Episode 172 : อย่ารังแกผู้ด้อยกว่า (ลฑุกิกชาดก)

สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตรัสสอนการอยู่ร่วมกันของสัตว์โลกว่า ต้องมีเมตตาต่อกันและกัน ต้องไม่เบียดเบียนซึ่งกันและกัน ไม่ผูกเวรซึ่งกันและกัน คราเมื่อผู้ใดประสบทุกข์ ก็ขอให้ผ่านพ้นทุกข์แล้วประสบสุขได้ การเบียดเบียนผู้อื่นเป็นการหาภัยมาใส่ตัว นอกจากนี้แล้ว ยังทรงสอนให้รู้จักการผูกมิตร ดังเรื่องราวในลฑุกิกชาดก (ละ-ดุ-กิ-กะ-ชา-ดก) ที่พระพุทธองค์ตรัสเล่าไว้ว่า....

  ในอดีตอันแสนยาวไกล สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถือกำเนิดเป็นพญาช้างเผือก มีบริวารเป็นจำนวนมาก อายุของช้างไม่น้อยกว่า ๖๐ ปี พญาช้างเชือกนี้มีจิตใจประกอบไปด้วยเมตตาธรรม มีความเสียสละ 

  วันหนึ่ง พญาช้างพาโขลงช้างจำนวนมากเดินทางไปในกลางป่า นางนกชนิดหนึ่งเรียกชื่อว่า นางนกไส้ เธอกกไข่ในรังข้างทางที่ช้างกำลังจะเดินผ่าน เมื่อเห็นโขลงช้างเดินผ่านมา ด้วยความที่นางนกไส้เกรงว่าช้างเชือกใดเชือกหนึ่งจะทำอันตรายแก่ลูกน้อยซึ่งอยู่ในรังของนาง นางจึงบินไปยืนตรงหน้าพญาช้าง แล้วยกปีกของนางทั้งสองเข้าประกบกันดั่งคนประสานมือไหว้ แล้วนางก็พูดขึ้นว่า....

                      ข้าแต่ท่าน           หัวหน้า                   พญาช้าง

                 มิโรยร้าง                 อายุ                        ลุหกสิบ

                 เป็นหัวหน้า              โขลงช้าง                 ทางยาวลิบ

                 ผู้เหนี่ยวหยิบ           สิ่งทั้งปวง                ด้วยงวงงา

                 ขออย่าสร้าง            ความวิบัติ                สัตว์ผู้ด้อย

                 จงป้องกัน               ลูกน้อย                    ข้อยเถิดหนา

                 ขอท่านผู้                 เป็นใหญ่                   ในพนา

                 จงเมตตา                กำบัง                      รังข้าด้วย

 พญาช้างได้ฟังแล้วมีเมตตาจิต จึงยืนกำบังรังของนางนกไส้ จนกระทั่งช้างทั้งหมดเดินผ่านไป ก่อนจะจากไปพญาช้างได้กล่าวเตือนว่า...“นี่แน่ะเธอ มีช้างตัวหนึ่งซึ่งเข้าฝูงมิได้ มีนิสัยเกเร ถ้าอย่างไรเสียขอให้เธอขอร้องและระวังช้างตัวนั้นเถิด”.... กล่าวดังนี้แล้วก็จากไป....

  เพียงไม่กี่วัน ช้างตัวที่กล่าวถึงก็เดินทางมาถึง นางนกไส้จึงยกปีกทั้งสองประคองไหว้แล้วกล่าวอ้อนวอนด้วยความนอบน้อมว่า....

                      ข้าแต่ท่าน           ผู้หาญกล้า               พญาช้าง

                 ผู้มีร่าง                   กายใหญ่                 ครองไพรสณฑ์

                 ข้าขอการ                คุ้มครอง                 ลูกของตน

                 เพื่อให้พ้น               การถูกฆ่า                โอ้...สาธุ...ช้างพลายผู้มีนิสัยพาลตัวนี้ เมื่อได้ฟังคำอ้อนวอนของนางนกไส้ จึงกล่าวด้วยเสียงอันเย้ยหยันว่า...

                      เฮ้ย...อีนาง          นกน้อย                  ถ่อยสถุล

                 อย่ามาวุ่น                วิงวอน                   ให้อ่อนจิต

                 ข้าจะทำ-                 ลายลาญ                 ผลาญชีวิต

                 ลูกตัวนิด                ของเจ้า                   ด้วยเท้านี้

  เมื่อกล่าวดังนี้แล้ว ช้างอันธพาลก็ยกเท้ากระทืบรังของนางนกไส้ แล้วขยี้จนร่างลูกน้อยแหลกละเอียดคาเท้า นางนกไส้หัวใจแทบสลายที่เห็นช้างกระทำต่อลูกของตน และด้วยความแค้น จึงบินขึ้นไปจับกิ่งไม้แล้วร้องประกาศต่อหน้าช้างตัวนั้นว่า...

              ท่านเป็นช้าง         พลังกล้า                 มหาศาล

         มาสังหาร                ผู้น้อย                   ให้ย่อยยับ

         ท่านควรรู้                กรรมอัน                 ท่านต้องรับ

         สาสมกับ                 ฆ่าลูกฉัน                ให้บรรลัย

         อย่าคิดว่า                ร่างโต                    มโหฬาร์

         จะเก่งกล้า               ปราศคู่                  ศัตรูได้

         ฉันประกาศ              ขอล้มล้าง                เจ้าช้างไพร

         ด้วยกลไก               แห่งปัญญา              ไม่ช้านี้

 นางนกไส้มีความเศร้าโศกเสียใจเป็นอย่างยิ่งที่สูญเสียลูกน้อยอันเป็นที่รักของนาง กอปรกับนางพยาบาทช้างที่มีนิสัยอันธพาลตัวนี้ นางจึงวางแผนฆ่าช้างตัวนี้ โดยในชั้นต้น นางนกไส้ได้ไปผูกมิตรทำความรู้จักกับกา โดยนางนกไส้ได้บอกแหล่งอาหารให้แก่กา เมื่อกาได้อาหารหลายครั้ง ก็เกิดความรักความผูกพันนางนกไส้ แล้วก็พูดว่า... “ถ้าเธอมีอะไรให้ฉันช่วยเหลือ ก็จงบอกมา ฉันยินดีช่วยเหลือกัลยาณมิตรของฉัน”

  เมื่อนางนกไส้ได้กาเป็นเพื่อนพร้อมทั้งรับอาสาทำงานแล้ว นางก็ไปผูกมิตรกับแมลงวัน ด้วยการจิกซากสัตว์ที่เน่าแล้วคาบมาฝากแมลงวัน แมลงวันทั้งหลายไม่ต้องไปหาอาหาร เมื่อสำนึกถึงบุญคุณจึงได้บอกนางนกไส้ว่า... “ถ้ามีอะไรจะให้พวกข้าพเจ้าช่วยเหลือ ขออย่าได้เกรงใจ พวกข้าพเจ้ายินดีช่วยเหลือตลอดเวลา”

  เมื่อนางนกไส้ได้กาและแมลงวันเป็นมิตรแล้ว ต่อจากนั้นนางก็ไปผูกมิตรกับกบ วิธีการที่นางผูกมิตรกับกบก็คือการจิกแมลงชนิดต่าง ๆ แล้วนำไปให้กบกินเป็นอาหาร ธรรมดากบย่อมปรารถนาที่จะกินแมลงหลากหลายชนิด แต่บางชนิดก็มิได้มีโอกาสได้กิน ครั้นนางนกไส้จิกแมลงแล้วคาบมาให้กิน กบก็ดีใจดุจดั่งกบได้ลิ้มรสอาหารจากแดนไกล กบจึงบอกนางนกไส้ว่า... “ในกาลข้างหน้าถ้าต้องการความช่วยเหลือจากข้าพเจ้า ขอท่านผู้มีใจโอบอ้อมอารีไมตรีจิต จงอย่าได้เกรงใจ ข้าพเจ้ายินดีช่วยเหลือทุกเมื่อ”

   เมื่อแผนการของนางนกไส้เป็นอย่างที่คิด วันหนึ่งนางก็เข้าไปหากา เล่าเรื่องราวของช้างเกเรให้ฟัง พร้อมทั้งขอให้กาไปจิกตาช้างทั้งสองข้างให้บอด กาได้ฟังแล้วเห็นใจนางนกไส้ จึงบินไปจับที่ศีรษะช้าง แล้วใช้ปากอันแหลมคมจิกนัยน์ตาช้างทันที ครั้นเมื่อจิกนัยน์ตาข้างขวาบอดแล้ว กาก็หาโอกาสจิกนัยน์ตาข้างซ้ายของช้างจนตาช้างทั้งสองข้างแตก แล้วบอดสนิท บัดนี้แผนการฆ่าช้างของนางนกไส้สำเร็จลงตามขั้นตอนที่หนึ่งแล้ว นางนกไส้เฝ้าดูกาจิกตาช้างให้บอดทั้งสองข้างด้วยความพึงพอใจ เจ้าช้างพลายผู้มีนิสัยอันธพาลกลายเป็นช้างพิการตาบอดทั้งสองข้าง ได้รับความเจ็บปวดทุกข์ทรมานยิ่งนัก 

ครั้นเวลาผ่านไป ๒-๓ วัน นางนกไส้จึงเข้าไปหาพวกแมลงวัน เล่าความเป็นมาของช้างเกเรตัวนี้ให้แมลงวันผู้ที่ตนผูกมิตรไว้ แล้วจึงขอร้องให้แมลงวันบินไปตอมตาช้างที่กำลังเป็นหนอง แล้วให้ไปไข่ขังไว้ในนัยน์ตาช้าง เพียงไม่นานวันไข่ของแมลงวันก็กลายเป็นตัวหนอนไชตาช้างจนทะลุถึงภายใน ช้างเกเรตัวนี้ไม่สามารถไปไหนได้ นอนซมด้วยความเจ็บปวด ทั้งนี้นางนกไส้ได้เฝ้าดูอาการตลอดเวลา

เมื่อนางนกไส้เห็นว่าช้างตาพิการ ไม่สามารถไปหาอาหารกินที่ไหนได้ นางคำนวณในใจว่าช้างคงกระหายน้ำเป็นแน่แล้ว นางจึงไปหากบเล่าความจริงให้กบฟัง แล้วขอให้กบส่งเสียงร้องใกล้ช้าง แล้วค่อย ๆ กระโดดขึ้นไปบนยอดเขา เจ้าช้างเกเรอดอาหารหลายวันมีความอยากน้ำ ครั้นได้ยินเสียงกบร้องก็เข้าใจว่ามีสระน้ำอยู่ไม่ไกลจากตัวจึงเดินตามเสียงกบไป ขณะที่ช้างเดินตาม กบก็ค่อยกระโดดขึ้นภูเขาทีละน้อย ๆ จนถึงลานบนยอดเขา และแล้วเจ้ากบก็กระโดดลงไปสู่ก้อนหินอันเป็นชั้นลดของภูเขาซึ่งจะลงไปสู่หุบเหวพร้อมทั้งส่งเสียงร้องล่อช้างตามลำดับ

               อ๊บ...อ๊บ...กบอยู่นี่                   ข้างหน้ามีสระน้ำใส

         บึงบัวบัวบังใบ                             เชิญเจ้าไพรผู้เสียตา

         ท่านจงลงดื่มกิน                           สระวารินถิ่นหรรษา

         ชื่นใจในธารา                               ข้าสงสารท่านเหลือเกิน

         ค่อยก้าวเท้าเยื้องย่าง                      ระยะทางภูเขาเขิน

         ข้าร้องท่านจ้องเดิน                        ตามเสียงมาอย่าช้าที

         อีกก้าวเดียวแหละท่าน                     จะพลันถึงซึ่งสระศรี

         ตัวข้าปรารถนาดี                           จึงชี้ทางแก่ช้างไพร

สิ้นเสียงของกบร้อง ช้างพาลตัวนี้ก้าวเท้าอีกเพียงหนึ่งก้าวก็พลาดจากยอดเขาที่ตนเองเดินขึ้นมา แต่พอถึงตอนนี้ก็สายเกินกว่าที่จะหันกลับหลัง เพราะเมื่อเท้าหน้าก้าวพลาดลงจากปากเหว น้ำหนักทั้งหมดก็ทุ่มมาสู่เท้าหน้าเสียแล้ว ร่างของช้างพลายผู้มีใจโหดเหี้ยมชอบรังแกสัตว์ผู้ด้อย ดิ่งจากยอดเขา กระทบกับโขดหินผาตามระดับลดหลั่นลงมา ได้รับความเจ็บปวด เมื่อทนต่อความเจ็บปวดไม่ได้ก็ขาดใจตาย

นางนกไส้เมื่อเห็นช้างประสบชะตากรรม ตกลงเหวขาดใจตายตามแผนการของตน นางดีใจที่ฆ่าช้างผู้ฆ่าลูกของนางลงได้ นางดีใจท่ามกลางกับพวกมิตรของนาง คือ กา แมลงวัน กบ

สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสเรื่องนี้ เพื่อเป็นเครื่องเตือนใจ สอนใจได้ว่า....

              นางนกไส้           ใช้ปัญญา                มาฆ่าช้าง

         ตัวที่กร่าง                เก่งกล้า                   จนอาสัญ

         อาศัย กบ                กาดำ                    ซ้ำ...แมลงวัน

         รวมตัวกัน               วางแผนการ              ผลาญคชา

              คนเรานี้             เกิดมา                   อย่าร้ายล้ำ

         ให้ผู้น้อย                ชอกช้ำ                   กันเลยหนา

         อย่าดูถูก                 ผู้น้อย                   ด้อยปัญญา

         นกไส้ฆ่า                 ช้างได้                   เตือนใจเอย

 

                                  พระเทพปฏิภาณวาที

                                     “เจ้าคุณพิพิธ”

 


View : 0

Share :


Write comment