ราคารวม : ฿ 0.00
เรามักจะพูดกันว่า ..ขี่หลังเสือแล้วลงไม่ได้.. อันหมายถึง...คนที่ได้อำนาจมาแล้ว จะทุจริตผิดศีลธรรม หากว่าจะเลิกกระทำความชั่วนั้น คนที่ไปเคยทำความชั่วก็จะตามล้างผลาญ อำนาจอย่างนี้เราจึงมีคำพูดว่า...ขี่หลังเสือแล้วลงไม่ได้... แต่ความจริง ขี่หลังเสืออีกสี่ตัวแล้ว จะลงเมื่อไรก็ได้ และเสือมันก็ยอมให้ขี่ เสือ ๔ ตัวนี้ ก็คือ ....
๑. สัจจะ
๒. สุจริต
๓. เสียสละ
๔. สามัคคี
นี่คือ เสือ ๔ ตัวที่เราต้องขับขี่อยู่เสมอ
เสือตัวที่ ๑ คือ สัจจะ เป็นคนจริง
สัจจกริยา - ทำอะไรทำจริง ๆ ....
- ตั้งใจให้นอนฝัน
- ขยันให้ขาเขย่ง
- เก่งให้คนขยาด
- ฉลาดให้คนแขยง
สัจจวาจา - พูดเป็นคำจริง อย่าโกหก อย่าเหลาะแหละ อย่าล่อลวง
สัจจอธิษฐาน - ตั้งอะไรตั้งใจจริง
คนมีสัจจะนั้น ย่อมได้รับเกียรติ คือ เกียรติยศ เกียรติศักดิ์ เกียรติศัพท์ เกียรติคุณ และมีผลดีถึง เกียรติภูมิ คือ ผลของสัจจะ
อริยสัจจะ - ย่อมได้พบของจริงอันประเสริฐ ได้แก่ อริยสัจ ๔ ประการ
เสือตัวที่ ๒ คือ สุจริต - อุชุ ความเป็นผู้ซื่อตรง คือ สุจริต
สุจริตนี้ ก็คือ เป็นผู้มีศีล รักษาศีลให้มั่นคงในศีลของตนจนคนไว้วางใจ
เสือตัวที่ ๓ คือ เสียสละ มีทานบารมี และ มีจาคะ
ทานบารมี คือ เสียสละทรัพย์สิน
จาคะ คือ ยอมสละทั้งชีวิต เพื่อให้เป็นประโยชน์แก่สังคมโลก
เสือตัวสุดท้าย คือ สามัคคี ร่วมแรงร่วมใจ ถ้อยทีถ้อยอาศัย ให้อภัยในความผิด
ร่วมแรงร่วมใจ - ทำอะไรต้องร่วมแรงร่วมใจกัน
ถ้อยทีถ้อยอาศัย - ถ้อยทีถ้อยอาศัยกันไป กำลังน้อยก็ต้องอาศัยกำลังมาก กำลังน้อยแม้เมื่อไม่มีอะไรเลยก็เป็นกำลังใจ
ให้อภัยในความผิด - ผิดอะไรก็ให้อภัยกันบ้าง
อย่างนี้เรียกว่า.... มีความสามัคคีกัน
เสือทั้ง ๔ ตัวนี้ หากว่าท่านทั้งหลาย ได้นำไปเป็นพาหนะในการขับขี่ชีวิตของเราไป เสือทั้ง ๔ ตัวนี้ ก็จะมีพลังในการป้องกัน ในการเสริมสร้าง ขอให้ท่านทั้งหลาย อย่าไปคิดถึงเสือตัวใด ๆ เลย อำนาจอะไรได้มาโดยไม่สุจริต ไม่มีคุณธรรมของเสือ ๔ ตัวนี้ อำนาจนั้น ๆ ท่านได้มาแล้วจะถูกขย้ำ จะถูกกัดกิน
เพราะฉะนั้นจึงขอให้ท่านทั้งหลาย ได้ตั้งใจในสัจจะในสุจริต เสียสละ และ สามัคคี สรุปว่า... เลี้ยงเสือทั้ง ๔ ตัวนี้ ท่านไม่ต้องกลัวหมดอำนาจในคุณธรรม
แชร์ :
เขียนความคิดเห็น