ราคารวม : ฿ 0.00
สามเณรหนุ่ยยังคงปฏิบัติหน้าที่สม่ำเสมอด้วยการกวาดลานวัด เด็กชายใฝ่ดีและเด็กหญิงพอเพียงเดินมาเห็นจึงไหว้แล้วทักทาย พร้อมกับพูดคุยว่า.....
ด.ช.ใฝ่ดี : เมื่อวานเจอแม่ลูกคู่หนึ่งอยู่ที่สะพานลอย ใฝ่ดีก็เลยเอาสตางค์ให้ไป ๒๐ บาท
ด.ญ.พอเพียง : ทำไมให้เยอะจัง... แค่ ๕ บาทก็พอแล้ว
ด.ช.ใฝ่ดี : การทำบุญทำทานไม่ต้องคิดอะไรหรอก ให้เขาด้วยความเต็มใจ ก็ทำให้เราสบายใจแล้ว
ด.ญ.พอเพียง : เสียสตางค์ตั้งเยอะจะสบายใจได้อย่างไร ?
เณรหนุ่ย : ผลพลอยได้จากการทำทานก็สามารถทำให้เราอิ่มอกอิ่มใจ สบายใจทันตาเห็นเลยนะ
ด.ช.ใฝ่ดี : ถ้ายังไม่เข้าใจ ขอให้หลวงพี่เณรพาไปถามหลวงตาดีไหม ?
หลวงตา : หน้าตาอิ่มบุญกันทุกคน ทั้งเณรหนุ่ย ทั้งเด็ก เลยเชียว นี่กระมังที่เขาพูดว่า “คนมีบุญหน้าบานเหมือนดอกบัว คนทำบาปหน้าเบี้ยวเหมือนดอกเบี้ย”
หลวงตา : การทำบุญแก่ผู้ด้อยกว่าก็ดี แต่ก็ต้องพิจารณาเหมือนกันนะลูกนะ ! คือพิจารณาแบบที่พระพุทธองค์ตรัสสอนว่า... “วิเจยฺย ทานํ เขียนเป็นคำไทยว่า วิเจยยะ ทานัง”… แปลว่า “วิจัยแล้วจึงให้ทาน” คือ กำลังทรัพย์ของตน และ ความจำเป็นความเดือดร้อนของผู้อื่น
หลวงตา : ใจบุญดีนะลูก แต่ถ้าพวกขอทานขอตลอดไปเป็นปี ๆ และรู้ว่ามีคนใจดีทำบุญ พวกเขาก็จะฝังใจว่าการเป็นคนขอทานได้เงินง่าย สบายดี เขาก็จะขอทานตลอดไป การให้ขอทานต้องยึดถือการปลูกต้นไม้เป็นแบบอย่าง คือเมื่อต้นไม้งอกเงยใหม่ ๆ เรารดน้ำและปลูกลงดิน ต่อเมื่อต้นไม้แข็งแรง รากแก้วก็จะหากินได้เอง
หลวงตา : การทำทานนั้นมี ๓ ขั้นตอน ที่จะได้บุญทั้งตัวเองและผู้อื่นนั้น พระพุทธเจ้าตรัสสอนว่า....
๑. ทานมัย ตนเองทำบุญด้วยทุนทรัพย์ (ทุน-นะ-ซับ) ของตนเอง
๒. ปัตติทานมัย เมื่อมีการทำบุญอะไร บอกแก่คนอื่นเพื่อเขาจะได้มีโอกาสร่วมบุญ หรือ นำข่าวการทำบุญมาบอกหลังจากเราทำบุญแล้ว
๓. ปัตตานุโมทนามัย เมื่อมีใครมาบอกบุญ เราบริจาคเงิน สิ่งของ ร่วมบุญ หรือ มีใจอนุโมทนาในบุญที่คนอื่นทำ
หลวงตา : ทีนี้หลวงตาจะอธิบายคำว่า “วิจัยทาน” ต้องมีองค์ประกอบ ดังนี้
- เรามีวัตถุ เงินทองพอแก่การบริจาคทาน
- รู้ว่าผู้รับต้องการสิ่งใด
- ดูเวลาโอกาสเหมาะสมที่จะให้
- จิตใจปรารถนาให้เขาพ้นทุกข์
หลวงตา : ผลจากการที่เราบริจาคทาน คือ
- ผู้รับได้บรรเทาความทุกข์
- เขาเกิดความสุขและความประทับใจ
- เป็นบุญกุศลแก่ผู้ให้
- ไม่มีใครปล้น จี้ ขโมย
หลวงตา : อย่าลืมนะลูกว่าทำบุญใด ๆ แล้ว ก่อนนอนสวดมนต์ไหว้พระ ภาวนาคาถาเรียกบุญว่า “ปุญญานิ ปะกะตานิ เม = ขอบุญที่ข้าพเจ้ากระทำแล้วจงปรากฎ” คำว่า “ปรากฎ” คือ นึกถึงเหตุการณ์ทุกอย่างและของที่เราทำบุญ แล้วอุทิศกุศลต่อผีสาง เทวดา ว่า “อิทัง เม ญาตีนัง โหตุ สุขิตา โหนตุ ญาตะโย” แล้วอุทิศเป็นภาษาไทยตามที่โบราณาจารย์ท่านประพันธ์ว่า....
“ด้วยบุญกรรม ข้าพเจ้าได้ทำ ทั้งกายวาจา อีกทั้งน้ำใจ เลื่อมใสศรัทธา วันนี้จงมา อวยผลบันดาล ให้อุปัชฌาย์ อาจารย์แห่งข้า บิดามารดา ญาติกาวงศ์วาน จงเกษมสำราญ ทั่วหน้ากันไป สุริยันจันทรา องค์พระราชา ผู้ผ่านภพไกร ผู้มีพระคุณ ทุกรุ่นทุกวัย เชิญรับเอาไป แต่ล้วนส่วนบุญ อินทร์พรหมยมยักษ์ เสื้อเมืองเรืองศักดิ์ ทรงเมืองการุญ เพื่อนฝูงทั่วไป ที่ได้อุดหนุน เทพผู้ทรงคุณ จตุโลกบาล มนุษย์และสัตว์ คู่แค้นเคืองขัด จองเวรล้างผลาญ ตีด่ากันไว้ ด้วยใจเป็นพาล จงเกษมสำราญ เลิกจองเวรภัย
เชิญรับกุศล ที่ข้าแผ่ผล อุทิศส่งให้ และจงสำราญ เบิกบานกายใจ จนกว่าจะได้ ลุถึงนฤพาน (บรรลุพระนิพพาน) ด้วยบุญกรรม พร้อมคำอธิษฐาน ที่ว่ามานี้ เป็นที่ชื่นบาน
ขอจงบันดาล ฉับพลันทันใด ให้ข้าบรรลุ ธรรมจักษุ ธรรมาภิสมัย ตัดอุปาทาน ตัณหาขาดไป สันดานผ่องใส ปราศจากเลวทราม
สติปัญญา ความเพียรแก่กล้า ความคิดดีงาม ทุกชาติทุกภพ ประสบแต่ความ สุขอย่างสวยงาม ตราบเข้านฤพาน (ตราบเข้าพระนิพพาน)
มาราธิราช อย่าได้โอกาส ตามผจญผลาญ มุ่งทำสิ่งใด ขอให้การงาน สำเร็จสำราญ ตลอดปลอดภัย
เดชะพระพุทธ พระธรรมบริสุทธิ์ พระสงฆ์เป็นใหญ่ จงเป็นที่พึ่ง กำจัดเวรภัย อันตรายใดใด จงนิราศปราศเทอญ
นิพพานะปัจจะโย โหตุ
หลวงตา : ถ้าหมดความสงสัยแล้วก็กลับได้แล้ว “อย่ามัวแต่เรียนและเข้าวัดจนลืมช่วยงานบ้าน อย่าเป็นคนเก่งคนดีที่เกียจคร้านในการรับผิดชอบ” !
ด.ญ.พอเพียง : เข้าใจแล้วว่าการทำทานต้องทำด้วยจิตใจบริสุทธิ์ ไม่ต้องคิดอะไร เฮ้...รู้สึกดีขึ้นแล้วสิ
ด.ช.ใฝ่ดี : ถ้าเข้าใจแล้ว ทานที่เราให้ไปนั้นก็เกิดอานิสงส์ในภายภาคหน้า และเพื่อนมนุษย์ที่อยู่ร่วมกันก็มีความสุข
เณรหนุ่ย : ใช่แล้ว...เห็นไหมล่ะ แค่คิดดี ๆ ก็ได้บุญแล้ว เอาละ... กราบลาหลวงตาเถอะ เผื่อท่านจะไปทำธุระ
หลวงตา : เณรหนุ่ยไม่ต้องส่งแขก เพราะเณรจะต้องแหล่เรื่องศีลให้หลวงตาฟัง อยากฟังเณรแหล่ ถ้าแหล่ดีมีกัณฑ์เทศน์ถวาย พรุ่งนี้จะถวายพิซซาและน่องไก่ทอด เอ้า...แหล่ได้เลย..!
พระเทพปฏิภาณวาที
“เจ้าคุณพิพิธ”
แชร์ :
เขียนความคิดเห็น