ตอนที่ 10 : กรรมตามทัน

สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตรัสเรื่องกรรมไว้ว่า สัตว์ทั้งหลายเกิดมาก็เพราะกรรม เป็นผู้รับมรดกกรรม ดำเนินชีวิตไปตามกรรม สัตว์เหล่าใดทำกรรมใดไว้ดีหรือเลว ก็ต้องได้รับผลกรรมนั้น สุดแต่ว่าจะช้าหรือเร็ว กรรมนั้นทำด้วยเจตนาก็มี ไม่มีเจตนาก็มี ถ้าทำด้วยเจตนาเป็นกรรมเล็กน้อย ผลดีก็น้อย ผลชั่วก็น้อย ถ้ามีเจตนาในกรรมใหญ่ ผลดีก็ได้รับมาก ผลชั่วก็ได้รับมาก การยอมรับผลกรรมทำให้เกิดปัญญา บางทีกรรมให้ผลเพียงกายแต่ไม่ให้ผลต่อจิต เช่น กรรมของพระอรหันต์ ดังเรื่องที่จะเล่าต่อไปนี้

         เมื่อครั้งสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์อยู่ ครั้งนั้น มีพระอรหันต์รูปหนึ่งท่านมีนามว่า “พระจักขุบาล” (จักขุบาน) ดวงตาท่านบอดทั้งสองข้าง เพราะท่านสมาทานการบำเพ็ญวิปัสสนากัมมัฏฐานเพียง ๓ อิริยาบถ คือ ยืน เดิน นั่ง ท่านไม่ยอมนอน จนเมื่อสำเร็จพระอรหันต์ ตาทั้งสองข้างก็บอดสนิท

       วันหนึ่ง ฝนตกอย่างหนัก ก่อนฝนตกแมลงเม่าได้พากันมาที่ลานเดินจงกรม แล้วก็คลานกันยั้วเยี้ย ครั้นฝนหยุดตกแมลงเม่าเหล่านั้นก็เดินไต่ไปมาอยู่บนลานจงกรมนั่นเอง เช้ามืด พระจักขุบาลท่านเดินจงกรมเป็นปกติโดยที่ท่านไม่รู้ว่าบนลานจงกรมนั้น แมลงเม่าทั้งที่มีชีวิตและที่ตายแล้วเป็นจำนวนมากอยู่บนลานนั้น ท่านเดินเหยียบลงไปที่แมลงเม่าเหล่านั้น

         ครั้นเช้าขึ้นมา ภิกษุทั้งหลายเห็นแมลงเม่าถูกเหยียบตายเกลื่อน จึงถามหาสาเหตุ ครั้นทราบว่าพระจักขุบาลเป็นผู้เหยียบ ก็พากันโจษจันว่าเป็นความผิดในเรื่องการฆ่าสัตว์ อันที่จริงพระเหล่านั้นไม่ทราบว่าพระจักขุบาลตาบอดและสิ้นกิเลสแล้ว

สมเด็จพระประทีปแก้วตรัสแก่ภิกษุทั้งหลายว่า “กรรมย่อมไม่มีต่อผู้มิได้มีเจตนา” ภิกษุทั้งหลายมีความสงสัยว่าเหตุใดพระจักขุบาลจึงสมาทานการบำเพ็ญกัมมัฏฐานเพียง ๓ อิริยาบถ องค์พระศรีสุคตจึงตรัสว่าเพราะกรรมแต่หนหลังปรุงจิตให้ยินดีในการบำเพ็ญแบบนี้ ภิกษุทั้งหลายจึงกราบทูลขอให้ตรัสเล่าเรื่องราวในอดีตของพระจักขุบาล พระองค์จึงตรัสเล่าดังนี้ว่า....

         ในอดีตกาล พระจักขุบาลรูปนี้ได้เคยเกิดมาเป็นมนุษย์ เขามีความเชี่ยวชาญในด้านแพทย์ ประกอบอาชีพเป็นหมอรักษาดวงตา นับได้ว่าเขาเป็นหมอที่มีชื่อเสียง ผู้ใดที่หมอผู้นี้รักษาแล้ว โรคนัยน์ตาหายทุกรายไป ประชาชนจึงขนานนามของเขาว่า หมอตาทิพย์ ยาของเขาวิเศษนัก หยอดเพียงครั้งเดียวก็สามารถรักษาโรคนัยน์ตาของคนไข้ได้ 

        อยู่มาวันหนึ่ง หมอตาทิพย์ได้เดินทางไปพบหญิงชราผู้หนึ่งซึ่งเป็นโรคในดวงตา นางอยู่กับลูกสาว เมื่อเห็นว่าหญิงชราผู้นี้มีปัญหาทางดวงตา หมอตาทิพย์จึงแนะนำตัวว่า....

                                 ท่านยายฟังวาจา                   โรคนัยน์ตาของท่านนี้

                            ตัวข้ามียาดี                               หยอดเพียงทีโรคบรรเทา

                            หรือหยอดเพียงหนึ่งครั้ง            ตาดีดังแต่ก่อนเก่า

                            รางวัลข้าพเจ้า                           ได้เท่าไรยายบอกมา                     

         ยายผู้มีนัยน์ตาเกือบบอด เมื่อรู้ว่าหมอตาทิพย์สามารถรักษาให้หายได้ ด้วยความดีใจบวกกับความหวัง จึงได้พูดขึ้นว่า....

                                หมอจ๋า...ช่วยข้าด้วย               ข้าเจ็บป่วยตาสองข้าง

                            ตัวข้าร้องครวญคราง                 ตาฝ้าฟางลงทุกที

                            ถ้าท่านรักษาหาย                        ถึงชีพวายตายเป็นผี

                            เป็นทาสบาทธุลี                          รับใช้ท่านจนวันตาย            

          หมอตาทิพย์ได้ฟังดังนี้แล้วจึงหยอดตาให้ แล้วเอาผ้าปิดตาไว้ บอกว่าเพียงสองสามวันก็จะหายเป็นปกติ แต่หมอตาทิพย์ได้สั่งไว้ว่าขอให้ยายผู้นี้พักผ่อนให้มาก ๆ และถ้ายังไม่ถึงเวลาก็อย่าเปิดผ้าที่ผูกตาออก ขอให้ยายปฏิบัติตามคำสั่งหมออย่างเคร่งครัด อย่าดื่มกินอาหารเผ็ดจัด อย่าก้มลงหยิบของหนัก อย่าร้องไห้ อย่าให้ควันไฟเข้ากระทบตา และอย่ากินของแสลง เช่น หน่อไม้ ข้าวเหนียว และของเปรี้ยว อันเป็นของแสลง สั่งแล้วหมอตาทิพย์ก็จากไป

         เมื่อถึงวันกำหนด ลูกสาวของยายแก้ผ้าผูกตาออก โรคนัยน์ตาก็หายเป็นปกติ ยายผู้นี้เมื่อตาดีเป็นปกติก็นึกถึงคำที่รับปากกับหมอว่าจะต้องไปเป็นหญิงรับใช้ ก็บังเกิดความเห็นแก่ตัว และกลัวว่าต้องทำตามสัญญา จึงคิดโกหกหมอ

         หลายวันต่อมา หมอตาทิพย์ก็เดินทางมาถึงบ้านยายเฒ่า เมื่อเดินทางมาถึงแล้วจึงถามอาการของยายเฒ่าว่าเป็นอย่างไร แต่ยายเฒ่าก็ทำเล่ห์เพทุบาย ทำเป็นตาบอดตาใส แล้วโกหกหมอว่ายังไม่สามารถมองเห็นได้เลย เมื่อยายเฒ่าบอกเช่นนี้ หมอตาทิพย์ก็ตรวจดูนัยน์ตาของยายเฒ่า แล้วก็รู้ว่านัยน์ตาของแกหายเป็นปกติดีแล้ว แต่ชะรอยว่ายายเฒ่านี้ต้องโกหก หมอตาทิพย์รู้ความจริงดังนี้แล้ว จึงรำพึงในใจว่า

                                 ยายเฒ่านี้เจ้าเล่ห์                   ทำโยเยยึกยักย้าย

                            ตาเห็น บอกไม่หาย                      คงเสียดายเงินค่ายา

                            ต้องแสร้งแกล้งยายเฒ่า             ให้ตาเน่าบอดเถิดหนา

                             สมโทษโคตรมุสา                        หลอกลวงข้าหมอตาทิพย์

         เมื่อหมอตาทิพย์รำพึงในใจแล้ว จึงได้ปรุงยาชนิดหนึ่ง แล้วบอกยายเฒ่าผู้นี้ว่า...“ขอให้ยายหยอดยานี้อีกสักครั้ง เพื่อจะได้รักษาดวงตาของยายให้หายเป็นปกติ หยอดยาแล้วยายจงนอนหลับให้สบาย อีกไม่นานดวงตาของยายจักหาย”.... คำว่า “จักหาย” นั้น เป็นคำที่บ่งถึงความแค้นใจของหมอที่โกรธยายผู้โกหก

         ยายเฒ่ายอมให้หมอตาทิพย์หยอดยา แล้วหมอก็รีบเดินทางจากไป แต่เมื่อหมอเดินหายลับไปแล้ว ยาเริ่มออกฤทธิ์ ยายเฒ่าปวดแสบตาเป็นยิ่งนัก น้ำตาไหลพราก ๆ และแล้วยานั้นก็ทำลายตาของยายเฒ่าจนตาแตกบอดสนิททั้งสองข้าง ยายเฒ่าได้รับทุกขเวทนาแสนสาหัส และไม่สามารถกลับมาเห็นได้ดั่งเดิม

         สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสเล่าแล้ว จึงสรุปเรื่องราวว่า หมอตาทิพย์คนนั้นเกิดมาในชาตินี้เป็นพระจักขุบาล ด้วยกรรมที่มีเจตนาทำให้ยายผู้นั้นตาบอด จึงดลจิตให้สมาทานกัมมัฏฐาน ๓ อิริยาบถจนตาบอด แต่ด้วยบุญอันเป็นอานิสงส์ที่รักษาคนทั้งหลายให้ตาดี จึงได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์สิ้นกิเลส

                                  กรรมดีและกรรมชั่ว              ตัวของตัวนั่นแหละทำ

                            มีจิตเป็นตัวนำ                           ทั้งดึงชักทั้งผลักดัน

                             กรรมดีที่ทำไว้                           สุขและได้ไปสวรรค์

                             กรรมดีที่สร้างสรรค์                   ดุจดั่งเงาเฝ้าตามตัว

                                    ส่วนใจที่ใฝ่ต่ำ                      สั่งให้ทำแต่กรรมชั่ว 

                            ภัยพิษมิคิดกลัว                           จิตหาญกล้าบ้าทำไป

                            ผลทรามตามผจญ                       ต้องร้อนรนดุจไฟไหม้

                             มิเว้นว่าเป็นใคร                          กรรมซ้ำสาปบาปซ้ำเติม

                                      จงเว้นจากบาปกรรม          อย่าล่วงล้ำระห่ำเหิม

                            ทำบุญหนุนส่งเสริม                      เพื่อหลุดพ้นวังวนกรรม

 

                                                                      พระเทพปฏิภาณวาที

                                                                           “เจ้าคุณพิพิธ”


อ่าน : 0

แชร์ :


เขียนความคิดเห็น