ราคารวม : ฿ 0.00
สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงตรัสสอน...“ภาวะผู้นำ”...และ...“คุณธรรมของผู้นำ” ทั้งนี้ เพื่อผู้ประสงค์จะสร้างภาวะผู้นำจะได้ยึดเป็นแม่แบบ ทำตามแม่บท ให้ปรากฏในตัวเอง...
ภาวะผู้นำและคุณธรรมของผู้นำนั้น มิใช่ศึกษาและเรียนรู้ได้จากมนุษย์เท่านั้น แม้แต่สัตว์พระองค์สอนว่าสามารถศึกษาเรียนรู้ได้ ถึงบางครั้งสัตว์จะพูดไม่ได้ แต่ก็แสดงภาวะผู้นำได้ พระองค์จึงตรัสเล่าเรื่องราวของพระองค์ เรียกว่าชาดก ใน “มหากปิชาดก” (มะหากะปิชาดก) คือ เรื่องราวของพญาวานร ดังนี้...
ในอดีตกาลนานมาแล้ว ครั้งนั้นพระราชาแห่งราชวงศ์พรหมทัต เสวยสมบัติในกรุงพาราณสี คราครั้งนั้นสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เสวยชาติเกิดเป็นพญาวานรมีบริวารจำนวนมาก พญาวานรนี้มีกำลังมากเท่ากับช้างห้าเชือก มีความแคล่วคล่อง อาศัยอยู่ในป่าหิมพานต์ซึ่งมีต้นมะม่วงมีผลใหญ่ หอมหวานขึ้นอยู่อย่างอุดมสมบูรณ์
พญาวานรได้สั่งสอนลูกน้องว่า... “พวกท่านจงคอยดูต้นมะม่วงที่กิ่งยื่นไปในแม่น้ำ อย่าให้มีลูกมะม่วงหลงตา ถ้าหากมะม่วงตกในแม่น้ำ จะมีภัยมาสู่ฝูงวานรอย่างแน่นอน”....
และแล้วก็พลาดจนได้ เมื่อมะม่วงผลหนึ่งหลงตา สุกแล้วร่วงลงไปในแม่น้ำอันไหลอย่างรวดเร็ว
.... “ตายละวะเรา”… วานรตัวที่เห็นอุทาน แล้วรีบกลับไปบอกพญาวานร
ชาวประมงกลุ่มหนึ่งดักอวนเพื่อจับปลาอยู่ใต้กระแสน้ำ เมื่อถึงเวลากู้อวนก็พบว่ามะม่วงผลนั้นติดอวน
“โอ! มะม่วงอะไรผลใหญ่ขนาดนี้ สีดุจดั่งทองคำน่ากินจังเลย”.... ชาวประมงผู้หนึ่งกล่าวขึ้นด้วยความตื่นเต้น
“ข้าว่าพวกเราอย่ากินเลย ของพิเศษอย่างนี้ควรนำถวายพระราชาเถิด เราจะได้รับปูนบำเหน็จความดีความชอบ อีกหน่อยก็คงมีมะม่วงลอยมาติดอวนอีกอย่างแน่นอน” เพื่อนของเขาแสดงความคิดเห็น
ในที่สุดจึงตกลงใจนำมะม่วงผลนี้ถวายพระราชา
“ไหนลองเล่าให้ฟังซิว่าพวกเจ้าไปได้มะม่วงผลนี้มาแต่ไหน ซึ่งเราไม่เคยเห็นมาก่อน มะม่วงอะไรกันหนอ ผลถึงใหญ่ สีสวยดั่งทองคำ มีกลิ่นหอมน่ากิน” พระราชาตรัส
ชาวประมงจึงได้กราบทูลสถานที่ที่พวกเขาพบมะม่วงผลนี้ให้พระราชาทรงทราบทุกประการ พระราชาตรัสชื่นชมแล้วพระราชทานรางวัลแก่พวกชาวประมง
เมื่อพวกชาวประมงกราบบังคมทูลลากลับไปแล้ว พระราชารับสั่งให้ตามพวกพรานป่าผู้เชี่ยวชาญ รับสั่งถามถึงมะม่วงว่ามีพิษอย่างใดหรือไม่
เมื่อพรานป่ากราบบังคมทูลว่าน่าจะเป็นผลมะม่วงที่ลอยมาจากเชิงป่าหิมพานต์ พระราชาจึงทรงใช้กฤชประจำพระองค์ฝานผลมะม่วงแจกให้พระชายา และพระสนมลองชิม ทันทีที่สัมผัสรสมะม่วงก็เกิดรสหอมอร่อยซ่านเป็นที่ติดอกติดใจ
“โอ!..ไฉนมะม่วงผลนี้จึงอร่อยวิเศษสุดเห็นปานนี้เล่า เราไม่เคยสัมผัสรสมาก่อนเลย”....พระราชาอุทาน
ครั้นเมื่อติดใจในรสมะม่วง พระราชาสั่งให้เกณฑ์พรานป่าผู้ชำนาญทาง รับสั่งให้จัดหาเรือพร้อมอาวุธและธนู แล้วพระองค์จึงประทับเรือพายสวนกระแสน้ำสู่ป่าหิมพานต์อันเป็นที่ตั้งแห่งป่ามะม่วงทันที
“เฮ้...พวกเราดูข้างหน้านั่น มีกองเรือจำนวนมากแล่นสวนกระแสน้ำตรงมายังป่าไม้มะม่วงของเราแล้ว เห็นมีมนุษย์เต็มลำเรือเลย” วานรตัวหนึ่งอยู่บนยอดไม้ตะโกนบอกวานรที่อยู่บนพื้นดิน
“สงสัยเสียแล้ว ท่านพญาวานรได้พูดไว้ว่าอย่าให้มะม่วงตกน้ำ ภัยใหญ่จะมาถึงเรา ชะรอยว่าพวกมนุษย์คงเก็บได้แล้วประสงค์จะรู้แหล่งจึงพากันมา คำพูดของพญาวานรไม่ผิดเอาเสียเลย” วานรอีกตัวหนึ่งรำพัน
จากนั้น วานรจึงพากันส่งข่าวแก่กันและกัน เกิดความโกลาหลขึ้นแล้วในป่าไม้มะม่วง ซึ่งแต่ก่อนแต่ไรมา วานรอยู่ด้วยกันอย่างผาสุก
พระราชาเสด็จถึงแล้ว รีบสั่งจัดตั้งกองเรือ แล้วกระจายกำลังออกรายล้อมป่ามะม่วงซึ่งเป็นที่อยู่ของฝูงวานร รับสั่งให้เตรียมอาวุธและธนู ลูกศร เพื่อฆ่าวานรให้หมดสิ้น ทั้งนี้พระองค์จะได้ยึดสวนป่ามะม่วงอันแสนโอชะ สำหรับพระองค์แล้วประทับในที่ที่ทหารจัดให้ เสวยพระกระยาหาร และผลมะม่วงด้วยความสุขพระราชหฤทัย
“คืนนี้ กองทหารค่อยโอบล้อมทุกด้าน ไล่วานรให้จนมุมที่ฝั่งแม่น้ำ แล้วยิงฆ่าทุกตัวอย่าให้เหลือ” หัวหน้าทหารเรือสั่งการทหารและนายธนูอย่างเฉียบขาด
“อย่าลืมนะ ฆ่าลิงทุกตัวอย่าให้เหลือ ป่ามะม่วงจะได้เป็นของพระราชาของเรา” นายทหารคนเดิมย้ำหน้าที่ “อ้อ! รอเวลาเที่ยงคืนพระจันทร์ตรงศีรษะก็จะดีมาก”
ฝูงวานรทั้งหลายตกอยู่ในความประหวั่นพรั่นพรึง ถูกวงล้อมของทหารและพรานขมังธนูโอบล้อมตั้งค่าย วานรทุกตัวมิรู้ว่าชะตาชีวิตของตนเองจะเป็นอย่างไร
ขณะนั้นหัวหน้าวานรอีกกลุ่มหนึ่ง แต่เดิมมีความริษยาวานรพระโพธิสัตว์ แต่บัดนี้ไม่รู้จะแก้สถานการณ์อย่างไร จึงเข้าไปหาวานรพระโพธิสัตว์แล้วพูดว่า....
พี่ท่านผู้หาญกล้า ท่านพญาพานรินทร์
คราวนี้เห็นชีวิน จะสิ้นแท้แน่นักหนา
ทหาร พรานธนู ล้อมเราอยู่รอบพนา
เตรียมยิงลิงพวกข้า และพวกท่านให้บรรลัย
น้องนี้จนปัญญา ที่จะหาทางแก้ไข
พี่ข้าปัญญาไว ช่วยเราให้พ้นภัยเถิด
พญาวานรได้รับการขอร้องจากหัวหน้าวานรขี้อิจฉา จึงรำพึงออกมาว่า....
โธ่เอ๋ย...ฝูงวานร ต้องม้วยมรณ์กันครานี้
หากข้าไม่ปรานี คงเห็นทีจะต้องตาย
เราจะกระโดดข้าม ซึ่งแม่น้ำกระแสสาย
เถาวัลย์พันรอบกาย ผูกต้นไม้โดดกลับมา
สะพานขนวานร พ้นลูกศรทุกทิศา
ขืนกลัวมัวชักช้า องค์ราชาฆ่าพวกเรา
พญาวานรได้ตัดสินใจทำตามที่คิด ใช้ขาหลังเหยียบยอดมะม่วงต้นที่ใกล้แม่น้ำ กระโดดข้ามแม่น้ำอันกว้างใหญ่ หาเถาวัลย์มาผูกต่อกันแล้วผูกกับกอไผ่ ปลายเถาวัลย์ข้างหนึ่งผูกรอบเอว กะประมาณว่ายาวพอกับความกว้างของแม่น้ำ เถาวัลย์ที่ผูกเอวจะได้คลี่คลายออกผูกยอดมะม่วง ครั้นเสร็จแล้ว เหยียบยอดกอไผ่ โผนตัวเข้าหายอดมะม่วงทันที แต่การคำนวณผิดนิดเดียว เถาวัลย์ยาวไม่พอ แต่พอมือพญาวานรจับถึงมะม่วง ก็สิ้นสุดความยาวของเถาวัลย์ พญาวานรจึงบอกให้วานรทั้งหมดเหยียบหลังของตนแล้วรีบข้ามไป วานรแต่ละตัวทำความเคารพพญาวานร แล้วเหยียบหลังวิ่งข้ามแม่น้ำอย่างเกรงใจแต่ร้อนรน เมื่อวานรทั้งหลายข้ามฝั่งแล้ว วานรขี้อิจฉารออยู่เป็นตัวสุดท้าย เห็นเป็นโอกาสที่จะฆ่าพญาวานร เพื่อตนเองจะได้เป็นหัวหน้าฝูงวานรทั้งปวง และด้วยรู้นิสัยความเสียสละของพญาวานรว่าถึงอย่างไรก็ไม่มีวันปล่อยเถาวัลย์เป็นแน่ จึงสบถออกมาว่า.....
ชะช้า...ไอ้หน้าโง่ ทำอวดโก้เสียสละ
เป็นทีของกูละ ขอชนะมึงสักที
กระทืบไอ้ดักดาน ให้ถึงคลานกลายเป็นผี
มึงตายวายชีวี บารมีกูใหญ่โต
มึงอยู่กูไม่ใหญ่ มึงตายไปกูได้โก้
ไอ้นุงถิงลิงหน้าโง่ ตายคาโซ่ห่วงเถาวัลย์
เมื่อสบถดังนี้แล้ว วานรขี้อิจฉาเหยียบยอดต้นมะม่วง แล้วทิ้งตัวลงบนร่างของพญาวานรในส่วนแห่งกลางสันหลัง เมื่อถูกวานรผู้มีร่างใหญ่กระโดดเหยียบกระแทกกลางสันหลัง กระดูกหลังของพญาวานรเคลื่อนออก เกิดทุกขเวทนาอย่างยิ่ง วานรขี้อิจฉาเดินขย่มน้ำหนักตัว เพิ่มความเจ็บปวดทุกข์ทรมานแก่พญาวานรพระโพธิสัตว์เป็นอย่างยิ่ง แต่ด้วยใจตั้งมั่นจึงกอดปลายกิ่งมะม่วงอย่างมั่นคง เพราะเกรงว่าวานรตัวสุดท้ายจะไปไม่ถึงฝั่งแม่น้ำ ร่างของพญาวานรสั่นเทาด้วยความเจ็บปวดสุดชีวิต
เหตุการณ์ตั้งแต่ต้นมิได้คลาดไปจากสายพระเนตรของพระราชา และบรรดาขุนทหารพรานธนูทั้งหลาย ทุกคนเฝ้ามองความเสียสละของพญาวานรด้วยความอัศจรรย์ใจ
“โอ!...เป็นไปได้อย่างไรที่วานรตัวนี้กระทำได้เช่นนี้ เสียสละได้เช่นนี้” พระราชาทรงอุทานออกมาดัง ๆ
ขุนทหารพรานธนูมีความอัศจรรย์ใจ มิได้ต่างไปจากพระราชาของพวกเขาเลย วานรขี้อิจฉาผ่านพ้นแม่น้ำไปเพราะอาศัยเหยียบร่างของพญาวานร แต่ภาพของแสงจันทร์สะท้อนแม่น้ำเบื้องล่าง ร่างของพญาวานรมีเถาวัลย์ผูกเอว มือจับกิ่งมะม่วง ช่างเป็นภาพทั้งประทับใจและสลดใจ
“อะไรกัน! แม้แต่สัตว์ก็มีทั้งที่เสียสละ และขี้อิจฉาด้วยหรือนี่” พระราชาทรงเปล่งอุทานออกมาดัง ๆ
ครั้นรุ่งเช้า พระราชารับสั่งให้นำเรือไปเทียบตรงกับร่างของพญาวานร ผูกแคร่แล้วรับเอาร่างของพญาวานรลงมา พระองค์จึงทรงทราบว่าพญาวานรมีร่างกายบอบช้ำ ไม่สามารถขยับเขยื้อนได้เลย ทรงเสียพระทัยยิ่ง อีกทั้งเกิดความรักในพญาวานรดั่งบิดามารดารักบุตร ทรงรับสั่งให้นำน้ำมาพรมร่างกาย แล้วให้นำร่างของพญาวานรขึ้นเรือพระที่นั่งของพระองค์เพื่อเดินทางกลับพระนคร
บรรดาขุนทหารพรานธนู ต่างพากันเร่งเก็บผลมะม่วงอันมีรสโอชาบรรทุกลงในเรือ ครั้นเสร็จแล้ว ขบวนเรือของพระราชาจึงเคลื่อนออกจากป่าไม้มะม่วงมาตามแม่น้ำจนถึงพระนครโดยสวัสดิภาพ พระราชาทรงรับสั่งให้นำร่างพญาวานรเข้าในวังจัดห้องรักษาพยาบาล ทรงเสียพระทัยที่พระองค์เป็นต้นเหตุ ทรงเฝ้าดูแลพญาวานรอย่างใกล้ชิด รับสั่งถามว่า
เพราะเหตุใด ท่านจึง ถึงสละ
ทอดกายเป็น สะพาน อย่างหาญกล้า
ให้วานร เอาเปรียบ เหยียบกายา
ข้ามพ้นฝั่ง ธารา สถาพร
ท่านไม่กลัว ร่างกาย ทำลายหัก
ท่านไม่กลัว ร่างปัก ด้วยลูกศร
ท่านไม่กลัว ตัวอิจฉา มาราญรอน
ท่านวานร ท่านทำไป ทำไมกัน
พญาวานรได้ตอบปุจฉาของพระราชาว่า...
ข้าฯ ขอทูล องค์ราชา อย่างพาซื่อ
ข้าฯ นี้คือ หัวหน้า วานรใหญ่
เมื่อผู้ใต้ ปกครอง ต้องผองภัย
จะเพิกเฉย อยู่ไย ไม่เข้าที
เกรงลูกศร กำซาบ อาบยาพิษ
แทบทุกทิศ ประดังมา จึงพาหนี
ลิงทุกตัว กลัวตาย วายชีวี
หากไม่มี ใครช่วย คงม้วยมรณ์
มีลิงที่ ริษยา ข้าฯ รู้ชัด
กลัวเกรง ความวิบัติ แล้วผัดผ่อน
ทิ้งลูกน้อง ให้ตาย ตัวหายจร
โลกจะค่อน นินทา หน้าตัวเมีย
แล้วจึงถวายโอวาทแด่พระราชาว่า....
ผู้นำจงจำมั่น ต้องขยันในหน้าที่
ผูกจิตมิตรไมตรี และพึงมีความซื่อตรง
รักษาศีลและสัตย์ ทรัพย์สมบัติอย่าลุ่มหลง
ชีวิตจะปลิดปลง อย่าระย่อต่อศัตรู
อย่าหลงพะวงกาม เรื่องเลวทรามน่าอดสู
ระวังหัวและหู พวกโฉดเขลาชอบเป่าลม
ระวังโอฐยามโกรธจัด อย่าพลั้งตรัสจงหัดข่ม
ขันติธรรมค้ำอารมณ์ อย่าเบือนบิดผิดหลักธรรม
คนดีจงส่งเสริม คนเหิมเกริมข่มให้หนำ
ทศพิธราชธรรม เป็นเครื่องค้ำผู้นำเอย
จบโอวาทแล้วพญาวานรก็สิ้นใจ พระราชาโทมนัสเป็นอย่างยิ่งดุจดั่งว่าพระองค์ได้สูญเสียพระราชโอรสสุดที่รักของพระองค์ โปรดให้จัดงานศพกลางพระนคร ครั้นถึงเวลารับสั่งให้ฌาปนกิจศพแบบสุมไฟมิให้กระดูกแหลกป่น เสร็จแล้วโปรดให้สร้างสถูปกลางพระนคร จัดงานเฉลิมฉลอง ๗ วัน ในทุก ๆ วัน ทรงตรัสเล่าถึงวิธีการอันเป็นภาวะผู้นำของพญาวานรและขนานนามเมืองหลวงนั้นว่า “พาราณสี”
****************************************
แชร์ :
เขียนความคิดเห็น