ตอนที่ 200 : พิษรักแรงกรรม (ปฏาจาราเถรี)

สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตรัสสอนไว้ให้ระวัง เรื่องกาม และ เรื่องกรรม กามารมณ์ให้ผลรัก และมักจะให้ผลร้าย ผลร้ายคือความโศก จึงตรัสว่า...

          ปิยะโต  ชายะเต โสโก 

     ความเศร้าโศกเกิดจากความรัก

         ปิยะโต ชายะเต  ภะยัง 

ความหวั่นหวาดขลาดภัยก็เกิดจากความรัก 

      มีรักที่ใดมีความขลาดภัยที่นั่น

จึงควรที่จะระมัดระวังใจมิให้หลงใหลในความรัก ความรักนี้ถ้ารักไม่เป็นมีความลำเค็ญตามมา หรืออาจคลั่งบ้าเพราะความรักได้ จึงควรที่จะเชื่อฟังผู้ใหญ่ อย่าเอาแต่ใจตนเองเป็นเกณฑ์

เมื่อครั้งที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประทับอยู่ที่กรุงสาวัตถี เศรษฐีสามีภรรยาคู่หนึ่งมีบุตรและธิดา ธิดาของเขาชื่อ อาจารา เธอเป็นหญิงที่สวยมาก ความสวยของเธอพรรณนาได้ ดังนี้

      มองดวงพักตร์   ลักขณา        พาให้ฝัน

คิ้วโก่งเทียบ             เทียมทัน        ดั่งคันศร

ดวงตาเปล่ง             ประกาย         คล้ายทินกร

ปากบังอร               งามพริ้ม         ยิ้มละไม

อีกลำคอ                 ระหง              งามส่งเสริม

ผิวพรรณเดิม          เนียนแท้         ดุจแพรไหม

อกตูมตั้ง                ดังปทุม          คลุมผ้าไว้

งามวิไล                  กว่าหญิงสาว   คราวเดียวกัน

ท่านเศรษฐีสามีและภรรยาเลี้ยงธิดาแบบบำรุงบำเรอบนคฤหาสน์ ๗ ชั้น มิให้รับรู้สังคมโลกภายนอกมากนัก ให้การศึกษาเพียงการอ่านออกเขียนได้ เพราะมั่นใจว่าทรัพย์สินเงินทองที่มีอยู่เหลือเฟือพอที่จะเลี้ยงธิดา ยิ่งถ้าแต่งงานมีคู่ก็จะได้คู่ที่มีฐานะเสมอกัน

เศรษฐีได้ให้คนใช้ชายคนหนึ่งคอยรับใช้ธิดาของตน โดยมิได้ระแวงเลยว่าความใกล้ชิดทำให้ธิดาของตนกับคนใช้ชายคนนี้รักกัน และลักลอบมีเพศสัมพันธ์กัน ความรักของคนทั้งสองต่างกันทั้งฐานะและต่างวรรณะ คือชาวอินเดียถือวรรณะ คือ เชื้อชาติกษัตริย์ต้องแต่งงานกับกษัตริย์ เชื้อสายพราหมณ์แต่งงานกับพราหมณ์ ตระกูลพ่อค้าก็แต่งงานกับพ่อค้า พวกกรรมกรแต่งกับกรรมกร ถ้าแต่งงานต่างวรรณะคือชนชั้น ย่อมเป็นที่เหยียดหยามไม่มีใครคบหาสมาคม ถ้ามีลูก ลูกก็จะถูกเรียกว่า “จัณฑาล” เข้าบ้านใคร เขาถือว่าเป็นกาลกิณี

วันหนึ่ง ชายคนใช้เข้ามาหานายหญิง แล้วพูดว่า....

      ถ้าหากเธอ        รักฉัน           วันพรุ่งนี้

แต่งกายี                 เป็นสาวใช้      ไปนอกบ้าน

ถ้าพ่อแม่                รู้เข้า              ตีเราอาน

เกิดท้องไส้             เรื่องบาน       พานหมองมัว

      ถ้าเราสอง       ปองรัก         สมัครมั่น

อย่าพรึงพรั่น         อุปสรรค       ให้หนักหัว

“รัก” ก็คือ             พลัง            เร่งสร้างตัว

ดีหรือชั่ว                ฉันยืดอก       ปกปักเธอ

ด้วยความลุ่มหลงในความรักและกามารมณ์ที่อาจาราได้รับจากชายผู้นี้ เธอจึงตัดสินใจหนีออกจากบ้าน แล้วตามเขาไป แต่จะไปอยู่กับพ่อแม่ของเขาก็ไม่ได้ เพราะเดี๋ยวพ่อแม่ของเธอจะตามไปพบเข้า จึงต้องหนีไปอยู่ในหมู่บ้านอื่น นับแต่นั้นมา อาจารา ลูกสาวเศรษฐีก็ต้องตกระกำลำบาก ตอนที่อยู่กับพ่อแม่เธอไม่เคยฝึกหัดอะไรเลย แต่มาบัดนี้ ต้องตักน้ำ ตำข้าว หุงข้าว ทำอาหาร เธอจำเป็น จำใจ จำยอม เพราะถลำตัวมาแล้ว จะกลับไปบ้านก็อับอายขายหน้า พ่อแม่ พี่ชาย คงถูกชาวบ้านถามไถ่จนไม่รู้จะเอาหน้าไปไว้ที่ไหน เธอทำงานจนตัวดำ มือด้าน แล้วเธอก็ตั้งท้อง เมื่อท้องแก่ เธอมีความห่วงและรักลูกมาก เกรงว่าลูกเกิดมาไม่มีใครช่วยเหลือ หรืออาจเป็นอันตราย

วันหนึ่งเธอจึงพูดกับสามีว่า....

      ผัวขาข้าฯ ขอบอก       ลูกคงออกในเดือนนี้

เงินทองก็ไม่มี                   เห็นควรที่ปรึกษากัน

ฉันจะกลับไปบ้าน               เพื่อเตรียมการคลอดที่นั่น

พ่อแม่โบยไม่พรั่น               ไม่ถึงขั้นฆ่าฉันตาย

      ฉันเองเพิ่งประจักษ์      พ่อแม่รักลูกเหลือหลาย

ก่อนเกิดกำเนิดกาย           ท่านขวนขวายหมายเลี้ยงดู

ของกินและของใช้              เตรียมเรือนไว้ให้ลูกอยู่

ส่งเสริมเพิ่มความรู้            ยามมีคู่เป็นหูตา

      ถ้าลูกมีคู่ดี                 ่ ท่านเปรมปรีดิ์สุขหรรษา

ลูกผิดมิคิดว่า                    ซ้ำเติมด่าเพื่อสาใจ

ลูกชั่วหรือยากจน               ท่านทุกข์ทนหม่นหมองไหม้

ยามนี้ไม่มีใคร                     ฉันจำใจไปพึ่งพา

สามีพูดกับนางว่า....

      เธอจะโทษฉัน             มันไม่ถูกนัก

เราต่างก็รัก                    ซึ่งกันและกัน

ได้เธอมาอยู่                    เป็นคู่เคียงขวัญ

ฉันก็ขยัน                        ทำมาหากิน

      ถ้าเธอกลับบ้าน          ต้องอานแน่แน่

ชาวบ้านเซ็งแซ่                 นินทาด่าสิ้น

อุ้มท้องกลับมา                 มีแต่ราคิน

พ่อแม่ได้ยิน                     สิ้นความเมตตา

เมื่อเธอถูกสามีทัดทานเธอก็มิได้โต้เถียง แต่ในใจของเธอนั้นกลับยิ่งกังวลถึงลูกที่อยู่ในท้อง ซึ่งตอนนี้ใกล้กำหนดคลอดเข้ามาทุกขณะ .... “ไม่ได้... อะไรจะเกิดก็ต้องเกิด เราต้องทำเพื่อลูก เราผิดแล้วไม่เป็นไร แต่อย่าให้ลูกต้องรับกรรมมีอันตราย อย่างไรเสียเราต้องกลับไปหาพ่อแม่เพื่อขอพึ่งใบบุญของท่าน...”....นางครุ่นคิด

แล้ววันนั้นเมื่อสามีของนางออกจากบ้าน นางจึงตัดสินใจหนีสามีเพื่อกลับไปบ้านพ่อแม่ของนาง แต่เพื่อให้สามีรู้ว่านางไปไหน นางจึงบอกคนข้างบ้านว่านางจะไปบ้านพ่อแม่ ไม่ต้องให้เขาตามไป

“น้าจ๊ะน้า นึกว่าสงเคราะห์ฉันเถอะ บอกเขาด้วย ไม่ต้องให้เขาตามไป เดี๋ยวพ่อแม่ฉันเห็นแล้วจะยั้งใจไม่อยู่ จะพานยุ่งกันใหญ่” นางบอกหญิงวัยกลางคนข้างบ้าน

“จ้ะแม่คุณ ฉันจะบอกเขาให้ เดินทางระมัดระวังนะท้องแก่แล้ว ระวังจะคลอดเสียกลางทางล่ะ ถ้ามีใครเขาขับเกวียนมาก็ขอโดยสารไปจะได้ถึงบ้านเร็ว ๆ ” หญิงข้างบ้านพูดกับนางด้วยความปรารถนาดี

“น้า...เมียผมไปไหน ผ้าผ่อนก็ไม่มี น้าเห็นบ้างไหม” สามีของนางถามหญิงข้างบ้านอย่างกระหืดกระหอบ

“นางไปแล้วและสั่งว่าไม่ต้องตามไป คลอดลูกแล้วจะกลับมา เพราะเด็กอยู่บ้านโน้นไม่ได้ สังคมเขาไม่ยอมรับ” หญิงคนเดิมบอกความจริงให้เขาฟัง

ทันทีที่รู้ว่าภรรยาของเขาออกเดินทางไปกว่าครึ่งวัน เขาออกวิ่งไปด้วยความรักภรรยา และด้วยความห่วงใยลูกที่อยู่ในท้อง แล้วก็ตามมาทัน ตกลงใจกันว่าเขาจะเดินทางไปด้วย แต่เมื่อถึงบ้านเศรษฐีแล้วเขาจะไม่เข้าไป จะหางานรับจ้างและฟังข่าวจนกว่านางจะคลอดลูก แล้วจึงจะพากันกลับมา แต่ขณะเดินทางเพียงไม่นาน นางก็เจ็บท้อง ทรุดตัวลงนั่ง อาศัยต้นไม้ข้างทางเป็นที่พิงหลัง ไม่มีผ้า ไม่มีอะไรเลยในยามนี้

เขาอุทาน... “ตายแล้ว เราสองคนไม่มีประสบการณ์เลย อย่างไรเสียเธอต้องอดทน ฉันจะช่วยเธอคลอดลูก เราต้องปลอดภัย ฉันพอเคยเห็นหมอตำแยชาวบ้านเขาทำคลอดอยู่บ้าง”

เพียงไม่นานนางก็คลอดลูกออกมา เป็นการคลอดลูกที่ทุลักทุเล เป็นภาพที่น่าอเนจอนาถสำหรับลูกเศรษฐีที่เคยอยู่คฤหาสน์ ๗ ชั้น แต่ต้องอาศัยต้นไม้พิงหลัง คลอดลูกข้างทาง นี่แหละ...พิษรักแรงกรรม

เมื่อนางคลอดลูกแล้ว ความจำเป็นที่จะกลับบ้านก็หมดไป นางจึงตามสามีกลับมาอยู่บ้านดังเดิม ยิ่งนานวันนางก็ยิ่งรู้ถึงความลำบาก ยามเลี้ยงดูลูกก็หวนคิดถึงความรักของพ่อแม่ที่เลี้ยงดูนางอย่างดี ยามลูกของนางอดอยาก เจ็บป่วย ก็ยิ่งทุกข์ทรมานใจ ผลของกามารมณ์เป็นพิษต่อนางและลูก ไหนจะสังคมที่นางและลูกไม่สามารถที่จะกลับไปใช้ชีวิตตรงนั้นในฐานะเดิม จากนี้ไปลูกของนางต้องถูกสังคมชั้นสูงเรียกเขาว่า...“จัณฑาล” ช่างเป็นกรรมที่นางและสามีสร้างเป็นตราบาปให้ลูกแท้ ๆ

เวลาผ่านไปปีกว่านางก็ตั้งท้องเป็นครั้งที่สอง ครั้นเมื่อใกล้เวลาคลอดนางก็ปรึกษาสามีเพื่อเดินทางไปคลอดที่บ้านเกิด แต่สามีนางก็ห้ามนางไว้เหมือนครั้งที่แล้ว .... “เธอก็รู้ใช่ไหมว่าพ่อแม่ของเธอคงยอมรับเราสองคนไม่ได้ ยากดีมีจนเราก็ควรอยู่ที่นี่”... สามีให้ความเห็น แต่ความเห็นนั้นกลายเป็นการทะเลาะกันอย่างรุนแรงจนถึงขั้นลงมือกัน แม้แต่คำพูดว่า “นายหญิง” ก็กลายเป็น “อี” 

ความอดทนของนางสิ้นสุดลงแล้ว อย่างไรก็ตามก็ต้องกลับไปอยู่กับพ่อแม่ ขืนอยู่ต่อไปลูกของนางทั้งสองคนจะกินอยู่อย่างไร จะเอาเงินทองที่ไหนส่งให้เล่าเรียน สารพัดปัญหาเกิดขึ้น นางจึงตัดสินใจจูงลูกคนโตออกจากบ้าน มุ่งหน้าสู่กลางเมืองสาวัตถี แต่สามีก็เจอนางเข้าจนได้ ถึงอย่างไรนางขัดขืนไม่ยอมกลับ สามีจึงจำใจยอมไปกับนาง การเดินทางยากลำบากมากเพราะเป็นฤดูฝน ค่ำคืนนั้น นางกับสามีจำเป็นต้องพักริมทาง แล้วฝนก็ตกกระหน่ำลงมาอย่างลืมหูลืมตาไม่ขึ้น ลูกคนโตได้อาศัยผืนผ้าบังตัว ส่วนนางกับสามีไม่มีอะไรจะหลบฝนได้เลย แล้วทันใดนั้นนางก็เจ็บท้องบ่งบอกว่านางจะคลอดลูก

“อีกแล้วหรือนี่ ทำไมหนอเราต้องมาเจ็บท้องกลางทางทุกที โอ..กรรมแท้ ๆ ลูกแม่เอ๋ย..” นางเอามือกุมท้องทั้งร้องไห้ด้วยความเสียใจและด้วยอาการเจ็บท้อง เมื่อเหตุการณ์เป็นเช่นนี้สามีจึงเฝ้าปลอบแล้วบอกให้รอสักครู่ จะไปตัดไม้มามุงบังชั่วคราวและเตรียมเหลาผิวไผ่เพื่อเป็นเครื่องมือตัดสายสะดือลูก เขาออกเดินไปท่ามกลางสายฝน ซึ่งพอเห็นลาง ๆ จากสายฟ้าที่แลบแปลบปลาบเป็นระยะ ๆ

เมื่อร่างของสามีพ้นไป นางก็คลอดลูก แล้วจะทำอย่างไรเล่า? ด้วยความรักลูกนางจึงคุกเข่า กางแขนออกแล้วนำลูกทั้งสองไว้ใต้ร่างของนาง ช่างเป็นภาพที่ไม่แตกต่างอะไรกับสุนัขแม่ลูกอ่อน....

      แผ่นหลังบังฟ้า          ก้มหน้ามองบุตร

จิตใจโทรมทรุด                 แสนสุดสงสาร

“ลูกน้อยแม่จ๋า                  เกิดมาทรมาน

กลางป่าสาธารณ์             สงสารเหลือทน

แม่เคยกระทำ                   กรรมอกุศล

หนีพ่อแม่ตน                    ตามคนรักมา

บัดนี้ผลกรรม                   สาปซ้ำแล้วหนา

แม่ลูกต้องมา                    ทุกข์โศกระทม

กรรมใดลูกก่อ                  แม่พ่อขื่นขม

ตนเองต้องตรม                 ทวีตรีคูณ”

เสียงร้องไห้ทั้งแม่ทั้งลูกดังประสานกันพร้อมเสียงฟ้า-ฝน ตลอดคืน โดยสามีไม่กลับมา

นางคงอยู่ในท่านั้นจนรุ่งเช้า ลูกทั้งสองคนและนางจึงเป็นไข้เพราะตากฝนตลอดทั้งคืน นางจัดการเรื่องตัดสายสะดือลูก แล้วห่อร่างด้วยผ้าอ้อมที่เปียกปอน แข็งขืนใจเดินทางหาสามี แล้วก็พบว่าสามีของนางนอนตายอยู่ข้างทางเพราะถูกอสรพิษกัด นางรำพันอย่างเจ็บปวดต่อชะตาชีวิต... “ทำไม ! ทำไม ! ฉันจึงโชคร้ายอย่างนี้”.... น้ำตาของนางพรั่งพรูลงรดร่างลูกคนเล็ก แต่ก็หมดโอกาสจัดการศพสามี นางจำใจต้องทิ้งเขานอนตายอยู่อย่างนั้น แล้วเดินทางต่อไปยังบ้านพ่อแม่

นางพาลูกทั้งสองเดินทางมาถึงแม่น้ำซึ่งกั้นระหว่างชนบทกับเมืองสาวัตถี กระแสน้ำเชี่ยวกราก เนื่องจากฝนที่ตกกระหน่ำเมื่อคืน นางเลือกบริเวณที่พอจะข้ามได้ ลึกบ้าง ตื้นบ้าง นางพูดกับลูกคนโตด้วยความกังวลว่า... “ยืนรอตรงนี้นะลูก อย่าไปไหน แม่เอาน้องไปวางฝั่งโน้นแล้วเดี๋ยวจะกลับมารับนะลูกนะ...” แล้วนางก็ลุยน้ำอันเชี่ยวกรากเพื่อนำลูกน้อยไปวางไว้ พอนางถึงฝั่งก็วางร่างของลูกน้อยซึ่งเป็นไข้อย่างหนัก ร่างเด็กน้อยนอนอยู่บนผ้า ตัวเขาเล็กนักเนื่องจากอาหารที่หล่อเลี้ยงไม่ดีพอ ครั้นแล้วนางก็รีบลุยสายน้ำกลับมาเพื่อรับลูกคนโตซึ่งยืนรออยู่ แต่พอนางถึงกลางแม่น้ำ สิ่งไม่คาดคิดก็เกิดขึ้นทันที...

      เหยี่ยวใหญ่ตัวหนึ่ง     ตะบึงบนฟ้า

มองเห็นกายา                   ทารกแดงแดง

บินโฉบลงเฉี่ยว                 เกี่ยวด้วยกรงแข้ง

ทะยานด้วยแรง                 แห่งจ้าวเวหา

นางเห็นลูกน้อย                ลอยบนนภา

ยกมือร้องว่า                    ...อย่าเอาลูกไป...

                                      ...อย่าเอาลูกไป...

      นางโบกมือพลัน        ร้องสนั่นไหว

ลูกโตเข้าใจ                      แม่ให้ตามมา

เหยียบเท้าก้าวลง             ตรงริมคงคา

กระแสธารา                     พัดพาหายไป

จะช่วยลูกโต                    โถ...สุดทำได้

ลูกเล็ก...แม้ไล่                  เหยี่ยวไม่ปล่อยมา

นางส่งเสียงร้อง              กึกก้องเวหา

....ลูกรักแม่จ๋า..................................กลับมาเถิดลูก....

....ลูกรักแม่จ๋า..................................กลับมาเถิดลูก....

 

นางขึ้นจากแม่น้ำ ตอนนี้ชีวิตของนางไม่เหลืออะไรอีกแล้ว กระแสน้ำไม่ต่างอะไรกับกระแสน้ำตาของนาง แต่นางก็ยังมีความหวังว่าจะได้พึ่งพาพ่อแม่ แต่มองเข้าไปในเมืองก็ไม่เห็นคฤหาสน์เจ็ดชั้น จึงถามชายคนหนึ่ง.... “น้าจ๋า บ้านเศรษฐีที่เป็นพ่อแม่ของผู้หญิงที่ชื่ออาจาราหายไปไหน ทำไมไม่เห็น หรือว่าท่านรื้อบ้านย้ายไปแล้ว”.... นางถามด้วยคิดว่าพ่อแม่คงอับอายหนีย้ายไปอยู่ที่อื่น

ชายผู้นั้นตอบว่า... “โน้น เห็นควันไฟไหม เมื่อคืนฝนตก ฟ้าผ่าบ้านเศรษฐี เศรษฐีพร้อมทั้งภรรยาและลูกชายตายเพราะไฟไหม้ ศพเขาตายอยู่ในกองไฟนั้น”.... สิ้นคำบอกเล่าของชายผู้นั้น นางร้องออกมาสุดเสียง แล้วรำพึงรำพันอย่างสิ้นหวัง....

        โอ้....อะไร      กันนี่            ชีวิตข้า

โชคชตา               กระหน่ำ       บาปซ้ำส่ง                       

ต้องหนีตาม          คนใช้           ไปอยู่ดง

จากฟากฟ้า          แล้วลง          มาอยู่ดิน

ต้องคลอดลูก       กลางทาง       หว่างวิถี

ตัวสามี                 ล่วงลับ         มาดับดิ้น

ลูกคนโต               จมหาย         สายวาริน

ลูกคนเล็ก             เหยี่ยวเฉี่ยวกิน  สิ้นชีวา

       หวังจะพึ่ง      พ่อ - แม่ - พี่    ที่เรือนเหย้า    

เกิดเรื่องเศร้า        ฝนกระหน่ำ     ซ้ำฟ้าผ่า

ทุกคนต้อง            ล่วงลับ           ดับชีวา

อาจารา                 จะอยู่ไป          ทำไมกัน

ความสิ้นหวัง ความเสียใจ ทำให้นางเป็นลมล้มลงตรงนั้น แต่พอฟื้นขึ้นมานางก็เสียสติแล้ว นางไม่รู้ว่าจากการที่นางจากบ้านหนีตามชายคนรักไปนั้น ชาวบ้านเขาเปลี่ยนชื่อนางเสียแล้ว จาก “อาจารา” ซึ่งแปลว่า มีความประพฤติดีงาม เขาเรียกว่า “ปฏาจารา” แปลว่า ผู้ละเมิดความดีงาม นางกลายเป็นคนเสียสติ ปราศจากผ้านุ่งผ้าห่ม เนื้อตัวผมเผ้าดูไม่ได้เอาเสียเลย ดำรงชีวิตจากอาหารที่เขาโยนให้ แม้แต่เด็ก ๆ ก็ล้อเลียนนาง บ้างก็ใช้ก้อนอิฐ ดิน ผลไม้ ขว้างปานางด้วยความรังเกียจ นางเดินไปไหน หูก็ได้ฟังแต่เสียงสาปแช่ง เพราะคนในเมืองนี้รู้จักนาง จนวันหนึ่งพบชายคนที่เคยหลงรักนางซึ่งบัดนี้เขาแต่งงานแล้ว ชายผู้นี้เห็นสภาพนางแล้วเกิดความรังเกียจ จึงพูดต่อหน้าว่า....

        ยายบ้าอย่ามาใกล้             ไปให้ไกลไม่อยากเห็น

ตัวแกแหม...แสนเหม็น               ยายปฏาจาราเอ๋ย

ยายบ้าน่าคลื่นเหียน                  อย่าเบียดเบียนพวกฉันเลย

แนะให้เอาไหมเหวย                   เฮ้ย...พึ่งพระนะยายเพิ้ง...

 

ปฏาจาราผู้เสียสติ เดินตามมือที่ชี้เข้าไปยังสถานที่ที่เรียกว่า วัด โดยร่างกายที่เปลือยเปล่าสกปรก ขณะนั้นสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากำลังนั่งแสดงธรรมต่อหน้า ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ปฏาจาราเดินเข้าไปในที่นั้น ผู้คนแตกฮือ บ้างก็ร้องขับไล่ บ้างก็เบียดหลีกนาง เสียงอื้ออึง ทันใดนั้น สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงยกพระหัตถ์เป็นอาการให้ผู้คนสงบ แล้วเปล่งพระวาจาอันเปี่ยมด้วยพระมหากรุณาธิคุณว่า... “จงตั้งสติเถิดน้องสาว จงได้สติเถิดน้องสาว”....

คำพูดอันเปี่ยมล้นด้วยเมตตาดังนี้ นางไม่เคยได้รับมาสองปีกว่าแล้วนับแต่ออกจากบ้านไป กับทั้งถูกประณามด่าทอทุกหนทุกแห่ง เมื่อได้ฟังน้ำเสียงอันไพเราะ เรียกนางว่าน้องสาว นางก็ได้สติ ทรุดตัวนั่งด้วยความอาย อุบาสกผู้หนึ่งโยนผ้าให้เพื่อให้นางปกปิดกายทันที

สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสประทานโอวาทว่า....

….อันคนทั้งหลายมีบุตร ก็ไม่อาจต้านทานบุตรของตนจากความตายได้ 

บุตรก็ไม่อาจต้านทานให้บิดามารดารอดจากความตายได้

เพราะสัตว์ทั้งหลายมีชีวิตเป็นไปตามกฎกรรมของตน

อายุสั้นหรือยาวนั้น ย่อมขึ้นอยู่กับกรรมมาเกณฑ์ หรือนายเวรมาตามทวงคืน 

เมื่อความตายเกิดขึ้นแก่ผู้ใด แม้ผู้อื่นประสงค์จะต้านทานหรือป้องกัน 

ไม่สามารถกระทำได้เลย บัณฑิตรู้ความหมายเช่นนี้แล้วควรสำรวมในศีล.....

ปฏาจาราขอบวชเป็นภิกษุณี สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงประทานอนุญาต บัดนี้ ภิกษุณีผู้ชื่อ ปฏาจารา มีชีวิตอันเปลี่ยนไป ชื่อปฏาจาราอันคนทั้งหลายเรียกขานนั้น เป็นเครื่องเตือนใจให้ระลึกถึงความหลังทุกครั้งที่มีผู้เรียกชื่อนี้ ภาพอดีตปรากฏเป็นเหตุให้สำรวมยิ่งขึ้น และมองเห็นความจริงตามโอวาท

วันหนึ่งปฏาจาราภิกษุณีเอาภาชนะตักน้ำล้างเท้า ล้าง ๓ ครั้ง เห็นความสิ้นไปของน้ำจนไม่เหลือคาภาชนะนั้น ภิกษุณีเปรียบด้วยวัยทั้ง ๓ ช่วงของคน สิ้นเสื่อมลงน้อยลงคือ เดินไปสู่ความตาย จิตเห็นความเกิดดับเป็นวิปัสสนาปัญญา ครั้งนั้น สมเด็จพระบรมศาสดาทรงกระทำปาฏิหาริย์ ปรากฏพระองค์ต่อหน้าภิกษุณี ทรงเปล่งพระโอวาทว่า....

         คนใดอายุ      ลุถึงร้อยปี

ไม่เห็น ความมี         ความอยู่ ความดับ

แห่งกายสังขาร       อันพานย่อยยับ

หรือความเกิดดับ     แห่งจิตของตน

         สภาวะจิต       เดี๋ยวคิดกุศล

เดี๋ยวกลับสับสน        คิดกลบาปกรรม

รัก โลภ โกรธ หลง     หนุนส่งแรงล้ำ

ย่อมเข้าครอบงำ        จิตดำทุกดวง

          ผู้เป็นเช่นนี้     ร้อยปีก้าวล่วง

อยู่แบบไม้กลวง        ดึงถ่วงโลกา

ผู้เห็นไตรลักษณ์        ประจักษ์แล้วหนา

แม้มีชีวา                   อยู่เพียงหนึ่งวัน

ยังประเสริฐศรี          กว่าร้อยปีนั่น

เพราะจิตถึงขั้น          ชั้นอริยะ

จบพระพุทธโอวาท จิตของปฏาจาราภิกษุณีก็หลุดพ้นจากกิเลสอาสวะทั้งปวง เป็นภิกษุณีอรหันต์ มีความผ่องใส

ชีวิตของนางช่างผกผันจนเป็นตำนานที่เลื่องลือ ลูกสาวเศรษฐีหนีตามชาย ลูกตาย สามีตาย พ่อแม่พี่ชาย พากันตายหมด เสียตัว เสียชื่อ เสียอนาคต เสียใจ เสียสติ ยังเป็นโชคดีของนางที่ทำบุญมาแต่อดีตชาติ จึงได้พบสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า 

หญิงทั้งหลายคงจะไม่โชคดีอย่างปฏาจาราทุกคนไป ดังนั้น การประคองชีวิตมิให้พลาดพลั้ง โดยยึดขนบ ธรรมเนียม วัฒนธรรม ประเพณี ศาสนา และกฎหมาย ครองตน ย่อมเป็นความปลอดภัยและเป็นความเจริญ

 

                          พระเทพปฏิภาณวาที

                                “เจ้าคุณพิพิธ”


อ่าน : 0

แชร์ :


เขียนความคิดเห็น