ราคารวม : ฿ 0.00
โลกทรรศน์ ธรรมทัศน์: พระเทพปฏิภาณวาที
มนุษย์ในโลกนี้จะอยู่เย็นเป็นสุขก็เพราะมีธรรมะเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ ธรรมะที่จะรักษาโลกให้อยู่เย็นเป็นสุข ก็คือธรรมะอันเป็นโลกปาละ คือธรรมะคุ้มครองโลก คุ้มครองประโยชน์ของมนุษย์ สัตว์ พืช ทรัพยากร ทั้งสิ้นทั้งปวง
ธรรมะที่จะคุ้มครองโลกได้ก็คือ...
หิริ = ความละอายความชั่ว
โอตตัปปะ = ความเกรงกลัวผลของบาป
ธรรมะ ๒ ประการนี้ คือ แก่นของศีล และ แก่นของกฎหมาย อาจเรียกได้ว่า...ธรรมะตาเทวดา หรือ ธรรมะตาวิเศษ ผู้ใดมีจิตใจละอายความชั่ว กลัวผลของบาป ตนเองก็ปลอดภัย ไม่ผิดกฎหมาย ไม่ผิดกฎศีลธรรม มีชีวิตอยู่ก็ไม่ต้องติดคุกติดอยู่ในเรือนจำ ตายแล้วไม่ต้องรับกรรมในนรก ผู้ใดมีหิริ คือความอายชั่ว โอตตัปปะ กลัวผลของบาป ย่อมทำลายโอกาสทำความชั่วแม้อยู่ในที่ลับหูลับตา ผลที่สุด ความไว้วางใจและความดีก็จักปรากฏผลจนมีผู้คนยอมรับนับถือ
สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสเล่าเรื่องดังต่อไปนี้ เป็นเครื่องรับรองบุคคลผู้มีหิริ โอตตัปปะ
ในอดีตอันผ่านพ้นมาเนิ่นนาน สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเกิดเป็นพระราชโอรสของพระราชาแห่งราชวงศ์พาราณสี แคว้นกาสี พระองค์มีนามว่า....มหิสาสกุมาร (มะหิสาสะกุมาน)...มีพระอนุชาร่วมพระราชมารดา นามว่า...จันทกุมาร... เมื่อทรงพระเยาว์ พระราชมารดาก็เสด็จสวรรคต
“ข้าแต่พระราชมารดา ไฉนหม่อมฉันและน้องจึงบุญน้อยอย่างนี้ ขอดวงวิญญาณของพระราชมารดาจงสถิตในสรวงสวรรค์เถิด และขอให้เกิดเป็นแม่ลูกกันทุกภพทุกชาติ”.... นี่คือเสียงร้องไห้คร่ำครวญของพระราชกุมารทั้งสองพระองค์ ครั้นได้ถวายพระเพลิงพระบรมศพของพระอัครมเหสีผู้เป็นพระราชมารดาของมหิสาสกุมารและจันทกุมารแล้ว ต่อมาไม่นาน พระราชาได้อภิเษกสมรสกับพระมเหสีองค์ใหม่ และมีพระราชโอรสอีกหนึ่งพระองค์ มีพระนามว่า...สุริยกุมาร....
เป็นเวลา ๑๖ ปีให้หลัง วันหนึ่งพระอัครมเหสีเสด็จเข้าไปเฝ้าพระราชา แล้วทูลว่า... “พระองค์ทรงจำได้หรือไม่ วันที่หม่อมฉันประสูติพระราชโอรส พระองค์ตรัสประสาทพรแก่หม่อมฉันท่ามกลางข้าราชบริพารว่าหม่อมฉันประสงค์สิ่งใดในโอกาสกาลข้างหน้า ขอให้ขอต่อพระองค์ได้ บัดนี้ พระราชโอรสของหม่อมฉันมีอายุ ๑๖ ชันษาแล้ว ขอให้พระองค์ทรงประกอบพระราชพิธี ทรงประกาศเป็นรัชทายาทแห่งราชบัลลังก์ ต่อจากพระองค์เถิด”....
พระราชาทรงตระหนักในพรนั้น มิอาจเบือนบิดได้ ทรงมีความทุกข์พระทัยในพระราชโอรสอีก ๒ พระองค์ พระราชาทรงใคร่ครวญเพื่อหาทางออก สุดท้ายจึงตัดสินพระทัยตรัสเรียก มหิสาสกุมาร และ จันทกุมาร มาเฝ้า พระราชาทรงมีพระพักตร์นองไปด้วยน้ำพระเนตร ตรัสเล่าเรื่องราวแต่หนหลัง ขอโทษลูกทั้ง ๒ พระองค์ แล้วตรัสว่า....
ไปเถิดลูกพ่อ อย่ามัวรอรี
บุกดงพงพี ดูที่สร้างเมือง
อันภูมิศาสตร์ ลูกลูกปราดเปรื่อง
ปูมใดรุ่งเรือง กำหนดจดมา
จะสร้างเมืองใหม่ ให้สุขหรรษา
มหิสาสะ จันทา แกร่งกล้าหนาลูก
เหตุการณ์ทั้งหมดนั้น สุริยกุมารได้เห็นได้ยินทุกประการ บังเกิดความรักในพระราชบิดา และเห็นพระทัยของพระเชษฐาทั้ง ๒ พระองค์เป็นอย่างยิ่ง
เมื่อพระราชกุมารสองพี่น้องกราบทูลลาพระราชบิดา แล้วก็ออกเดินทางเข้าป่าตามทิศอันเป็นมงคล เพื่อดูชัยภูมิสร้างเมืองแห่งใหม่ เพราะพระราชกุมารทั้งสองพระองค์จบคัมภีร์ไตรเภทและสรรพวิชาทั้ง ๑๘ แขนง อันเป็นวิชาของกษัตริย์
“พระเจ้าพี่ รอข้าพเจ้าด้วย ๆ ๆ”... นั่นเป็นเสียงเรียกของสุริยกุมาร น้องผู้เป็นรัชทายาท
“น้องน้อย เจ้าตามพี่ทั้งสองมาทำไม กลับไปเถอะ เดี๋ยวเสด็จแม่ของเธอจะเข้าใจผิด จะพานโกรธเกลียดพวกพี่เปล่า ๆ ” มหิสาสกุมารหันมาบอกอนุชาต่างมารดาให้กลับ
มิไยที่มหิสาสกุมารและจันทกุมารจะขอให้สุริยกุมารกลับ แต่น้องน้อยผู้มีความเคารพรักในพระเชษฐาทั้งสองอย่างแน่นแฟ้นก็ไม่ยอมกลับ พร้อมทั้งพูดว่า.... “หม่อมฉันไม่อยากเป็นรัชทายาท พระเชษฐามหิสาสะนั่นแหละต้องเป็น หม่อมฉันไม่เห็นด้วยกับพระราชมารดา ขอตามพระเชษฐาทั้งสองไปด้วย”... ในที่สุดมหิสาสกุมารก็ต้องยินยอมให้สุริยกุมารตามมาด้วย การเดินทางในป่าครั้งนี้เป็นไปด้วยความยากลำบาก จนในที่สุด มหิสาสกุมารก็ให้พระอนุชาทั้งสองหยุดพัก ...“เอาละ พวกเราเหนื่อยแล้ว น้ำที่เตรียมมาก็เกือบหมด ใครจะเป็นคนไปหาน้ำมา พี่เห็นฝูงนกบินขึ้น-ลงตรงนั้น คงมีสระน้ำเป็นแน่แท้”... มหิสาสกุมารพูดกับพระอนุชาทั้งสอง
สุริยกุมารจึงพูดว่า... “หม่อมฉันไปเอง อาบน้ำแล้วจะนำน้ำในสระมาให้พระเชษฐาทั้งสอง ขอหม่อมฉันไปเถิดนะ”... พูดแล้วก็เดินทางไปยังทิศทางที่นกบินขึ้น-ลง
ยามนี้ ในเมืองเกิดโกลาหลแล้ว พระอัครมเหสีร้องไห้ฟูมฟายด้วยไม่ทราบว่าสุริยกุมารหายไปไหน แต่พอทราบจากพระราชาว่าได้ให้มหิสาสกุมารและจันทกุมารไปป่าดูชัยภูมิสร้างเมืองใหม่ พระนางก็ยังทุกข์พระทัยถึงกับออกพระโอษฐ์ว่า “ชะรอยว่าสุริยกุมารจะถูกพระราชกุมารทั้งสองลวงไปเพื่อกำจัดให้พ้นทางแห่งรัชทายาทเสียแล้ว”
ณ บริเวณป่าแห่งนั้น มีสระน้ำขนาดใหญ่ อุดมสมบูรณ์ไปด้วยดอกบัว ฝูงนกและสัตว์ทั้งหลายอาศัยน้ำในสระนี้เป็นที่พึ่งพิงพึ่งพา ในสระนี้มีเทพอสูรตนหนึ่ง ถูกท้าวเวสสุวรรณจอมเทพผู้คุมเทพอสูรและภูติผีปีศาจลงโทษในฐานะผิดกฎสวรรค์ ให้มีอาณาเขตเฉพาะบริเวณในสระและขอบสระ ไม่สามารถหาอาหารเลยขอบเขตไป ถ้ามิเช่นนั้นต้องถูกลงโทษทัณฑ์ให้หนักยิ่ง ๆ ขึ้น อสูรประจำสระนี้ เรียกว่า...รากษส...
สุริยกุมารเดินทางมาถึงสระ เห็นสระน้ำใสเย็น มีบัวอยู่สะพรั่ง จึงลงไปที่ขอบสระเพื่อดื่มน้ำ และทันใดนั้นยักษ์รากษสก็จับตัวไว้ พร้อมทั้งพูดกับพระราชกุมารว่า...
ข้าเป็นรากษส ผิดกฎสวรรค์
ท้าวเวสสุวรรณ ท่านทำทัณฑ์บน
ให้ข้าเฝ้าสระ เพราะอกุศล
แหวกว่ายเวียนวน ไม่พ้นเขตคัน
ข้าจะพ้นสระ ทัณฑะสวรรค์
ฟังเทวธรรม์ ประพันธ์คาถา
ถ้าเจ้าแจ้งใจ จงได้ยกมา
ข้าพ้นอาญา เป็นข้ารับใช้
สุริยกุมารไม่สามารถบอกเทวธรรมแก่รากษสได้ จึงถูกรากษสจับไปขังไว้ในวิมาน เพราะสุริยกุมารบอกว่ามิได้มาคนเดียว แต่มากันถึงสามพระองค์ ยักษ์รากษสจึงรอกุมารอีกสองพระองค์ เพื่อจับกิน
เมื่อเวลาผ่านไป สุริยกุมารมิได้กลับมา มหิสาสกุมารจึงพูดว่า “พี่คิดว่าน้องน้อยคงเพลิดเพลินกับสระนั้น หรือมิเช่นนั้นก็อาจจะได้รับอันตราย เธอจงตามไปดูเถิด อย่างไรก็รีบกลับมาก็แล้วกัน” จันทกุมารเชื่อฟังพี่ชายจึงออกจากที่นั่น แล้วเดินทางไปยังสระน้ำนั้นทันที
และแล้ว...เมื่อจันทกุมารเดินมาถึงขอบสระน้ำก็ถูกยักษ์รากษสจับตัวเข้าไว้ ถูกถามว่ารู้จักเทวธรรมหรือไม่ เมื่อไม่สามารถตอบได้ว่าอะไรคือเทวธรรม รากษสจึงนำตัวจันทกุมารไปขังรวมไว้กับสุริยกุมาร เพื่อรอเวลาให้มหิสาสกุมารตามมา มหิสาสกุมารเมื่อรอพระอนุชาทั้งสองเป็นเวลานาน ก็บังเกิดความสงสัยในพระทัย ทรงรำพึงว่า....
เหตุใดกันนะ สุริยะ จันทา
จึงไม่กลับมา หรือว่ามีภัย
ตกในสระน้ำ เสือขย้ำตักษัย
หรือมีสิ่งใด สงสัยเหลือทน
จำเราไปดู เพื่อรู้เหตุผล
ช่วยน้องสองคน ให้พ้นเภทภัย
มหิสาสกุมารเดินตามทางที่พระอนุชาทั้งสองเดิน ครั้นถึงบริเวณสระน้ำเห็นรอยเท้าของพระอนุชาทั้งสองยังปรากฏ พระองค์จึงทรงหยุดยั้งไว้มิได้ก้าวล่วงเขตคันสระน้ำ ด้วยทรงเป็นผู้มีมารยาทประการหนึ่ง กับทั้งทรงศึกษาคัมภีร์ต่าง ๆ ทราบเรื่องอาณาเขตแห่งยักษ์และเทวดา ทรงจับพระขรรค์และธนูกระชับให้มั่นคง ประทับยืนพิจารณาสระน้ำนั้น ขณะนั้นทรงคะเนในพระทัยแล้วรำพึงขึ้นว่า....
ชะรอยสระนี้ มียักษ์สถิต
ข้าเห็นนิมิต รอยเท้าก้าวลง
น้องเราทั้งสอง ผู้ปองประสงค์
ตักน้ำก็คง ถูกยักษ์กักไว้
อันเจ้ายักษา ปรารถนาสิ่งใด
เราไม่เข้าไป ในเขตบึงบัว
เราจักบีบคั้น ให้มันยุ่งหัว
แล้วปรากฏตัว ซักไซ้ไล่เลียง
ยักษ์รากษสเมื่อรออยู่แต่มหิสาสกุมารไม่ลงสระ จึงได้แปลงตัวเป็นช่างก่อสร้างทำทีเดินผ่านมายังที่นั้น แล้วพูดกับมหิสาสกุมารเป็นเชิงปรารถนาดี
พ่อหนุ่มหน้ามน คนเดินทางไกล
เพราะเหตุอันใด ไม่ลงสระศรี
น้ำใสในสระ ชำระอินทรีย์
ดื่มกินแล้วมี ความสุขสราญ
เห็นท่านเหน็ดเหนื่อย ปวดเมื่อยสังขาร
จึงนึกสงสาร ลงธารนี้เถิด
มหิสาสกุมารได้ฟังคำพูดอันแฝงไว้ด้วยกลลวงของยักษ์รากษส จึงพูดกับเขาเพื่อบ่งบอกให้รู้ว่าพระองค์ทรงไว้ด้วยความรู้ ความช่างสังเกต และมิได้หลงกลลวงของยักษ์รากษส
ท่านเป็นช่างไม้ เหตุใดห่วงข้า
เป็นใครกันหนา มันน่าสงสัย
นัยน์ตาท่านแดง เหมือนดั่งแฝงไฟ
ท่านคงไม่ใช่ มนุษย์แน่นา
อันตัวท่านหรือ ก็คือยักษา
อยู่ในธารา ไยมาลวงกัน
ท่านหวังสิ่งใด จึงได้แสร้งสรร
โปรดจงบอกฉัน ลวงกันไม่ดี
เมื่อมหิสาสกุมารพูดดั่งนี้แล้ว ยักษ์รากษสจึงบอกความจริง พระโพธิสัตว์จึงถามถึงพระอนุชาทั้งสอง ยักษ์ตอบว่าได้นำตัวไปกักขังไว้เพราะเข้าพื้นที่โดยไม่ได้รับอนุญาต ต้องตกเป็นอาหารของตน แต่จะพ้นได้ต้องมีผู้รู้เทวธรรม
“เทวธรรมนั้นเรารู้ เราจักแสดงแก่ท่าน แต่มิควรที่จะแสดงอย่างนี้ ข้าพเจ้าต้องสรงกายชำระมลทิน และท่านควรจัดอาสนะเพื่อรับฟังเถิด”.... พระโพธิสัตว์ตรัสแก่ยักษ์ ยักษ์จึงอัญเชิญไปสู่วิมานของตน ให้สรงน้ำชำระสรีรกายแล้ว ให้ประทับบนแท่น แล้วตั้งใจสดับเทวธรรม พระโพธิสัตว์จึงแสดงเทวธรรมว่า....
หิริโอตตัปปะสัมปันนา สุกกะธัมมะสะมา หิตา
สันโต สัปปุริสา โลเก เทวะธัมมาติ วุจจะเร
ผู้ใดใครก็ตาม มีแต่ความละอายชั่ว
ทั้งเกลียดและทั้งกลัว มิกล้าทำกรรมต่ำช้า
หิริ โอตตัปปะ เรียกว่า....เทวธรรมา....
ผู้นั้นท่านเรียกว่า ผู้มีตาวิเศษเอย
ยักษ์รากษสได้ฟังแล้วเกิดความรู้สึกทันทีขึ้นภายในใจว่าตนเองพ้นจากคำสาปของท้าวเวสสุวรรณ เดินออกนอกเขตสระน้ำได้อย่างอิสระ ไม่มีอาการเจ็บแปลบเจ็บปวดที่ร่างกาย จึงกลับมาหามหิสาสกุมาร แล้วถามว่าพระอนุชาทั้งสองนั้น ประสงค์จะให้ปล่อยคนไหนระหว่างสุริยกุมาร กับ จันทกุมาร
“ท่านรากษส เราขอให้ปล่อยสุริยกุมาร ส่วนจันทกุมารนั้นเราขอให้ปล่อยเช่นกัน โดยเราจะยอมเป็นผู้รับโทษแทนน้อง เป็นข้ารับใช้ท่านตลอดไป”.... พระโพธิสัตว์ตรัสตอบยักษ์
ยักษ์จึงพูดว่า.... “ข้าพเจ้าไม่เข้าใจจริง ๆ เหตุใดท่านไม่ฉวยโอกาสนี้ให้ข้าพเจ้ากักขังสุริยกุมาร มันเป็นโอกาสดีนักหนาที่ท่านจะฉวยโอกาสเพื่อกลับไปเป็นรัชทายาท โดยมิต้องมีผู้ใดขัดขวาง”....
“ท่านรากษส ข้าพเจ้ามิอาจจะทำอย่างที่ท่านคิดได้ เพราะข้าพเจ้ารู้เทวธรรมและประพฤติเทวธรรมอยู่เป็นนิตย์ เหตุนี้ ข้าพเจ้าจึงละอายใจ อายความชั่วกลัวความบาป แม้แต่อยู่ลับหลัง”....มหิสาสกุมารกล่าวตอบ
ยักษ์รากษสได้ฟังแล้วปีติโสมนัส จึงปล่อยพระราชกุมารทั้งสองพระองค์เป็นการบูชาพระโพธิสัตว์ผู้รู้ธรรมะ ประพฤติธรรมะ ยักษ์รากษสกราบทูลให้พระกุมารทั้งสามพักค้างคืนโดยเขาเองได้ปฏิบัติอย่างดี พอเข้ายามสองของราตรี ขณะที่พระโพธิสัตว์ตรัสสอนเทวธรรมแก่ยักษ์รากษส บนท้องฟ้าปรากฏว่ามีดาวดวงหนึ่งร่วงจากท้องฟ้าแล้วดับวูบลงตรงทิศของเมืองหลวง พระโพธิสัตว์เป็นผู้รู้เรื่องดาวฤกษ์ ดาวเคราะห์ ดาวประจำเมือง ดาวประจำตัว นึกถึงพระราชบิดาของพระองค์ ทรงจดจำวัน - เดือน - ปี ของพระราชบิดาได้ จึงตรวจสอบดวงพระชะตาอย่างแคล่วคล่อง
จับยามสามตา บิดาข้านี้
ชะตาไม่ดี ถึงทีมรณา
บ้านเมืองยามนี้ ไม่มีราชา
ศัตรูจู่มา ใครหนาคุ้มครอง
จำเป็นแล้วเจ้า เราสามพี่น้อง
จิตใจปรองดอง ปกป้องผองภัย
รักษาบ้านเมือง รุ่งเรืองสมัย
บิดาทำไว้ รีบไปกันเถอะ
วันรุ่งขึ้น ยักษ์รากษสนิรมิตกายให้ใหญ่โตผงาด อัญเชิญสุริยกุมารประทับนั่งบนไหล่ซ้าย จันทกุมารประทับนั่งบนไหล่ขวา มหิสาสกุมารประทับยืนบนฝ่ามือ เดินเข้ามายังกรุงพาราณสี ข้าราชการและชาวเมืองต่างพากันตกใจวิ่งหนี ด้วยคิดว่ากุมารทั้งสามพระองค์ถูกยักษ์จับเสียแล้ว
ครั้นถึงประตูเมือง ยักษ์จึงได้เชิญให้มหิสาสกุมารเสด็จพระราชดำเนินพาพระอนุชาทั้งสองเข้าประตูเมือง พระราชมารดาของสุริยกุมารทรงเป็นทุกข์ด้วยคิดว่ามหิสาสกุมารหลอกพระโอรสของพระองค์ไปทำร้ายเสียแล้ว เมื่อเห็นเหตุการณ์ทั้งหมด กับทั้งทรงสดับเรื่องราวที่เกิดขึ้นในป่าและสระน้ำ พระนางจึงเข้าใจมหิสาสกุมาร กับทั้งนึกถึงความผิดของพระองค์ที่เห็นแก่ตัวและคิดกีดกันมหิสาสกุมาร บังเกิดความรักดุจดังพระโอรสซึ่งเกิดจากอุทรของพระนาง
“ลูกเอ๋ย...อภัยให้แม่นะลูก ลูกจงเป็นพระราชา เป็นที่พึ่งของชาวเมือง เป็นที่พึ่งของแม่และน้อง ๆ นะลูกนะ” นางกล่าวด้วยปีติปนเสียงสะอื้นร่ำไห้
มหิสาสกุมารพร้อมพระอัครมเหสีของพระราชบิดา พระอนุชาทั้งสองพระองค์ นำข้าราชการและชาวเมือง จัดการถวายพระเพลิงพระบรมศพของพระราชบิดาเสร็จสิ้นทุกประการ ทุกคนต่างพร้อมใจกันอัญเชิญขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์สืบสันตติวงศ์
ผู้ใดใจซื่อ ยึดถือสันติ
นั่นคือหิริ ละอายความชั่ว
มีโอตตัปปะ คือสะดุ้งกลัว
ความเลวความชั่ว ระมัดระวัง
แม้มีโอกาส ไม่พลาดผิดพลั้ง
ถึงอยู่ลับหลัง ตั้งมั่นความดี
คนอย่างนี้หนา เชิดหน้าราศี
เรียกว่าคนมี ตาเทวดา
เป็นที่วางใจ ใครใครทั่วหน้า
บันเทิงเริงร่า เพราะว่าเทวธรรม
แชร์ :
เขียนความคิดเห็น