ราคารวม : ฿ 0.00
สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงถึงพร้อมด้วยพระคุณ ๓ ประการ คือ
- พระปัญญาธิคุณ = ปัญญายอดเยี่ยมกว่าใครใคร
- พระมหากรุณาธิคุณ = เมตตาช่วยสัตว์โลกกว่าใครใคร
- พระบริสุทธิคุณ = มีศีลอันสะอาดหมดจดกว่าใครใคร
ในบรรดาพระคุณทั้ง ๓ อันเป็นทั้ง คุณสมบัติ (จริยวัตร), คุณวุฒิ (ความรู้), คุณภาพ (ทำได้จริงตามที่รู้), คุณประโยชน์ (มีชีวิตเสียสละเพื่อผู้อื่น), คุณธรรม (เป็นเจ้าของคำสอนที่ผู้อื่นปฏิบัติแล้วได้ผลจริง)
สำหรับปัญญา พระองค์ตรัสไว้ให้ตระหนักความสำคัญของปัญญา เช่น
นตฺถิ ปัญฺญา สมาอาภา = ไม่มีแสงสว่างใดสว่างไสวเท่าปัญญา
ปญฺญา นรานํ รตนํ = ปัญญาเป็นแก้วสารพัดนึกของตน
ปัญญาในระดับรักษาตัว พัฒนา ยังไม่นับว่าประเสริฐเท่าใด แต่ปัญญารักษาคนใต้ปกครองการอำนวย ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข แก่คนใต้ปกครอง เป็นปัญญาที่บ่งบอกภาวะผู้นำ
ผู้นำต้องมีองค์ประกอบภาวะอย่างน้อย ๖ ประการ คือ....
วิชา → ฉลาด → รอบรู้
ปัญญา → เฉลียว → รอบคอบ
ปฏิภาณ → แฉลบ → รอดภัย
ประสบการณ์ → ผ่านสุข-ทุกข์ → ทนทานต้านได้
ปณิธาน → มีใจตั้งมั่น → ทำเพื่ออะไร
ปฏิญาณ → กล้าประกาศ → ผู้ที่ยอมให้ตรวจสอบ
หากขาดทั้ง ๖ ประการนี้ อย่าพึงหมายว่าจะเป็นผู้นำได้ หากนำได้ก็คือนำไปสู่ความล้มเหลว และความวิบัติ ใครก็ตามเมื่อประสงค์สร้างภาวะผู้นำ พึงตระหนักในคำพูดดังต่อไปนี้ว่า...รู้น้อยฉิบหาย เชื่อง่ายวิบัติ....
เพื่อให้เห็นชัดเจนระหว่างผู้นำที่สมบูรณ์ด้วยภาวะ และผู้นำที่ขาดภาวะ สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธจ้าตรัสเล่าอุปัณณกชาดก ดังนี้....
ในอดีตกาลอันแสนนานเกินกว่าจะคำนวณด้วยปัจจุบันเวลาได้ สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เกิดในตระกูลพ่อค้า อยู่ในเมืองพาราณสี ในย่านนั้นมีพ่อค้าอีกผู้หนึ่ง พ่อค้าทั้งสองค้าขายด้วยขบวนเกวียน ผ่านทะเลทรายอันร้อนระอุ แต่ละคนมีเกวียนไม่ต่ำกว่า ๕๐๐ เล่ม ครั้นถึงฤดูแล้งอันเป็นฤดูเดินทางค้าขาย พ่อค้าทั้งสองจึงต้องทำการตกลงกันว่าใครจะเดินทางก่อนหลัง พ่อค้าซึ่งเป็นพระโพธิสัตว์ถูกขอร้องให้เดินทางภายหลังเป็นระยะเวลา ๑ เดือน
“สหาย... เส้นทางนี้เราขอไปก่อน คิดว่าคงไม่ว่าเราเอาเปรียบนะ”... พ่อค้าคนหนึ่งกล่าว
พ่อค้าพระโพธิสัตว์จึงพูดว่า.... “ข้าพเจ้าสุดแล้วแต่ท่าน เราไม่ควรทะเลาะกัน ข้าพเจ้าก็คิดว่าจะไปทีหลังท่านอยู่เหมือนกัน เชิญท่านเดินทางก่อนเถิด”....
ต่อไปนี้ เป็นแนวคิดของพ่อค้าทั้งสอง เชิงวิเคราะห์
พ่อค้าผู้ขอไปก่อนคิดคำนวณว่าตนเองไปก่อนดี เพราะ
๑. หนทางยังไม่ถูกล้อเกวียนและเท้าวัว - ม้า บดแตกเป็นฝุ่น
๒. วัวและม้าจักได้กินหญ้าก่อน ไม่ต้องกินหญ้าอันเป็นเดน
๓. ผัก เครื่องแกงที่ขึ้นอยู่ก็ยังไม่มีใครเก็บ เราจักได้ก่อน
๔. ถ้ามีสระน้ำ น้ำขังอยู่และยังใส ขบวนของเราจักได้ก่อน
๕. ผู้เดินทางถึงก่อนสามารถตั้งราคาสินค้าได้ตามใจชอบ
แนวคิดเชิงวิเคราะห์ของพ่อค้าผู้ไปทีหลัง
พ่อค้าผู้ไปทีหลัง คิด วิเคราะห์ว่า
๑. ถ้าทางไม่ราบเรียบ หรือเป็นป่า ผู้ไปก่อนก็ต้องทำให้ราบเรียบ ทั้งถม ถาง ฟัน การกำหนดทางตามรอยเดิมจักสะดวกแก่เรา
๒. โคและม้าที่ไปก่อนกินหญ้าแก่อ่อนไม่เสมอกัน เราไปทีหลังหญ้าจักอ่อนเสมอกันตลอดทาง
๓. ผักหรือเครื่องแกงที่ขบวนแรกเก็บแล้ว ก็จักงอกมาใหม่เสมอกันตลอดทาง
๔. ในที่ใดหากไม่มีน้ำแล้วเขาขาดแคลน ขบวนแรกต้องขุด ถ้าเราตามมา เราจะได้บ่อน้ำตามระยะทาง
๕. การกำหนดราคาสินค้าแต่ละชนิดเป็นเรื่องยาก เราไปภายหลังเขาตั้งราคาแล้ว เราสามารถขึ้นราคาหรือลดราคาตามความจำเป็นหรือความชอบใจ เพราะมีราคากลางแล้ว
ความเป็นจริงของทะเลทราย
ทะเลทรายย่อมมีความลำบากและมากไปด้วยภัย ๕ ประการ คือ
๑. โจรกันดาร ในทะเลทรายชุกชุมไปด้วยโจรปล้นสดมภ์
๒. วาฬกันดาร ในทะเลทรายชุกชุมไปด้วยสัตว์ร้ายชนิดต่างๆ
๓. นิรุทกกันดาร ในทะเลทรายย่อมหาน้ำได้ยากอย่างยิ่ง
๔. อมนุสสกันดาร ในทะเลทรายมากไปด้วยอมนุษย์ ทั้ง เทวดา ภูตผี ยักษ์
เผ่ามนุษย์ต่างๆ
๕. อัปปภักขกันดาร ในทะเลทรายหาอาหารยาก
พ่อค้าที่ไปในภายหลัง ศึกษาความเป็นจริงจึงตระเตรียมการอย่างเคร่งครัด และทุกวันจัดตั้งผู้สังเกตการณ์ ถามผู้คนที่มาจากเมืองนั้นแล้วจดบันทึกเป็นข้อมูลทุกวันเพื่อวิเคราะห์วางแผนการเดินทาง
พ่อค้าคนแรกเดินทางไปด้วยความกระหยิ่มในหัวใจ ว่าอย่างไรเสียเขาต้องได้เงินทองอย่างมากมายจากการเดินทางไปค้าขาย เพราะว่าเป็นคนแรก การเดินทางเป็นไปด้วยความยากลำบาก เพราะเขาต้องบรรทุกน้ำไปเป็นจำนวนมาก ทำให้เกวียนเดินทางได้ช้า เขายิ่งอึดอัดใจ แต่ก็จำยอมต่อความจำเป็น
เมื่อเดินทางเข้าสู่ทะเลทราย อมนุษย์ประเภทยักษ์ผู้กินเนื้อมนุษย์และพวกปล้นสะดมรอซุ่มอยู่ อมนุษย์ซุ่มดูอยู่บนเขา พอขบวนเกวียนกำลังเดินทางเข้าสู่เขตแดนของพวกเขา เขาจึงได้ไปบอกหัวหน้าพวกอมนุษย์ เมื่อหัวหน้าอมนุษย์ได้ทราบข่าวสารก็วางแผนการ พากันจำแลงตัวเป็นมนุษย์ นำน้ำมารดศีรษะ มีดอกบัวสดใหม่ทำเป็นมาลัยคล้องคอ กัดกินหัวบัว มีดาบและอาวุธ ขับเกวียนสวนทางกับพ่อค้า เห็นขบวนเกวียนแล้วทำท่าฉงน กล่าวทักว่า....
พ่อค้าผู้กล้ากาจ ท่านเปรื่องปราดชาติผู้นำ
เกวียนท่านนั้นหนักล้ำ บรรทุกน้ำหรืออย่างไร
หรือหนักเพราะสินค้า วัวและม้าล้าเห็นได้
ข้างหน้าข้าฯ บอกให้ สระน้ำใสไปอาบกิน
บึงใหญ่น้ำใสเย็น เชิญเริงเล่นกระแสสินธุ์
ชำระชะมลทิน มีวารินทุกถิ่นทาง
ตุ่มน้ำทำให้หนัก วัวม้าจักเหนื่อยแรงร่าง
ทิ้งทุ่มตุ่มเสียบ้าง เดินทางไวกำไรงาม
หัวหน้าพ่อค้าสนทนากับพวกเขา กอรปกับเวลานั้นเป็นเวลาเช้า มองไปเบื้องหน้าเห็นความเขียวชะอุ่มของบรรยากาศ จึงเกิดความเชื่อถือ บรรดาพ่อค้าผู้ร่วมลงทุนและบริวารต่างพากันเชื่อถ้อยคำ พากันทิ้งตุ่มน้ำ เพราะมันทำให้การเดินทางล่าช้า แล้วอมนุษย์กับพวกพ่อค้าก็ต่างคนต่างเดินทาง เมื่อพ่อค้าทิ้งตุ่มน้ำเป็นจำนวนมาก หัวหน้าอมนุษย์ก็กระหยิ่มใจ หัวเราะด้วยเสียงอันดัง...
เสร็จข้าพวกหน้าโง่ พอสายโร่โซหิวน้ำ
เหนื่อยล้าหน้าตาช้ำ หมดแรงค้ำดำรงกาย
วัวม้าล้าอ่อนเปลี้ย นอนหลับเพลียเพราะกระหาย
ตีสองข้าจ้องหมาย ฆ่าแกตายหมดทุกคน
พ่อค้าเดินทางผ่านทะเลทราย ยิ่งสายภาพที่เห็นเขียวชะอุ่มก็หายไป เกิดความร้อนระอุ พวกพ่อค้าและบริวารจึงรู้ว่าพวกเขาถูกหลอกและพวกเขาตัดสินใจผิด ความโกลาหลก็เกิดขึ้นในขบวนเกวียน เพราะต่างคนต่างแย่งน้ำกิน วัวและม้าขาดน้ำกินก็ไม่สามารถเดินทางได้ ผู้คนก็พากันอ่อนเปลี้ยเพลียแรง นั่งทอดถอนใจ แล้วต่างพากันนอนแบบสลบไสล พอตกกลางคืนพวกยักษ์ก็เนรมิตกายให้ใหญ่โต เข้าโจมตีพวกพ่อค้า ฆ่าตายหมดทั้งสิ้นจับกินเป็นอาหาร
กล่าวถึงพ่อค้าอีกขบวนหนึ่ง จัดเตรียมขบวนเกวียนแล้ว หัวหน้าพ่อค้าประชุมกำหนดซักซ้อมกฎระเบียบ ตรวจตราสินค้า หยูกยา อาวุธ แล้วก็ออกเดินทาง การคาดการณ์ในเรื่องทางเดิน หญ้า พืชที่จะทำเป็นอาหารถูกต้อง สร้างความศรัทธาและความมั่นใจแก่ผู้เป็นบริวาร พวกพ่อค้าเดินทางมาเป็นเวลาหลายวันจนเข้าถึงบริเวณนั้นในเวลาเช้า บรรดาอมนุษย์และพวกยักษ์ก็จำแลงเป็นมนุษย์เดินทาง พวกเขาทำเช่นเดียวกับพ่อค้าขบวนแรก เข้าทักทายหัวหน้าพ่อค้า หัวหน้าพ่อค้าเมื่อเห็นพวกเขาและฟังคำพูดทั้งหมดแล้ว ก็รำพึงอยู่ในใจ
กลางทะเลทราย มีชายแปลกหน้า
ขี่เกวียนสวนมา กายาเปียกปอน
ประดับดอกบัว หัว-ตัวสลอน
พวกนี้แน่นอน คงเป็นยักษา
หวังจะลวงเรา มัวเมาวาจา
ทิ้งตุ่มธารา แล้วฆ่าเรากิน
เราต้องระวัง อย่าพลั้งลมลิ้น
เชื่อง่ายตายดิ้น หมดสิ้นขบวน
เมื่ออมนุษย์จำแลงขับเกวียนจากไป ก็เกิดโกลาหล พวกพ่อค้าและบริวารชุมนุมกันเพื่อทิ้งตุ่มที่บรรทุกน้ำและตุ่มเปล่า แต่หัวหน้าพ่อค้ายืนยัน....“ทุกท่านฟังข้าพเจ้า หยุดทำความโกลาหล เราขอให้ประชุมด้วยความสงบ เพราะเราตกลงกันแล้วว่ามีอะไรเกิดขึ้นเราต้องประชุมกันก่อน”.... หัวหน้าพ่อค้าพูดด้วยความสุขุม ครั้นเมื่อทุกคนเงียบ เขาจึงพูดเตือนสติ....
ท่านทั้งหลายจงตระหนัก นั่นคือยักษ์รากษส
เขาแปลงกายกันทั้งหมด หวังผิดกฎมุสา
เขาวางแผนแนบเนียน ขับขี่เกวียนผ่านมา
แต่ข้าฯ สังเกตดวงตา แสงแดงจ้าดุจไฟ
จะหาโคลนติดที่เท้า ของพวกเขามีไม่
พวกท่านจงอย่าวางใจ หลงเชื่อในวาจา
พวกท่านฟังข้าฯ นิด ก่อนจะคิดเดินทางค้า
ข้าฯ เคร่งเร่งศึกษา ทางนี้หนาแสนกันดาร
พื้นทรายน้ำหายเหือด ร้อนเกือบเดือดแดดจัดจ้าน
ตุ่มใหญ่ใส่น้ำอาน จึงล่าช้าระหว่างทาง
เมื่อครู่คนจู่มา บอกเบื้องหน้าธารากว้าง
ท่านฟังดังเขาอ้าง ชวนลูกจ้างชุมนุมกัน
ข้าฯ ขอตั้งคำถาม เพื่อปลูกความคิดสร้างสรรค์
ตอบได้ไม่ดึงดัน เราร่วมกันทิ้งตุ่มไป
พวกท่านที่มีความรู้จงตอบ
๑. ขบวนเกวียนเราเดินทางตามลมหรือสวนลม?
.... “สวนลมครับท่าน”
๒. พวกท่านเคยได้ยินได้ฟังมาก่อนหรือไม่ว่าทางกันดารนี้มีธารน้ำและสระบัว?
.... “ไม่เคยได้ฟังได้ยินมาก่อน”....
๓. เมื่อครู่เขาบอกว่ามีฝนตกข้างหน้าต่อเนื่องกันหลายวัน น้ำจึงอุดมสมบูรณ์
ข้าขอถามว่า...ลมเดินทางได้เท่าไหร่ แล้วท่านเคยได้ไอดินกลิ่นฝนบ้างไหม?
.... “ไม่เคยได้กลิ่นเลยนาย”....
๔. ตาของพวกเราเห็นยอดเมฆได้ไกลเท่าไหร่ แล้วในเวลากลางวัน ใครเห็น
ยอดเมฆบ้างไหม?
.... “พวกข้าพเจ้าไม่เคยเห็นครับท่าน”....
๕. เสียงฟ้าร้องเดินทางได้ไกลจนหูเราได้ยินบ้างไหม?
.... “มิได้ยินเสียงฟ้าร้องเลยสักครั้งครับท่าน”....
๖. สายฟ้าแลบเราสามารถเห็นด้วยสายตายาวเท่าไหร่? แล้วมีใครเคยเห็น
สายฟ้าบ้างไหม?
.... “สักครั้งเดียวก็มิเคยเห็น”....
“ฟังข้าฯ ทุกคน เตรียมอาวุธประจำเกวียนทุกเล่ม ห้ามทิ้งตุ่มน้ำทั้งที่ว่างเปล่าและที่บรรจุน้ำ อย่าให้น้ำเสียหาย ข้าพเจ้าคิดว่าถ้าพ่อค้าขบวนเกวียนแรกเชื่อฟังอมนุษย์จำแลง ไม่ทันถึงค่ำของวันนี้ พวกเราจะได้เห็นศพและซากกระดูกของพวกเขาอย่างแน่นอน ทุกคนเดินทางได้” หัวหน้าพ่อค้าสั่งด้วยเสียงเฉียบขาด
เพียงเวลายังไม่ทันพลบค่ำ ขบวนเกวียนก็ขับเข้าเขตที่อมนุษย์โจมตีฆ่าพ่อค้าขบวนแรก ภาพที่ปรากฏแก่พ่อค้าและบริวารคือเศษกระดูกของมนุษย์และสัตว์ แม้สินค้าก็ถูกปล้นไปจนไม่เหลือ
“ท่านคาดการณ์ได้แม่นยำเหลือเกินนะท่านหัวหน้า ข้าพเจ้าเลื่อมใสในปัญญาของท่านเป็นอย่างยิ่ง”...พ่อค้าคนหนึ่งอุทานออกมาดัง ๆ ด้วยความชื่นชมในตัวหัวหน้า
หัวหน้าพ่อค้าสั่งให้เดินทางต่อไปเพื่อหาทำเลพักกลางคืน และเป็นทำเลที่จะไม่ถูกซุ่มโจมตีได้โดยง่าย สั่งให้นอนหัวค่ำ แล้วเปลี่ยนเวรยามอารักขากองเกวียนอย่างเต็มที่ ให้ม้าและวัวพักผ่อนเพื่อเอาแรงไว้วันรุ่งขึ้น อมนุษย์เฝ้าตามเพื่อโจมตีแต่ทำเลไม่เอื้อ บวกกับการอารักขาที่เข้มแข็งเกินกว่าจะเสี่ยงโจมตีได้ จึงมิอาจฆ่าพ่อค้ากลุ่มนี้ได้เลย
คืนนั้นผ่านพ้นแล้ว หัวหน้าสั่งให้พวกอารักขานอนหลับเป็นการพักผ่อน จัดคนบังคับเกวียนใหม่ ครั้นกินอาหารเสร็จแล้วจึงให้เคลื่อนขบวน ห้อตะบึงเต็มที่ เป้าหมายคือต้องเข้าเมืองให้ได้ก่อนค่ำของวันนี้
“สหายของข้าพเจ้า วันนี้เราต้องเข้าเขตเมืองให้ได้ มิเช่นนั้น ความอ่อนเพลียจะพาพวกเราหายนะ จงใช้ความพยายามกันทุกคน”... เขากล่าวต่อบริวารด้วยเสียงอันเด็ดขาด
ขบวนเกวียนห้อตะบึงไปข้างหน้า จนเย็นนั้นก็ถึงเมืองอันเป็นเป้าหมาย หลังจากได้พักผ่อนหนึ่งคืน เช้าวันรุ่งขึ้นหัวหน้าพ่อค้าได้ไปพบเจ้าหน้าที่ ขออนุญาตทำการค้าขาย ตกลงระบบภาษีโดยสุจริต วันต่อมาจึงจัดสินค้าจำหน่าย ปรากฏว่าชาวเมืองมีความจำเป็นเรื่องสินค้าเพราะขาดช่วงไปหนึ่งช่วง เนื่องจากพ่อค้าขบวนแรกตายหมดและสินค้าก็ถูกปล้นเอาไป ชาวเมืองจึงให้ราคาสินค้าบางประเภทด้วยราคาสูง บางอย่างต้องมีการประมูล หัวหน้าพ่อค้าขายสินค้าหมดแล้ว เสียภาษีให้เมืองนั้นตามธรรมเนียม ซื้อสินค้าจากเมืองนี้เดินทางกลับเมืองของตน พวกเขาได้กำไรสองเท่าทั้งสองเมือง
การดำรงตำแหน่ง หรือทำการใดใด หวังความราบรื่นอย่างเดียวมิได้ จะต้องก้าวย่างอย่างระมัดระวัง ทั้งในตัวบุคคล และเหตุการณ์ต่าง ๆ จึงขอให้ระวัง ๗ ย่างก้าว
ยุ
ยอ
ลวง
ล่อ
ขอ
ขู่
ข่ม
*************************************************************
แชร์ :
เขียนความคิดเห็น