ตอนที่ 4 : มหาเสน่ห์ตำรับใหญ่ (๒)

๖. อะนะติมานี  ไม่ถือตัว

         อะนะติมานี คนที่จะเป็นที่รักของใครได้นั้น ต้องไม่มีมานะกระด้าง อะไรที่มันกระด้าง เราไม่อยากหยิบ ไม่อยากจับ ไม่อยากแตะต้อง คนที่นิสัยกระด้าง พูดจากระด้าง กิริยากระด้าง จิตใจกระด้าง ไม่มีใครจะนับถือ แต่กระด้างเกิดจากไหน เกิดจาก “ฮึ ! อาบน้ำร้อนมาก่อน” นี่เกิดความกระด้าง “อยู่มาก่อน” หรือบางคนเรียกว่า “ถือยศ ถือศักดิ์”

         เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (จันทสิริมหาเถระ) อดีตเจ้าอาวาสวัดสุทัศน์ ฯ ท่านได้เล่าถึงกำนันท่านหนึ่ง ต่อมาได้ยศเป็นขุน วันที่ได้ยศเป็นขุน แต่งองค์ทรงเครื่องที่ได้รับพระราชทานแล้ว ถึงเวลาเย็นภรรยาเรียกกินข้าว แกไม่นั่ง ภรรยาก็เรียกกินข้าว แกบอกจะกินข้าวในจานเงินจานทอง แกก็เลยถามภรรยาว่า “แกเป็นใคร ฉันเป็นใคร”

         ภรรยาก็บอกว่า “อ้าว ! พี่ก็เป็นสามีของฉัน”

         “ไม่ใช่ ฉันเป็นขุน” แล้วเอ่ยบรรดาศักดิ์ของตัวให้ภรรยาฟัง วันนั้นท่านขุนก็ไม่ต้องกินข้าว ชาวบ้านก็เล่าลือไป เขาก็เลยขนานนามใหม่ว่า ขุนทะเยอเห่อยศทำลายญาติ เพราะฉะนั้น กระบวนการที่คนจะมีมานะนั้น คือ

         ประการแรก  ถือวัยวุฒิ  ฉันเกิดมาก่อน ฉันผ่านโลกมาก่อน อาบน้ำร้อนมาก่อน คนมักจะอ้างอย่างนี้ ทำให้เกิดความกระด้าง 

         ประการต่อมา  ถือคุณวุฒิ  ถือว่าตนมีความรู้มากกว่าเขา รับฟังไม่ได้

         ประการต่อมา  ถือชาติวุฒิ  นึกว่าตนเองนั้นสูงกว่าเขาด้วยชาติตระกูล หรือพระสงฆ็ถือโดยสมณศักดิ์ 

         หลัก ๓ ประการนี้ บางทีเอามาเป็นภัยต่อความเจริญก้าวหน้า ต่อความรัก ดังนั้นจริง ๆ แล้วต้องละ เมื่อมีอะไรแล้วอย่าไปถือตัว หันหน้าเข้ามาปรึกษากัน คนที่ถือตัวนั้น ประเภทใส่ไม่เข้าเอาไม่ออก ถ้ามีความเย่อหยิ่ง ๓ ประการแล้ว ใส่ก็ไม่เข้า คือรับอะไรไม่ได้ กิเลสที่อยู่ภายในก็เอาไม่ออก ประเภทที่ใส่ไม่เข้าแล้วเอาไม่ออก มันไม่ไปไหนเลย

         ดังนั้นสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงตรัสว่า “อย่ามีมานะ” ก็จะตรัสว่า “ผู้ที่จะชี้ผิดถูกนั้น ชี้ขุมทรัพย์ให้กับเรา” พระองค์ก็ทรงปฏิบัติอย่างนั้น ดังนั้น อะนะติมานี ต้องกำจัดมานะออกไป

 

                          อะนะติมานี            ขับผีร้าย                ทำลายมิตร

                 ปลดจริต                        ดึงดื้อ                   ไม่หือหา

                 พวกแสนงอน                   เขาอ่อนใจ              ในมารยา

                 ต้องนอนคุย                     กับข้างฝา              น้ำตานอง

         *********************************************************************

๗. สันตุสสะโก  ยินดีตามมาตามได้

         สันตุสสะโก  ความสันโดษ ความสันโดษตรงนี้ หลายคนเรียกว่าความสมถะ ความจริงไม่ใช่ คำที่ว่า “แหม ! พระองค์นี้สมถะจัง” ไม่ใช่ แท้จริงต้องพูดว่า “สันโดษ” ในการฝึกฝนตนเองของพระภิกษุที่บวชมาแล้ว สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสถึง ธุดงค์ คือการฝึกสันโดษ

  1. อัปปิจฉตา  ฝึกให้ปรารถนาน้อย
  2. ปวิเวกตา  ฝึกให้หลีกออกจากหมู่ อยู่คนเดียวได้
  3. วิริยารัมภตา  สอนให้มีความเพียร
  4. สันตุฏฐิตา  สอนให้ยินดีในความเป็นตัวของตัวเอง และในปัจจัย ๔ คือ จีวร อาหาร เสนาสนะ และ ยารักษาโรค

         สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า สอนให้ภิกษุยินดีในสิ่งที่ตนเองมี และสิ่งที่ตนเองได้ ไม่สอนให้เป็นโรคน้ำลายไหล ใฝ่สุข

         ดังนั้น การที่จะอยู่กับใครก็ตาม ขอให้เชื่อเถอะว่า ถ้าเราพอใจในสิ่งที่มีเฉพาะหน้า เฉพาะตัว อาตมาว่ามีความสุข แต่ถ้าเราไม่พอใจ เราก็ไม่มีความสุข และความไม่พอใจบางทีเราก็ยังหาเองไม่ได้เลย ต้องไปขอเขา ก็ยิ่งไม่มีความสุขใหญ่ ตัวก็ไม่มีความสุข แล้วไปรบกวนผู้อื่น เขาก็ไม่มีความสุข ยกตัวอย่างง่าย ๆ เรื่องการกิน หลายคนกินสั่ง แต่พระพุทธเจ้าบอกว่า กินส่ง ๆ คือส่งอะไรมาก็กินด้วยใจยินดี ไม่มีจนหรอก แล้วมีความสุข พระองค์จึงตรัสว่า “ข้าวหักหรือปลายข้าวกับน้ำผักดอง ถ้าภิกษุมีความสันโดษคือยินดีเสียแล้ว ก็ให้ความอร่อยความสุขได้ไม่แพ้อาหารราคามื้อละหนึ่งแสนของมหาเศรษฐี  จีวรเก่า ๆ ขาด ๆ ที่เรียกว่าผ้าบังสุกุล คือผ้าเปื้อนฝุ่นที่เขาทิ้งแล้ว ถ้าภิกษุยอมใจให้ยินดีได้ ผ้าผืนนั้นก็มีราคาเท่ากับผ้ามหาเศรษฐีราคาตั้งแสน” จึงตรัสรับรองว่า...

สันตุฏฐี   ปรมํ  ธนํ

ความยินดีในสิ่งที่ตนเองมีตาเองได้นั้น

เป็นทรัพย์อันประเสริฐ.

         ก็จริงล่ะท่านทั้งหลาย จิ๊กโก๋กับรัฐมนตรีแต่งตัวไม่เหมือนกัน แต่ก็มีความสุขเหมือนกัน แต่บางคนนั้นมีแล้วก็ยังตะกายอีก

 

นตฺถิ   ตณฺหาสมา  นที

แม่น้ำเสมอด้วยตัณหา  ไม่มี.

         ยังทะยานอยากไปอีก อย่างนี้อยู่ที่ไหนก็ไม่มีความสุข คือไม่สุขทั้งตัวเอง และรบกวนผู้อื่นด้วย

         ดังนั้น ในทางศาสนาจึงห้ามภิกษุขอปัจจัยสี่ต่อคฤหัสถ์ที่ไม่ใช่ญาติ หรือที่เขาไม่ได้ปวารณาตัวเอาไว้ ใครขอเป็นอาบัติ และเป็นอาบัติทุกครั้งที่ใช้วัตถุนั้น ที่ใช้ปัจจัยนั้น ไม่ว่าจะเป็นการกิน การนุ่งห่ม การอยู่อาศัย เพราะเหตุว่าความสันโดษนี้เป็นหลักการอันสำคัญ เมื่อเราอยู่กับใครแล้ว เรามีความสันโดษ รับรองท่านทั้งหลายเขาจะบอกว่า “คนนี้ดีนะ อยู่แล้วไม่เคยรบกวนเลย” ดังนั้น สันตุสสะโก คือความสันโดษ จึงเป็นคุณธรรมที่ดีเยี่ยม ทำให้อยู่อย่างเย็นใจ

 

                          สันตุสสะโก             ยินดี                    ไม่มีเขว

                 ไม่โก้เก๋                          แข่งขัน                   ประชันเขา

                 ของคนอื่น                      เป็นรอง                 ของของเรา

                 มือเท้าเขา                       ไม่ดีเท่า                 มือเท้าตน

                          ยึดพอดี                 พอใช้                   พอใจด้วย

                 พอมีอยู่                         พอยามป่วย            ไม่ขัดสน

                 พอมีเก็บ                        พอยามรวย            ช่วยคนจน

                 พอจะพ้น                        เศรษฐกิจ               วิกฤติเอย.     

        *********************************************************************

๘. สุภะโร  เลี้ยงง่าย

         การจะทำให้คนรักเรา มันมีวิธีการอยู่ จะให้เขารักต้อง สุภะโร เป็นผู้เลี้ยงง่าย เลี้ยงกายก็ง่าย เลี้ยงใจก็ง่าย อย่าเอาแต่ใจ อย่าเอาแต่ได้ บางคนเอาแต่ได้แล้วก็เอาแต่ใจ ทั้ง ๆ ที่ตัวเองหาไม่ได้ คนที่หาไม่ได้แล้วเอาแต่ใจตัวเองนี้ไม่เป็นเสน่ห์ ที่เขาเรียกว่าเลือก คือ ไม่ฝึกให้กินเป็นอยู่เป็น ฝีกให้กินยากอยู่ยาก อย่างนี้ไม่มีใครเขาเลี้ยง คนเราเกิดมาจะอยู่ที่ไหนให้มีความสุข สุขทั้งตัวเองและผู้อื่น ต้องกินง่าย นอนง่าย เลี้ยงง่าย ไม่เป็นภาระแก่ตัวเองและแก่ผู้อื่น แล้วอย่าไปเรียกร้องความอบอุ่น บางทีการเลี้ยงง่ายอยู่ที่ความอบอุ่นเหมือนกัน เด็กบางคนแม้ขาดความอบอุ่น อาตมาถามว่าเมื่อท่านอ่านพระมหาชนกซึ่งเป็นบทพระราชนิพนธ์ของในหลวงรัชกาลที่ ๙ แล้วจะเห็นได้ว่า พระมหาชนกตอนเป็นเด็ก เลี้ยงง่าย ไม่หงอยเหงา ไม่เศร้าสร้อย ไม่คอยโชคชะตา ไม่เรียกร้องหาความอบอุ่น การเรียกหาความอบอุ่นนี้ บางทีคนแก่ ๆ ก็เป็น บ่นกระปอดกระแปด กระฟัดกระเฟียด อยากจะให้เขามาให้ความอบอุ่นแก่เรา อาตมาจึงได้แต่งว่า....

                          “จะหาความ            จริงใจ                   จากใครเล่า

                 ถ้าหากเรา                       ไม่ให้                    ใจจริงก่อน

                 ต้องโอดโอย                     โหยหา                  ยังอาวรณ์

                 คงต้องนอน                     รำพัน                   อย่างนั้นเอง.”

         ดังนั้น จะอยู่กับใครก็ตามต้องเป็นผู้เลี้ยงง่าย ในเมืองจีนมีเรื่องราวเล่าเอาไว้มากมาย ในความล่มสลาย ในความน่ารังเกียจ นั่นก็คือว่า จักรพรรดิเลี้ยงยาก กินดี เสพสุข ราชวงศ์ล่มสลาย แต่ธรรมราชาอย่างสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เลี้ยงง่าย ความเป็นผู้เลี้ยงง่ายนี้เป็นมหาสมบัติ แต่ส่วนใหญ่แล้วที่ลำบาก ลำบากผู้อื่นนั้นเพราะเลี้ยงยาก ดังนั้นใครอยากมีเสน่ห์ก็ต้องทำตัวเป็นคนเลี้ยงง่ายแบบพระสงฆ์ สุภาระตา เป็นผู้เลี้ยงง่าย เป็นธุดงค์ประการหนึ่ง เช่น การบิณฑบาตเป็นวัตร คือเป็นปกติวิสัย

         ดังนั้น จึงขอฝากท่านทั้งหลายให้เป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งว่า....

                          สุภะโร                   ไม่โอ่อ่า                   เรื่องอาหาร

                 กินล้างผลาญ               คนทั้งหลาย             เขาหน่ายแหนง

                 เพียงข้าวสุก                 คลุกน้ำปลา             พริกตาแดง

                 ก็จัดแจง                       กินได้                     ไม่คร่ำครวญ

                          ใครกินอยู่             ฟู่ฟ่า                      เหลือคาจาน

                 จะต้องอาน                    ชอกช้ำ                  โศกกำสรวล

                 คนเลี้ยงง่าย                  ใครก็รัก                ชอบชักชวน

                 ไม่รบกวน                       ใครใคร                 ให้เดือดร้อน

 

*********************************************************************

๙. อัปปะกิจโจ  ไม่เรื่องมาก

         สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า ถ้าอยากให้เขาเย็นใจล่ะก็ อย่าวุ่นวาย อย่าวู่วาม คนวุ่นวายวู่วามนั้นอยู่กับใครก็เดือดร้อน เขาเรียกว่าเป็นคนเจ้ากี้เจ้าการ เพราะเจ้ากี้เจ้าการนี่แหละ เป็นผู้สื่อข่าวที่อาตมาบอกว่าเป็น ส.ส.ร. นอกสภา ชอบแส่เสือกทุกเรื่องไป แล้วเรื่องนั้นไม่ใช่เรื่องของตัวเลย ไฟในนำออก คือเรื่องไม่ดีภายในบ้านภายในองค์กรของตัวเองก็นำออก สิ่งข้างนอกก็นำเข้า เอาเรื่องไม่ดีมาทั้งนั้น ดูเป็นคนเหนื่อยจริง ๆ งานในหน้าที่ของตัวเองไม่ค่อยทำ ปล่อยให้อากูล คือคั่งค้าง ปฏิกูล คือเน่าเสีย แต่งานอาสาเสนอหน้าจนบางคนลืมลูกลืมเมียไปเลย ผู้หญิงบางคนลืมสามีลืมลูก พระบางองค์ลืมวัด พล่านไปหมด ถ้าอย่างนี้แล้ว อย่านึกว่าเขาชอบใจ เขาไม่รักท่านหรอก เขาไม่มีรักท่าน หลายคนชอบโทรศัพท์ไปเยี่ยมยามถามข่าวบ้านโน้นบ้านนี้ ถ้าเขาไม่สั่งอย่าไป ถ้าเขาไม่เรียกอย่าขาน ไม่วานอย่าไป ไม่ใช่เรื่องของเรา ช่างเขาปะไร โบราณเขาสอนไว้ให้เป็น อัปปะกิจโจ คือ อย่าให้วุ่นวายนัก

         ในวงการทุกวงการจะมีคน ๒ ประเภท เป็นพวกวุ่นวาย คือ

         ๑. ตามหลังผู้ใหญ่ ถ้าเป็นพระ เรียกว่า พระต้อย ถ้าเป็นฆราวาส เรียกว่า ไอ้ต้อย หรือ อีต้อย ตามหลัง ถือแฟ้มตามก้น รู้สึกพินอบพิเทาเหลือเกิน สังเกตเห็นว่าพวกนี้ไม่ค่อยมีความรู้ อาศัยคลุกเคลียเลียเท้าเข้าหา ก็หวังว่าจะได้ดี ในที่สุดไม่มีใครชอบ

         ๒. อีกประเภทหนึ่งไม่ค่อยมีความรู้เหมือนกัน ชอบนำหน้า ชอบล่วงหน้า เขาเรียกว่าประเภทจุ้น  ถ้าเป็นพระก็ได้รับการขนานนามว่า พระจุ้น ถ้าเป็นฆราวาสเรียกว่า ไอ้จุ้น หรือ อีจุ้น ชอบประสานงานให้เจ้านายได้ตะพึด “นี่ไม่ได้นะ ท่านไม่ชอบ...นี่ท่านชอบ” แม้แต่เป็นอยู่กับบ้านของตัวเอง ไปเข้าบ้านโน้นลงบ้านนี้ ไม่มีใครเขาไว้ใจ มีแต่คนเขารังเกียจเดียดฉันท์

         ดังนั้น ในความที่เราไม่มีเสน่ห์นี้ ขอให้รู้ว่าเป็นความเสียหายอย่างร้ายแรง คือความเป็นคนจุ้นจ้าน แต่ถ้าอยากให้เขารัก ให้เขาวางใจ อย่าไปจุ้นจ้าน คนจุ้นจ้านนี้เมื่อเกิดเรื่องอะไรขึ้น เขาก็จะว่าเราเป็นคนทำให้เรื่องยุ่งไปหมด ไม่เป็นคุณ แต่เป็นโทษร้าย ดังนั้นถ้าอยากให้เขารัก ให้เขาวางใจ อัปปะกิจโจ อย่าเป็นคนเจ้ากี้เจ้าการ เป็นธุระปะปังมากนัก   

 

                          อัปปะกิจโจ             ไม่โม้มาก               ปากเจ๊าะแจ๊ะ

                 ไม่ข้องแวะ                      ใครใคร                  จนวายวุ่น

                 ไม่หน้าใหญ่                     ใจกว้าง                 ทางขาดทุน

                 ไม่จ้านจุ้น                        จิ๊ดจ๊าด                  ญาติระอา

                          ขี้หมูรา                  ขี้หมาแห้ง              อย่าแสร้งรู้

                 เป็นนายหน้า                    เงินกู้                    ไม่เข้าท่า

                 เรื่องครอบครัว                ใครใคร                 ไม่นินทา

                 อยู่เฉยเฉย                      ดีกว่า                   น่ารักดี

 

*********************************************************************

๑๐. สัลละหุกะวุตติ  เบาใจ เบาพร้อม

         มีหลายคนมาแสวงหาของขลังมหาเสน่ห์ บางทีอาตมาก็ให้ขี้ผึ้งไปบ้างแล้วบอกว่า ขี้ผึ้งทำให้มีเสน่ห์หลายอย่าง

  1. ทาปากแล้วปากไม่แตก หมายความว่าปากไม่แตกระแหง
  2. ปากไม่แห้ง ไม่ต้องนั่งเลียริมฝีปาก การเลียริมฝีปากทำให้เสียบุคลิก
  3. มีกลิ่นหอมตามธรรมชาติ 
  4. มีอาคมขลัง

         แต่ผนวกกับการให้ขี้ผึ้ง คือให้วิธีการไปด้วย ไม่ใช่มงคลสอนเพียงอย่างเดียว แต่ต้องไปสร้างด้วย คือให้ กรณียเมตตสูตร คือ เมตตา ๑๕ ประการ อันเป็นแม่แบบแม่บทสำหรับการดำเนินชีวิต อยู่ให้เขารัก จากให้เขาอาลัย  ตายให้เขาคิดถึง สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสไว้เรียบร้อยแล้ว และขอให้ท่านทั้งหลายเข้าใจว่า ไม่ว่า พุทธ คริสต์ อิสลาม ใช้ได้ด้วยกันทั้งหมด อย่าไปรังเกียจว่าเป็นของพระพุทธเจ้า ให้รู้สึกเหมือนอากาศ แม่น้ำ ทรัพยากรธรรมชาติที่เราใช้รวมกันได้ทั้งหมด พระพุทธเจ้าไม่ได้กะเกณฑ์อะไร ศาสดาทุกศาสดาไม่ได้กะเกณฑ์ เราอย่ามารบกันเลย ถ้าจะรบกันให้รบกับกิเลสดีกว่า แล้วเอาสูตร ๑๕ ประการนี้ไปสอน ไปปฏิบัติ 

         ทำให้เขารัก คือ สัลละหุกะวุตติ  ประพฤติเบาพร้อม คือ ตัวก็เบา เบาเรา และ เบาใจผู้อื่น 

         การประพฤติเบาพร้อมนั้นก็คือ เราต้องกำจัดสิ่งที่หนัก ๆ ออกไป ท่านเจ้าคุณพระราชสุวรรณโสภณ (โกย) หลวงพ่อโกย พระเดชพระคุณรูปนี้ท่านมรณภาพไปนานแล้ว ท่านเป็นอดีตเจ้าคณะจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ท่านบอกว่า “อยากเป็นคนดี ต้องไล่ขี้ออก ขี้ปลิ้น ขี้ปลอก ขี้บอกปากบอน  ขี้หนา ขี้บาง ขี้ถ่าง ขี้แบ ขี้ฉ้อตอแหล ขี้แง่แสนงอน ขี้ฝิ่น ขี้กัญชา ขี้ยา ขี้โป ขี้ปด ขี้โป้ ขี้โม้เสี้ยมสอน” ไล่ออกให้หมด แล้วจะเป็นเบาพร้อม หมายความว่าอะไรที่ไม่ดี นิสัยไม่ดีเป็นปฏิกูลติดตัวเรา เขาเรียกว่า “นิสัยขี้” หรือ “ความประพฤติขี้” ขี้เกียจ ใครก็ไม่อยากแตะคนขี้เกียจ เอาออกเสียให้หมด แล้วสัลละหุกะวิตติ  ประพฤติเบาพร้อม เบาตัวเอง กิเลสไม่เกาะกิน เบาใจสำหรับคนอยู่ด้วย ไม่มีเรื่องร้าวฉาน อย่างนี้อยู่ที่ไหนรับรองได้ว่ามีเสน่ห์ อย่ายอบ ๆ แยบ ๆ อย่าไปรบกวนใคร อย่าไปเรื่องมาก 

 

                          สัลละหุกะ                 วุตติ                     หมั่นวิเคราะห์

                 หนี้สินเกาะ                      จงสลัด                  ตัดออกได้

                 แม้เกี่ยวข้อง                   เป็นอะไร                 กะใครใคร

                 จงทำไป                          ให้เหมาะ                  เฉพาะบท

                          เป็นลูกเต้า             ต้องเอาใจ               ใส่พ่อแม่

                 เป็นผัวแท้                       เมียแท้                    อย่าแพ้กฎ

                 อยู่กับท่าน                      อย่าคดงอ               ทรยศ

                 ถือศีลพรต                      เขาและเรา               เบาสบาย

          *********************************************************************

                                                                  พระเทพปฏิภาณวาที

                                                                       "เจ้าคุณพิพิธ"            


อ่าน : 0

แชร์ :


เขียนความคิดเห็น