ตอนที่ 212 : ทำแบบนี้เป็นคนดีได้หรือ?

เณรหนุ่ยกำลังยืนดูนกหลายชนิดกินฝักมะขามเทศริมรั้ววัด ซึ่งหลวงตาปลูกไว้เพื่อให้เป็นทานแก่เด็กและนก ขณะกำลังเพลินกับการดูนกอยู่นั้น ก็ได้ยินเสียงเด็กหญิงพอเพียงและเด็กชายใฝ่ดี.... 

 

ด.ช.ใฝ่ดี : พี่เณรครับ

เณรหนุ่ย : มีอะไรหรือ...ใฝ่ดี ?

ด.ช.ใฝ่ดี :  พี่เณรครับ การบำเพ็ญประโยชน์คืออะไรหรือครับ ?

เณรหนุ่ย : การทำตนให้เป็นประโยชน์ เป็นการทำความดีอย่างหนึ่งนะ ถามทำไมล่ะ ?

ด.ญ.พอเพียง : แล้วมันเกี่ยวกับการเป็นคนดียังไงเล่าคะ...หลวงพี่เณร..?

เณรหนุ่ย : ไม่รู้เหมือนกัน ต้องไปถามหลวงตาแล้วละ... มา...ตามมา

เณรหนุ่ยพาเด็กทั้งสองมากราบหลวงตา ขณะที่หลวงตากำลังนั่งอ่านใบลานพระไตรปิฏก         เณรหนุ่ยจึงพูดขึ้น....

เณรหนุ่ย : กราบเรียนหลวงตาครับ สองคนนี้สงสัยว่าการบำเพ็ญสาธารณประโยชน์จัดว่าเป็นคนดีอย่างไร กระผมพูดว่าเป็นคนดีได้ แต่อธิบายไม่ถูกครับ...

หลวงตา : เณรหนุ่ยลองทบทวนพระพุทธภาษิตที่หลวงตาให้ท่องเมื่อวันพระก่อน พุทธภาษิตนั้นว่าอย่างไรและแปลว่าอะไร?

เณรหนุ่ย : พุทธภาษิตนั้น คือ....

       สัพเพสัง  สะหิโต โหติ

        (สพฺเพสํ สหิโต  โหติ)

คนดีย่อมบำเพ็ญประโยชน์แก่คนทั้งปวง

หลวงตา : เก่งมาก คราวนี้ทุกคนตั้งใจฟัง การเป็นคนดีและทำดีนั้น ต้องบ่มเพาะมาจากภายในใจ แต่อย่าให้อยู่เพียงในใจ ต้องแสดงออกภายนอก เรียกว่า ทาง “กายกรรม”

 :  คนดีนั้นต้องมีทั้ง กายกรรม วจีกรรม มโนกรรม ด้วยการบ่มเพาะและแสดงออกให้เหมาะแก่สถานการณ์ ดังนี้

        ตั้งเมตตาไว้เป็นนิตย์

        มีจิตผ่องใส

        มีน้ำใจอาสา

        เห็นคนอื่นเกิดปัญหาไม่นิ่งนอนใจ รีบเข้าไปช่วยเหลือ

        เอื้อเฟื้อเจือจาน

        ช่วยงานสังคม

        ไม่ต้องการค่าจ้างและคำชม

        ต้องไม่ตรมเมื่อถูกใครเขากระแนะกระแหน

 

ด.ญ.พอเพียง : หลวงตาคะ... คำว่า “เจือจาน” นี่ ความหมายเป็นอย่างไรคะ?

หลวงตา : ดีมากนะลูก สงสัยถามได้เลย หลวงตาเข้าใจว่า “เจือ” มาจากคำว่า “จุนเจือ” ส่วน “จาน” คือ “จานข้าว” นั่นก็หมายความว่า...ถ้าเรามีข้าวเต็มในจานเรา แต่จานข้าวคนอื่นพร่องหรือไม่มีข้าวกิน เราก็แบ่งข้าวจากจานเราไปให้จานเขาบ้าง อย่างนี้เรียกว่า “เจือจาน” เป็นความหมายที่รู้กันว่ามีใจเมตตากรุณาต่อผู้อื่น....

ด.ช.ใฝ่ดี :  ผมสงสัยครับหลวงตา คือผมสงสัยว่าการทำความดีต่อสังคมนั้น หลวงตาสอนว่า “ต้องไม่ตรมเมื่อถูกใครเขากระแนะกระแหน”... ทำไมการทำดีต้องมีคนกระแนะกระแหนด้วยครับ

หลวงตา : มีทั่วไปแหละลูกเอ๋ย..! บางคนทำดีก็ถูกหาว่าอยากได้หน้าตา อยากได้คำชม, อยากได้ยศศักดิ์, อยากได้ความรัก, อยากได้ผลประโยชน์ 

หลวงตา : พระอินทร์บนสวรรค์นั้น ตอนที่ท่านยังเป็นมนุษย์ ท่านมีชื่อว่า..มฆมานพ (มะ-คะ-มา-นบ) ท่านเริ่มทำสาธารณประโยชน์ เริ่มต้นคนเขาก็วิจารณ์ กระแนะกระแหน แต่ท่านไม่โต้ตอบ มีใจชื่นบาน จนชาวบ้านอีก ๓๒ ครอบครัวมาเป็นพวก ร่วมกันทำประโยชน์ ต่อมาก็มีข้าราชการระดับผู้ใหญ่ ถ้าเป็นสมัยนี้เรียกว่านายอำเภออิจฉา เท็จทูลพระราชาด้วยข้อหาร้ายแรงว่าอาจก่อกบฎ พระราชารับสั่งให้จับผู้ชายทั้ง ๓๓ คน มัดกับหลักไม้  ไล่ช้างให้เหยียบ มฆมานพให้เพื่อนๆ เจริญเมตตาต่อพระราชา ต่อนายอำเภอและช้าง ไล่ช้างให้เหยียบเท่าไร ช้างก็ไม่เหยียบ สุดท้ายพระราชาพระราชทานอภัย และสนับสนุนกิจกรรมสาธารณประโยชน์อีกมากมาย เรื่องมันยาว ไว้โตขึ้นหน่อย จะเล่าให้ฟัง

หลวงตา : มฆมานพมีคุณธรรมประจำใจ เรียกว่า “วัตตบท” มี ๗ ประการ เป็นทั้งอุปนิสัย และควบคุมมิให้พลุ่งพล่านเมื่อทำประโยชน์ คือ...

     ๑. กตัญญูกตเวที

     ๒. มีความประพฤติอ่อนน้อมถ่อมตนต่อผู้ใหญ่

     ๓. เจรจากับใครๆ ด้วยถ้อยคำไพเราะ

     ๔. ไม่พูดจาแซะเซาะเสียดสี

     ๕. ไม่เป็นคนขี้ตระหนี่

     ๖. มีวาจาสัตย์

     ๗. กำจัดความโกรธด้วยการให้อภัย

หลวงตา : ข้อนี้แหละใฝ่ดี ที่คนบำเพ็ญประโยชน์แก่ผู้อื่นต้องมีเป็นหางเสือเรือ เอาไว้คัดท้ายเรือ จำไว้ทุกคนว่า...ถ้าจะบำเพ็ญประโยชน์ ต้องมีคาถาท่อง... เอ้า...ประนมมือ แล้วท่องตามดังๆ 

    ทำดี   อยากให้คนชมว่าดี   มีผลคือ “บ้า”

    ทำดี   อยากได้หน้า         สิ่งที่ตามมาคือ “วุ่น”

    ทำดี   เพื่อมีบุญ            ใจไม่ขุ่น “สงบสุข”

หลวงตา : เอาละ...ไปเถอะ อยากบำเพ็ญประโยชน์อะไรก็รีบไปทำ ทำไปก็ท่องคาถาไปด้วย

หลวงตา : โน่น...เณรหนุ่ย ยกตะกร้าขนมและผลไม้ไปให้สองคนนี้ไปกินและไปแจกเพื่อน ๆ ด้วย

ด.ช.ใฝ่ดี : อย่างนี้นี่เอง การบำเพ็ญประโยชน์เป็นการกระทำของคนดี

ด.ญ.พอเพียง : งั้นเราก็มาทำตนให้เป็นประโยชน์กันเถอะ

เณรหนุ่ย : การเป็นคนดีนั้นยังสามารถทำอะไรได้อีกหลายอย่างนะ ไม่ใช่การบำเพ็ญประโยชน์อย่างเดียวหรอก

หลวงตา : เห็นไหมว่านอกจากจะได้ความเข้าใจแล้วยังได้ขนมกินอีก แต่..เอ... ชักสงสัยว่าที่มีปัญหาถามนี่มีปัญหาจริง หรืออยากกินขนมกันแน่ ?

ด.ญ.พอเพียง : ขนมเป็นผลพลอยได้ค่ะ...หลวงพี่เณร ! 

 

                          พระเทพปฏิภาณวาที

                             “เจ้าคุณพิพิธ”


อ่าน : 0

แชร์ :


เขียนความคิดเห็น