ตอนที่ 52 : อย่า ๙ อย่า(ตอน ๒)

 อย่า ๙ อย่า(ตอน ๒) 

     การมีกริ่งเตือนใจให้เราไม่ประมาทในการประพฤติทาง กาย  วาจา ใจ นั้น  คือ การที่เราจะต้องเตือนตัวเองเสมอตามคำสอนของพระพุทธเจ้า ที่ได้นำมาผูกไว้เป็นเรื่องของ อย่า ๙  อย่า  คือ .... 

      โกรธ         -    อย่าระเบิด

      ทรัพย์สิน   -   อย่าละโมบ

       การมีกริ่งเตือนใจให้เราไม่ประมาทในการประพฤติทางกาย วาจา ใจนั้น คือ การที่เราจะต้องเตือนตัวเองเสมอตามคำสอนของพระพุทธเจ้า 

      เมียผัว -  อย่าระแวง  อยู่ด้วยกันแล้วอย่าระแวงซึ่งกันและกัน จะไม่มีความสุข การระแวงซึ่งกันและกันก็นำมาซึ่งการถาม จู้จี้ ถากถาง กระฟัดกระเฟียด กระแนะกระแหน ทะเลาะเบาะแว้ง ตบตี สุดท้ายก็มีการฆ่ากันด้วยความหวาดระแวง

      ความหวาดระแวงเกิดขึ้นจากอะไร ? 

      เกิดขึ้นจากผัว - เมียไม่ปฏิบัติให้ซื่อตรงต่อกัน ผัวต้องปฏิบัติต่อเมีย ๕ ประการ  แล้วเมียจะไม่ระแวง คือ....

             -  จริงใจ

             -  ให้เกียรติ

             -  ไม่เหยียดหยาม

             -  มอบเครื่องประดับความงาม

             - มอบความเป็นใหญ่ให้

       ถ้าผัวหรือสามีปฏิบัติอยู่อย่างนี้  รับรองว่าเมียไม่ระแวง

       ส่วนเมียเล่าจะทำให้ผัวไม่ระแวง เมียต้องปฏิบัติดี ต้องเป็นแม่ให้ได้ ๖ แม่  คือ ....

             -  แม่เรือน

             -  แม่แรง

             -  แม่ครัว

             -  แม่ค้า

             -  แม่พระ

             -  แม่คุณ

       ถ้าเมียปฏิบัติได้ ๖ ประการเช่นนี้ ทั้งสองฝ่ายก็ไม่มีการหวาดระแวงกัน และเหตุที่เป็นเรื่องหวาดระแวงนั้น

       ๑. สังคมทำให้เราเกิดความไม่ไว้วางใจในคู่ครองของเรา เพราะสังคมปัจจุบันนี้เสียหายในเรื่องเพศสัมพันธ์และกามารมณ์ ท่านทั้งหลายอย่าเอาสังคมมามองคู่ครองของเราซึ่งเป็นคนดีมีศีลธรรมอยู่เลย

       ๒. เสียงของชาวบ้าน ชาวบ้านเห็นเราอยู่ดีมีสุขก็เริ่มจะไม่พอใจ มักจะเอาไฟนอก ๆ มาเป่าหูเรา บ้านเรือนที่มันล้มนั้นเพราะโดนวาตภัยกับอัคคีภัย ส่วนบ้านเรือนที่เรียกว่าครอบครัวที่ล้มนั้นเพราะบ้านเรือนหลังนั้น ๆ ถูกลมปากเป่าหู แล้วก็ไปหลงลมปาก แล้วเกิดเป็นไฟพัดกระพือ บ้านเรือนนั้น ๆ จึงประสบวาตภัย และ อัคคีภัย เพราะฉะนั้น อย่าฟังปากชาวบ้านเอามาระรานคนในครอบครัว  

       ลูก ๆ - อย่าละทิ้ง เลี้ยงลูกให้ดี ให้ลูกให้ครบ ๑๐ ประการ ....

             -  ให้มีกาย

             -  ให้มีเกิด

             -  ให้มีกิน

             -  ให้มีอยู่ 

             -  ให้มีความรู้

             -  ให้มีคู่เบียด

             -  ให้มีเกียรติ

             -  ให้มีบุญ

             -  ให้มีทุนไปปรโลก

             -  ให้มีธรรมะดับโศกในจิตใจ

      อย่าไปละทิ้งเขา ถ้าทิ้งเขาแล้ว ลูกประสบเคราะห์กรรมแล้ว ความเสียหายของลูกจะตามมากระหน่ำซ้ำเติมเราและวงศ

ตระกูล เพราะฉะนั้น จงปฏิบัติหน้าที่ของพ่อแม่ที่ดี คือ... ลูก ๆ - อย่าละทิ้ง

      นอน - อย่าละเมอ อย่าเก็บอารมณ์คั่งค้างไว้ เรียกว่า อย่ามีนิวรณ์ในใจ ถ้ามีนิวรณ์ในใจ นอนก็นอนไม่หลับ กระสับกระส่าย ครั้นหลับไปแล้ว นิวรณ์ต่าง ๆ ได้แก่  กามฉันทะ  พยาบาท ความฟุ้งซ่าน  ความไม่สบายใจ  หรือ ความรัก  โลภ  โกรธ หลง  มันก็เป็นตะกอนนอนใจ คราวนี้ถ้าเกิดฝันร้าย ฝันเมื่อควบคุมไม่อยู่ถึงขนาดละเมอ และบางทีละเมอไปทำสิ่งต่าง ๆ หรือละเมอไปทำร้ายทำลายคนอื่นก็มี ดังนั้น วิธีการกำจัดให้นิวรณ์ตะกอนใจหมดไปก่อนหลับ วิถีชีวิตของคนไทยจึงต้องสวดมนต์ไหว้พระก่อนนอน แล้วดับความร้อนในอารมณ์ให้หมด ตัดกิเลสนิวรณ์ในใจให้หมด แล้วหลับให้สบาย ดังนั้น จึงขอให้ท่านทั้งหลายดำรงวิถีชีวิตด้วยการสวดมนต์ไหว้พระก่อนนอนแล้วจะได้ไม่ละเมอ

      บาปกรรม - อย่าละเมิด อะไรที่เป็นบาปกรรมอย่าไปละเมิดเข้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องศีล ประพฤติผิดศีลแล้วเป็นบาปทั้งนั้น ประพฤติผิดศีลแล้วไปเป็นสัตว์นรก สัตว์เดรัจฉาน  เปรต อสุรกาย ล้วนแล้วแต่ประพฤติผิดศีลทั้งนั้น เมื่อประพฤติผิดศีลก็ประพฤติผิดธรรมะ เขาเรียก คลาดจากคลองธรรม  เพราะฉะนั้น...บาปกรรมอย่าละเมิด       

      ทุกข์ - อย่าระทม  ทุกข์แล้วอย่าไปเจ่าจุก อย่าไปฝังตัวอยู่ในความทุกข์ ทุกข์แล้วออกที่แจ้ง ทุกข์แล้วจุดธูปจุดเทียนไหว้พระ ให้อยู่ในที่สว่างไว้ และคิดว่ามันอยู่กับเราไม่นาน เพียงเงยหน้ามองฟ้า สูดลมหายใจเข้าแล้วปล่อยให้มันละลายหายไปกับฟ้า เท่านั้นแหละทุกข์ก็หมดไป 

      สุข -  อย่าระเริง  สุขแล้วมันก็อยู่กับเราไม่นาน เหมือนลมหายใจเข้า สุขครึ่งหนึ่ง  ทุกข์ครึ่งหนึ่ง หายใจออกก็สุขครึ่งหนึ่ง  ทุกข์ครึ่งหนึ่ง 

      หายใจเข้า      :   สุขครึ่งแรก  ทุกข์ครึ่งหลัง 

      หายใจออก    :    สุขครึ่งแรก  ทุกข์ครึ่งหลัง   

      เป็นเหมือนกัน หากแม้ว่าเราคิดถึงระบบลมหายใจแล้ว ทุกข์อย่าระทม สุขก็อย่าระเริง ...อย่าไปติด... 

      นอกจากนั้นแล้ว ทาน ศีล ภาวนา คือ  บุญ  - อย่าละวาง  มีโอกาสทำบุญสุนทานเป็นการมงคล มากน้อยอยู่บนพอเหมาะพอดี เกิดมาเป็นคนแล้ว ....

      ปุญฺญญฺเจ   ปุริโส  กยิรา     กยิราเถนํ   ปุนปฺปุนํ

      ตมฺหิ   ฉนฺทํ  กยิราถ             สุโข   ปุญฺญสฺส  อุจฺจโย.

      เมื่อเกิดมาเป็นคนแล้ว พึงกระทำบุญ พึงกระทำบุญนั้นบ่อย ๆ ตามโอกาสที่อำนวย 

      เมื่อทำบุญแล้ว ...ตมฺหิ   ฉนฺทํ   กยิราถ... ควรพอใจพึงใจในโอกาสที่เราทำบุญแล้ว

      สุโข  ปุญฺญสฺส อุจฺจโย ... เพราะการสั่งสมซึ่งบุญนำสุขมาให้แก่เราในโลกนี้ และเมื่อมรณาแล้ว ไปรับผลดีในโลกหน้า เรียกว่า... อยู่ในสวรรค์หรือในพรหมโลก

      อย่า ๙ ประการนี้ เป็นกริ่งเตือนใจให้ท่านทั้งหลายดำรงชีวิตและดำเนินชีวิตอยู่ด้วยความไม่ประมาท เพราะฉะนั้นเมื่อท่านทั้งหลายปาวรณาว่า... อัปปะมาเทนะ  สัมปาเทถะ ...แล้ว  ก็จงภาวนาต่อว่า ....

     โกรธ         -    อย่าระเบิด

      ทรัพย์สิน     -    อย่าละโมบ

      เมียผัว        -    อย่าระแวง

      ลูก ๆ          -    อย่าละทิ้ง

      นอน           -    อย่าละเมอ

      บาปกรรม   -    อย่าละเมิด

      ทุกข์          -     อย่าระทม

      สุข            -     อย่าระเริง

      บุญ          -      อย่าละวาง 

 


อ่าน : 0

แชร์ :


เขียนความคิดเห็น