ตอนที่ 98 : เส้นทางเศรษฐี (จุลกเศรษฐีชาดก)

 

สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผ่านชีวิตมาทุกรูปแบบแล้วจากอดีตชาติ สิ่งใดเป็นความสำเร็จ และสิ่งใดเป็นความล้มเหลวตกต่ำตกนรก พระองค์ได้นำเรื่องราวของพระองค์มาตรัสเล่า ตรัสสอนโดยมิได้ปกปิด พระองค์ตรัสสอนวิธีการสร้างตัวเพื่อเป็นเศรษฐีไว้ ๔ ประการ

                  ๑. อุฏฐานสัมปทา       =       ขยันหา

                 ๒. อารักขสัมปทา        =       รักษาทรัพย์ให้ดี

                 ๓. กัลยาณมิตตา        =       มีกัลยาณมิตร

                 ๔. สมชีวิตา                =       ดำเนินชีวิตในศีลธรรม

         พระพุทธเจ้าตรัสเล่าไว้ในจุลกเศรษฐีชาดก (จุนละกะเศรษฐีชาดก) ว่า....

         ในอดีตชาติ พระองค์เกิดเป็นเศรษฐีชื่อ จุลกเศรษฐี มีทรัพย์มีปรีชา มีความรอบรู้ในการดูดวงชะตา ดาวฤกษ์ ดาวเคราะห์ และนิมิตลางต่าง ๆ ดูดวงดาวบนท้องฟ้า เห็นดาวดวงเล็กใกล้ตน เรียกว่าดาวเศรษฐี จึงสงสัยใคร่รู้ว่า... “ใครหนอจะเป็นเศรษฐีใหญ่ใกล้ตัวเรา”....

         วันหนึ่ง จุลกเศรษฐีเดินทางไปเฝ้าพระราชาในกรุงพาราณสี กาสีรัฐ พร้อมด้วยบริวาร ระหว่างเดินทางกลับพบหนูตายใหม่ ๆ ข้างทาง จึงเอ่ยกับบริวารว่า....

                       แกทั้งหมด          จดจ้อง                  หนูตัวนี้

                 สิ้นชีวี                      ถูกหมาฟัด              กัดตายแหง

                 ตายสดสด               มดไม่สน                 คนไม่แล

                 ขอพวกแก               เพ่งพินิจ                 คิดให้เป็น

         ในบรรดาบริวารผู้ชายของจุลกเศรษฐี มีชายหนุ่มคนหนึ่งนำใบไม้มาห่อซากหนูตัวนั้น โดยที่เขาคิดว่า ที่เศรษฐีเน้นคำว่า...ขอพวกแก  เพ่งพินิจ คิดให้เป็น...คำว่า “คิดให้เป็น...คิดให้เป็น”... เป็นคำที่เขาประทับใจ 

           เขากลับมาแล้ว จึงนำหนูตัวนั้นไปยังบ้านแห่งหนึ่ง แล้วพูดกับเจ้าของบ้านว่า....

                คุณนายครับ .... ท่านคุณนาย

                ซื้อหนูตาย                 หัดแมวลิ้ม               ชิมเลือดเนื้อ

         บ้านคุณนาย                      หนูชุม                   สุมเป็นเบือ

         ผ้าห่ม เสื้อ                        กัดขาด                   วินาศไป

                แมวลิ้มเนื้อ                หนูนิดหน่อย            อร่อยลิ้น

         ล่าหนูกิน                         หนูคงลด                หมดบ้านได้

         หวังคุณนาย                      สดับ                     รับซื้อไว้

         สินน้ำใจ                            น้อยนิด                  คิดไม่แพง

 ชายผู้นี้ได้เงินจากการขายหนูตายตัวนี้เพียงเล็กน้อย เขาได้นำเงินส่วนนั้นไปทำอะไร?...

เขาได้ติดตามเศรษฐีเข้าเมืองหลวงบ่อย ๆ จึงรู้จักเจ้าหน้าที่ทำสวนของพระราชา เจ้าหน้าที่เหล่านี้ทั้งหญิงชายต้องทำสวนตลอดทั้งวัน

....“การทำสวนกลางแดดคงทำให้พวกเขากระหายน้ำอย่างแน่นอน เราควรทำความผูกมิตรกับพวกเขาไว้”... ชายผู้นี้ครุ่นคิดอย่างพินิจพิเคราะห์

วันต่อมา เขานำเงินไปซื้อน้ำตาลสดในตลาด ได้น้ำตาลเพียงกระบอกเดียว หลังจากเขาทำงานในบ้านเศรษฐีตามหน้าที่แล้ว ตอนสายของวันนั้น เขานำน้ำตาลที่ซื้อมาเดินเข้าไปดักรอเจ้าหน้าที่ทำสวนซึ่งกำลังเหน็ดเหนื่อย กับอีกทั้งแดดร้อนจัด เขายื่นกระบอกน้ำตาลสด พร้อมกับเชื้อเชิญ....

                ท่านทำสวน                นานนาน                 พานคอแห้ง

         แดดเจิดแจ้ง                      แรงจัด                   รัศมี

         ท่านเหน็ดเหนื่อย                 เมื่อยล้า                  มาเต็มที

         ดื่มน้ำตาล                         กระบอกนี้               แล้วมีแรง

         เจ้าหน้าที่ทำสวนหลวงเมื่อดื่มน้ำตาลสดแล้วมีความชุ่มชื่นใจ จึงมอบดอกไม้ให้เขา เขาคิดว่าดอกไม้หลวงย่อมเป็นที่ปรารถนาของชาวบ้าน อีกทั้งไม่มีขายทั่วไป เขาจึงนำดอกไม้นั้นไปขาย ได้เงินเพิ่มขึ้นอีก เมื่อชายผู้นี้ได้เงินแล้วก็ซื้อน้ำตาลเพิ่มขึ้นอีก แล้วนำไปเลี้ยงเจ้าหน้าที่สวนหลวง เขาได้รับดอกไม้เพิ่มทุกวัน นำไปขายในตลาดจนได้รับเงินจำนวนมาก เขาทำอย่างนี้ทุกวันแล้วสะสมเงินส่วนหนึ่งไว้ ในวันใดที่น้ำอ้อยน้ำตาลเหลือ เขานำไปแจกเด็กเลี้ยงควายเลี้ยงวัว เขากลายเป็นขวัญใจของเด็กพวกนั้น

         ชายผู้นี้มิได้นำเงินที่ได้ไปซื้อเสื้อผ้าหรือของประดับใด ๆ ดังเช่นคนอื่น เขาสะสมเงินไว้อย่างระมัดระวัง ไม่ซื้อของมึนเมาดั่งเช่นคนรับใช้บ้านเศรษฐีคนอื่น ๆ แม้ถูกชักชวนให้ดื่มสุรา เขาก็ไม่ร่วมวงด้วย

         แล้ววันหนึ่งเมื่อฤดูฝนเริ่มต้นขึ้น พายุรุนแรงมาก พายุลูกหนึ่งพัดกระหน่ำเข้าอุทยานหลวง ปรากฏว่าหลังจากพายุพัดแล้ว ฝนตกกระหน่ำ ต้นไม้ใหญ่ ๆ ในอุทยานหลวงหักระเนระนาด เกิดความเสียหายอย่างรุนแรง แน่ละ...ภาระอันหนักย่อมเกิดแก่เจ้าหน้าที่อุทยาน แล้วอีกไม่กี่วันพระราชาจะเสด็จประพาสอุทยาน ในเวลาที่สายฝนกระหน่ำนั้น คนที่นอนก่ายหน้าผากนอนฟังเสียงฝนตกก็คือเจ้าหน้าที่อุทยานหลวง

         ตอนสายของวันรุ่งขึ้น ชายผู้นี้นำน้ำตาลอ้อยไปเลี้ยงชาวอุทยานหลวง ก็เห็นต้นไม้กิ่งไม้หักระเนระนาด พวกชาวอุทยานหลวงกำลังสาละวนกับการขนย้าย ชายผู้นี้เห็นหัวหน้าอุทยานมีความวิตกกังวล จึงเดินเข้าไปหา

                          อย่างนี้ดีไหมครับ                 ตัวผมขอรับอาสา

                 ขนไปให้พ้นตา                            รับรองว่าเสร็จเร็วพลัน

                 ธุระเพียงเล็กน้อย                          มิต้องพลอยเสียของขวัญ

                 ไม่ถึงเพียงครึ่งวัน                          กิ่งไม้พลันหมดทันตา

         

หัวหน้าอุทยานหลวงรู้สึกดีใจที่ชายผู้มีน้ำใจอาสาช่วยเก็บต้นไม้และกิ่งไม้ แต่ก็มิวายที่จะสงสัยว่าต้นไม้กิ่งไม้มากมายขนาดนี้เขาจะสามารถเก็บให้หมดได้อย่างไรในเวลาเพียงครึ่งวัน ชายผู้นั้นได้เดินทางไปหาเด็กที่เลี้ยงควายซึ่งเขาเคยเอาน้ำตาลน้ำอ้อยมาเลี้ยง พอพวกเด็ก ๆ ได้ฟังธุระของเขา ทุกคนยินดีที่จะนำวัวควายมาช่วยกันลากฉุดต้นไม้กิ่งไม้ออกจากอุทยานหลวง เพียงเวลาไม่ถึงครึ่งวันอุทยานหลวงก็ปราศจากต้นไม้ กิ่งไม้ ใบไม้ เป็นที่พอใจของหัวหน้าอุทยาน

         ชายผู้นี้ขอให้เด็กเลี้ยงควายช่วยกันลากขนแล้ว ขอให้พวกเขาช่วยกันตัดต้นไม้ กิ่งไม้ ตัดผ่าทำเป็นฟืน โดยตกลงว่าเด็กพวกนี้จะได้ค่าจ้าง และต้องตากฟืนในวันไม่มีฝน และขอเช่าที่ชาวบ้านทำเป็นที่เก็บฟืน ...ตอนนี้เขามีฟืนเป็นจำนวนมากทีเดียว... 

ในฤดูฝนตก นายช่างปั้นภาชนะของหลวงก็ประสบปัญหาหนักคือไม่มีฟืนเป็นเชื้อเพลิงเผาไหม้ ทำให้เกิดความยากใจ ฟืนที่มีก็หมดลง หัวหน้าแผนกเครื่องปั้นดินเผาก็ให้ลูกน้องไปเสาะหา พอเห็นสถานที่เก็บฟืนก็ถามหาเจ้าของ ชายผู้นี้ได้มาพบกับหัวหน้าแผนกเครื่องปั้นดินเผา เขาขอซื้อฟืนทั้งหมด

         เมื่อเผาเครื่องปั้นดินเผาแล้ว หัวหน้าแผนกได้มอบตุ่มใส่น้ำให้เขาห้าใบ เขาได้นำไปตั้งในที่สำคัญ เช่น ประตูเมือง ข้างทางแยก เป็นต้น แล้วนำน้ำมาใส่ตุ่ม อำนวยความสะดวกแก่ผู้กระหายน้ำ และหาโอกาสมาดูน้ำในตุ่มพร้อมทั้งได้มีโอกาสสนทนากับผู้คนหลายระดับชั้น ในบรรดาผู้ที่ดื่มน้ำซึ่งเขาพูดคุยด้วยนั้นมีผู้ทำอาชีพเกี่ยวหญ้าเลี้ยงสัตว์รวมอยู่ด้วย

         วันหนึ่ง คนเกี่ยวหญ้าก็บอกเขาว่าจะมีขบวนเกวียนบรรทุกสินค้ามาจากต่างเมืองเพื่อขายสินค้าให้กับพ่อค้าซึ่งมาเทียบท่าโดยเรือสำเภาจากต่างแดน และจะต้องอยู่ในเมืองนี้เป็นเวลานาน ชายผู้นี้จึงตกลงทำสัญญากับคนเกี่ยวหญ้าว่าจะขายหญ้าให้เขาเพียงผู้เดียว กับทั้งให้เช่าที่ดินอันเป็นแปลงหญ้า โดยจ่ายเงินล่วงหน้าให้ผู้เกี่ยวหญ้า

         .... “ข้าพเจ้าขอให้ท่านและผู้อื่นขายหญ้าแก่ข้าพเจ้าเพียงผู้เดียวอย่าได้ขายแก่ผู้อื่น ราคาหญ้าจะได้ราคาดี ท่านก็จะได้ส่วนแบ่งอีกส่วนหนึ่งในฐานะผู้ประสานประโยชน์”....เขากล่าวกับหัวหน้าคนเกี่ยวหญ้า

         หัวหน้าพูดกับเขาว่า... “ข้าพเจ้าเกรงใจท่านจริง ๆ นอกจากให้ดื่มน้ำแก้กระหายแล้ว น้ำใจของท่านยังประเสริฐนัก ท่านไม่ต้องตอบแทนพวกข้าพเจ้าหรือตัวข้าพเจ้าเป็นเงินพิเศษหรอก”

         .... “ไม่ได้ การค้าขายนั้นต้องมีผลกำไร ผลกำไรที่ได้มาก็ควรแบ่งให้ยุติธรรม เราต้องรวมตัวกันต่อรองราคาให้พวกพ่อค้าอยู่ได้และผลกำไรให้พวกเราอยู่ดี การทำงานแบบตัวใครตัวมันย่อมขาดการต่อรองเสียเปรียบต่อผู้ซื้อ แต่พวกเราต้องไม่เอาเปรียบกันด้วยการมั่งมีแต่ผู้เดียว แต่ผู้อื่นเดือดร้อน

.... การอยู่ร่วม   ก็คือ   การอยู่รอด ....

.... การอยู่รอด   ก็คือ   การอยู่ร่วม ....

         ว่าแต่ข้าพเจ้าขอสัจจะและขอให้รักษาคุณภาพของหญ้าให้มีคุณภาพดีเท่านั้น”.. ชายผู้เป็นลูกน้องเศรษฐีกล่าวต่อชายผู้เป็นผู้นำกลุ่มเกี่ยวหญ้า

         จากวันนั้นเป็นต้นมา เขาก็รับซื้อหญ้าสดจากเกษตรกรในหมู่บ้านนั้นแต่เพียงผู้เดียว โดยจ่ายเงินด้วยความเป็นธรรม เขาจึงกลายเป็นพ่อค้าหญ้าสำหรับเลี้ยงม้าและโค ซึ่งเป็นที่พอใจของเกษตรกรผู้มีอาชีพค้าขายหญ้า ซึ่งได้ราคาดีและมีกำหนดเวลาที่แน่นอน

        พ่อค้าซึ่งเดินทางบรรทุกสินค้าโดยเกวียนและรถม้าเพื่อนำสินค้ามาลงเรือสำเภา เมื่อไม่สามารถซื้อหญ้าจากชาวบ้านได้ เพราะคนรับใช้ของเศรษฐีได้จ่ายเงินล่วงหน้าเป็นค่าหญ้าแล้ว อีกทั้งยังซื้อประกันหน้าแปลงหญ้าไว้แล้วเพื่อความมั่นใจ พ่อค้าจึงต้องเดินทางมาพบกับเขาผู้นี้

        ...“ข้าพเจ้าขอซื้อหญ้าเพื่อนำไปเลี้ยงม้าและเลี้ยงวัวจนกว่าพวกข้าพเจ้าจะขายสินค้าให้พ่อค้าที่มากับเรือสำเภา ซึ่งคงอยู่ที่นี่อย่างน้อย ๒-๓ เดือน จะต้องขอความกรุณาซื้อหญ้าจากท่าน”... หัวหน้าพ่อค้ากล่าวพร้อมวางเงินมัดจำแก่เขา

         ขณะที่เขากำลังดำเนินกิจการค้าขายหญ้าแก่พ่อค้าผู้บรรทุกสินค้าเพื่อรอส่งไปขายทางทะเล ได้เงินจำนวนมากแล้ว พ่อค้าคนหนึ่งได้มาชักชวนขอให้เขาลงทุนซื้อหุ้นสินค้า พ่อค้าพูดกับเขาว่า.... “ท่านสนใจที่จะลงทุนร่วมกับข้าพเจ้าเพื่อการค้าระหว่างทางบกกับเรือสำเภาหรือไม่?” ....

         ชายผู้รับใช้เศรษฐีจึงรับปากว่า... “ดีเหมือนกัน เราเองก็ควรร่วมลงทุนกับท่านทั้งหลาย”....

         เขาจึงบอกพ่อค้าทางบกว่าสินค้าทั้งหมดนั้นควรมีกำไรกว่าเดิม เขาจะเป็นผู้เจรจาเอง เมื่อตกลงกันเป็นมั่นเหมาะแล้วเขาจึงเช่าเรือสำเภาหนึ่งลำ ให้สินน้ำใจแก่ผู้เป็นนายท่าเรือสำเภา แล้วขอให้บอกแก่พ่อค้าสำเภาว่าสินค้าที่นำมาจะได้ราคามากก็เพราะเขา และเมื่ออยากได้สินค้าทางบกก็ต้องติดต่อกับเขาผู้เดียวเท่านั้น

         บัดนี้ เขาผู้นี้ได้กลายเป็นพ่อค้าคนกลางแล้ว เพราะเขามีพวกพ้อง มีทรัพย์ และแบ่งผลประโยชน์ให้อย่างยุติธรรม เขาจึงได้เงินจากการขายหญ้า การค้าทางบก และ การค้าขายทางสำเภา เมื่อพ่อค้าทางบกขายสินค้าได้ แล้วรับซื้อสินค้าต่างเมืองจากพ่อค้าสำเภา พ่อค้าสำเภาขายสินค้าให้กับพ่อค้าทางบกได้และรับซื้อสินค้าจากพ่อค้าทางบกบรรทุกเรือ ทั้งสองฝ่ายได้กำไรดีมีความพอใจในคุณภาพของสินค้า และได้แบ่งส่วนกำไรแก่นายจุลันเตวาสิก

         นายจุลันเตวาสิกมีเงินสองแสนบาทในเวลาเพียงไม่กี่เดือน ทั้งได้ทำสัญญาในทางการค้าทั้งดอกไม้ ฟืน หญ้า สินค้าทางบก สินนค้าทางสำเภา เขามองเงินที่เขาได้มา เขารำพึงว่า...“ถ้าไม่มีท่านจุลกเศรษฐีบอกต้นทุนทรัพย์ คือ หนูตาย ด้วยคำว่า...คิดให้เป็น... เขาก็คงไม่ได้ทรัพย์เท่านี้” ด้วยความกตัญญูกตเวที เขาจึงนำเงินหนึ่งแสนบาทเข้าไปหาท่านเศรษฐี แล้วกราบเรียนว่า.... 

                          ข้าแต่ท่าน                เศรษฐี                   มั่งมีทรัพย์

                 โปรดจงรับ                       การบูชา                  เป็นค่าหนู

                 เงินหนึ่งแสน                     นำมา                      บูชาครู

                 ข้าฯ เรียนรู้                       กอปรกิจ                 พาณิชยกรรม

                          ข้าฯ ให้ท่าน              ข้าฯ ยังเหลือ            เผื่อไว้หมุน

                 เป็นเงินทุน                       ขายค้า                     ที่ท่าน้ำ

                 ข้าฯ ลงทุน                       หุ้นสำเภา                เขาหลายลำ

                 เที่ยวหน้าทำ                      กำไร                     ได้หลายแสน

 

         นายจุลันเตวาสิกมอบเงินแก่ท่านเศรษฐีด้วยสำนึกในการให้งานทำ ให้ที่อยู่อาศัย ให้คำแนะนำ ท่านเศรษฐีรับการบูชาของเขาไว้ด้วยความภูมิใจ บัดนี้ ท่านจุลกเศรษฐีได้ทราบแล้วว่าดวงดาวเศรษฐีดวงน้อยดวงนั้นก็คือนายจุลันเตวาสิก คนรับใช้ของเขา ซึ่งบัดนี้ดวงดาวประจำตัวของเขาสว่างไสวเรืองรองผ่องผุด

         ท่านจุลกเศรษฐีรับทรัพย์หนึ่งแสนบาทมาแล้ว จึงกล่าวแก่เขาว่า...“ขอบใจเธอมากที่คิดถึงฉัน คนจะเป็นเศรษฐีนั้นต้องมีองค์ประกอบชีวิต คือ มีความรู้  มีความสามารถ  มีโอกาส มีผู้สนับสนุน  มีบุญกุศล  เป็นคนมีความประพฤติดี  มีสติปัญญา ขอให้จำเตือนจิตติดใจไว้ อย่าลืมตัว” สอนนายจุลันเตวาสิกแล้วจึงจัดพิธีแต่งงานเขากับบุตรสาวของตน แล้วมอบกิจการให้ นำตัวไปเฝ้าพระราชาเพื่อแนะนำตำแหน่งเศรษฐีใหม่ เป็นการช่วยประเทศชาติ เขาบริหารกิจการจนรุ่งเรือง ได้รับตำแหน่งเศรษฐีประจำเมืองในกาลต่อมา

 

                 สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงตรัสสอน  สรุปได้ว่า.....

                        คนจะเป็น                  เศรษฐี                   มีบุญส่ง

                 ทั้งดำรง                           ชีวิต                     ไม่ผิดผัน

                 อยู่บนหลัก                       ความดี                  มีศีลธรรม์

                 ทั้งขยัน                            หน้าที่                    มิมีเพลา 

                 อุตสาหะ                          มานะ                      พยายาม

                 ไม่ฟุ้งเฟ้อ                         เห่อห่าม                 ไปตามเขา

                 ปฏิบัติ                              สัตย์ซื่อ                  ถือเป็นเงา

                 กตัญญู                            ผู้ที่เขา                   เลี้ยงเรามา

                 พัฒนา                              ฝีมือ                     ให้ชื่อหอม

                 มีมิตรล้อม                        หน้าหลัง                 ทั้งซ้ายขวา

                 ทั้งรักเพื่อน                       มนุษย์                   บุตร-ภรรยา

                 เป็นเศรษฐี                        มีเงินตรา                หน้าชื่นบาน

 

                                                         พระะทพปฏิภาณวาที

                                                             (เจ้าคุณพิพิธ)

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 


อ่าน : 0

แชร์ :


เขียนความคิดเห็น