ราคารวม : ฿ 0.00
มีคำพูดแต่โบราณมาคำหนึ่งว่า...ต้นสายปลายเหตุ...
ต้นสายปลายเหตุนี้ ก็คือ สอนให้เรา รู้จักเหตุ รู้จักผล ว่า...เหตุที่ดีย่อมสร้างผลที่ดี และเมื่อได้รับผลที่ดีแล้ว สืบต้นสาย เราจะรู้ปลายเหตุ
ความดีใด ๆ ก็ตามที่เราได้รับผลนั้น ต้องไปดูต้นสาย แล้วปลายเหตุที่เราได้รับผลนั้น จึงจะเป็นความสุข ทุกข์ก็เหมือนกัน ต้องดูที่ต้นสาย เรียกว่า...สมุห์ไทย
การที่เราจะรู้จักชีวิตของเรานั้นว่ามันทุกข์อย่างไร ต้องดูที่ต้นสายเมื่อถึงปลายเหตุ ต้นสายปลายเหตุของความทุกข์มีอยู่ ๔ ประการ
เพราะ แส่ - จึงจมแช่อยู่ในความทุกข์
เพราะ ยึดติด - จึงมืดมิดอยู่ในความทุกข์
เพราะ รัก - จึงจมปรักอยู่ในความทุกข์
เพราะ ไม่รู้ - จึงหมกอยู่ในความทุกข์
นี่คือ....ต้นสายปลายเหตุของความทุกข์ อันมีกิเลสเป็นตัวบัญชาการอยู่เบื้องหลัง
เพราะแส่ - จึงจมแช่อยู่ในความทุกข์ ทุกข์บางเรื่องไม่ใช่ของเรา แต่จิตเราแส่ไปเอง แส่ไปรับผิดชอบเอง แส่ไปนึกไปคิดเองทั้ง ๆ ที่ไม่ใช่เรื่องของเรา อย่างนี้เรียกว่า... เพราะแส่จึงจมแช่อยู่ในความทุกข์
เพราะยึดติด - จึงมืดมิดอยู่ในความทุกข์ ยึดติดในกองขันธ์ของเรา กองขันธ์ของเขา คือ ในวิถีชีวิตของเรา วิถีชีวิตของเขา ว่าจะยั่งยืน จะมั่นคง จะถาวร รับแต่สิ่งที่ดี แต่ปฏิเสธสิ่งไม่ดีหมด อย่างนี้เรียกว่า...เพราะยึดติดจึงมืดมิดอยู่ในความทุกข์
เพราะรัก - จึงจมปรักอยู่ในความทุกข์ เรารักอะไรโดยไม่มีเหตุผล เราก็จมปรักอยู่ในความทุกข์ และคนที่ทุกข์เพราะรักนั้น ส่วนใหญ่แล้วก็มักจะรักเพื่อสนองตอบตนเอง ไม่ใช่รักเพื่อเป็นการสงเคราะห์ เป็นการอนุเคราะห์ผู้อื่น และเพราะรักตัว รักตน และอยากจะให้คนอื่นรักตัวรักตน เพื่อจะนำผลกำไรมาบำรุงตัวบำรุงตนนี้ ยามเขาไม่รักเข้า จึงจมปรักอยู่ในความทุกข์
เพราะไม่รู้ - จึงหมกอยู่ในความทุกข์ เพราะเรามีอวิชชาเป็นเครื่องครอบงำจิตใจ เราอยากเวียนว่ายตายเกิด และบางสิ่งบางอย่างนั้น เราทำไปด้วยความไม่รู้ เราจึงจมอยู่ในความทุกข์
ต้นสายปลายเหตุเหล่านี้ หากแม้ว่าจะสลัดตัดทุกข์ได้ เพียงขอแค่ ๓ คำ คือ ....
- อนิจจัง
- ทุกขัง
- อนัตตา
มองสรรพสิ่ง มองสรรพสัตว์ ว่าทุกอย่างนั้นจะต้องเป็นไปตามกฎของไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
- ไม่เที่ยง
- ไม่ยั่งยืน
- ไม่ใช่ของเรา
นำ ๓ คำนี้ มาเป็นตรี เป็นอาวุธอันประเสริฐแล้ว จะสามารถสังหารตัดต้นสายปลายเหตุของความทุกข์ได้เด็ดขาด
แชร์ :
เขียนความคิดเห็น