ตอนที่ 51 : อย่า ๙ อย่า (ตอน ๑)

อย่า ๙ อย่า (ตอน ๑)

 สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสเป็นปัจฉิมโอวาท  เตือนใจพุทธบริษัทว่า ....

   อามันตะยามิ   โว  ภิกขะเว   โวยะธัมมา   สังขารา  อัปปะมาเทนะ   สัมปาเทถะ.

              แปลว่า... ภิกษุทั้งหลาย เราขอเตือนท่านทั้งหลายว่า ขอให้ท่านทั้งหลาย จงตั้งอยู่ในความไม่ประมาท

              -  ความไม่ประมาท คือ มีสติ ตื่นตัวอยู่เสมอ 

              -  ความไม่ประมาท คือ มีความระมัดระวัง ระแวดระวังในความประพฤติทางกาย วาจา เสมอ ให้เราเป็นผู้ครองคุณธรรม

               อัปปมาทธรรม นี้ คือ แก่นธรรม 

                -  เราจะไม่ประมาทในอะไรบ้าง ?

               เราควรจะเตือนใจเรา เป็นกริ่งในใจเราสัก ๙ ประการ เรียกว่า อย่า ๙  อย่า 

                                    โกรธ               -             อย่าระเบิด

                                    ทรัพย์สิน         -             อย่าละโมบ

                                    เมียผัว            -             อย่าระแวง

                                    ลูก ๆ              -             อย่าละทิ้ง

                                    นอน               -             อย่าละเมอ

                                    บาปกรรม        -             อย่าละเมิด

                                    ทุกข์               -             อย่าระทม

                                    สุข                 -             อย่าระเริง

                                    บุญ                -             อย่าละวาง

               นี่คือ...การ อย่า ๙ อย่า  อันเป็นองค์แห่งความไม่ประมาทใน  กาย วาจา  ใจ 

              โกรธ - อย่าระเบิด โกรธใครแล้วอย่าระเบิด 

               ปืน - ถ้าเราไม่พอใจใครเราใช้ปืนยิง ปืนลูกโดดอาจจะโดนคนนั้นคนเดียว ถ้าเราใช้ปืนกลยิงสาดไป เป้าอาจจะไม่ตรงนัก ถ้าเราใช้ปืนลูกซองมันยิงสุ่มยิงเดา เป้าหมายนั้นอาจจะไม่โดน แต่ก็ยังเสียหายไม่มาก แต่ถ้าระเบิดแล้ว มัน ๓๖๐ องศา คนที่ไม่รู้อีโหน่อีเหน่จะพลอยต้องสะเก็ดระเบิด และบางทีเป้าหมายอาจจะไม่โดนจริง ๆ ความโกรธในตัวเราก็เหมือนกัน แต่ละคนที่ระเบิดความโกรธออกไปนั้น บางทีคนที่เราโกรธด้วยไม่โดนสะเก็ดนั้นไปโดนเอาคนใกล้เคียง เช่น ลูกเต้า บริวาร แม้แต่สัตว์เดียรัจฉานก็โดนสะเก็ดระเบิด โกรธไม่ดีท่านทั้งหลาย ต้องเห็นโทษของความโกรธ  ประโยชน์ของเมตตา

               สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (วาสน มหาเถระ) อดีตสมเด็จพระสังฆราช วัดราชบพิธ พระองค์ได้ตรัสเตือนเอาไว้ว่า ....

                        ยังโกรธ                      โทษกรุ่น                    ฉุนอยู่   

                        อย่าพรู                       พูดพร่ำ                       ทำวุ่น

                        จงสงบ                        ปากมือ                      ถือคุณ

                        เมตตา                        การุณย์                      บุญงาม

               โกรธแล้วจงระมัดระวังกาย - วาจา - ใจ  อย่าพูด อย่าทำอะไรลงไป สิ่งที่ทำนั้นเป็นสิ่งที่เลวร้ายให้คนอื่นได้รับเคราะห์กรรมแล้ว เคราะห์กรรมนั้นจะกลับตกมาถึงตน 

               เพราะฉะนั้น จงระมัดระวังตนด้วยความไม่ประมาท เป็นเครื่องเตือนตนว่า “โกรธ - อย่าระเบิด” 

               อย่า ที่ ๒ : ทรัพย์สิน -  อย่าละโมบ ทรัพย์สินของใครก็แล้วแต่ อย่าไปละโมบโลภมากของเขา จงตั้งใจทำเอาแต่สิ่งที่เราทำได้ เรียกว่า ยถา  สติ  ยถา พะลัง แปลว่า มีความสันโดษ คือ ตามสติ กำลัง และบุญวาสนาของตนเท่านั้น ของใครอย่าไปสนใจ  อย่าให้ใจกวัดแกว่ง  และเกิดเป็นโลภจิตกัดกร่อนจิตใจของเรา

               หากว่าเราไม่ละโมบโลภมาก จงตั้งอยู่ในความสันโดษ คือ พอใจในสิ่งที่ตนเองมี  ยินดีในสิ่งที่ตนเองได้ แล้วเรามีความสุข คนเขานิยมชมชื่น 

               ในหลักของความสันโดษนี้  พระองค์ตรัสว่า .... 

สันตุฏฐี   ปรมํ ธนํ.

ความสันโดษ  เป็นทรัพย์อันประเสริฐ.

               คือ... ให้ความสุขแก่เรา ทรัพย์ของเราให้ความสุขแก่เรา แต่การไม่ละโมบนั้นจะทำอย่างไร ?

               ในทรัพย์สินของเรา พระองค์ตรัสสอนไว้ว่า...ความสันโดษนั้น จะต้องเริ่มจาก ....

                         การยินดีในการแสวงหา 

                         ได้มาแล้วชื่นใจ 

                         กินใช้อย่างประหยัด 

                         เก็บไว้เป็นสมบัติต้นทุน 

                         ตอบแทนผู้มีอุปการคุณ 

                         บริจาคทำบุญทำกุศล

               ตรงนี้แหละ คือ... ข้อจำกัดความแห่งการไม่ละโมบ 

              อยากได้อะไรมา ตั้งใจทำงาน คือ ยินดีในการแสวงหา ด้วยอาชีพการงานสุจริต 

               พอได้เงินมาแล้วชื่นใจ ถึงแม้จะได้น้อยกว่าคนอื่นก็เป็นผลงานของเรา อย่าไปมองมือเขาปากเขา จงมองมือเราปากเรากินใช้อย่างประหยัด 

                            ประชัน       -      วิบัติ

                            ประหยัด     -      ไพบูลย์

              เก็บไว้เป็นสมบัติต้นทุน เก็บเล็กผสมน้อยเอาไว้ เรียกว่า เก็บหอมรอมริบ เก็บมันก็หอม รอมริบเอาไว้อีกหน่อยมันก็เลยเจริญเป็นกองใหญ่ อันตัวปลวกจอมปลวกที่มันก่อร่างสร้างรังจนใหญ่ได้นั้นเพราะมันมีการรวมตัวกัน ค่อย ๆ สะสม 

                              ขนดินเติมเสริมต่อเป็นปลวกได้      

                              ถึงตัวเล็กมันก็รวมตัวร่วมใจ

                               สำเร็จได้เพราะสามัคคีกัน

                เราเองก็เหมือนกัน จงสร้างรังเหมือนจอมปลวก เหมือนนกชนิดหนึ่งคือนกกระ จาบสร้างรวงรัง

                นอกจากนั้นแล้ว เราตอบแทนผู้มีอุปการคุณ ใครมีคุณต่อเรา นำไปตอบแทนเป็นการใช้หนี้เก่า เรียกว่า กตัญญู 

               บริจาคทำบุญทำกุศล เป็นการแสดงความไม่ละโมบโลภมาก และเก็บเป็นทุนไว้ในชาติหน้า

                ลักษณะดังกล่าวนี้เป็นเครื่องรักษาใจของเราไม่ให้ละโมบโลภมาก หากแม้ว่าเราไม่มีสิ่งเตือนใจเช่นนี้ มีความละโมบโลภมาก บางทีไม่ได้แล้วก็ทุกข์ใจ ได้มาแล้วจากความประพฤติฉ้อฉลก็ทุกข์ใจ หรือบางทีพ่อแม่ตายไปแล้ว พี่น้องสายรกเดียวกันสายเลือดเดียวกัน ก็ทะเลาะเบาะแว้งกันถึงขนาดฆ่ากันตาย ผีไม่เผา เงาไม่ลืม ไม่ใช่เพราะอะไรหรอก  เพราะไม่มีสิ่งเตือนใจในทรัพย์สินของคนอื่น

                เพราะฉะนั้น จงเตือนใจตนเสมอว่า...ทรัพย์สิน - อย่าละโมบ...

 


อ่าน : 0

แชร์ :


เขียนความคิดเห็น