ตอนที่ 14 : จงทำสังคมให้ร่มเย็น

“จงทำสังคมให้ร่มเย็น  อย่าทำสังคมให้ล่มสลาย”

  

                สังคมที่ร่มเย็นนั้น  เกิดเพราะเหตุ ๒ ประการ  คือ

                         ๑. ต้องมีการเอื้อเฟื้อเจือจาน  เรียกว่า... มีคนเป็นบุพการี

                         ๒. ต้องมีคนที่รู้คุณ และ กตัญญูกตเวที คือ... ตอบแทนคุณ

ถ้าสังคมมีบุพการี คือทุกคนมีจิตใจเป็นพ่อเป็นแม่คน รักลูกตัว รักลูกเขาเหมือนลูกเรา  เอื้อเฟื้อเจือจาน เลี้ยงดูปูเสื่อ อย่างนี้สังคมมีความร่มเย็น

คนที่ซัดเซพเนจร สิ้นไร้ไม้ตอก จะตั้งต้นได้ก็เพราะว่ามีคนที่มีจิตใจเป็นบุพการี คือทำอุปการะก่อน ได้แก่ เป็นผู้ให้ เป็นผู้เสียสละ

ส่วนสังคมจะร่มเย็นได้ก็คือว่า เมื่อได้รับอะไรจากท่านไปแล้ว จงหาวิธีการที่จะตอบแทนคุณท่านด้วยความรู้คุณของท่านเสมอ ถ้าเราได้ตอบแทนคุณแล้ว สังคมจะร่มเย็น

แต่ถ้าสังคมไม่มีบุพการีชนคือไม่มีคนเสียสละ ไม่มีใจเอื้อเฟื้อเจือจานเผื่อแผ่ ไม่รักลูกเขาเหมือนลูกเรา สังคมจะล่มสลาย และเมื่อเขาอดอยากยากจนเขาจะไปรบกวนใคร เขาก็ต้องลักขโมย จี้ปล้น สังคมก็ยิ่งล่มสลาย

ถ้าคนไม่กตัญญูกตเวทีแล้วถือว่าใช้ไม่ได้ เราจะกตัญญูกตเวทีต่อบรรพชนของเราอย่างไร ?

บรรพชนของเรามี ๒ ฝ่าย

                  ๑. ฝ่ายที่ตายไปแล้ว

                  ๒. ฝ่ายที่ยังมีชีวิตอยู่

คนไทยแต่เดิมมานั้นต้องนึกถึงอุปการคุณ หมายความว่า เราจะต้องทำบุญให้กับบรรพชนที่ล่วงลับไปแล้ว โดยนำอัฐิมาตั้งแล้วบำเพ็ญกุศล เรื่องนี้ไม่ใช่ทำเพื่อพระ แต่ทำเพื่อตัวเราเอง  ทำเพื่อประกาศว่าเราเป็นคนกตัญญู และใครที่ได้พบได้เห็นแล้วเขาก็จะแช่มชื่นใจ เขาจะคบหาสมาคม เป็นการประกาศตัวเอง

ประการที่สอง ไปหาผู้หลักผู้ใหญ่ พ่อแม่ ปู่ย่าตายาย ที่เลี้ยงดูเรามา ไปรดน้ำอวยพรท่าน ท่านได้รับน้ำ รับคำอวยพรจากเรา ของกินของใช้ ไม่ต้องมากหรอก แต่ให้สม่ำเสมอ ท่านก็จะได้ให้ศีลให้พร ยินดีปรีดา ก็เป็นการประกาศตัวเราอีกสำหรับคนที่อยู่ว่า....

                                  คนที่ตาย       -        เราก็ทำบุญบูชาคุณท่าน

                                   คนที่อยู่        -        เราก็ไม่ลืมคุณท่าน

ขอให้ท่านทั้งหลายได้พิจารณา ทำเพื่อประกาศความดีของตัวเองว่า เรามีนิมิต มีเครื่องหมายของคนดี เพราะพระพุทธเจ้าตรัสว่า....

นิมิตฺตํ   สาธุรูปานํ  กตญฺญูกตเวทิตา

(นิมิตตัง   สาธุรูปานัง  กะตัญญูกะตะเวทิตา)

คนที่รู้คุณท่านแล้ว  ตอบแทนคุณท่าน นั่นแหละคนมีเครื่องหมายของคนดี.

 

 

                                                            พระเทพปฏิภาณวาที

                                                              “เจ้าคุณพิพิธ”

 


อ่าน : 0

แชร์ :


เขียนความคิดเห็น