ตอนที่ 62 : แก้วิกฤตทางอารมณ์

     แก้วิกฤตทางอารมณ์

         ความวิกฤติเกิดขึ้นในทางธรรมชาติ เช่น ลม ฟ้า อากาศ ก็เกิดความแปรปรวน ก่อให้เกิดเภทภัยต่อธรรมชาติด้วยกันและต่อมนุษย์ สัตว์ ที่อยู่อาศัยบนพื้นโลก ซึ่งความแปรปรวนทางธรรมชาตินั้น มนุษย์ไม่สามารถกำหนดได้ ไม่สามารถต้านทานได้ แต่ก็สามารถสืบรู้ ป้องกัน หลบหนี เพื่อความอยู่รอดได้

         แต่...ความวิกฤตทางอารมณ์โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “อารมณ์โกรธ” ซึ่งจะแปรปรวนไปสู่การพยาบาท อาฆาต จองเวร เข่นฆ่า มนุษย์สามารถศึกษาวิธีการระวัง, ป้องกัน, กำจัด ด้วยตนเอง และ มิให้มีผลกระทบอันเลวร้ายไปสู่ผู้อื่น

         วิธีการกำจัดความวิกฤตของความโกรธในตน และอารมณ์โกรธของคนอื่น เพื่อมิให้พัฒนาอารมณ์ไปสู่การทะเลาะวิวาท อาฆาต จองเวร เข่นฆ่า มีวิธรการ ดังนี้

         รู้จักขอโทษ คือ เมื่อตนเองได้พลาดพลั้งต่อผู้ใด พึงสำนึกในความเผลอสติ จากนั้นรีบขอโทษโดยเร็วพลัน และ อย่างสำนึกผิด ขอโทษด้วยกิริยามารยาทที่งดงาม เรื่องก็จบ

         รู้จักให้อภัย คือ เมื่อมีผู้ใดพลาดพลั้งต่อเราแล้วกล่าวคำขอโทษ เราควรให้อภัยทันที อย่าถือศักดิ์ศรีระหว่างกัน การให้อภัยเป็นการสลัดโทสะออกจากใจอย่างเร็วพลัน เหมือนสุนัขโดดลอดบ่วงไฟ ไฟไม่ไหม้แม้เพียงขนเส้นเดียว

         ระวังใจตน คือ มีสติเตือนตนในการอยู่ร่วมกับคนอื่น เพื่อมิให้พลาดพลั้งด้วยกาย วาจา

         อย่าบีบคั้นอารมณ์คนอื่น ด้วยการไม่ให้อภัย หรือ ด้วยการกระทำและการพูด จนอีกฝ่ายหนึ่งถูกดดันจนทนไม่ไหว

         ฝืนต่อโทสะ คือ ระวังอารมณ์โกรธที่เกิดขึ้น พยายามระงับไม่ระเบิดอารมณ์

         ละพยาบาท คือ เมื่อรู้ว่าโทสะค้างใจจนกลายเป็นพยาบาท ก็ละด้วยการ “พิจารณาโทษของความโกรธ ประโยชน์ของเมตตา”

         อย่าอาฆาตจองเวร คือ ตัดเวรกรรมโดยเห็นว่าอาจจะชักนำไปสู่การล้างแค้นจนตนเองตกเป็นฆาตกรต้องไปนอนในคุกตะราง

         เมื่อคิดอย่างรอบคอบและครบถ้วนโดยกระบวนการทั้งหมดนี้ ก็จะแก้วิกฤติทางอารมณ์ และแก้วิกฤติในการประทุษร้ายต่อกันและกัน


อ่าน : 0

แชร์ :


เขียนความคิดเห็น