ตอนที่ 5 : มหาเสน่ห์ตำรับใหญ่ (๓)

๑๑. สันตินทริโย  สำรวมอินทรีย์

         ใครที่อยากให้คนรักแบบไว้วางใจ แบบชื่นชมโสมนัส แบบนิยมชมชื่น แบบจงรักภักดี หรือเชิดชูบูชา ต้องประพฤติ สันตินทริโย แปลว่า การสำรวมอินทรีย์ คำว่า อินทรีย์ ในทางศาสนาก็คือหน้าที่ของอวัยวะ ได้แก่ ตามีหน้าที่ดู หูมีหน้าที่ฟัง จมูกมีหน้าที่ดมกลิ่น ปากซึ่งมีลิ้นมีหน้าที่ลิ้มรสอาหาร กายทั้งหมดมีหน้าที่สัมผัส

         สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า ถ้าอยากให้เขาสบายใจ ต้องสำรวมอินทรีย์ เด็ก ๆ ต้องสำรวมอินทรีย์ อย่าไปทำตาหวาน ตะแคงหูฟัง หลงน้ำหอม บ้าเรื่องการกิน หรือไปมีเพศสัมพันธ์ในวัยที่ไม่เหมาะสม ผิดขนบธรรมเนียมประเพณี เขาเรียก ไม่สำรวมอินทรีย์

         แต่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ที่อยู่ในตัวเรา จะเป็นแหล่งได้ความรู้ หรือนำมาซึ่งความร้าย คนที่ไม่สำรวมอินทรีย์นั้น คือ ไม่มีใจในการสำรวมบังคับอินทรีย์คือตาได้ เมื่อเห็นรูปแล้วเป็นภัยแก่ตนเอง รักไปเลยหลงไปเลย  หรือบางทีเกลียดกลัวไปเลย ในคัมภีร์ศาสนา มีพระรูปหนึ่งไปยืนดูพระราชามาทำบุญกับพระเทวี นึกชอบใจว่าพระเทวีของพระราชาพระองค์นี้ช่างงดงามเหลือเกิน นึกอะไรเรื่อยไป แวบหนึ่งพระเทวีหันมาเห็นพระภิกษุรูปนี้ คือมองผ่านเสามาตรงที่พระแอบดูอยู่ พระรูปนี้ก็นึกว่าพระเทวีของพระราชาองค์นี้ชอบตัว เมื่อเสร็จจากการทำบุญแล้ว ซึ่งพระเทวีไม่ได้คิดอะไรเลย ก่อนจากไปได้เสด็จผ่านเสา และไม่ได้มองมายังพระภิกษุ พระภิกษุรูปนี้เสียใจ เมื่อพระเทวีลับไปกับตา พระภิกษุรูปนี้รูดลงไปกองอยู่โคนเสาขาดใจตาย

         ทุกวันนี้ เราหลงรูป หลงเสียง หลงกลิ่น หลงอาหาร หลงสัมผัส เราเลยกลายเป็นเหยื่อของกลลวง เด็ก ๆ หลงคอนเสิร์ต หลงดูภาพยนตร์ หลงฟังเพลง หลงน้ำอบน้ำหอม เครื่องแต่งตัว หรือหลงเพศสัมพันธ์ ทั้งผู้ใหญ่ก็เหมือนกัน ไม่ใช่ตาเฒ่าอยากจะมีเมียสาว ไปว่าเด็กไวไฟ ผู้ใหญ่ก็ไวอากร้า 

         คนเรานั้นไม่สำรวมอินทรีย์ไม่ได้ มันเป็นทางแห่งความเสื่อมเหมือนกัน เราต้องสำรวมเสมอ ระมัดมั่นในอินทรีย์ การสำรวมอินทรีย์นี้เป็นกัมมัฏฐาน และแปลงอินทรีย์ หู ตา จมูก ลิ้น กาย ให้เป็นกัมมัฏฐานให้ได้ ให้เป็นกรรมกิจ และเป็นกัมมัฏฐาน ก็จะประสบความสำเร็จในการดำรงชีวิต ทั้งในโลกิยธรรม และโลกุตรธรรม

                          สันตินทริโย             มโนนึก

                 สติตรึก                          ตาหู                     การรู้เห็น

                 อายตนะ                         ภายใน                  ฝึกให้เป็น

                 สงบเย็น                        นอกใน                  ชัยมงคล

                          อันรูปเสียง           กลิ่นรส                  โผฏฐัพพะ

                 ก่อราคะ                         เผาใจ                   ให้หมองหม่น

                 ทั้งโลภโม                       โทสัน                   สำคัญตน

                 ถ้าฝึกฝน                        อินทรีย์                  ไม่มีพลาด

*********************************************************************

๑๒. นิปะโก  ขับกิเลสออก

         นิปะโก  กำจัดกิเลสภายในออก ภายในของเราบางทีสะสมกิเลสไว้เยอะ บางทีเรานึกว่าได้แค่นี้ก็พอแล้ว ได้คืบจะเอาศอก ได้ศอกจะเอาวา ได้วาจะเอาโยชน์ มันไม่หยุดนิ่ง และบางทีเราก็ไม่รู้ว่า ณ ขณะนี้เราเป็นขี้ข้ากิเลสตัวไหนเราเป็นสุข หรือกิเลสเป็นสุข บางทีมานั่งนึกว่า เราเป็นประเภทได้คืบเอาศอก ได้ศอกเอาวา ได้วาเอาโยชน์ กิเลสพันพัวนุงนังไปหมด และเราก็ไม่รู้ว่ามันสนองเรา หรือเราสนองงานมัน ดังนั้นจะทำให้เขารักเมตตา ต้องกำจัดกิเลสภายในออกให้หมด ค่อย ๆ ทำให้ออกไปหมด อย่าให้เป็นสันดาน ถ้าแม่น้ำเรียกว่าสันดอนกลางน้ำ เรือแล่นไม่ได้ ถ้าเป็นใจเรียกว่าสันดานของหัวใจที่เกาะกลุ่มเกาะกินอยู่

         เรื่องของการกำจัดกิเลสภายในจึงเป็นเรื่องสำคัญ และไตรลักษณ์เป็นหลักสำคัญในการกำจัดกิเลสนั่นเอง เพราะเราไม่รู้ไตรลักษณ์ เราจึงรักกิเลสสามกอง และผลที่สุดเราก็เป็นขี้ข้าแห่งกิเลส เขาเรียกว่า “เป็นทาสแห่งกิเลส” แยกไม่ออกว่าอะไรบ้างที่ทำให้เราต้องยุ่งวุ่นวายอยู่ทุกวันนี้ จงเอาไตรลักษณ์ ...

  • อนิจจังไม่เที่ยง 
  • ทุกขังไม่ยั่งยืน 
  • อนัตตาไม่ใช่ของเรา 

         เราพูด ๓ คำนี้...ไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืน ไม่ใช่ของเรา... กิเลสจะออกไปได้บ้าง แต่พูดอย่างนี้ก็ไม่ได้หมายความว่า โอ้โฮ ! ท่านเจ้าคุณเก่งเหลือเกิน เอากิเลสออกไปได้หมดแล้ว เปล่าเลย บางทีวันหนึ่ง ๆ มีแต่ความทุกข์ใจว่ากิเลสตัวไหนมันจะเล่นงานเราอีก เราจะพลาดกับกิเลสตัวไหนอีก พลาดแล้วจะเสียใจไหม พลาดแล้วจะเสียคนไหม เพราะฉะนั้นถ้าจะต้องเสียใจเสียคนก็แย่ ชูชกก็พลาดกิเลส ไปได้เมียสาวคืออมิตตดา คนเขาก็นินทาชูชกว่า คนแก่ได้เมียสาวถือไม้เท้ายักแย่ยักยัน ผลที่สุดก็ต้องตายไปเพราะกิเลส

         ดังนั้น ถ้าใครที่กำจัดกิเลสได้ด้วยวิธีต่าง ๆ คือ ตัดความตระหนี่ได้ด้วยการรู้จักให้ อย่างนี้ถือว่ากำจัดกิเลส กำจัดโทสะด้วยการมีเมตตา กำจัดความหลงด้วยอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา กำจัดความโลภด้วยการเสียสละ อย่างนี้ล่ะท่านทั้งหลาย ถ้าเอากิเลสออกได้แล้ว อยู่กับใครก็ได้

 

                          นิปะโก           มโนนบ           คบธรรมะ

                 หมั่นชำระ              กิเลส              เหตุหมองศรี

                 ใช้พระธรรม           บำราบ            ปราบไพรี

                 ให้หมดที่                อาศัย              ในใจเรา  

*********************************************************************

๑๓. อัปปะคัพโภ  ไม่คะนอง

         การอยู่กับใครที่เขารัก เขาเมตตาเรา ได้ความสุข ความอบอุ่น แต่การได้ความอบอุ่นนั้น อย่าได้มาด้วยการเรียกร้อง ต้องได้มาด้วยความยินยอมพร้อมใจ ดังที่เพลงเขาร้องว่า “หนูเปล่านา เขามาเอง” แต่บางทีเขาไม่มา เราก็บังคับให้เขามา ให้เขารักเรา หรือบางทีเราก็พากเพียร เวียนถาม บางทีอย่าว่าแต่เด็กเลย ผู้ใหญ่ก็เป็น อยากให้เขารัก อยากให้เขานับถือบูชา แต่ไม่รู้วิธีปฏิบัติ

         อัปปะคัพโภ ขอให้จำไว้เถอะว่า เขาจะรัก นิยม ชมชื่น ชื่นใจ แล้วเราจะชื่นบาน อัปปะคัพโภ ต้องวางตัว อย่าคะนอง และ อย่าลำพอง

         การคะนองและการลำพองนั้น ไม่มีใครรัก ต้องนึกเสมอว่า เราเป็นอะไร ในหลัก ๑๐ ประการสำหรับพระ พระภิกษุทั้งหลายพึงพิจารณาเนือง ๆ ว่า เรามีเพศต่างจากคฤหัสถ์ เรามีชีวิตอยู่ได้เพราะอาศัยผู้อื่น ๒ข้อนี้จะทำให้ภิกษุไม่คะนองมือ คะนองเท้า เขาดูหนังกัน เราก็เดินก้มหน้าไป เขาฟังเพลงกัน บางทีใจเราก็กำเริบ เต้นตึ๊กตั๊ก ๆ เหมือนกัน แต่อย่าไปคะนอง คนเขาจะไม่เคารพไม่นับถือ ผู้ใหญ่ก็เช่นเดียวกัน ถ้าคะนองนักลำพองนัก ร้องรำทำเพลง กินเหล้าเมายา คนก็ไม่นับถือ ไม่เห็นหัวผู้ใหญ่ ก้าวร้าว  พาพวกตีกัน คนเขาก็ไม่นิยมชมชอบ จะไปอยู่กับใครได้เล่า อยู่ไปเขาก็คิดว่ารังแต่จะนำความเดือดร้อนมาสู่เขา

         ดังนั้นในหลักการที่จะให้มีเสน่ห์ให้คนเขาเมตตา สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่าอย่าคะนองมือ คะนองเท้า คะนองปาก ทุกคนจะต้องรู้จักวางตัวให้เหมาะสม อัปปะคัพโภ ไม่คะนอง ต้องวางตัวให้เหมาะสม วางตัวเหมาะสมไหม ถ้าไม่เหมาะสมก็ลองขยับให้เหมาะสมเสีย แต่ถ้าวางอะไรตรงไหนไม่ได้เลย เขาจะเก็บเข้าห้องเก็บของ มันไม่เข้าหมู่เข้าคณะ

         ดังนั้น เวลาบางคนบอกว่าไม่ได้ออกงานเลย มันห่ามไปหน่อย ออกงานแล้วมันห่ามไป มันนั่งห่าม ๆ มันพูดห่าม ๆ มันเปรี้ยวไป จี๊ดจ๊าดไป อย่างนี้เวลาเขามีงานอะไรเขาก็ไม่เอาไปด้วย เราก็คงจะเฉา เฉาแล้วก็ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร แต่ด้วยความคะนอง แม้จะคะนองเรื่องเงิน เรื่องอายุ คือการหลงลืม คะนองไม่ได้เลย เราไม่รู้ว่าจะมีมาเมื่อไหร่ ? จะตายเมื่อไหร่ ? อย่างนี้คะนองไม่ได้เลย หล่อก็อย่าคะนอง สวยก็อย่าคะนอง รวยก็อย่าคะนอง มีชื่อเสียงก็อย่าคะนอง ต้องระมัดระวังตน วางตนให้เหมาะสม จึงจะเป็นคนมีเสน่ห์

 

                          อัปปะคัพโภ            อย่าเฮฮา               อย่าป่าเถื่อน

                 เฝ้าตักเตือน                   ตนเสมอ                เจ้าเกลอเอ๋ย 

                 อย่าตลก                        คะนอง                  ลำพองเลย

                 ละความเคย                    ล้างความคัน           กันลำพอง

                          อันสังขาร              เรานี้                      มีแปรเปลี่ยน

                 เปรียบดังเทียน               ละลายแท่ง             ยามแสงส่อง

                 คือ เกิด แก่                     เจ็บ ตาย               ให้ตรึกตรอง

                 เป็นครรลอง                    ประพฤติ                ยึดหลักธรรม

*********************************************************************

๑๔. กุเลสุ  อะนะนุคิทโธ อย่าวุ่นวาย

         ถ้าอยากจะทำตัวให้คนเขารัก เขาอุ่นใจ เขาวางใจ ต้องปฏิบัติข้อ กุเลสุ อะนะนุคิทโธ แปลว่า อย่าขึ้นบ้านนั้นลงบ้านนี้

         คนหลายคน พระหลายรูป มีพฤติกรรมขึ้นบ้านนั้นเข้าบ้านนี้ ขึ้นกุฏินั้นลงกุฏินี้ ออกจากวัดนั้นไปวัดนี้ และผลที่สุดความเป็นคนที่วุ่นวายไปขึ้นบ้านนั้นลงบ้านนี้ บางครั้งก่อให้เกิดความอึดอัดใจของคนที่อยู่ในบ้านนั้น ๆ มีแต่ความอึดอัดขัดข้อง เป็นการรบกวน ก่อให้เกิดความรำคาญใจและความไม่ไว้วางใจ ทำตัวให้ไม่เป็นที่รักและน่ารังเกียจ

         ในวงการพระสงฆ์ก็เช่นเดียวกัน หลายรูปชอบเข้าวัดนั้นลงวัดนี้ ไปทำไม ? บางทีไม่ไปวัด แต่ไปบ้านฆราวาส อย่างนี้พระพุทธเจ้าตรัสว่า “ทำไปทำมาก็จะกลายเป็นพระภิกษุชูงวงเข้าบ้านคน” ก็คือเอาความลับของวัดไปเปิดเผย ไปกินของเขาแล้ว เขาถามอะไรก็พ่นเสียหมด พ่นพิษ ความจริงพ่นพิษมันต้องพ่นให้ศัตรู แต่นี่สาวไส้ให้กากิน อย่านี้ในพระวินัยปรับเป็นอาบัติขั้นสูง เกือบจะขาดจากการเป็นพระ คืออาบัติข้อ สังฆาทิเสส

         ดังนั้น ใครปรารถนาอยากจะเป็นที่รักของเขา อาตมาถึงบอกได้ว่า “ไม่เรียกอย่าขาน ไม่วานอย่าไป” เขาไม่รียกแล้วเราไปขาน เขาเรียกว่า..เสือก..เขาไม่วานเราไปก็เรียกว่า..เสือก.. เหมือนกัน จึงเป็นเรื่องของตัวเองที่จะต้องพิจารณาดู ส่วนใครที่ไม่ขึ้นบ้านนั้นลงบ้านนี้ ย่อมเป็นที่ไว้วางใจ เขาเรียกว่า “วางตัวเป็นกลาง” เป็นตัวกลาง และเมื่อมันมีเหตุเภทภัย ก็ไม่ต้องโทษไม่ต้องภัยอะไร ดังนั้นขอให้ท่านมั่นใจ

                          กุเลสุ                    อะนะนุคิทโธ

                 ไม่ก่อ                             โกลาหล                 อลหม่าน

                 ขึ้นบ้านนั้น                      บ้านนี้ต่อ               ก่อรำคาญ

                 ขัดสำราญ                      เจ้าของ                 ต้องกังวล

                          โบราณสอน            เขาไม่เรียก            อย่าเพรียกขาน

                 เขาไม่วาน                        ขืนไป                    ย่อมไร้ผล

                 พวกจุ้นจ้าน                     วุ่นวาย                  ทำลายตน

                 ย่อมถูกคน                      เขารังเกียจ            เดียดฉันท์เอย

*********************************************************************

๑๕. นะ  จะ ขุททัง  สะมาจะเร  กิญจิ

                                       เยนะ วิญญู  ปะเร  อุปะวะเทยยุง

                                        อย่าให้คนดีติฉินในข้อบกพร่อง

 

         สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ว่า “น  จ ขุทฺทํ  สมาจเร  กิญฺจิ เยน  วิญฺญู  ปเร อุปวเทยฺยุํง คนที่จะเป็นที่รัก  ที่เคารพบูชา  นับถือ เป็นที่จงรักภักดีนั้น ต้องขัดเกลาความประพฤติ” อะไรที่เป็นสิ่งเสียหายเล็ก ๆ น้อย ๆ นั้น ตัดออกให้หมด อย่าให้บัณฑิตเมธีหรือคนดีเขาติเตียน ท่านหมายความว่าเป็นเรื่องชั้นสูง ถ้าคนชั่วติเตียนก็ช่างมันเถอะ เพราะว่าอะไรที่มันไม่ตรงกับเรามันก็ติเตียนได้ แต่ถ้าคนดีเขาติเตียน “แหม ! ท่านเจ้าคุณเป็นเจ้าคุณแล้วนะ วันนั้นเห็นท่านไล่เตะหมาแล้วผมหมดศรัทธาเลย” ถ้าอย่างนี้บัณฑิตเขาติเตียนได้ ไม่ดี ถ้าโดนบัณฑิตติเตียนแล้ว ไม่ดี คนส่วนมากเชื่อบัณฑิต ทำให้เราขาดความนิยม ยกย่อง นับถือ เชิดชูบูชา 

         ดังนั้น ในทางศาสนาจึงมี..อภิสมาจาร ๗๕ ประการ...ที่เรียกว่า “เสขิยวัตร ๗๕ ประการ” เป็นข้อปฏิบัติ เรื่องการกิน  การเดิน การนั่ง การพูดคุย การแสดงธรรมะ การคบหาผู้ใหญ่ การเปิบข้าวเข้าปาก สิ่งเหล่านี้เป็น..อภิสมาจาร...คือ ข้อปฏิบัติอย่างเยี่ยม คนเรานั้นเขาไม่ดูอย่างอื่นก่อน เขาดูสิ่งเขาเห็นง่ายก่อน ดังนั้น ในการที่เราจะได้รับการยอมรับนับถือ เป็นเสน่ห์นั้น ให้คนที่คบเราสบายใจ เราต้องฝึกหัดดี ทนฺโต  เสฏฺโฐ  มนุสฺเสสุ คนที่ฝึกหัดดีแล้ว เป็นคนเด่นในหมู่มนุษย์ 

         ดังนั้นท่านทั้งหลายจงตั้งใจว่า...

                          น  จ ขุทฺทํ  สมาจเร  กิญฺจิ เยน  วิญฺญู  ปเร อุปวเทยฺยุํง

                 ความประพฤติ         นังนุง                   มุ่งขจัด

                 หมั่นฝึกฝน             จรรยา                   สารพัด

                 กิจวัตร                   ประจำ                    ทำความดี

                 จงฝึกตน                ให้กลืนกลม            สมฐานะ

                 หลักธรรมะ              งดงาม                  ตามหน้าที่

                 ยึดไตรลักษณ์          หลักธรรม              นำชีวี

                 ให้เมธี                     สรรเสริญ               เจริญพร

                                                                                              ********************************************************************

                พระเทพปฏิภาณวาที

                                                                 “เจ้าคุณพิพิธ”


อ่าน : 0

แชร์ :


เขียนความคิดเห็น