภัยพิบัติ” หรือ “ความพิบัติ” 

         อันที่จริงความวิบัติหรือพิบัติในความหมายของพระพุทธเจ้านั้น เกิดขึ้นแก่ตัวคนนี่แหละ ตัวคนเรานี้มีความวิบัติอยู่ ๓ ประการ ศีลวิบัติ ทิฏฐิวิบัติ อาชีววิบัติ วิบัติ ๓ ประการนี้เป็นวิบัติที่ติดตัวมนุษย์อยู่ ถ้าไปหลงเข้าถลำเข้าก็สร้างความวิบัติให้แก่ตนและคนอื่น  

                  ศีลวิบัติ - ความเสียแห่งศีล

                  ทิฏฐิวิบัติ - ความเห็นผิดธรรมผิดวินัย 

                  อาขีววิบัติ - ความเสียหายแก่การเลี้ยงชีพ

          ถ้า ๓ อย่างรวมกันล่ะก็กล่าวได้ว่าหมดความเป็นคน 

          “ศีลวิบัติ” คือการผิดศีล ๕ ผลของวิบัติตามมาคือ....

                    หมดความเป็นคน 

                    ผจญกับศัตรู

                    อยู่อย่างไม่มีความสุข

                    จิตใจหวั่นไหวในความทุกข์

                    ติดคุกเข้าตะราง

                    อำพรางตัว

                    กลัวถูกล้างแค้น

         นี่คือผลของศีลวิบัติ

         ศีลอะไรที่วิบัติ ? ถ้าคุณวิบัติศีล ๕ วิบัติจนเคยชินก็จะหมดความเป็นคน ดังนั้นในศาสนาจึงมีการสอนศีล ๕ ประการในมนุษย์ อาจจะเรียกว่า “ธรรม ๕ ประการ” ก็ได้ เรียกว่าคล้าย ๆ กัน แต่ในพระพุทธศาสนาจะทำอะไรก็แล้วแต่ จะต้องมีศีลก่อน นี่เป็นหลักการ ขอให้ท่านผู้อ่านสังเกตว่า ในพระพุทธศาสนาในพิธีกรรมต่าง ๆ พระสงฆ์จะต้องเริ่มจากการให้สมาทานศีลก่อน เพื่อจะพิสูจน์คน ๆ นั้นว่าเป็นคนมีศีลหรือไม่มีศีล กล้าจะรับศีลหรือไม่ ถ้าเขามีศีลเขาก็รับศีลอย่างแคล่วคล่อง เริ่มตั้งแต่ทดสอบว่าอาราธณาศีลเป็นไหม ถ้าอาราธณาไม่เป็นก็หวั่นใจไว้เถอะ 

          ต่อมาคือ “องค์ศีล” เวลารับศีล ถ้าเขารับศีลอย่างแคล่วคล่อง พระตั้งมะโม ๓ จบเสร็จ เขาก็ตั้งนะโมตามพระ พระให้สรณคมน์ “พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ” เขาก็ว่าตามอย่างแคล่วคล่อง พอถึงองค์ศีล ๕ ประการ เขาก็ว่าตามได้อย่างแคล่วคล่อง ถ้าอย่างนี้ก็แสดงว่ามีศีล ควรจะรับควรจะคบ แต่ถ้าเขาอาราธณาศีลไม่ได้ก็ยังไม่เป็นไร แต่บางทีพระตั้งนะโมตัสสะแต่ท่านว่านะโมเสียแล้ว ถ้าอย่างนี่แสดงว่ายังไกลวัดมาก พระจะหวั่น ๆ ใจในการที่จะรับของ ๆ คนเหล่านี้เอาไว้ แต่ถ้าต้องสอนการรับศีลกันทุกตัว ถ้าเป็นคนไทยแสดงว่าคนนี้ห่างไกลศีลธรรม เราจะต้องสังเกตคนให้มากจากศีล จากการสมาทานศีลก็พอจะรู้แล้วว่าเขาเป็นคนอย่างไร ในกิจอย่างอื่นที่เกี่ยวกับการบุญการกุศลก็เหมือนกัน ต้องมีการสมาทานศีลแม้แต่ในพระราชพิธีต่าง ๆ เพื่อพิสูจน์คนเหล่านั้นว่าเขาเป็นคนมีศีลไหม แต่ถ้าไม่รับศีลก็มีอีกข้อวินิจฉัยหนึ่ง เขาจะไม่ยกมือแม้ว่างานนั้นจำเป็น เช่น งานราชการ ก็แสดงว่าเขาเป็นคนต่างศาสนา ไม่สามารถทำศาสนพิธีของศาสนาอื่นได้ อันนี้ก็ดูได้ว่าเขาไม่ใช่คนเลว เพราะคนที่มานั่งในกลุ่มเป็นคนอีกประเภทหนึ่ง ถ้าอย่างนี้ต้องวินิจฉัยถูกว่าเขาเป็นคนต่างศาสนา ถ้าศาสนาเดียวกันศาสนาพุทธไม่รับศีลหรือกระพร่องกระแพร่ง ให้ระวังไว้เถอะ นั่นแหละบุคคลไม่มีศีล 

          ศีลอันเป็นหลักสำคัญคือ “ศีล ๕” 

                   -  ปาณาติปาตา เวระมะณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ

                   -  อะทินนาทานา เวระมะณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ

                   -  กาเมสุ มิจฉาจารา เวระมะณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ

                   -  มุสาวาทา เวระมะณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ

                   -  สุราเมระยะมัชชะปะมาทัฏฐานา เวระมะณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ

                                        คือ

                               ไม่ฆ่า ไม่รังแกสัตว์ 

                               ไม่ลัก ไม่ฉ้อโกงทรัพย์

                               ไม่เจ้าชู้ ไม่แอบไปมีคู่ลับ ๆ

                               ไม่พูดโกหก ไม่สับปลับ

                               ไม่รับของมึนเมาเข้าร่างกาย

                                       นี่คือ “องค์ศีล”

         ถ้าคนผิดศีลชินกับความชั่วเสียแล้ว ผลของความวิบัติก็ตามมาดังที่ได้กล่าวแล้วว่าหมดความเป็นคน เพราะสมบัติมนุษย์คือ “ศีล ๕” 

         ผจญต่อศัตรู ลองคิดดูสิว่าผิดศีลข้อไหนก่อให้เกิดศัตรู ปาณาเป็นศัตรู การลักและฉ้อโกงทรัพย์ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบของการเล่นการพนันหรือในรูปแบบอื่น ๆ ก็เกิดศัตรู กาเมก็เกิดศัตรูภายในบ้านและศัตรูอื่น ๆ อีกเยอะ มุสาก็ก่อให้เกิดศัตรู สุราก็เกิดศัตรู เมื่อมีศัตรูก็อยู่อย่างไม่มีความสุข คนผิดศีลจะไม่มีความสุขจิตหวั่นไหวในความทุกข์

         ติดคุกติดตาราง ความวิบัติก็ตามมา 

         อำพรางตัว เมื่อทำความผิด มีศัตรู มีโทษ ก็ต้องหลบ ๆ ซ่อน ๆ 

         สุดท้าย กลัวถูกตามล้างแค้น ก็เพราะตนเองไม่มีศีลนั่นเอง

         ดังนั้นจึงต้องตรึกระลีกเสมอว่า ถ้าอยากเป็นคนก็ต้องมีศีลเป็นมนุษย์สมบัติ ถ้าหมดความเป็นคนก็ผิดศีลชินความชั่วเข้าไว้ ก็จะกลายเป็นมนุษย์วิบัติที่วิบัติทุกประการดังที่ได้กล่าวแล้ว และจะกลายเป็นมนุษย์อันตรายสำหรับคนรอบข้างและสังคม

         ขออำนวยพร ๚

                                พระเทพปฏิภาณวาที

                                      (เจ้าคุณพิพิธ)

 


อ่าน : 0

แชร์ :


เขียนความคิดเห็น