ราคารวม : ฿ 0.00
เพื่อนชั่ว
การที่เรารู้จักคบหาสมาคมกับผู้ใดผู้หนึ่งนั้น จะต้องมีความจริงใจต่อกันและกัน เรียกว่า มีความเป็นกัลยาณมิตรต่อกัน อย่าทำตัวเป็นปาปมิตร หรือ มิตรปอกลอก
มิตรปอกลอกนี้ โบราณท่านเปรียบด้วยนกชนิดหนึ่ง เรียกว่า นกกระจอก นกกระจอกที่มากินข้าวตามบ้านเรา มาจิกข้าวนั้น เป็นมิตรปอกลอก นกกระจอกจะมีลักษณะ ๓ ประการ คือ....
ไม่เชื่อง
ไม่เชื่อ
ไม่ช่วย
นกกระจอกเลี้ยงไม่เชื่อง สอนไม่เชื่อ งานไม่ช่วย นี่เป็นสันดานของนกกระจอก
ไม่เชื่อง นกกระจอกเราจะเลี้ยงเท่าไรก็ตามมันไม่มีวันเชื่องให้เราจับได้ ไม่มีวันจะรู้สึกว่าคุ้นกับเรา มันจะมีความไหวตัวของมันเสมอ เราจึงเลี้ยงนกกระจอกไม่เชื่อง คนบางคนเลี้ยงแล้วเป็นคนเลี้ยงไม่เชื่อง คือ มีใจคิดคดทรยศเสมอ และมักจะบินหนีไปเสมอ เรียกว่า เอาตัวรอด
ไม่เชื่อ นกกระจอกสอนอะไรก็ไม่สามารถฝึกได้ นกอีกาแม้บางทีเราว่ามันเลวร้าย เขายังสอนให้พูดได้ ยังสอนให้เชื่องให้เชื่อได้ แต่นกกระจอกไม่ได้ เรียกว่า เอาดีไม่ได้ คนบางคนซึ่งเป็นปาปมิตร หรือเป็นมิตรปอกลอกเหมือนกัน ไม่มีวันเชื่อเรา จะฉุดรั้งเอาแต่ใจตัวเอง คบแล้วอึดอัดใจ และพาภัยมาสู่ผู้ที่คบหา
ไม่ช่วย นกกระจอกเรื่องงานไม่ช่วย นกอื่นถ้ากินแมลง เราทำสวนทำไร่มันยังจิกแมลงกิน นกบางตัวไม่ได้กินแมลงแต่กินผลไม้ เราเลี้ยง ๆ ไว้พอปล่อยแล้ว มันเชื่องแล้ว ไม่ต้องขังกรงแล้ว มันไปจิกผลไม้มา มันมาถ่ายลงที่บ้านเรา เรายังได้ผลไม้พันธุ์แปลก ๆ มา เรียกว่ามันช่วยเรา หรือแม้บางครั้งบางคราวเอาไปขาย มันยังช่วยเราถ่ายเศรษฐกิจได้ แต่นกกระจอกไม่ได้
เพราะฉะนั้น เพื่อนชั่วนั้นเขาเรียก นกกระจอก โบราณเขาจึงมีคำพูดคำหนึ่งเป็นการเตือนใจว่า...คบกับใครแล้ว จงเป็นกัลยาณมิตร เป็นเพื่อนที่ดีต่อกัน... เพื่อนชั่วนั้นท่านกล่าวไว้ว่า....
เพื่อนกินสิ้นทรัพย์แล้วแหนงหนี หาง่ายหลายหมื่นมีมากได้
เพื่อนตายถ่ายแทนชีวาอาตม์ หายากฝากผีไข้ยากแท้จะหา
ที่ได้กล่าวมาทั้งหมดทั้งมวลนี้ เพื่อให้ท่านรู้จักคบเพื่อน และหากแม้ว่ามีใครมีสันดานหรือนิสัยดังนกกระจอก จงกลับตัวเสีย เราอยู่กับใครแล้วไม่เชื่อง คือไม่คุ้นเคย ไม่จงรักภักดี ไม่เชื่อคือไม่ฟังคำเขา แล้วไม่ช่วย เรานั่นเองแหละจะเป็นผู้ได้รับความระทม คือ ไม่มีใครคบ ไม่มีใครเลี้ยงดู แล้วจะมาหาว่าคนอื่นไม่ดีไม่ได้ เพราะสันดานของเราเป็นประดุจนกกระจอก
เพื่อนดี
ได้กล่าวถึงเรื่องเพื่อนชั่วไปแล้ว คราวนี้เรามารู้จักเพื่อนดีบ้าง รู้จักเพื่อนดีเพื่ออะไร
๑. จะได้รู้คุณลักษณะว่าเพื่อนประเภทไหนเป็นคนดี
๒. เมื่อเราจะเป็นเพื่อนกับใครแล้ว เราเป็นเพื่อนที่ดีต้องทำอะไรบ้าง
สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสถึงคุณลักษณะของเพื่อนที่ดี เอาไว้ให้เราดู เอาไว้ให้เราเป็น
เพื่อนที่ดีนั้น ....
๑. มีอุปการะ
๒. ร่วมชะตากรรม
๓. แนะนำประโยชน์ต่อกัน
๔. สานสัมพันธไมตรี
มีอุปการะ แปลว่า กระทำก่อน ให้ก่อน อะไร ๆ ก็ให้ก่อน เรียกว่า มีอุปการคุณ
ร่วมชะตากรรม มีทุกข์ร่วมทุกข์ มีสุขร่วมเสพ ไม่เคยทอดทิ้ง
แนะนำประโยชน์ต่อกัน ไปได้ลาภได้ผลอะไรมา มักจะชี้ให้เห็น แล้วก็บางทีเปิดโอกาสให้ร่วมหุ้น ลงหุ้น หรือให้ไปตักตวงเอาเอง แต่แนะนำประโยชน์ต่อกัน
สานสัมพันธไมตรี ไม่ยอมให้ไมตรีนั้นขาดหายไป ....
- คิดถึงแม้ใกล้ไกล
- รักใคร่สายสัมพันธ์
- เคารพกันอย่างมั่นคง
- สงเคราะห์เมื่อยามยาก
เพื่อจะสานสัมพันธ์เอาไว้ เป็น สายโยงใย สายเยื่อใย สายห่วงใย ในเรื่องนี้ สมเด็จพระชินสีห์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้เคยประสบต่อตนเอง ทรงตรัสเล่าว่า ....
มีเนื้อกวางตัวหนึ่ง มีนกกะไนตัวหนึ่ง มีเต่าตัวหนึ่ง เป็นเพื่อนกัน อยู่ต่อมาก็มีนายพรานดักเนื้อทราย ปรากฏว่าเนื้อทรายตัวนี้ติดบ่วงนายพราน เมื่อติดบ่วงนายพรานแล้วนกกะไนเห็นเข้า ก็ร้องบอกเต่าว่าบัดนี้เพื่อนติดบ่วงแล้ว เต่าจะช่วยอะไรได้ก็ช่วย เต่าอยู่ในน้ำ เมื่อรู้ว่าเพื่อนทุกข์ยากก็คลานขึ้นจากน้ำมาช่วย ใช้ปากกัดเชือกที่เหนียวแน่นนั้น นกกะไนเกรงไปว่าพรานจะตามมาทัน จึงไปดักที่บ้านของพราน เมื่อพรานจะออกหน้าบ้านก็จิกตีพราน พรานนึกว่า เออ ! วันนี้ซวย เมื่อไม่ออกหน้าบ้าน พอสาย ๆ ขึ้นก็ไปออกข้างบ้าน นกกะไนก็ไปจิกตี พรานก็นึกว่า เอ๊ะ ! วันนี้ลางไม่ดี พอไปออกทางหลังบ้าน นกกะไนก็ไปจิกตีอีก ทั้งนี้เพื่อถ่วงเวลา การถ่วงเวลาเช่นนี้ทำให้เต่าสามารถกัดเชือกเกือบจะขาด เมื่อพรานใกล้จะไปถึง เนื้อตัวนั้นได้สะบัดเชือกหลุดหนีออกไป ทิ้งเต่าซึ่งกัดเชือกจนเลือดกลบปากไว้ พรานเห็นเต่าก็จับเต่าใส่ถุงตะเคียวแขวนเอาไว้แล้วออกตามล่าเนื้อ นกกะไนได้เฝ้าเต่าอยู่ ไม่ยอมทิ้ง ส่วนเนื้อนั้นเมื่อรอดเพราะเต่าแล้ว ก็ไปแอบซุ่มซ่อนอยู่ และหันมาเลาะลัดตัดมาเพื่อจะช่วย พอมาถึงเห็นเต่าอยู่ในแหที่เขาจับขังเอาไว้ เนื้อทรายตัวนี้หรือกวางตัวนี้ก็ใช้เขานั้นเกี่ยว และใช้เท้าตะกุยจนแหขาด เมื่อแหขาดแล้ว เต่าก็หนีออกมาลงน้ำไป
พรานไม่ได้สัตว์ทั้งสามเลย นั่นเป็นเพราะว่าสัตว์ทั้งสาม มั่นคงอยู่ในความเป็นเพื่อนที่ดีต่อกัน เรียกว่า เป็นกัลยาณมิตร
เพราะฉะนั้นท่านทั้งหลาย แม้เราคบใคร จงดูลักษณะ และแม้ เมื่อเราจะเป็นเพื่อนต่อใคร จงประพฤติตนเป็นเพื่อนที่ดี คือ ....
- มีอุปการะ
- ร่วมชะตากรรม
- แนะนำประโยชน์ต่อกัน
- สานสัมพันธไมตรี
นี่แหละ เราจะอยู่อย่างมีศักดิ์ศรีและมีความสุข และเมื่อประสบเหตุเภทภัยอะไร เราจะปลอดภัยเพราะเราได้เพื่อนที่ดีเป็นกัลยาณมิตร
“มีเพื่อนทั่วทิศ ดีกว่ามีอมิตรคนเดียว”
*********************************
แชร์ :
เขียนความคิดเห็น