ตอนที่ 69 : วิเวก

    วิเวก

โลกทรรศน์ ธรรมทัศน์: พระเทพปฏิภาณวาที

        ชีวิตของคนบางคนรู้สึกไม่มีความสุข เพราะบริหารชีวิตและจิตใจไม่เป็น ชีวิตของคนบางคนจึงเหมือนอดีตชีวิตของพระอรหันต์รูปหนึ่ง คือ พระยัสสะกุลบุตร ในครั้งเป็นฆราวาส คือชอบอยู่กับผู้คนมาก แล้วเกิดความเบื่อหน่ายในพฤติกรรมของคน จนเอ่ยปากบอกว่า “ที่นี่วุ่นวายหนอ  ที่นี่ขัดข้องหนอ”

         ความวุ่นวายนี้ อันที่จริงแล้วคนจะมากหรือจะน้อยก็ตาม ไม่จำเป็น มันอยู่ที่ว่าทำความวุ่นวายให้เป็นวิเวกได้หรือเปล่า คือ ความวุ่นวายในกิเลสของคนนั้นเอามาพิจารณา และเมื่อเราเกิดความเข็ดขยาดหวาดกลัวต่อกิเลสของคน การเข็ดขยาดหวาดกลัวต่อกิเลสของคนนั้นจะกลายเป็นความวิเวก ซึ่งเป็นเครื่องสอนใจเราเสมอ และคนบางคนเมื่อไม่ชอบวุ่นวาย ไปอยู่คนเดียวกลางป่ากลางเขา กลายเป็นวังเวงไปอีก กลายเป็นหงอยเหงาไปอีก อยู่คนเดียวไม่ได้ เกิดความหงอยเหงาซึมเซา 

          ถ้าเมื่อไรก็ตามอยู่คนเดียวหรือคนน้อยหน่อย ก็ทำความวังเวงให้เป็นวิเวกให้ได้ คือ ยินดีในความปลอดผู้คน ปลอดกิเลสให้ได้ การกระทำเช่นนี้จึงเป็นการบริหารชีวิตจิตใจของตนเอง  ดังนั้น คนเราจะอยู่ตรงไหนก็แล้วแต่ หากแม้ว่าที่นั้นวุ่นวาย เราทำเป็นวิเวกให้ได้ สงบจิต สงบใจ 

          อย่าเอากิเลสของเขามาพอกกิเลสเรา จงเอากิเลสของเขานั้นมาชำระกิเลสเรา

          ให้เห็นโทษเห็นภัยของกิเลส และเมื่อยามอยู่คนเดียว จงรู้สึกว่าบัดนี้เราโชคดีแล้ว โชคดีที่บางคนตายไปแล้วเราไม่ต้องรับผิดชอบ โชคดีที่เราถูกทอดทิ้งแล้ว ความโชคดีอย่างนี้อาจจะมีความสุข 

          เหมือนกับพระมหากัปปินะเถระ ท่านเป็นฆราวาส เกริ่นกรุ่นด้วยผู้คน ครั้นบวชแล้วต้องอยู่ป่าอยู่เขา ท่านอุทานว่า “สุขหนอ สุขหนอ สุขหนอ” 

          คำว่า “สุข” ของท่านนี้ ไม่ใช่ท่านติดสุข แต่ท่านทำความวุ่นวายให้เป็นวิวเก ทำความวังเวงให้เป็นวิเวก คือ.... 

               กายวิเวก - สงัดกาย สงัดกายจากบาปกรรม สงัดกายจากการเกริ่นกรุ่นด้วยผู้คน 

               จิตวิเวก - สงัดจิต คือ กำจัดนิวรณ์ให้เหลือแต่เอกัคคตารมณ์

               อุปธิวิเวก - สงัดกิเลส คือ ตัดรัก หักนิวรณ์ ถอนตัณหา ฆ่ากิเลสได้

            ตรงนี้เป็นความสุข เรียกว่า....เป็นวิเวก ๓ ประการ

 


อ่าน : 0

แชร์ :


เขียนความคิดเห็น