ราคารวม : ฿ 0.00
ดูสื่อต่าง ๆ ที่โฆษณาอาหาร เสื้อผ้า บ้าน รถยนต์ อีกทั้งการจัดงานของบุคคลที่เรียกกลุ่มของตนเองว่า “ไฮโซ” แล้ว เคยคิดบ้างไหมว่าเด็กด้อยโอกาส เด็กยากจนเขารู้สึกอย่างไร บางคนน้อยใจ บางคนท้อแท้ บางคนควบคุมใจไม่ได้ก็อยากกิน อยากมี อยากใช้ ถ้าไม่ได้ด้วยความสามารถก็ต้องจี้ปล้นผู้อื่น ใครกันเป็นคนผิด ใครกันเป็นผู้กระตุ้นให้ผู้น้อยต้องเป็นอย่างนั้น
สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตรัสเรื่องทูตชาดกเป็นเครื่องสอนใจว่า... ในอดีตกาล สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสวยราชสมบัติในกรุงพาราณสี อันรุ่งเรืองและอุดมสมบูรณ์ ทรงพระนามว่า “สุทธิกราช” (สุดทิกะราด) พระราชามีความประสงค์ให้ประชาชนเห็นความสุขของพระองค์ด้วยทรงคิดจะแสดงธรรมว่าเมื่อต้องการความสุขและสมบัติก็ควรทำบุญทำทาน
พระเจ้าสุทธิกราชรับสั่งให้สร้างพลับพลามณฑปที่พระลานหลวง ครั้นถึงเวลาเสวยพระกระยาหาร ทรงแต่งพระองค์อย่างอลังการ มีข้าราชบริพารห้อมล้อม รับสั่งให้ประชาชนดูการเสวยของพระองค์ พระกายาหารแต่ละมื้อนั้นประมาณราคา ๔ แสน ภาชนะก็ล้วนแต่เป็นทองคำอันสูงค่ายิ่ง
วันหนึ่ง ขณะที่พระราชาเตรียมเสวยอยู่นั้น มีชายยากจนผู้หนึ่งเฝ้ายืนดูอาหารด้วยความกระหาย เมื่อเขาไม่สามารถควบคุมความหิวและความอยากในใจของเขาได้ เขาจึงคิดหาอุบายที่จะได้กินอาหารมื้อนั้น คิดแผนการณ์ได้แล้วเขาก็ถกผ้านุ่งเหน็บหลังอย่างมั่นคงแล้วก็วิ่งแหวกประชาชนเข้าไปยังพลับพลาที่ประทับของพระราชา พร้อมทั้งตะโกนเป็นระยะ ๆ ว่า... ข้าพเจ้าเป็นทูต... ข้าพเจ้าเป็นทูต พวกท่านจงหลีกทางให้แก่ทูตด้วย...
เป็นธรรมเนียมว่าหากมีผู้ใดกล่าวว่าตนเองเป็นทูต ประชาชนหรือข้าราชการก็มิอาจจะห้ามปรามได้ด้วยไม่รู้ว่าทูตนั้นมาจากประเทศไหน มาด้วยเครื่องแต่งกายอย่างไร ทุกคนจึงหลีกทางให้ ครั้นเขาวิ่งไปถึงโต๊ะเสวยก็หยิบอาหารใส่ปากอย่างกระหาย ขณะนั้นบรรดาอำมาตย์ที่แวดล้อมพระราชาชักดาบออกมาเพื่อจะฟันชายผู้นี้
พระราชาตรัสห้ามว่า...ช้าก่อน ๆ ปล่อยให้รับประทานให้อิ่มก่อน... แล้วตรัสแก่เขาว่า... เชิญท่านทูตรับประทานให้เต็มที่เถิด... ขณะที่ชายผู้นี้รับประทาน พระราชาก็ประทับดูเขา ครั้นเขารับประทานเสร็จแล้ว พระราจึงตรัสถามเขาว่า...
ตัวท่านนั้นกล่าวว่า เป็นทูตมาจากแดนไกล
องค์ราชาประเทศไหน ส่งท่านให้มาหาเรา
จงบอกชื่อราชา ชื่อเมืองมาเถิดนะเจ้า
บอกข้ามาเร็วเข้า ก็ไหนเล่ากล่องสาส์นตรา
เมื่อได้ฟังพระดำรัสถามดังนี้ ชายผู้นี้จึงกราบทูลว่า...“ข้าพระองค์นี้เป็นทูตของตัณหาคือความอยาก ความอยากเป็นพระราชามีอำนาจเหนือข้าพระพุทธเจ้า พระราชาคือตัณหาบังคับให้ทำงาน และบังคับให้ต้องทำอย่างที่ทำอยู่นี้”...
ครั้นพระเจ้าสุทธิกราชได้สดับคำของเขาแล้ว ทรงรำพึงว่า... “ถ้อยคำของชายผู้นี้เป็นความจริง สัตว์ทั้งหลายในโลกนี้ล้วนเป็นทูตของท้องที่มีความอยากความหิวอยู่เป็นนิจ ถูกตัณหาบังคับให้กระทำทั้งสิ้น อนึ่ง ตัณหาย่อมใช้สอยสัตว์ทั้งหลายมิได้เลือกหน้าว่าผู้หนึ่งผู้ใดเลย โอ... ถ้อยคำที่ชายผู้นี้กล่าวว่าเขาเป็นทูตแห่งตัณหา เป็นถ้อยคำที่ไพเราะยิ่งนัก เราชอบใจคำพูดของเขาเหลือเกิน”...
คราวนั้น พระราชาตรัสแก่ชายผู้นี้ว่า... “เราชอบใจคำพูดของท่านยิ่งนัก ตัวท่านเองเป็นทูตแห่งตัณหาคือความอยากความหิว เราเองก็เป็นทูตแห่งตัณหาความอยากความหิวเช่นเดียวกับท่าน ดังนั้น เราทั้งสองจึงมีสถานภาพเป็นทูตเหมือนกัน”...
พระราชาตรัสดังนี้แล้ว ก็พระราชทานโคจำนวนมากให้แก่เขาเพื่อเป็นเครื่องเลี้ยงชีพ และนับแต่วันนั้นเป็นต้นมา พระเจ้าสุทธิกราชก็มิได้เสวยพระกระยาหารที่มีราคาแพงอีกเลย กับทั้งมิได้แสดงความร่ำรวยฟุ่มเฟือยให้ประชาชนเห็นอีกเลย ด้วยเพราะทรงทราบว่าคนจนและเด็กที่ยากจนนั้นจะถูกกระตุ้นตัณหาอันเกิดจากพฤติกรรมของผู้ปกครองเป็นเหตุ
ผู้น้อยที่ชั่วโฉด อย่าเพิ่งโทษผู้น้อยเลว
ผู้ใหญ่ที่แหลกเหลว ทำเลวเลวให้เด็กเห็น
ผู้ใหญ่ทำวายวุ่น ก็กระตุ้นให้เด็กเป็น
ผู้ใหญ่ให้งดเว้น การทำชั่วเป็นตัวอย่าง
แชร์ :
เขียนความคิดเห็น