ตอนที่ 57 : ชนะ ๘ ทิศ - พิชิต ๘ สถานการณ์

   ชนะ ๘ ทิศ - พิชิต ๘ สถานการณ์

     เมื่อตอนเป็นเด็กวัด และ เป็นสามเณร (พ.ศ. ๒๕๐๕-๒๕๒๐) ก็สงสัยว่าทำไมเวลาพระลงศาลาวันพระจึงสวดถวายพรพระซึ่งเรียกตามภาษาพูดวงการพระว่า.....นะโม, อิติปิ โส, พาหุง, มะหากา, ชะยันโต, ภะวะตุ สัพ... และมีคำพูดเน้นย้ำสำหรับพระบวชใหม่ว่า “บวชมาทั้งที หุงให้สุกทุกเม็ด เช็ดให้สะเด็ดน้ำ ถ้าไม่ได้อย่างนี้ สึกไปแล้วเอาดีไม่ได้” ความสงสัยนี้ไม่มีใครเฉลย จนเมื่อเป็นมหาเปรียญแล้วจึงมาทบทวนคำพูดของพระโบราณที่กล่าวแล้ว พอจะแจ้งใจว่า “หุงให้สุกทุกเม็ด คือ ท่องพาหุง ให้จบและให้ถูกต้องทุกคำ คำว่า เม็ด คือ ทุกอักขระในบทพาหุง” โดยเฉพาะที่สวดผิดบ่อยๆ คือ 

    - คฺรีเมขลํ  มักสวดกล้ำว่า ครีเมขะลัง

      ต้องสวดว่า คะรีเมขะลัง

    - อุทิตโฆรสเสนมารํ มักสวดว่า อุทิตะโขระสะเสนะมารัง 

    - อุคฺขิตฺตขคฺคมติหตฺถสุทารุณนฺตํ  มักสวดว่า อุกขิกตะขักคะฯ 

      บางรูปจำเอามาก็กลายเป็น ขลุกขลิกตะขัก ก็มี

   - ชนกายมชฺเฌ  มักสวดว่า  ชะยะกานะมัชเฌ หรือ มัชเฉ

   - นนฺโทปนฺนทภุชคํ  วิพุธํ มหิทฺธึ  มักสวดว่า  มะหิทถิง

   - วิสุทฺธิชุติมิทฺธิพกาภิธานํ  มักสวดว่า  วิสุทติชุตติมิทธิพะกาทิถานัง

   - ญาณาคเทน  มักสวดว่า  ญาณาคะเชนะ

   - ในบท “ชยนฺโต” ตรง สกฺยานํ  มักสวดว่า  สักขะยานัง

   นี่เองกระมังที่พระโบราณท่านพร่ำเตือนพร่ำสอนว่า “หุงให้สุกทุกเม็ด” เพราะแต่ก่อนนั้นก็ไม่ค่อยรู้หนังสือ สวดแบบ “มุขปาฐะ” คือ ต่อหนังสือ ได้แก่ท่องต่อ ๆ กันมา จึงมีคำพูดว่า “ผิดเป็นครู” คือ ครูจำมาผิด ก็บอกต่อลูกศิษย์ ลูกศิษย์ก็ถืออย่างครู ใครจะพูดให้แก้ไขอย่างไรก็ไม่ฟัง สมัยก่อน ๆ นั้นมีหนังสือวิชาการให้ตรวจสอบน้อยมาก แม้แต่ข้าพเจ้าเองก็จำมาแต่เมื่อครั้งเป็นเด็กวัด พอเป็นเณรก็สวดตามที่ฟังพระมา กว่าจะแก้ไขได้ก็ยาก เพราะมันฝังแน่นในสัญญาที่เรียกกันว่า “มันเข้าไปในกระดูกดำ” เสียแล้ว

    ส่วนคำว่า “เช็ดให้สะเด็ดน้ำ” คือ ต้องถวายพรพระให้จบทุกบท จึงจะถือว่าสะเด็ดน้ำ คำว่า สะเด็ดน้ำ นั้น ถือเอาการหุงข้าวสุกแล้ว เอาไม้ขัดหม้อขัดหูและฝาหม้อข้าว คว่ำหม้อลงให้สะเด็ดน้ำ เมื่อ “ดงข้าว” ข้าวก็จะไม่แฉะและสวยขึ้นปากหม้อ คนเช็ดน้ำข้าวไม่สะเด็ดน้ำ พอดงข้าว ข้าวก็แฉะ ตั้งแต่ปากหม้อจนถึงกลางหม้อ ครั้นพอดงเพื่อให้น้ำข้าวระเหย ข้าวก้นหม้อก็ไหม้ เปรียบด้วยพระไม่ขยันท่องสวดมนต์ เฉื่อยแฉะ ขาดความเพียรและขาดความรับผิดชอบที่จะช่วยแรงกันสวด และ ขาดความสำนึกที่จะสวดให้พรแก่ญาติโยมที่ใส่บาตรหรือนิมนต์ไปตามบ้าน อาศัยเสียงพระรูปอื่น ส่วนตัวเองก็เอาแต่ทำปากหมุบหมิบ ๆ สวดทิ่มไปไถมา ทำเอาพระที่อยู่ใกล้ ๆ รำคาญ เสียสมาธิ และบางทีก็พาให้การสวดล่ม จนต้องขึ้นบทสวดกันใหม่

         เรื่องความศักดิ์สิทธิ์ของ พาหุง นี้ หลวงปู่ที่เลี้ยงข้าพเจ้ามาตั้งแต่เป็นเด็กวัด ท่านชื่อ หลวงปู่เป้า จิตฺตปาโล ท่านทำปลัดขิก และลงตะกรุด (คนทั่วไปเรียกว่ากะตุด) แจกเด็กวัดทุกคน เพื่อเวลาสุนัขกัดแล้วกัดไม่เข้า เพราะเด็กวัดไม่เป็นมิตรกับสุนัขตามบ้าน เช้าสุนัขเห่าและกัดเด็ก เย็นๆ เด็กวัดก็พากันไปแหย่สุนัข แอบกองฟางแล้วรุมตีมัน ก็เลยเป็นศัตรูกันตลอด ข้ามรุ่นจากรุ่นพี่มาสู่รุ่นน้อง อีกทั้งยังมีสุนัขบ้าในฤดูแล้งมาก หลวงปู่จึงทำปลัดขิกด้วยไม้คูณตายพราย คือไม้คูณที่มันหมดอายุหรือตายเอง ซึ่งที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยาสมัยนั้นหาไม้คูณยากมาก ต้องสั่งคนอีสานที่เดินทางไปขายยาสมุนไพรหน้าแล้งเอาลงมาให้เป็นค่าที่กินที่นอนในวัด แสดงว่าพระโบราณเคร่งพระวินัยไม่พรากของเขียวโดยเฉพาะต้นไม้ยืนต้น และคงเกี่ยวข้องด้วยรุกขเทวดาที่ไม่ยินดีนักที่พระเป็นเหตุโค่นต้นไม้เอามาทำของขลัง เมื่อหาไม้คูณยาก ปลัดขิกที่หลวงปู่ให้ใครไปก็ยิ่งเป็นที่หวงแหน ครั้นเมื่อเด็กวัดโดนสุนัขกัดไม่เข้า ปลัดขิกก็ยิ่งดังใหญ่ ส่วนมากเด็กวัดก็ถูกผู้ใหญ่หลอกซื้อด้วยเงินเพียงบาทสองบาท แล้วก็ขอหลวงปู่อีก

         นอกจากให้ ตะกรุดและปลัดขิก แล้วหลวงปู่ก็จะสอนเด็กวัดและเณร รวมทั้ง พระใหม่ให้สวด พาหุง บท “อุกขิตต์” ทั้งเด็กวัด เณร พระบวชใหม่ ก็เลยมีคาถาประจำตัวที่ทั้งคงกระพัน และ แคล้วคลาด คนใดรูปใด มีตะกรุดและปลัดขิก ท่อง “อุกขิตต์” พวกสุนัขมันไม่เห่าไม่กัด มันระย่อ จนต่อมาก็เชื่องและได้เป็นพวกกัน

         สมัยก่อน พระ-เณร ภาคกลางส่วนใหญ่ห่มจีวรสีหมากสุก คือสีเปลือกหมากสุก ได้แก่ แดงอ่อนกว่าดอกชะบาสีแดงหน่อย เวลาเดินบิณฑบาต หรือเดินไปกลางทุ่ง ไปเยี่ยมบ้าน ไปสวดมนต์ฉันเช้า ฉันเพล วัวควายเห็นสีจีวรแล้วก็มักจะไล่ขวิด ต้องเปลื้องจีวรทิ้ง หรือ เปลื้องจีวรแล้วโยนคลุมจอมปลวกตามโคกนา นับว่าอันตราย แต่สะบงและอังสะยังอยู่ วัวควายก็ไล่ขวิดจนถึงต้องโดดลงบ่อ โดดลงคลอง หลวงปู่ก็สอนให้ท่องพาหุง บท “อุกขิตต์” แปลกเหมือนกัน วัวควายมันเห็นมันยืนเบิ่ง แต่ไม่ยักกะไล่ขวิด ใครจะเชื่อหรือไม่เชื่อก็ตามใจ แต่เรื่องมนต์นี้ ถ้าไม่ขลัง ไม่ได้ผลจริง ท่านคงไม่ให้เราท่องหรือสวด คิดดูง่ายๆ พระไตรปิฎกบาลีมีเต็มตู้ แต่ทำไมจึงสวดแค่ “เจ็ดตำนาน” แสดงว่าสวดมนต์เจ็ดตำนาน ขลังทุกบท จะสวดเต็มบท หรือ ย่อยเอาเพียงบางบทจากบทเต็ม ก็มีความขลังที่แตกแขนงออกไป

         การเดินบิณฑบาต และ การเดินทางไปตามทุ่งนา มีต้นข้าว ฟางข้าว หญ้าพงดงป่า สิ่งที่อันตรายก็คือ งูพิษ สัตว์มีพิษชนิดต่างๆ ถูกฉกกัดเอาถึงปวดถึงตาย หลวงปู่ก็จะสอนให้เด็กวัด พระ เณร ท่อง พาหุง บท “นันโท” ก็ได้รับผลคือแคล้วคลาดปลอดภัย นอกจากความศักดิ์สิทธิ์ของมนต์แล้ว “ความกลัวบวกกับศรัทธาคือความเชื่อมั่นในหลวงปู่ เกิดเป็น สติ สมาธิ ฌาน สมาบัติ” ดังนั้น มนต์มีความขลัง ถ้าจะให้เกิดพลัง ต้องขึ้นอยู่กับ ศรัทธา จะก่อให้เกิด สติ สมาธิ ฌาน สมาบัติ จึงขอรับรองตามที่มีประสบการณ์มาจาก พาหุง บท “อุกขิตต์ และ นันโท” ซึ่งได้นำความศักดิ์สิทธิ์ของพาหุง ทั้ง ๘ บท มาพิมพ์ไว้แล้ว แต่สืบไม่ชัดว่าผู้ใดแต่งเอาไว้

         การที่ข้าพเจ้าเรียกบท พาหุง ว่า “ชนะ ๘ ทิศ พิชิต ๘ สถานการณ์” เพราะตอนเป็นเณร เวลาจะออกบิณฑบาต ก็ต้องเสกบาตร คือห่มจีวรเรียบร้อยแล้ว ก็อุ้มบาตร เปิดฝาบาตรแล้ว เอามือล้วงเข้าไปในบาตรเปล่า วนมือไปทางขวามือ พร้อมทั้งสวด พาหุง จบแล้วก็ออกบิณฑบาต นอกจากไม่ได้รับอันตรายใดใดแล้ว ยังพอมีโยมใส่บาตร ครั้นมาอยู่กรงเทพฯ พ.ศ. ๒๕๑๘ เป็นต้นมา คนใส่บาตรน้อยมาก บางทีโยมก็ใส่ประจำพระ โยมไม่ค่อยใส่บาตรเณร ก็เลยต้องเล่นคาถา พาหุง พออยู่พอฉันเลยทีเดียว เรียกได้ว่า...ชนะ ๘ ทิศ...

     ส่วนคำว่า “พิชิต ๘ สถานการณ์” นั้น มาเกิดขึ้นในภายหลัง ตอนเมื่อพระเดชพระคุณหลวงพ่อพระพุทธวรญาณ (มงคล วิโรจโน) เจ้าอาวาสวัดประยุรวงศาวาส เขตธนบุรี กรุงเทพมหานคร มรณภาพ พ.ศ. ๒๕๔๘ ในครั้งนั้น ท่านเจ้าคุณพระพิจิตรธรรมพาที (ชัยวัฒน์ ธมฺมวฑฺฒโน) ณ พ.ศ.นี้ เป็นพระราชธรรมวาที ท่านนิมนต์ข้าพเจ้าไปแสดงธรรมในการบำเพ็ญกุศลอุทิศถวายเมื่อวันที่ ๑๐ เมษายน ๒๕๔๘ จึงทบทวนประวัติของหลวงพ่อนับตั้งแต่ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส เจ้าคณะภาค ซึ่งวัดประยุรวงศ์เป็นดงนักเทศน์ มีเชื้อพระวงศ์ ขุนน้ำขุนนาง ลูกท่านหลานเธอ เป็นโยมประจำวัด อีกทั้งมีชาวบ้านหลายหลากอยู่รอบๆ วัด หลวงพ่อท่านบริหารได้จนตลอดรอดฝั่งอย่างไร? พลันก็นึกถึงได้ว่าหลวงพ่อท่านชอบเทศน์เรื่ององคุลีมาล เทศน์ได้ไพเราะ วิเคราะห์ได้อย่างลึกซึ้ง ก็เลยค้นหนังสือที่เคยอ่านคือ “ฎีกา ชยมังคลอัฏฐกเทสนา (พาหุง) เรียกว่า ฎีกา พาหุง” สำนวน นาคประทีป ซึ่งเคยอ่านนานแล้ว ปรากฏว่าหนังสือหายไป จึงได้ขอให้สำนักพิมพ์เลี่ยงเชียงค้นให้ เพราะจำได้ว่าลิขสิทธิ์เป็นของสำนักพิมพ์เลี่ยงเชียง คุณมณฑ์จิตต์เกษม (ถนอมศักดิ์) จงพิพัฒน์ยิ่ง ก็กรุณาค้นให้ และให้ยืม บอกว่าเหลือเพียงแค่ ๒ เล่ม ได้อ่านทบทวนพาหุงทั้ง ๘ บท  จึงรู้ว่า “ตลอดชีวิตของคนเรานั้น ต้องเผชิญต่อสถานการณ์ในชีวิต ๘ สถานการณ์ ดุจเดียวกับสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพียงแต่ว่าสถานภาพของบุคคลนั้น ๆ จะเล็กหรือใหญ่แตกต่างกัน ที่ชนะสถานการณ์ชีวิตก็มากหลาย ที่แพ้พ่ายก็มากมี ยังไม่ตายก็ต้องผจญต่อสถานการณ์ในชีวิต ๘ สถานการณ์” จึงเห็นในวงการพระสงฆ์ว่า “สึกกันหลายราย เสียหายกันหลายรุ่น วุ่นวายกันหลายรูป” หลวงพ่อพุทธวรญาณ (มงคล วิโรจโน) ท่านมรณภาพเรียกว่าตายในผ้าเหลือง ท่านชนะ ๘ ทิศ พิชิต ๘ สถานการณ์ เพราะท่านมีความรู้แตกฉานใน พาหุง จึงสรุปการพิชิต ๘ สถานการณ์ในพาหุง ตามพุทธวิธีของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มาเป็นแนวบริหารชีวิตและกิจการคณะ ซึ่งทั้งพระและคฤหัสถ์จะต้องบริหารให้ชนะด้วยพุทธวิธี  คือ

      - ชนะกิเลสด้วยทศบารมี

      - ชนะไพรีด้วยขันติ

      - ชนะอริด้วยเมตตา

      - ชนะโจรด้วยฤทธิ์

      - ชนะอิสตรีด้วยดุษณีภาพ

      - ปราบคนหัวดื้อด้วยปัญญา

      - ปราบคน - พระ ขวางความเจริญก้าวหน้าด้วยกลวิธีแห่งความขลังและฤทธิ์

      - ปราบพระ - คน ที่มากด้วยโมหจิตด้วยพระนิพพาน

      นักบริหาร สมภารเจ้าวัด หากมิได้ศึกษา พาหุง ให้ถ่องแท้ ก็มักจะแพ้ในหลาย ๆ เรื่อง ลำพังแต่สวดเสกอย่างเดียวคงไม่พอที่จะคุ้มครองตนคุ้มครองงาน ต้องศึกษา ๘ วิธีการ เพื่อบริหารตน บริหารคน บริหารงาน  การพิชิต ๘ สถานการณ์จึงจะเป็นมงคล เรียกว่า พิชิต ๘ สถานการณ์ และหากเมื่อแสดงธรรมหรือบรรยายธรรม นอกจากจะแสดงชัยชนะของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว ก็ควรที่จะวิเคราะห์ให้ผู้ฟังได้นำไปปฏิบัติในเชิงบริหาร ชัยชนะของสมเด็จพระบรมศาสดาจารย์ก็จะเป็นต้นแบบของผู้ฟัง และหากผู้ใดเขียนหนังสือเชิงวิเคราะห์ หรือ ทำวิทยานิพนธ์ หรือ ดุษฎีนิพนธ์ จะวิเคราะห์ พาหุง ด้วยชื่อเรื่องนี้คือ ชนะ ๘ ทิศ พิชิต ๘ สถานการณ์ หรือ จะตั้งชื่อให้ยืดยาวตามความนิยมของวิทยานิพนธ์ หรือ ดุษฎีนิพนธ์ ก็ได้ เพื่อผู้อ่านและศึกษาจะได้นำพุทธจริยาไปปฏิบัติอันจะเกิดชัยชนะในที่ทุกสถานในกาลทุกเมื่อ

 


อ่าน : 0

แชร์ :


เขียนความคิดเห็น