ตอนที่ 3 : มหาเสน่ห์ตำรับใหญ่ (๑)

หลายคนบ่นว่า “ทำไมไปไหนแล้วคนไม่ชอบเรา หรืออยู่กับใครไม่ได้” ก็เลยถามว่า จะมีวิธีการอย่างไรที่จะปฏิบัติให้อยู่กับใครก็ได้ อาตมภาพจึงขออัญเชิญพระธรรมคำสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มาแสดงวิธีการอยู่กับใครก็ได้ อยู่ที่ไหนก็ได้ อยู่แล้วประสบความสำเร็จ และเผล็ดผลเป็นความสำราญ อยู่ที่ไหนแล้ว อยู่กับคน คนไม่ไล่หนี อยู่กับผี ผีไม่โกรธา อยู่กับเทวดา เทวดาไม่รังเกียจ วิธีการอย่างนี้ สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสกับภิกษุกลุ่มหนึ่ง ซึ่งไปอยู่ในป่าแล้วถูกเทวดาไล่กลับ โดยแปลงตัวปลอมตัว เนรมิตเป็นภูตผีปีศาจต่าง ๆ นานามารบกวน เพราะภิกษุเหล่านั้นไม่มีวิธีการปฏิบัติตัวให้ถูกต้อง แต่ครั้นมาเฝ้าสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และพระองค์ได้ตรัสถึงวิธีการ ๑๕ ประการ เรียกว่า “กรณียเมตตสูตร” บทที่พระสงฆ์สวดว่า “กรณียมตฺถ กุสเลน  ยนฺตํ  สนฺตํ ปทํ...” เรื่อยไป คือ สูตรแห่งความสำเร็จ อันก่อให้เกิดความเมตตาที่ทุกคนพึงกระทำ เรียกว่า “เมตตาสูตรใหญ่”

         ความเป็นผู้มีเสน่ห์ คืออยู่กับใครก็เป็นที่พึ่งให้เขาอุ่นใจ อยู่กับใครก็เป็นที่รักให้เขาเย็นใจ สมเด็จพระจอมไตรพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้สอนวิธีกระทำอย่างนี้ไว้ใน กรณียเมตตสูตร เมื่อดูความที่พระองค์ตรัสแล้วทั้ง ๑๕ วิธีการแห่งมหาเสน่ห์ ท่านทั้งหลายจะประกอบการงานอะไร ตั้งแต่งานกรรมกิจ กรรมบถ จนถึง กัมมัฏฐาน ทั้งหมดนี้ให้สำเร็จประโยชน์หมด นี่คือสูตรใหญ่ เราไม่ต้องไปหาอย่างอื่นแล้วท่านทั้งหลาย ตรงนี้แหละคือหลักสำคัญ ไม่ต้องไปหาสาลิกาลิ้นทอง เสน่ห์ยาแฝด หรือน้ำมันพราย ซึ่งตอนนี้ก็ไม่มีน้ำมันพรายแล้ว มีแต่น้ำมันพืช ไม่เกิดประโยชน์ ดังนั้นเมื่อเรามีสูตรของพระพุทธเจ้าเป็นมงคลสร้าง เราก็ต้องนำมาปฏิบัติ

 

*********************************************************************

 ๑. สักโก เป็นผู้กล้า

         “สักโก” จะอยู่กับใครก็ตาม ขอให้ท่านกำหนดจดจำไว้ว่าต้องเป็นที่พึ่งให้เขาได้ อย่าไปแต่พึ่งเขา สักโก คือเป็นผู้กล้าหาญ ได้แก่ กล้าคิดสิ่งใหม่ ๆ สิ่งดี ๆ กล้าคิด กล้าทำ กล้านำ และ กล้าตาย คนที่มีความอาจหาญ อยู่กับใครก็ได้ย่อมเป็นที่พึ่งให้เขาได้ เพราะเหตุว่าเป็นคนกล้า และเป็นคนเผชิญต่ออุปสรรคอันตราย 

         ส่วนมากแล้วลูกอยู่กับพ่อแม่ไม่ได้ เป็นเพราะว่าพึ่งไม่ได้ พ่อแม่ลูกไม่เลี้ยงเพราะพึ่งไม่ได้ พระสงฆ์บางองค์อยู่กับเจ้าอาวาส เจ้าอาวาสไล่หนีเพราะพึ่งไม่ได้ เจ้าอาวาสบางรูปมาเป็นเจ้าอาวาสแล้ว ชาวบ้านและพระสงฆ์พึ่งไม่ได้ ก็ไม่มีใครเลี้ยง

         นี่คือสูตรแรกที่สุด สักโก ความเป็นผู้องอาจ ไม่ขยาดต่ออุปสรรค กล้าคิด กล้าพูด กล้านำ กล้าตาย

                          สักโกกล้า               แต่ไม่กล้า              แบบบ้าบิ่น

                 กล้าทำกิน                       สัมมาชีพ               รีบขวนขวาย

                 กล้าทนฝน                      ทนแดด                 แผดเผากาย

                 และกล้าตาย                    เพื่อผู้ที่                  มีพระคุณ

*********************************************************************

๒. อุชุ  ซื่อตรง

         อุชุ ความเป็นผู้ซื่อตรง ตรงอย่างไม้บรรทัดเรียกว่าเป็นบรรทัดฐานตรง คือมีความซื่อสัตย์สุจริต เรียกว่าเป็นคนใจซื่อ มือสะอาด ไม่ใช่ต่อหน้ามะพลับ ลับหลังตะโก ต่อหน้าแตงโม ลับหลังแตงไทย ต่อหน้ามะไฟ ลับหลังมะเฟือง ต่อหน้าสีเหลือง ลับหลังสีแดง ซึ่งโบราณเขาบอกไว้ว่าแสดงว่าไม่ซื่อ

         การเป็นคนมีจิตใจซื่อตรงนั้น เมื่อจับตรวจด้วยบรรทัดแล้ว เขาให้ตรวจด้วยน้ำ คนซื่อตรงอยู่ที่ไหนเย็นใจ ลองคิดดูสิว่า ถ้าผัวซื่อตรง เมียก็เย็นใจ เมียซื่อตรง ผัวก็เย็นใจ  ทั้งสามีภรรยาซื่อตรงในฐานะพ่อแม่ ลูกก็เย็นใจ สมุห์บัญชีซื่อตรงเก็บเงินไว้ได้ เจ้านายก็เย็นใจ พระสงฆ์ซื่อตรงเรียกว่า อุชุปฏิปันโน ปฏิบัติต่อประชาชนอย่างซื่อตรง ไม่โกงข้าว ไม่โกงปัจจัยสี่ ไม่โกงของประชาชนที่บำรุงเพื่อให้มีการศึกษาเล่าเรียน หมั่นบำเพ็ญศีล สมาธิ ปัญญา พระสงฆ์เหล่านั้นถือว่าเป็นผู้ซื่อตรง ความเป็นผู้ซื่อตรงนี้แหละนำมาซึ่งความเย็นใจแก่ผู้อื่น นอกจากนั้นแล้วยังนำมาซึ่งความอยู่เย็นเป็นสุขสำหรับตัวเรา แสดงว่าเขาไว้วางใจในตัวเรา ในความประพฤติของเราแล้ว ประโยชน์ที่สำคัญที่สุดที่สุดก็คือประโยชน์ที่เราจะได้รับ เราเคยได้ยินว่า “ซื่อกินไม่หมด คดกินไม่นาน” นั่นแหละเรื่องจริง เป็นเรื่องจริงอย่างแน่แท้ทีเดียว ข้อนี้เป็นเสน่ห์ประการหนึ่ง เรียกว่า อยู่กับใครแล้วเขาเย็นใจ

         สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นผู้ซื่อตรง เมื่อเป็นพระราชโอรส พระราชบิดาก็เย็นใจ เป็นพระสวามีของพระนางพิมพา พระนางพิมพาก็เย็นใจ ด้วยความซื่อตรง ตรงนี้นี่แหละ จึงเป็นหลักการอันสำคัญ ทุกวันนี้เราแสวงหาคนซื่อตรง เรากลัวคนไม่ซื่อตรง เรากลัวคนคอรัปชั่นและคนมักได้ และคนไม่ซื่อตรงนี้จะไม่ซื่อตรงทั้งหมด ถ้ามีนิสัยคดโกงโกหก จะโกหกทั้งหมด ไปเกี่ยวข้องกับลูกเขาเมียใคร จะไม่ซื่อตรงไปทั้งนั้น อย่าว่าแต่เรื่องเงินทองเลย เป็นเหตุให้เขาเกิดความร้อนใจ

         ดังนั้น ถ้าท่านทั้งหลายอยากเป็นผู้มีเสน่ห์อยู่กับใครก็ได้ อยู่แล้วสำเร็จเผล็ดผลเป็นความสำราญ ทั้งแก่ตนเองและผู้ที่เราอยู่ด้วยนั้น ต้องมีความซื่อตรง

 

                          อุชุ ตรง                 คงที่                     มีสัจจะ

                 ไม่ตะกละ                        ละโมบ                   โลภโมหันธ์

                 ทั้งผัวเขา                       เมียใคร                 ไม่เกี่ยวพัน

                 ซื่อตรงมั่น                      ศีลธรรม                นำชีวี

 

*********************************************************************

๓. สุหุชู  ใจดี

         สูตรที่ ๓ นี้  สุหุชู ใจดี ต้องเป็นคนใจเย็น ใจดี หมายความว่าเป็นคนยิ้มง่าย ใจเย็น คือมองใครมองด้วยความรู้สึกเป็นญาติ การที่มองด้วยความรู้สึกเป็นญาตินั้นเป็นเรื่องสำคัญที่สุด เพราะในความเป็นญาตินั้นมีการให้อภัย มีการให้โอกาส แต่คนที่ไม่เป็นญาติ จะไม่มีการให้อภัย ไม่มีการให้โอกาส

         ดังนั้น ถ้าเราจะอยู่กับใครด้วยความรู้สึกว่าเป็นญาติ เห็นคนแก่ นั่นรุ่นพ่อรุ่นแม่แล้วนะ คุณพ่อครับ คุณแม่ครับ เห็นคนแก่กว่าคุณพ่อคุณแม่ เป็นคุณปู่ คุณย่า คุณตา คุณยาย พี่ ป้า น้า อา เห็นคนเสมอกันก็เป็นเพื่อน คนต่ำใต้ก็เป็นพี่เป็นน้องกัน อย่างนี้เขาเรียกว่าคนใจดี คนใจดีสังเกตง่าย หน้าไม่นิ่ว คิ้วไม่ขมวด ไม่พบรอยย่นระหว่างคิ้ว แต่พบรอยริ้วที่เหนือริมฝีปาก นี่เป็นลักษณะของคนใจดี  ถามว่าทำไมใจดี อันนี้คืออะไร ก็คือเสน่ห์ ท่านทั้งหลายลองนึกดูสิว่า เมืองไทยเป็นสยามเมืองยิ้มเพราะอะไร เพราะคนไทยเป็นคนใจดี “อ้าว ! ไม่เป็นไร” เราก็เลยพูดว่า “ไม่เป็นไรคือไทยแท้” ความจริงมีความสำคัญ “ไม่เป็นไร” คือให้อภัย และให้โอกาสเขาอีก  ไม่ใช่ความชุ่ยของคนไทย แต่คำว่า “ไม่เป็นไร” ของคนไทย เขาจะเปล่ง ๓ ครั้ง เป็นกรณี ๆ ในเมื่อมีความผิด จนมีคำโคลงโลกนิติบัญญัติว่า.....

                          ผิดหนึ่งพึงจดไว้                   ในสมอง 

                 เร่งระวังผิดสอง                            ภายหน้า

                 สามผิดเร่งคิดตรอง                      จงหนัก   เพื่อนเอย    

                 ถึงสี่อีกห้าหกซ้ำ                            อภัยไฉน 

         ในกรณีที่จะปฏิบัติงาน หากว่าแม้ผู้ร่วมงานมีความพลั้งเผลอ เราก็ยิ้มง่ายใจดีไม่เป็นไร ครั้งที่สองไม่เป็นไรแต่ให้คำสอน ครั้งที่สามไม่เป็นไรแต่คาดโทษลงทัณฑ์ ไม่มีครั้งที่สี่ แต่ส่วนมากมักจะทำหน้านิ่วคิ้วขมวด “ไม่ได้” ตวาดว่า “ไม่ได้” “อย่างนั้น ไม่ได้ ผิด ผิด ผิด”

         ผิดต้องแก้ไม่ใช่กลบ ผิดต้องลบไม่ใช่ซุก ถ้าเราทำได้อย่างนี้ถือว่าเป็นคนมีเมตตาพรหมวิหารธรรม เป็นกัมมัฏฐานตลอดเวลา ใครได้พบได้เห็นแล้วอยู่ในสถานะคนแก่หรือเด็กก็ตาม เขาจะยอมรับนับถือ อยู่แล้วเย็นใจ เป็นที่รัก คนใจดีมีแต่คนรัก 

 

                          สุหุชู                    ใจดี                       มีเมตตา

                 ยึดคำว่า                      “ไม่เป็นไร”              ไว้สามหน

                 เป็นแม่น้ำ                     เป็นศาลา               สุธาดล

                 เป็นร่มไม้                      เป็นสายฝน            ชนชื่นเย็น

*********************************************************************

๔. สุวะโจ  ว่าง่าย  สอนง่าย

         สุวะโจ ความเป็นผู้ว่านอนสอนง่าย ความเป็นผู้ว่านอนสอนง่ายนี้ คือจิตใจไม่แข็งกระด้าง เป็นผู้ใคร่ต่อการศึกษา  และการมีการศึกษานั้นมีอาการอ่อนน้อมถ่อมตน เหมือนกับพระรับบิณฑบาต พระสงฆ์รับอาหารบิณฑบาตจากประชาชน พระสงฆ์น้อมกายลงไปให้ประชาชนใส่บาตร รับแล้วก็ค่อย ๆ ปิดบาตร เอาไปใช้อย่างมีประโยชน์ อาการอย่างนี้ถ้านำมาใช้กับการศึกษา กับการปรึกษา ในการศึกษาต้องมีคำว่า สุวะโจ คือความเป็นผู้ว่านอนสอนง่ายตั้งแต่เล็ก ๆ และเมื่อโตขึ้นศึกษาไม่ได้ จะมีการปรึกษา เพราะถ้าศึกษาจะดูเด็กไป มีอะไรก็ปรึกษาท่านผู้รู้ หรือท่านผู้รู้ท่านแนะนำแล้ว เราก็ซึมซับรับเอา เป็นกระดาษซับ ไม่ใช่กระดาษทราย  กระด้าง หยาบคาย คนที่ว่านอนสอนง่ายจึงมีแต่ความเจริญ

         พระรูปหนึ่ง เณรรูปหนึ่ง เป็นสัญลักษณ์แห่งการว่านอนสอนง่าย เณรคือราหุลลูกของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตอนที่ยังไม่ผนวช เณรราหุลเป็นเด็กว่าง่าย กำทรายมาทุกวันแล้วอธิษฐานว่า “ทุกวัน ๆ จะว่านอนสอนง่าย จำพระธรรมคำสอนจากผู้ที่มีความปรารถนาดีให้เท่ากับเม็ดทรายในกำมือ” ผลที่สุดพระราหุลสำเร็จเป็นอรหันต์ตั้งแต่อายุ ๗ ขวบ พระราธะอายุกว่า ๖๐ ปี บวชตอนแก่ ก็ถือปฏิบัติว่าง่าย สอนง่าย ไม่กระด้าง พระราธะก็สำเร็จเป็นพระอรหันต์ สององค์นี้น่ายกย่องมาก เพราะเป็นผู้ว่าง่าย สำเร็จหมด และไปอยู่กับใครแล้ว เณรราหุลมีแต่คนรัก พระราธะมีแต่คนรัก ประชาชนนิยม เพราะท่านเป็นผู้ว่าง่าย นี่เป็นหลักการทางพุทธศาสนา

         ดังนั้น นักเรียน นักศึกษา ก็ต้องเป็นผู้ว่าง่ายในการเรียนการศึกษา ไม่ใช่ไปขบเคี้ยวฟันทำกระด้างคางแข็งกับครู อย่างนี้ไปรอด การว่าง่ายจึงเป็นเสน่ห์อันสำคัญ และสร้างความเจริญให้กับตัวเอง

 

                          สุวะโจ                  สอนง่าย                ไม่กระด้าง

                 รับความรู้                       ปูทาง                   สว่างไสว

                 แม้งอแง                        แสนงอน               เขาอ่อนใจ

                 คนว่านอน                      สอนง่าย                ใครก็รัก

*********************************************************************

๕. มุทุ  อ่อนน้อมถ่อมตน

         ในการปฏิบัติธรรมเพื่อการดำรงและดำเนิน ดำรงคือดำรงอยู่ ได้แก่การเสวย ดำเนินคือการก้าวหน้าแห่งชีวิต ในการที่เราจะประสบความสำเร็จนั้น ย่อมมีองค์ประกอบหลายอย่าง แต่องค์ประกอบในด้านคุณธรรมเป็นเรื่องสำคัญที่สุด การที่เราได้คุณธรรมสำหรับการประสานงาน การพัฒนางานจากทางศาสนานั้น ถือว่าเป็นหลักการ สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงตรัสสอนไว้แล้ว และตรัสไว้อย่างมีระเบียบ ตรัสไว้อย่างมีขั้นตอน 

         ในข้อนี้ มุทุ หรือ มัททวะ แปลว่า ความอ่อนน้อมถ่อมตน ในทศพิธราชธรรม ๑๐ ประการนั้น มีคำว่า มัททวธรรม หรือ มุทุธรรม เป็นธรรมอันเดียวกัน มีความอ่อนน้อมถ่อมตน เราลองหลับตานึกถึงภาพพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในหลวงรัชกาลที่ ๙ จะเห็นว่า ภาพอมตะก็คือพระองค์ได้น้อมพระวรกาย ก้มพระเศียร ยกพระหัตถ์ไปรับดอกบัวของยายแก่คนหนึ่ง ซึ่งดอกบัวที่แกมารอถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนั้นเหี่ยวแล้ว แต่คนที่เห็นจะเห็นว่าการที่เราจะมีคนรักต้องมีความอ่อนน้อม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงอ่อนน้อมถ่อมพระองค์ต่อประชาชน และเวลาที่จะประทับนั่งก็ประทับนั่งพับเพียบ เพราะฉะนั้นประชาชนจึงรักและเทิดทูนพระองค์ 

         พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งทรงเสด็จพระพาสต้นทรงเป็นกันเองกับราษฎร ไม่ถือโทษโกรธเคือง พระองค์สวรรคตไปแล้ว เราจึงถวายพระนามว่า “พระปิยมหาราช พระมหาราชผู้เป็นที่รัก” ในความเป็นที่รักนั้น ทศพิธราชธรรมประการหนึ่งตรงกับ มุทุ คือ มัททวธรรม

         ส่วนการที่บางคนเอามือไขว้หลัง ยืนค้ำหัวผู้หลักผู้ใหญ่ อย่างนั้นจะไม่ถือว่าประสบความเจริญ ไม่เป็นที่รักของใคร คนเย่อหยิ่ง คนไม่อ่อนน้อมถ่อมตน มักจะโค่นจะล้ม แต่คนที่อ่อนน้อมถ่อมตน มักจะอยู่ได้ เพราะฉะนั้น การอ่อนน้อมถ่อมตนนี้ จึงเป็นคุณธรรมก่อให้เกิดความรักความนิยม ยิ่งถ้ามียศศักดิ์ก็ต้องเกิดความรักความนิยมมากขึ้น ดังนั้นมุทุธรรมข้อนี้จึงเป็นเมตตามหานิยมขนานใหญ่

                          มุทุ                         ไม่มุ                     ทะลุรั้น

                 ไม่ถือชั้น                        ถือยศ                   คอยกดขี่

                 ตั้งนะโม                         ในมโน                   เพิ่มโภคี

                 ย่อมเป็นที่                       รักนับถือ               เลื่องลือชา

              *********************************************************************

                                                                พระเทพปฏิภาณวาที

                                                                   "เจ้าคุณพิพิธ"

 


อ่าน : 0

แชร์ :


เขียนความคิดเห็น