ตอนที่ 15 : แตกสามัคคี (วัณณาโรหชาดก)

 

           สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสสอนเรื่องสามัคคีธรรมไว้เป็นจำนวนมาก ส่องให้เห็นประโยชน์ของความสามัคคี เช่น ตรัสว่า....

     สัพเพสัง  สังฆะภูตานัง สามัคคี  วุฑฒิสาธิกา

          ความพร้อมเพรียงของหมู่คณะทั้งปวง บันดาลประโยชน์ให้สำเร็จได้ดังใจปรารถนา

           ในทางตรงกันข้าม ถ้าแตกความสามัคคีมีแต่ความพินาศพลาดจากประโยชน์ ก็แล้วความแตกสามัคคีเกิดขึ้นได้เพราะเหตุไร

           ความแตกสามัคคีเกิดขึ้นได้เพราะ...ปากอวดรู้ หูเชื่อง่าย... ถูกทำลายเพราะมือที่สาม พระพุทธองค์จึงตรัสเรื่อง “วัณณโรหชาดก” เป็นเครื่องสอนใจว่า....

        ในอดีตชาติ สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเกิดเป็นรุกขเทวดาอยู่ใกล้ถ้ำแห่งหนึ่ง ในถ้ำนั้นเป็นที่อยู่อาศัยของราชสีห์และเสือ สัตว์ทั้งสองรักใคร่ปรองดองอย่างแน่นแฟ้น หาอะไรได้ก็แบ่งกันกิน รู้จักถ้อยทีถ้อยอาศัย ต่อมา ได้มีสุนัขจิ้งจอกตัวหนึ่งทำดีตีสนิท ขออยู่อาศัยในถ้ำนั้นด้วย สัตว์ทั้งสองมีเมตตาจึงให้ที่อยู่อาศัย เจ้าสุนัขจิ้งจอกตัวนี้ได้อาศัยเศษเนื้อ กระดูก ที่สัตว์ทั้งสองหามาได้ดำรงชีวิตของตน เหตุการณ์ล่วงไปไม่นาน ความคิดของสุนัขจิ้งจอกตัวนี้ก็เปลี่ยนไป

            เจ้าจิ้งจอกมันคิดว่าอันเนื้อสัตว์ทุกชนิดมันก็ได้ลิ้มลองมาหมดแล้ว ถ้าหากมันยุให้ราชสีห์และเสือขัดแย้งเข้าใจผิดกัน แล้วสัตว์เจ้าป่าทั้งสองก็ต้องต่อสู้กัน ในการต่อสู้กันนั้นสัตว์ทั้งสองต้องบาดเจ็บล้มตาย ส่วนตัวใดจะตายก่อนตายหลัง อย่างไรก็ต้องตายทั้งคู่ มันจะได้กินเนื้อราชสีห์และเนื้อเสือเป็นอาหาร รสชาติของเนื้อสัตว์ทั้งสองคงจะอร่อยมิใช่น้อย เจ้าสุนัขจิ้งจอกจึงวางแผนการด้วยกำหนดว่า ถ้าสัตว์ตัวใดตัวหนึ่งไม่อยู่มันจะเข้าไปหาตัวที่อยู่แล้วจะพูดยุแหย่ให้เกิดความเข้าใจกันผิด เมื่อสัตว์ทั้งสองเข้าใจผิดแล้วความหมางเมินก็จะเกิดขึ้น แล้วในที่สุดก็จะต่อสู้กัน ตรงนี้ความประสงค์ของมันก็จะสำเร็จ และเป็นจุดกำจัดเจ้าป่าให้พ้นทางเดินของมัน กับทั้งมันเองจะได้เป็นที่ชื่นชมเคารพยำเกรงของสัตว์ทั้งหลาย

           เมื่อราชสีห์ออกจากถ้ำไปแล้ว สุนัขจิ้งจอกเจ้าเล่ห์จึงเข้าไปหาเสือ แล้วพูดว่า...“นี่แน่ะ...ท่านเสือผู้มีความซื่อสัตย์และสง่างาม ท่านขัดใจอะไรกับราชสีห์หรือเปล่า... ราชสีห์พูดกับข้าพเจ้าด้วยความคับแค้นว่าแม้ท่านมีเล็บอันแหลมคมก็ไม่อาจสู้เขี้ยวของเขาได้ ข้าพเจ้าเป็นห่วงท่านจริง ๆ ”... พูดดังนี้แล้วก็จากไป

           วันต่อมา เมื่อได้โอกาสจึงเข้าไปหาราชสีห์ด้วยท่าพินอบพิเทาแล้วกล่าวว่า... “ข้าแต่ท่านพี่ผู้เป็นเจ้าป่า ข้าพเจ้านี้แสนอึดอัดใจเพราะท่านเสือได้พูดกับข้าพเจ้าว่า ถึงท่านจะมีเขี้ยวเล็บอันแหลมคมอุดมด้วยกำลัง ก็มิอาจต้านทานเล็บอันคมของเขาได้” พูดดังนี้แล้วก็หลีกไปเพื่อดูความเปลี่ยนแปลง ความวิบัติของสัตว์ทั้งสอง

           เมื่อเสือและราชสีห์ได้ฟังแล้วเกิดความไม่สบายใจ วันหนึ่ง เมื่อประสงค์จะทำความเข้าใจกัน จึงได้เดินหน้ามาพบกัน แล้วราชสีห์ก็กล่าวกับเสือขึ้นก่อนว่า...

                                     นี่แน่ะเสือ             ลายพาด              ผู้ปราดเปรื่อง

                              เจ้าขุ่นเคือง                 อันใด                  ในใจหนอ

                              จึงกล่าวว่า                  เรานี้                   มิดีพอ

                              จะเทียบต่อ                  ตัวเจ้า                 ไม่เท่าทัน

                              เจ้าว่าเรา                    ต่ำต้อย                ด้อยศรีศักดิ์

                              ชั้นเชิงมิ                     อาจจัก                 เทียบเทียมท่าน

                              น้องผู้เจ้า                   สัตว์ป่า                 พนาวัน

                              ท่านประสงค์               อะไรกัน               ฤาท่านเสือ

            เมื่อเสือได้ฟังราชสีห์แล้ว เสือจึงได้พูดขึ้นว่า...

                                    สหายผู้               เขี้ยวงาม              นามราชสีห์

                             ท่านพาที                    ลับหลัง                ดังนี้หรือ

                             ว่าตัวเรา                     นี้ถ่อย                  ด้อยฝีมือ

                             มิเทียบชื่อ                   เทียมชั้น              กับท่านนา

                                    หากท่านเชื่อ         คำจิ้งจอก            ที่บอกไซร้

                             เชิญท่านใช้                  เล็บเขี้ยว              เชียวเถิดหวา

                             พิฆาตน้อง                  ให้ดิ้น                 สิ้นชีวา

                             เชิญพี่ยา                    ขบขย้ำ                ให้หนำใจ

                                   เราอยู่ร่วม             กันมา                 อย่างผาสุก

                             เป็นเพื่อนทุกข์              คลุกคลี               มีสุขใส

                             เจ้าจิ้งจอก                  ตัวนั้น                มันเป็นใคร

                             พี่จึงได้                       เชื่อคำ                มันอำพราง

                                   อันความรัก           สามัคคี               เป็นพี่น้อง

                            ย่อมใฝ่ปอง                  ไมตรี                  มิเสื่อมสร่าง

                            ดุจทารก                      หลับอุตุ               อุรพางค์

                            แห่งมารดา                  ผู้โอบร่าง              ด้วยพรหมธรรม

                                   ดูก่อนท่าน             ราชสีห์                ผู้พี่ข้า

                            ผู้มีความ                    หาญกล้า              สง่าล้ำ

                            จงหวนตรอง                ตริตรึก               นึกถึงคำ

                             หมาจิ้งจอก                 เล่ห์ล้ำ                มันอำเรา

                                     ข้าพเจ้า               ผู้น้อง                 มิปองร้าย

                             ต่อพี่ชาย                    ผู้ประเสริฐ            เลิศเฉลา        

                             เราพี่น้อง                   ปองรักกัน            ให้นานเนา

                             เป็นต้นเค้า                  เลื่องลือชา            สามัคคี

           เมื่อเสือและราชสีห์มีความเข้าใจกันเพราะหันหน้าพูดจากัน ปรึกษากัน ขอโทษซึ่งกันและกัน ก็พากันขับไล่สุนัขจิ้งจอกให้พ้นไปจากถ้ำนั้น เจ้าสุนัขจิ้งจอกจึงกลายเป็นสัตว์พเนจร เพราะมีความคิดที่แฝงไปด้วยเล่ห์ร้าย ความคิดแบบนี้จึงเรียกว่าความคิดเน่า ๆ จึงควรเรียกว่า “หมาหัวเน่า” เข้ากับใครไม่ได้ 

                  รุกขเทวดา ในครั้งนั้น... ต่อมาเกิดในชาติสุดท้าย  คือ  สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

                   ราชสีห์  คือ  พระสารีบุตร

                   เสือ  ก็คือ   พระมหาโมคคัลลาน์

 

                                                                    พระเทพปฏิภาณวาที

                                                                         "เจ้าคุณพิพิธ"

 

 

 

 

 

 

 

 


อ่าน : 0

แชร์ :


เขียนความคิดเห็น