ราคารวม : ฿ 0.00
สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสอนเรื่องโลกธรรม คือ สอนให้รู้ว่า ได้ลาภก็มีเสื่อมลาภ ได้ยศก็มีเสื่อมยศ ได้สรรเสริญก็มีถูกนินทา ได้สุขก็มีประสบทุกข์ ผู้ใดได้ก็ต้องยอมรับว่าวันหนึ่งต้องเสีย ผู้ใดเสียวันใดวันหนึ่งก็ต้องได้ ดุจดั่งลมหายใจเข้าออก ผู้ใดคิดได้เช่นนี้ จิตจะคงที่ไม่มีความสุขจนฟุ้ง ทุกข์จนฟุบ เพราะว่าพระพุทธองค์ทรงประสบสิ่งเหล่านี้มาแล้ว เพราะทรงทำได้ จึงสุขด้วยพระองค์และเป็นแบบอย่าง
เรื่องมีใน “มณิกุณฑชาดก” (มะนิกุนดะชาดก) ว่า.....
ในอดีตกาล สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบำเพ็ญบารมี เรียกว่า “พระโพธิสัตว์” เสวยราชสมบัติเป็นพระเจ้ากรุงพาราณสี พระองค์ทรงมั่นในทศพิธราชธรรม คือ การสละสิ่งของให้เป็นทาน ทรงรักษาศีล ทรงทุ่มเทเพื่อประเทศชาติ ประชาชน ทรงไว้ซึ่งความซื่อตรงต่อหน้าที่ ทรงให้เกียรติราษฎรไม่กดขี่ข่มเหง ทรงประพฤติธรรมเพื่อกำจัดกิเลส ไม่ทรงถือโกรธต่อผู้หลงผิดคิดร้ายต่อพระองค์ ไม่ทรงเบียดเบียนราษฎรด้วยอำนาจและศาสตรา ทรงมั่นในขันติธรรม ทรงรักษาขนบธรรมเนียม วัฒนธรรม ประเพณีอันสืบต่อกันมา บ้านเมืองของพระองค์จึงมีแต่ความสุข
คราวครั้งนั้น มีอำมาตย์ผู้หนึ่งประพฤติทุจริตต่อหน้าที่ มิได้ปฏิบัติราชการด้วยความเที่ยงธรรมเที่ยงตรง มักยุยงส่งเสริมให้เกิดความแตกแยก อีกทั้งเป็นผู้หมกมุ่นเพศตรงข้าม ฉ้อฉลผลประโยชน์ทั้งสองฝ่าย คือ เบียดบังภาษีอากรที่ราษฎรบำรุงประเทศ ครั้นเมื่อพระราชาพระราชทานเงินเพื่อสร้างสาธารณประโยชน์ก็เบียดบัง เรียกข้าราชการประเภทนี้ว่า...พวกอมดิน กินฟ้า.. พระเจ้ากรุงพาราณสีจึงไล่เขาออกจากตำแหน่งแล้วสั่งเนรเทศ อำมาตย์ผู้นี้เข้าไปสวามิภักดิ์อยู่กับพระเจ้าโกศล
เมื่ออามาตย์ใจทรามรับราชการได้ระยะหนึ่ง มีความประสงค์ ๒ ประการ คือ ต้องการความเป็นใหญ่ในหน้าที่การงานและ มีความคั่งแค้นต่อพระเจ้ากรุงพาราณสี จึงเพียรได้เข้าหาพระเจ้าโกศล แล้วบอกความลับของเมืองทั้งสิ้น กับทั้งรู้ว่าพระเจ้ากรุงพาราณสีมิได้เตรียมการเพื่อรุกรานหรือป้องกันประเทศด้วยทหารและอาวุธ พระเจ้าโกศลทรงเชื่อมั่นอำมาตย์ผู้นั้น จึงกรีฑาทัพเข้าเมืองพาราณสี แต่พระเจ้ากรุงพาราณสีไม่ประสงค์ให้มีการสู้รบกันจนเสียชีวิต พระองค์จึงยอมจำนนตกเป็นเชลยศึกทันที
เมื่อพระเจ้ากรุงพาราณสีถูกจับจองจำในห้องขัง พระองค์ก็มิได้เศร้าโศกเสียพระทัยแต่อย่างใด บัดนี้จากราชามาเป็นนักโทษในฐานะเชลยศึก มิได้ทำให้จิตใจของพระองค์วิตกกังวลกับความเปลี่ยนแปลงชนิดราวฟ้ากับดิน ราวหน้ามือกับหลังมือ ทรงครองพระทัยเยือกเย็น ไม่ทรงโกรธอำมาตย์และไม่ทรงอาฆาตพระเจ้าโกศล ด้วยพระราชหฤทัยที่เปี่ยมด้วยเมตตาธรรม กับทรงคิดว่าบัดนี้พระองค์เป็นนักโทษห้ามเยี่ยม ไร้ญาติ ควรถือโอกาสนี้เจริญพระกัมมัฏฐาน และกัมมัฏฐานที่ดีที่สุดของพระราชาก็คือ...พรหมวิหารธรรม... จึงทรงนั่งขัดสมาธิ (สะหมาด) แล้วทรงเจริญพรหมวิหารธรรม ในพระทัยว่า...
สัพเพ สัตตา อะเวรา โหนตุ
สัตว์ทั้งหลายจงอย่ามีเวรซึ่งกันและกันเลย แม้เราทั้งไม่สร้างเวรและไม่ผูกเวร
สัพเพ สัตตา อัพ์ยาปัชฌา โหนตุ
สัตว์ทั้งหลายจงอย่าเบียดเบียนซึ่งกันและกันเลย แม้เราก็จะไม่เบียดเบียนผู้หนึ่งผู้ใด
สัพเพ สัตตา อะนีฆา โหนตุ
สัตว์ทั้งหลายอย่ามีความทุกข์กายทุกข์ใจเลย
แม้เราก็จะไม่สร้างความทุกข์กายและใจแก่สัตว์อื่น
สุขี อัตตานัง ปะริหะรันตุ
จงมีความสุขกายสุขใจ รักษาตนให้พ้นจากทุกข์ภัยด้วยกันทั้งสิ้นเถิด
อัศจรรย์แท้ ร่างของพระเจ้ากรุงพาราณสีลอยจากพื้นขึ้นไปบนอากาศ เป็นที่ตกใจของทหารที่ควบคุมเรือนจำ ทหารที่เฝ้าเรือนจำได้ไปกราบทูลพระเจ้าโกศลถึงความอัศจรรย์นั้น
พระเจ้าโกศลจึงเสด็จมาพร้อมด้วยอำมาตย์ผู้ฉ้อฉลและบริวาร เห็นเหตุการณ์แล้วก็ทรงอัศจรรย์พระทัยยิ่งจนพระเสโท (เหงื่อ) ไหล มีความประหวั่นพรั่นพรึงต่ออภินิหารของพระเจ้ากรุงพาราณสี
เมื่อทรงควบคุมพระสติได้แล้ว จึงตรัสว่า....
หม่อมฉันนั้นสงสัย คลางแคลงในใจนักหนา
พระองค์ทรงบุญญา บัดนี้มาถูกจองจำ
เป็นเจ้าท้าวพระยา องค์ราชาสง่าล้ำ
เกียรติคุณเนื่องหนุนนำ ฉ่ำชื่นใจในเงินทอง
ถูกปลดจากยศศักดิ์ ปราศคนภักดิ์จักสนอง
เหตุใดใสดั่งทอง มิหม่นหมองด้วยราคี
เปล่งปลั่งดั่งเดือนเพ็ญ เด่นนภาเลิศราศี
พระองค์จงพาที ให้ข้าฯ นี้หายสงกา
เมื่อพระเจ้ากรุงพาราณสีได้ทรงสดับปุจฉาของพระเจ้าโกศล จึงทรงเปล่งพระราชดำรัสตรัสตอบว่า.....
ราชาน้องข้าเอ๋ย ฟังเฉลยคำปุจฉา
ปวงสัตว์อุบัติมา จำต้องลาทุกสิ่งไป
สมบัติวิบัติก่อน คนม้วยมรณ์ก็เป็นได้
เจ้าของต้องหมองไหม้ เพราะจำใจสิ้นชีวา
สมบัติผลัดกันชม อย่าโศกตรมไปเลยหนา
ได้มันอย่าหรรษา อย่าหมายว่าค่าคงทน
ได้ลาภย่อมเสื่อมลาภ โปรดจงทราบในเหตุผล
ยศถาบนบ่าตน คนแต่งตั้งอย่าคลั่งตาม
สรรเสริญเดินเชิดหน้า มีนินทาด่าหยาบหยาม
มีสุข ทุกข์ลุกลาม คุกคามมาภายหน้าเวย
บริโภคโลกธรรม อย่าถลำจำเถิดเหวย
สมบัติผลัดกันเชย วางเฉยไว้ใจสงบ
เพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อการปกครองบ้านเมือง พระเจ้ากรุงพาราณสีจึงตรัสสอนพระเจ้าโกศลให้ระมัดระวังอำมาตย์ที่มีพฤติกรรม ๒ ประเภท คือ ลูกยอ กับ ลูกยุ ตรัสว่า….
ลูกยอสอพลอพลอย ยอจนลอยจากพื้นดิน
ยอยกกระดกลิ้น นายได้ยินก็เปรมปรีดิ์
มันยอจนกระดก มันชอบยกจนเกินที่
พลาดโครมก็โจมตี แล้วเผ่นหนีจากนายไป
เป็นนายหมายฝังปลูก ระวังลูกยอเข้าไว้
หากชอบต้องบอบใจ น้ำตาไหลใครปลอบจิต
ลูกยุยุให้รำ ตามถ้อยคำที่มันคิด
รำถูกหรือรำผิด มันยุส่งให้หลงรำ
คนดูบ้างด่าทอ บ้างหัวร่อจนงอขำ
ยุให้ไปทิ่มตำ จนครกแหลกแตกคามือ
เป็นนายหมายระวัง จงยับยั้งลูกยุยื้อ
พลาดพลั้งนั่งครางฮือ ลูกยุหนีลูกพี่อาน
เมื่อตรัสสอนดั่งนี้แล้ว ทรงพิจารณาเห็นว่าควรที่จะพระราชทานโอวาทแก่พระเจ้าโกศลผู้เยาว์กว่าพระองค์ จึงตรัสว่า....
ผู้ที่มีครอบครัว อย่าทำตัวให้หย่อนยาน
ขวนขวายหลายกิจการ หากเกียจคร้านเป็นราคี
นักบวชพึงกวดขัน ระมัดมั่นธรรมวิถี (ทัมมะวิถี)
สังวรสอนอินทรีย์ จะไม่มีราคีคาว
บัณฑิตติดขึ้งโกรธ จะเป็นโทษลืออื้อฉาว
ด่าทอล่อปาวปาว คนก่นกล่าวว่าเป็นพาล
ผู้นำพึงตระหนัก ดำรงหลักบริหาร
คิดจะกระทำการ จงพิจารณ์นานจึงดี
เมื่อจะกระทำกิจ จงพินิจคิดถ้วนถี่
ปวงชนและมนตรี จะได้มีใจศรัทธา
เกียรติคุณเกริกปรากฏ เกียรติยศทั่วทิศา
ยุติธรรมค้ำบุญญา เป็นราชาคู่ฟ้าเอย
พระเจ้าโกศลสดับโอวาทแล้ว ทรงขอขมาโทษถวายราชสมบัติคืนแด่พระเจ้ากรุงพาราณสี ส่วนอำมาตย์ผู้ฉ้อฉลได้ถูกลงโทษอันสาสมกับความผิด
พระเทพปฏิภาณวาที
“เจ้าคุณพิพิธ”
แชร์ :
เขียนความคิดเห็น