ตอนที่ 193 : ๘ คำนำสุข

มีหลายคนแสวงหาความสุข แต่ก็ไม่พบความสุข หลายคนทำเก่ง แต่ก็ไม่มีความสุข ก็เลยถามว่า “ทำอย่างไรจะมีความสุขได้”

อาตมาบอกว่า เอา สัก “๘ คำ” สิ กินข้าว ๘ คำก็อิ่มพอดี ๆ ไม่หิวเกินไป ไม่อิ่มเกินไป ถ้าเชื่อพระพุทธเจ้าสัก ๘ คำล่ะก็ จะเป็นความดี จะมีความสุข จะปลดทุกข์ได้

ดังนั้นใครจะแสวงหาความสุขนั้น ลองท่องคำนี้ดู....

      จิตฺตํ  ทนฺตํ สุขาวหํ. (จิตตัง  ทันตัง  สุขาวหัง)

               แปลว่า

      จิตที่ถูกฝึกดีแล้ว นำความสุขมาให้

             นี่คือยอดแห่งความสุข

๘ คำนี้มีค่ามหาศาล ท่องให้ได้ ถ้าเมื่อไรก็ตามไม่มีความสุข แสดงว่าคิดไม่เป็น คนคิดไม่เป็นหาความสุขไม่ได้

แต่ท่านทั้งหลายสังเกตไหมว่า ในโลกเรานี้มักจะสอนให้ทำเป็น มีคน ๆ หนึ่งพูดกับอาตมาว่า “ท่าน...ฉันเห็นมาเยอะแล้ว ไอ้คนทำเป็นน่ะ ไม่เห็นมันมีความสุขอะไรเลย แม้แต่จะนอน มันก็ต้องใช้ยานอนหลับช่วย”

นี่เป็นเครื่องรับรองได้ว่า “การทำเก่งทำเป็นนั้น ไม่ใช่ความสุข” แต่ “การคิดเป็น เป็นความสุข นำความสุขมาให้”

ยายแก่คนหนึ่งนั่งหน้าเศร้า ฝนตกก็หน้าดำ แดดออกก็หน้าดำ ไอ้โก๊ะหลานชายก็เลยถาม “ยาย ๆ ทำไมฝนตกยายก็ร้องไห้หน้าดำ”

         “เออ กูล่ะสงสารป้ามึง”

         “สงสารอะไร”

         “ป้ามึงเขาทำอาชีพรับซักผ้า ต้องตากผ้า ถ้าฝนตกมันก็แย่เลยหลานเอ๋ย มันเอาผ้าไปส่งเขาไม่ได้ มันไม่ได้ตังค์ ไอ้เจ้าของผ้ามันก็จะบ่นเอา กูสงสารป้ามึง”

         “อ้าว และพอแดดออกล่ะ ทำไมยายหน้าดำ มันน่าจะหน้าขาว ชื่นใจ”

         “เออ ก็สงสารน้ามึง น้ามึงมันมีอาชีพทำเกษตร ปลูกผัก นี่แดดออกมาหลายวันแล้ว น้ามึงคงแย่เหมือนกันแหละ ถ้าแดดออกหลายวัน ไม่มีฝนตก ผักมันก็เหี่ยว มันจะเอาเงินที่ไหนมากินมาใช้”

         ไอ้โก๊ะก็เลยบอก “เอายังงี้ไหมเล่ายาย ยายก็อย่าไปคิดถึงป้าผม และยายอย่าไปคิดถึงน้าผม ยายคิดถึงแม่ผมดีกว่า เพราะแม่ผมทำงานในที่ร่ม ฝนจะตกแดดจะออกยังไงก็ตาม แม่ผมไม่เดือดร้อน”

         ยายบอก “เอ้อ ถ้ายังงั้นก็ดีเหมือนกัน”

ตั้งแต่นั้นยายก็เลยหน้าใส ใจเป็นสุข เพราะอะไร เพราะรู้จักคิด เพราะทุกสิ่งทุกอย่างนั้นมันก็มีคนละด้านกัน 

ดังนั้นพระพุทธเจ้าตรัสถูกแล้วท่านทั้งหลาย จำสัก ๘ คำ “จิตฺตํ  ทนฺตํ  สุขาวหํ. (จิตที่ฝึกดีแล้ว นำสุขมาให้) หรือแปลให้สวย ๆ ว่า “จิตที่ฝึกดีแล้ว เป็นแก้วสารพัดนึก”

 

                          พระเทพปฏิภาณวาที

                             “เจ้าคุณพิพิธ”


อ่าน : 0

แชร์ :


เขียนความคิดเห็น