ตอนที่ 214 : ทำไมต้องเสียสละด้วยเล่า?

เณรหนุ่ยกำลังนั่งอ่านหนังสืออยู่ที่โคนต้นโพธิ์อันสงบร่มเย็น ไม่ห่างจากนั้น... มีเด็กเล่นกระจายอยู่รอบ ๆ ลานวัดซึ่งติดกับโรงเรียน....

 

ด.ช.ใฝ่ดี : พอเพียง... วันนี้ต้องไปช่วยงานคุณครูที่โรงเรียนนะ

ด.ญ.พอเพียง : ไม่ไปไม่ได้หรือ ? ไปเล่นกันดีกว่า สนุกกว่าตั้งเยอะ

ด.ช.ใฝ่ดี : ไว้เล่นวันหลังก็ได้ นี่มันเป็นงานของโรงเรียนนะ

เณรหนุ่ย : มีอะไรหรือ...ใฝ่ดี ?

ด.ช.ใฝ่ดี : พอเพียงสิครับ ไม่ยอมไปช่วยงานที่โรงเรียน จะเอาแต่เล่นอย่างเดียวเลย

เณรหนุ่ย : ถ้าอย่างนั้นต้องพาไปให้หลวงตาเทศน์ให้ฟังแล้วละ มา...ตามเณรมาเลย !

 

เณรหนุ่ยพาเด็กทั้งสองคนเข้าไปกราบหลวงตา หลวงตาจึงทักทายว่า....

หลวงตา : นั่งตามสบายเลย ไม่ต้องเกร็ง พวกหนูมาคุยกับหลวงตา ขอให้รู้สึกว่าหลวงตาเป็นญาติของหนู ๆ จะถือว่าเป็นพ่อของพ่อ ก็เรียกว่า “หลวงปู่” ถ้าถือว่าเป็นพ่อของแม่ก็ เรียกว่า “หลวงตา” แต่ถ้าเห็นว่าเป็นพระแก่ ๆ จะเรียกว่า “หลวงตา” ก็ไม่ว่ากันนะลูก

เณรหนุ่ย : กราบเรียนหลวงตา พอเพียงขี้เกียจทำงานโรงเรียน หลวงตาช่วยเทศน์สอนหน่อย เพราะกระผมกลัวว่าเพื่อน ๆ จะพากันไม่ชอบพอเพียง เดี๋ยวจะไม่มีใครพูดด้วย เล่นด้วย กินข้าวด้วยครับ...!

หลวงตา : เอาละ...ฟังทุกคนเลยนะ อย่าคิดว่าใครผิดใครถูก หลวงตาจะเทศน์ให้หนูมีปัญญา แบบเป็นกลาง สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสสอนไว้ว่า...

     จะเช   มัตตา สุขัง  ธีโร

      (จเช มตฺตา  สุขํ  ธีโร)

คนดี ควรเสียสละสุขเล็กน้อย เพื่อสุขยิ่งใหญ่ของส่วนรวม

หลวงตา : คราวนี้ลองมาดูการเสียสละในฐานะเป็นเด็กหรือเป็นผู้น้อย ซึ่งพวกหนูจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ดีในอนาคต อันการเสียสละนั้นเป็นเสน่ห์มหานิยมอย่างยิ่ง อยู่ใน  “สังคหวัตถุธรรม” คือ การสงเคราะห์ด้วยวัตถุและคุณธรรม ซึ่งมี ๔ ประการ

    ทาน         =  ให้วัตถุให้ถูกเวลา

    ปิยวาจา     =  เจรจาให้ถูกใจ

    อัตถจริยา    =  บำเพ็ญประโยชน์แก่ผู้อื่นให้กว้างไกล

    สมานัตตตา =  วางตนไว้ให้เหมาะสม

หลวงตา : หนูจะท่องจำเฉพาะภาษาไทยก็ได้นะ

หลวงตา : การเสียสละแรงงานอยู่ในข้อที่ ๓ คือ อัตถจริยา คือ การบำเพ็ญประโยชน์ร่วมกับ      ผู้อื่น คือ อย่าเห็นแก่ตัว ต้องเห็นประโยชน์แก่ส่วนรวม ถ้าเห็นประโยชน์แก่ตัวก็จะอยู่ตัวคนเดียว ถ้าเห็นประโยชน์ส่วนรวมก็จะอยู่กับคนส่วนรวมได้

หลวงตา : เอ้า หยิบสมุดในกระเป๋ามาจด ส่วนเณรหนุ่ยไม่มีกระเป๋า มีแต่ “ย่าม” คือ กระเป๋าสะพายไหล่ คล้องแขน ซึ่งทำด้วยผ้า เป็นบริขารของพระ-เณร หยิบออกมาแล้ว เตรียมดินสอ ปากกา...จด

หลวงตา : เณรหนุ่ย, ใฝ่ดี, พอเพียง จำไว้ทุกคนนะลูกนะ หนูเป็นเด็กจะต้องทำ ๒ อย่าง คือ...

       ทำตัวให้เหมือนเข็มเย็บผ้า

       ทำงานอาสาให้เหมือนผ้าเช็ดพื้น

ด.ญ.พอเพียง : งงค่ะ... หลวงตาขา ! หนูงงมากเลย ทำไมเด็กต้องทำตัวแบบนี้ด้วย ?

หลวงตา : ต้องงงสิ... เพราะหนูไม่เคยวิจัยเข็มเย็บผ้า เข็มเย็บผ้ามันเล็ก - แหลม – พาด้าย ท้ายของมันซึ่งเรียกตูดเข็ม มันทำประโยชน์อย่างมหาศาลแก่เจ้าของ ไม่เคยเบื่อ งอแง... เด็กก็ควรทำตัวเหมือนเข็มเย็บผ้า คือ... 

       ตัวเล็ก แต่ทรงไว้ซึ่งคุณค่า   

      เย็บเสื้อผ้าได้อย่างสวยงาม   

      ปะเสื้อผ้ายามขาด     

      เย็บบาดแผลให้สนิท   

      ใช้สะกิดเสี้ยน - หนาม – ฝีหนอง

หลวงตา : เด็กก็ควรทำหน้าที่เปรียบแต่ละข้อ  ดังนี้...

      อาสางาน

      สร้างสรรค์สิ่งที่ดี

      เป็นตัวประสานสามัคคี

      ทำให้คนที่แตกกันดีกัน

      ช่วยกำจัดปัญหาของสังคม

หลวงตา : จดกันทันหรือเปล่า ? เราต้องหัดเขียนหนังสือลายมือ “หวัด” ให้ เร็ว สวย มีระเบียบ สะอาด อ่านง่าย ด้วย

ด.ช.ใฝ่ดี : แล้วที่หลวงตาพูดว่า “ทำงานอาสาให้เหมือนผ้าเช็ดพื้น” กระผมสงสัยว่าทำไมพวกเราต้องทำงานต่ำ กลายเป็นผ้าขี้ริ้วด้วยหรือครับ?

หลวงตา : ถามดีมาก...! หลวงตาอยากถามว่าบ้านทุกหลังจะเล็กหรือใหญ่ จะขาดผ้าเช็ดพื้นและผ้าขี้ริ้วได้ไหม?

เณรหนุ่ย : ไม่ได้ครับ ถ้าขาดผ้าขี้ริ้ว บ้านก็จะสกปรก วัดก็สกปรก แก้วน้ำ ถ้วย โถ ชาม สกปรกหมดครับ

หลวงตา : ถูกต้อง ผ้าขี้ริ้วต้องสะอาดกว่าสิ่งที่มันเช็ดถูเสมอ และรองรับความสกปรกไว้ในตัวของมันเอง แต่คนมองว่าไร้ค่าราคาต่ำ คนเรานี่นะลูก ต้องทำตนให้เหมือนผ้าเช็ดพื้น คือ ผ้าขี้ริ้ว

เณรหนุ่ย : แล้วจะต้องทำอย่างไรให้เป็นผ้าขี้ริ้ว ทำประโยชน์แก่ผู้ที่เราอยู่อาศัยเล่าครับ...หลวงตา..?

หลวงตา : เอ้า...ตั้งใจฟัง ตั้งใจจดจำ นำไปปฏิบัติ ทำตนให้เป็นผ้าเช็ดพื้น ต้องทำดังต่อไปนี้...

     - อาสางานต่ำ 

    - ทำความสะอาดพื้นที่   

    -  กำจัดธุลีที่พื้นและเท้า   

             คือ

-  ช่วยงานที่ผู้ใหญ่ทำไม่ได้หรือผู้ใหญ่ไม่ควรทำ

-  มีน้ำใจต่อผู้ที่ตนเองอยู่อาศัย

-  เฝ้าคอยดูสิ่งที่ขัดข้องและจ้องช่วยแก้ไข

หลวงตา : สรุปแล้วทั้งหมด หนูพอเพียง ใฝ่ดี ต้อง....

     - ช่วยทำงานบ้าน

     - ช่วยทำงานโรงเรียน

     - อย่าผลัดเพี้ยนหน้าที่

     - มีใจยินดีที่ได้ทำประโยชน์

หลวงตา : วันนี้มีของขวัญมาแจก เพราะมีโยมถวายมาเยอะเชียว พวกเธอเห็นแล้วต้องชอบ คือ ....  

       ผ้าขี้ริ้วที่แสนสะอาด

       ไม้กวาดที่แสนทนทาน

      น้ำยาและผ้าเช็ดจาน

      ไม้ถูบ้านและน้ำยาขัดห้องน้ำ

หลวงตา : เณรหนุ่ย รีบหยิบเอาไปก่อน เร็ว...เดี๋ยวหมด...!  

ด.ช.ใฝ่ดี : เป็นยังไงบ้าง เข้าใจหรือยังพอเพียง

ด.ญ.พอเพียง : จ๊ะ! ฉันเข้าใจแล้ว เราควรเสียสละความสุขเล็กน้อยเพื่อความสุขส่วนรวม

เณรหนุ่ย :  ถ้าเข้าใจแล้วก็ไปโรงเรียนกันได้แล้ว ของขวัญจากหลวงตาเพียบเลย..! 

 

                          พระเทพปฏิภาณวาที

                             “เจ้าคุณพิพิธ”

 

 


อ่าน : 0

แชร์ :


เขียนความคิดเห็น