ตอนที่ 31 : ชีวิต สุข - โศก เพราะกฎแห่งกรรม

คนสมัยนี้มีน้อยคนที่เชื่อเรื่องเวรกรรม เพราะถ้าหากเขาเชื่อเขาจะไม่กล้าทำผิดศีล ซึ่งความจริงแล้วเวรกรรมนั้นมีจริง และมันก็ส่งผลต่อการดำเนินชีวิตของแต่ละบุคคล คนที่สั่งสมทำความดี ชีวิตจะพบแต่ความสุขสบาย ในขณะที่คนประพฤติชั่ว ก็เสวยผลกรรมที่เขากระทำ ซึ่งมีตั้งแต่เป็นทุกข์ใจ เป็นทุกข์กาย บางคนติดคุกติดตะราง ขาดอิสรภาพ”

       ตามหลักพระพุทธศาสนา กรรมคือการกระทำ ซึ่งมี ๒ อย่าง คือ กุศลกรรม คือ กรรมดี เป็นการกระทำที่เป็นบุญหรือเป็นกุศล กับ อกุศลกรรม คือ กรรมชั่วเป็นการกระทำที่เป็นบาปหรือเป็นอกุศล เช่น การกระทำกรรมในระดับประเทศของนักการเมืองบางคน บางกลุ่ม ที่มีการคดโกงหรือการคอร์รัปชัน กิน หิน ปูนทราย หรืองบประมาณแผ่นดิน ในทางพุทธศาสนาแล้วผู้ที่กระทำอกุศลกรรมเช่นนี้จะถูกตราหน้าจากคนทั่วทั้งแผ่นดินไปจน ๗ ชั่วโคตร หรือที่ทางพระพุทธศาสนาเรียกว่า “โลกวัชชะ” คือถูกคนในโลกตำหนิติเตียน ซึ่งจะโดนอย่างต่ำ ๆ ก็ ๗ ชั่วโคตรเลยทีเดียว เมื่อมีชีวิตอยู่ก็จะอยู่อย่างไม่เปิดเผย มีความทุกข์ทางใจตลอดเวลา

         อาตมาเชื่อว่ามีหลาย ๆ คนไม่เชื่อเรื่องบุญกรรม เพราะมองเห็นอยู่ว่าคนที่คดโกงเขายังร่ำรวยเงินทอง มีชีวิตที่สุขสบาย ซึ่งความจริงแล้วไม่ใช่ เพราะคนคดโกงนั้นมันต้องการเงินแต่ไม่ต้องการความสุข เพราะคนที่คิดจะโกงคนอื่นนั้น มันทุกข์ตั้งแต่คิดจะโกง เพราะต้องโกหก เพื่อปกปิดความผิดของตนเพื่อจะได้ฉ้อฉลประโยชน์คนอื่น ซึ่งจะเป็นคนที่มีแต่ความทุกข์ คนในปัจจุบันเว้นการมองทุกข์ภายใน มองกันแต่ภายนอก ซึ่งจะไม่รู้ว่าคนพวกนี้จะมีหอกทิ่มแทงอยู่ทุกวัน ซึ่งคนภายนอกจะไม่รู้แต่ตัวเขาเองจะรู้

         ในขณะที่ผู้ก่ออกุศลกรรมอื่น ๆ เช่น ผู้ที่ปฏิบัติต่อพ่อแม่ไม่ดี ไม่เลี้ยงดูพ่อแม่ ชาตินี้จะไม่พบกับความเจริญรุ่งเรือง ส่วนคนที่เกิดมาในชาตินี้แล้วรูปร่างไม่ดี คือคนที่เลี้ยงพ่อเลี้ยงแม่ไม่ดี เป็นประเภทเลี้ยงไปบ่นไป ชอบโกรธ ขณะที่คนที่ดูแลพ่อแม่ ในชาติหน้าคนเหล่านี้จะมีรูปร่างงดงาม

         บางคนเป็นคนรวยแต่หน้าตาทุเรศ รูปร่างไม่ดี คนประเภทนี้สันนิษฐานได้ว่าชาติที่แล้วชอบบำเพ็ญทาน แต่พอเลี้ยงพ่อเลี้ยงแม่แล้วมีอารมณ์โกรธ ยิ่งคนประเภทที่เลี้ยงพ่อเลี้ยงแม่แล้วชอบโกรธ ชอบกระทืบเท้า นอกจากจะมีรูปร่างไม่งดงามแล้ว เกิดชาติหน้าจะยิ่งมีร่างกายที่เตี้ยแคระลงไปเรื่อย ๆ ปัจจุบันนี้มีให้เห็นถมไป ที่กล่าวมาข้างต้นนี้คือ “หมวดกรรมย่อ” ที่เราจะสามารถทำให้คนที่มีชีวิตอยู่นี้รู้จักเทียบได้ด้วยตัวเอง

         อย่างไรก็ตามการทำกรรมดีในอดีตชาติจะส่งผลต่อการมีชีวิตในชาตินี้ ซึ่งตามหลักของพระพุทธศาสนาแล้ว กรรมมีอยู่ ๑๒ ประเภท หรือที่รู้จักกันในนาม “กรรม 12”หากเป็นทางโลกจะมีความคล้ายคลึงกับวิชา “นิเวศวิทยา”ซึ่งจะมีทั้งการเกื้อกูลและการทำลาย  คนจะรู้หลักกรรมได้อย่างนั้นก็ต้องมีการสรุปจาก “จูฬกกัมมวิภังคสูตร”ซึ่งพอจะสรุปได้ ๒ ภาค คือ ภาคที่เป็นผลในปัจจุบันชาติ และ ภาคเหตุจากอดีตชาติ ซึ่งกรรมที่จะกล่าวต่อไปนี้ คนในปัจจุบันทุกคนต่างก็เสวยผลกรรมจากอดีตชาติทั้งนั้น

  • คนที่มีอายุยืนยงเพราะไม่ปลงชีวิตสัตว์
  • คนร่ำรวยทรัพย์สมบัติเพราะชอบบำเพ็ญทาน
  • คนมียศศักดิ์อัครฐานเพราะไม่เป็นคนขี้อิจฉา
  • คนมีรูปร่างงามโสภาเพราะไม่เป็นคนขี้โกรธ
  • คนไม่มีโรคภัยให้ทุกข์ให้โทษเพราะไม่ทรมานสัตว์
  • คนชื่อเสียงไม่วิบัติเพราะชอบรักษาศีล (กรรมดีมากกว่ากรรมชั่ว)
  • คนไม่ถูกติฉิน (ใส่ความ - คดีความ) เพราะไม่ใส่ร้ายผู้อื่น
  • คนมีบริวารดาษดื่นเพราะเป็นคนมีเมตตา
  • คนมีปัญญาเพราะชอบฟังเทศน์ฟังธรรม

         สำหรับคนที่มีชีวิตในชาตินี้ตรงข้ามกับกลอนที่กล่าวมาแล้ว แสดงว่าอดีตชาติได้กระทำกรรมตัวในแต่ละข้อไม่ดีมานั่นเอง ซึ่งในเรื่องนี้มนุษย์ทุกคนมีข้อสงสัย แต่ไม่มีใครสามารถหาคำตอบได้ แต่พระพุทธเจ้าของเราท่านมีคำตอบให้แล้ว เราจึงควรถือเป็นเรื่องสำคัญที่จะให้ความใส่ใจให้มาก

         “สงสัยไหมว่าทำไมเขาถึงเกิดมาเป็น “ชินวัตร” ส่วนเราเกิดมา “ชินกับวัด” หลายคนได้เรียนในโรงเรียน “เซนต์”แต่เราอยู่โรงเรียน “โทรม”นั่นเพราะมีเหตุปัจจัย เพราะชาติที่แล้วเขาทำบุญ “๒ สง”คือ 

         ๑. สงฆ์ทรงศีลของแต่ละศาสนา และบางคนเขาทำบุญโดยไม่มีการจำกัดศาสนา          ๒. สงเคราะห์ประชาชน ไม่เลือกชั้นวรรณะ ศาสนาใดมาเรี่ยไรเขาก็เต็มใจทำ คนพวกนี้เกิดมาในชาติไหน ๆ ก็จะเป็นคนร่ำรวย

         เมื่อรู้ว่าทำกรรมอะไรได้อย่างไรแล้ว เราต้องรู้ว่าตัวเรานั้นขาดอะไรเราก็เน้นที่จะทำสิ่งนั้น แต่สิ่งที่มีอยู่แล้วก็พัฒนาไป สิ่งที่เป็นปัญหาเราก็แก้ไข การทำบุญ -  ทำกรรมนั้นเป็นสิ่งที่จะไม่ลบเลือน จะกี่ร้อยกี่ปีกี่ชาติก็จะไม่ลบ มีสิ่งเดียวที่จะลบได้ก็คือ “นิพพาน”เท่านั้นเอง

         อย่างไรก็ตามการแก้กรรมด้วยตัวเองสามารถทำได้ แต่ต้องเป็นคนแก้ด้วยตัวเราเอง คือเมื่อรู้ว่าสิ่งที่ทำนั้นไม่ดี ก็ไม่ต้องทำซ้ำ อะไรดีก็พัฒนาไปเรื่อย ๆ แล้วที่สุดจะบริบูรณ์ จนกว่าสิ่งที่ดีน่าจะมีมากกว่าสิ่งที่ไม่ดี สิ่งที่ดีให้ผลมาก ความสุขในชาตินี้หรือชาติหน้าก็มาก แต่หากสิ่งที่ไม่ดีให้ผล สิ่งที่ดีจะทำให้เราสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ในสภาพการณ์นั้น ๆ

         เราต้องค้นหาตัวเองว่ามีสิ่งใดขาด หรือมีสิ่งใดที่เรามีอยู่ เราก็เริ่มแก้กรรมของเราในปัจจุบันชาตินี้เสียเพราะจะสามารถช่วยเราได้

         สำหรับมนุษย์แล้วกรรมที่หนักที่สุดที่เป็นข้อห้ามในพระพุทธศาสนา มีอยู่ ๕ ประเภทคือ 

                 ๑. มาตุฆาต ฆ่ามารดา 

                 ๒. ปิตุฆาต ฆ่าบิดา 

                 ๓. อรหันตฆาต ฆ่าพระอรหันต์ 

                 ๔. โลหิตุปบาท ทำร้ายพระพุทธเจ้าถึงยังพระโลหิตให้ห้อขึ้นไป

                 ๕. สังฆเภท ยุยงสงฆ์ให้แตกจากกัน (ครุกรรมสำหรับพระสงฆ์เท่านั้น) 

         ซึ่งกรรมทั้ง ๕ ข้อนี้ เป็นบาปอันหนักที่สุด ห้ามสวรรค์ ห้ามนิพพาน ตั้งอยู่ในฐานปาราชิกของผู้นับถือพระพุทธศาสนา ห้ามไม่ให้ทำอย่างเด็ดขาด

         นอกเหนือจากเวรกรรมอย่างย่อแล้ว สิ่งที่ชาวพุทธในปัจจุบันขาดมากที่สุด คือการรักษาศีล ๕ ซึ่งชาวพุทธสามารถทำได้ง่าย ๆ แต่ไม่ค่อยมีคนจะทำซึ่งในการรักษาศีล ๕ จะทำให้ชีวิตมนุษย์นั้นมีความสุข กรณีนี้ได้มีการรวบรวมผลกรรมอันเกิดจากการละเลยรักษาศีล ๕ ไว้ดังนี้คือ

         ผู้ที่ผิดศีลข้อ ๑ ( ฆ่าสัตว์ ,เบียดเบียนทำร้ายสัตว์, กักขัง ทรมานสัตว์) ผลกรรมคือ มักมีปัญหาสุขภาพ ขี้โรค มีโรคเรื้อรัง รักษาไม่หาย รักษายุ่งยาก มีอุบัติเหตุบ่อย ๆ อาจมีอุปฆาตกรรม คือกรรมตัดรอน ทำให้ตายก่อนอายุขัย บางคนอาจพิกลพิการ มีปัญหาร่างกายไม่สมส่วน ไม่สมประกอบ กำพร้าพ่อแม่ คนใกล้ตัวโดนฆ่า อายุสั้น ตายทรมาน ตายแบบเดียวกับที่ไปฆ่าไปทรมานสัตว์ไว้ รูปร่างอัปลักษณ์ มีปมด้อยด้านสังขาร

         ผู้ที่ผิดศีลข้อที่ ๒ (ลักทรัพย์, ขโมย, ฉ้อโกง, ยักยอก, ทำลายทรัพย์) ผลกรรมคือ ธุรกิจไม่เจริญก้าวหน้า เจ๊ง ขาดทุน ฝืดเคือง โดนโกง มีแต่อุบัติเหตุให้เสียทรัพย์สิน ต้องชดใช้ให้คนอื่นอย่างไร้เหตุผล ทรัพย์หายบ่อย ๆ หลงลืมทรัพย์วางไว้ไม่เป็นที่ หาก็ไม่เจอ มีคนมาผลาญทรัพย์เรื่อย ๆ ทั้งคนใกล้ตัวและคนทั่วไป ลูกหลานแย่งชิงมรดก โดนลักขโมยบ่อย ๆ ตระกูลอับจนไม่มีที่สิ้นสุด มีแต่คนมาทำลายทรัพย์

         ผู้ผิดผิดศีลข้อ ๓ (ประพฤติผิดในกาม ผิดลูกเมียเขา, ล่วงเกินบุตรธิดาของผู้อื่นก่อนได้รับอนุญาต, แย่งคนรักของคนอื่น, กีดกันความรักคนอื่น, นอกใจคู่ครอง, หลอกลวง ข่มขืน, ค้าประเวณี, ล่วงเกินทางเพศต่าง ๆ ) ผลกรรมคือ หาคู่ครองไม่ได้ หน้าตาอัปลักษณ์ โดนเพศตรงข้ามล้อเลียนจนมีปมด้อย เป็นหม้าย ผัวเมียตายจาก ผัวหย่าเมียร้าง คบใครก็มีเหตุให้หย่าร้างเลิกรา คนรักนอกใจ คนรักมีชู้ มีเมียน้อย คบใครก็เจอแต่คนเจ้าชู้ โดนข่มขืน ไม่มีมิตรจริงใจ เพื่อนฝูงไม่รัก พี่น้องก็ไม่รัก พ่อแม่ทอดทิ้ง ชีวิตขาดความอบอุ่น มีความผิดปกติทางเพศทางร่างกายทางจิตใจ ถูกกีดกันทางความรัก สังคมไม่ยอมรับความรักของตน มีความรักหลบ ๆ ซ่อน ๆ ต้องมีเหตุพลัดพรากจากคนรักและของรักอยู่เสมอ (ก่อนเวลาอันควร)

         ผู้ที่ผิดศีลข้อ ๔ (โกหก ปลิ้นปล้อน กลับคำ ไม่มีสัจจะ, หลอกลวงผู้อื่น, ใส่ร้ายผู้อื่น,  ยุแยงให้คนแตกกัน, ใช้วาจาดูหมิ่น, พูดส่อเสียด, พูดคำหยาบ, ขี้โม้, นินทา, ด่าทอ, ด่าพ่อล้อแม่, ด่าและเถียงผู้มีพระคุณ, ผิดสัญญา, สาบานแล้วไม่ทำตาม ) ผลกรรมคือ ปากไม่สวย ฟันไม่สวย มีกลิ่นปาก มีปัญหาเรื่องปากเรื่องฟันอยู่เนืองนิจ มีแต่คนพูดให้เสียหาย มีคนซุบซิบนินทาเรื่องของเรา มีคนคอยใส่ร้ายดูหมิ่นและส่อเสียดเราอยู่เสมอ ไม่มีใครจริงใจด้วย มีแต่คนมาพูดจาหลอกลวง ผิดสัญญา เกิดในสังคมที่พูดแต่คำหยาบคำส่อเสียดปลิ้นปล้อน นินทาอยู่เนืองนิจ เพียงตื่นมาก็พบเจอความไม่เป็นมงคล (สังคมที่ปากไม่เป็นมงคล) หลงเชื่อคนอื่นได้ง่าย โดนหลอกได้ง่าย ไม่มีใครเชื่อถือในคำพูดของเรา เป็นคนที่พูดอะไรแล้วคนเมิน พูดติด ๆ ขัด ๆ นึกจะพูดอะไรก็ไม่ได้ดั่งใจ

         ผู้ที่ผิดศีลข้อ ๕ (ดื่มของมึนเมา, เสพยาเสพติด, ให้ยาเสพติด, ให้ของมึนเมา, ขายของมึนเมา, ขายยาเสพติด) ผลกรรมคือ สติปัญญาไม่ดี ขี้หลงขี้ลืม เรียนไม่เก่ง อ่านหนังสือไม่จำ อ่านยังไงก็ไม่เข้าใจ เกิดในตระกูลที่โง่เขลา เต็มไปด้วยอบายมุข หากกรรมหนักจะเกิดเป็นเอ๋อ ปัญญาอ่อน เป็นโรคทางปัญญา ลูกหลานสำมะเลเทเมา มีลูกหลานติดยาเสพติด เกิดอุบัติเหตุได้ง่าย ไม่มีสติระวัง มีแต่ความประมาท มักลุ่มหลงในสิ่งผิดได้ง่าย เป็นคนที่โดนมอมเมาให้หลงใหลในสิ่งผิดได้ง่าย (ขาดสติ)

         หากใครรู้ว่าตัวเองขาดและกระทำผิดในสิ่งใด ถ้ารู้จักแก้ไขและรู้จักหันมาพัฒนาจุดด้อยและเสริมจุดเด่นที่ตัวเองมี ดังคำกล่าวในทางพระพุทธศาสนาที่ว่า “ทำกรรมสิ่งใดย่อมได้รับผลอย่างนั้น ปลูกพืชชนิดไหนก็ย่อมได้ผลของพืชชนิดนั้น” เป็นกรรมที่ทำให้เราต้องมาเวียนเกิดเวียนตายกันไม่รู้จบ และส่งผลให้เราทั้งทุกข์และสุขคละกันอยู่ในทุกวันนี้ จึงเป็นเหตุที่ต้องให้มีพระพุทธเจ้า จึงต้องมีการเรียนรู้และศึกษาธรรม จึงต้องมีการฝึกจิตฝึกสมาธิกัน เพื่อยกจิตให้สูงขึ้นไม่ให้ตกต่ำ ฝึกจิตมุ่งสู่การหลุดพ้น พระนิพพานซึ่งก็คือการหลุดพ้นนั่นเอง.

 

                                                   พระเทพปฏิภาณวาที

                                                       “เจ้าคุณพิพิธ”

 

************************************************************


อ่าน : 0

แชร์ :


เขียนความคิดเห็น