ตอนที่ 49 : ตา ๓ ตา

ตา ๓ ตา

โลกทรรศน์ ธรรมทัศน์

พระเทพปฏิภาณวาที(เจ้าคุณพิพิธ)

     ตาของเรานี้มีอยู่ ๒ ข้าง  เรียกว่า  ตาซ้าย  ตาขวา  แต่การใช้ประโยชน์ของตานี้  ทางศาสนาหรือที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสสอนนั้น  จะต้องทำตานี้ให้เป็น ๓ ตา ให้ได้ 

     ตาที่เป็น ๓ ตานั้น  มีประโยชน์อย่างยิ่ง  หากว่าเราใช้ตาพิมพ์แบบเดียวรูปแบบเดียว  จะไม่เกิดประโยชน์สูงสุด  ตาของเรานี้มีความอัศจรรย์  คือ  ถ้าเราลืมตา  เราเห็นภาพภายนอก  ภาพนั้นเป็นภาพจริงที่ปรากฏต่อตาของเรา  เวลาเราดูอะไร  เราจะเห็นภาพจริงอันปรา กฏต่อตาของเรา  ส่วนจะดีหรือชั่ว  เป็น อิฏฐารมณ์  อนิฏฐารมณ์  คือ  อารมณ์ที่ชอบใจ  ไม่ชอบใจ  ก็ว่าเป็นเรื่องหนึ่ง  ตาประเภทนี้เรียกว่า  มังสะจักษุ  แปลว่า ตาเนื้อธรรมดา ๆ 

     แต่ตาคู่นี้หากว่าหลับตาลง  ปิดการเห็นเบื้องหน้าเสียจะกลับมาย้อนเห็นภายใน  ตาดวงนี้จะเห็นภาพที่สอง  เรียกว่า ภาพใจ  ภาพใจนี้เป็นภาพพิเศษ  คือ  จะต้องนำภาพจริงนั้น  รวมทั้งเสียงที่ฟังมาไตร่ตรองให้เห็นภาพใจ  และตาดวงที่สอง  คือ  ตาที่หลับตาเห็นภายในนี้เป็น ปัญญาจักษุ  หากแม้ว่ารวมการฟังเข้ามาด้วย  ทั้งดูทั้งฟังแล้ว  ภาพใจก็จะเกิดขึ้นเป็นปัญญาจักษุ  เรียกว่าเป็น จินตามยปัญญา  นำความรู้มารวมกันจะเกิดเป็น ตาดวงวิเศษ  เรียกว่า  จินตามยปัญญา  เป็น ปัญญาจักษุ 

     ตาดวงนี้หากแม้ว่าหลับลึกไป  ยกตาดวงนี้สอดส่องมองดูในพระไตรลักษณ์  คือ  มองดูในขันธ์ ๕ ของเรา  แล้วนำพระไตรลักษณ์  คือ  อนิจจัง  ทุกขัง  อนัตตา ....

-  ไม่เที่ยง

-  ไม่ยั่งยืน

-  ไม่ใช่ของเรา

     ให้เห็นความเปลี่ยนแปลง  เปลี่ยนไป  อันเป็นสัจธรรมความจริง  ตาดวงนี้กลายเป็นตาพิเศษ  เรียกว่าเป็น ธรรมจักษุ และตาที่สอดส่องมององค์ธรรมแล้วกลับมามองตัวเรา  ได้แก่  สติปัฏฐาน  คือ ....

กายานุปัสสนา  สติปัฏฐาน  นำสติมากำกับแล้ว  กำกับการดูภายใน  เห็นกาย  ความเกิดแห่งกาย  ความดำรงแห่งกาย  ความเปลี่ยนแปลงแห่งกาย  ความมีโรคภัยไข้เจ็บ 

-  เห็นการรับรู้อารมณ์  เป็นสุข  เป็นทุกข์  เป็น เวทนานุปัสสนา  สติปัฏฐาน 

-  เอาตาดวงนี้มาดูจิตโดยมีสติกำกับ  เป็น จิตตานุปัสสนา  สติปัฏฐาน

-  เอาตาดวงนี้มาดูธรรมะ  บรรลุความจริงในธรรมะ  เป็น ธัมมานุปัสสนา  สติปัฏฐาน

     ตาดวงนี้จึงเป็น ธรรมจักษุ  เพราะฉะนั้น  เมื่อเกิดมาเป็นคนแล้วจงพัฒนาตาของตน  ใช้ตาให้ครบ ๓ ดวงแล้ว  ภาพที่เกิดจะไม่หลอกลวงตาของเรา


อ่าน : 0

แชร์ :


เขียนความคิดเห็น