Episode 104 : ล้างบาง - ล้างบาป

ทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล หรือ ระดับอธิบดี ปลัดกระทรวง คำพูดที่เราได้ยินจากสื่อก็คือ...ย้ายล้างบาง เด้ง ดัน ดึง สวม... คำเหล่านี้ได้ยินจนชิน แล้วก็เลยลืมนึกถึงอะไร ๆ อีกหลายอย่างที่เป็นผลดีผลร้าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งคำว่า... “ล้าง”...

      ล้าง เป็นคำกิริยาที่ทำให้สิ่งสกปรกหมดไปและเพื่อทำความสะอาด ตกแต่งสิ่งดี ๆ ให้เกิดขึ้นใหม่ แต่คำนี้ก็มีการใช้ที่มีความหมายไม่ตรงกับหน้าที่ “ล้าง” ทุกครั้งไป เช่น

      ล้างตา คือ เมื่อมีผงเข้าตาหรือตาฝ้าฟาง ก็ต้องเอาน้ำหรือยามาล้างให้ผงหลุด เพื่อจะได้ไม่ระคายเคืองตา แต่ก็มาใช้กับวงการกีฬา เช่น นักมวยคนนี้มีนัดล้างตากับคู่ชกเดิมซึ่งเคยชนะไปแล้ว นั่นแสดงว่าทุกครั้งที่ผู้แพ้เห็นตัวเห็นรูปของผู้ที่เคยชนะตนแล้วเกิดอาการเหมือนผงเข้าตา ต้องกลับไปชนะให้ได้ จึงมีการชก “นัดล้างตา”

      ล้างใจ คือ มีความขัดข้องใจ คับแค้นใจ จะต้องทำความเข้าใจซึ่งกันและกัน เลยต้องมีการนัดแนะกันเพื่อล้างตะกอนที่นอนใจ เช่น เพื่อนกันจีบหญิงคนเดียวกัน เกิดความระแวงสงสัยว่าหญิงคนนี้จะชอบใครกันแน่ เพื่อนกันก็นัดกันเอง และนัดหญิงคนนั้นเพื่อสอบถามความจริง เรียกว่า “ล้างใจกัน”

      ล้างครัว คือ เมื่อเห็นครัวเรือนสกปรกก็จัดแจงกวาดล้างขัด กำจัดสิ่งปฏิกูลในครัว สิ่งใดที่ควรเก็บก็เก็บ สิ่งใดที่ควรทิ้งก็ทิ้ง แต่ก็นำมาใช้กับการที่เมื่อคนมีความแค้นต่อกันแล้วฆ่าคนในเรือนนั้นทั้งหมด อย่างนี้เรียกว่า “ฆ่าล้างครัว”

      ล้างคลอง คือ เมื่อแม่น้ำลำคลองเกิดสวะ ผักตบชวาเต็มลำคลอง ก็นัดคนที่อยู่ริมคลองช่วยกันทำความสะอาด ด้วยการเก็บและรักษาให้แม่น้ำลำคลองสะอาด มีน้ำสะอาด สภาพสะอาด แต่ก็มีบางคนอยากได้ปลาในคลอง แทนที่จะตกปลา ทอดแห ลากอวน ก็เลยใช้สารพิษ ยาพิษ ผสมเหยื่อเทลงในคลอง เมื่อปลากินเหยื่อหรือสารพิษที่แพร่ลงในน้ำ ปลาทั้งคลองก็ตาย เรียกว่า “ตายล้างคลอง”

      ล้างแค้น คือ เมื่อมีฝ่ายหนึ่งทำร้าย ทำลาย จนถึงกีดกันทางการอาชีพ หรือ ฆ่ากัน เหยียดหยามกัน อีกฝ่ายหนึ่งไม่สามารถให้อภัยได้ต้องทำตอบแทนด้วยวิธีการเดียวกันหรือรุนแรงกว่าจนถึงฆ่า ฝ่ายหลังเรียกว่า “ผู้ล้างแค้น” ฝ่ายที่กระทำก่อนเรียกว่า “ถูกล้างแค้น” ซึ่งความเป็นจริงแล้วก็คือ “เติมแค้น”

      ล้างไคล คือ การขัดสิ่งปฏิกูลออกจากร่างกายคนซึ่งเรียกว่า “ขี้ไคล” หรือการขจัดสิ่งปฏิกูล เช่น เช็ดเชื้อราออกจากวัตถุหรือสิ่งก่อสร้าง เช่น โบสถ์ เสมา สถูป เรียกว่า ล้างไคล ก็ทำให้ดูเอี่ยมอ่องผ่องตา

      ล้างบาป คือ การที่คนทำบาปมาก ๆ ต่อคน สัตว์ หรือ องค์กร ครั้นสำนึกได้แล้วก็ทำความดีเพิ่มขึ้นทั้งโดยตรงและโดยอ้อม เรียกว่า “ทำดีล้างบาป”

      ล้างกรรม คือ ได้เคยสร้างกรรมแล้วมีความคิดชดใช้กรรมนั้น ยอมรับกรรมด้วยการติดคุก หรือ ถูกประหารชีวิต ในที่ยอมรับนั้นเกิดความคิดที่ว่า...ล้างกรรมกันเสียที...

       บางกรณีก็อาจจะเป็นเรื่องของคนที่เคยติดคุกติดตะราง ครั้นพ้นโทษออกมาแล้วก็คิดกลับตัวคิดหามงคลใส่ตัว จึงเข้าบวชเป็นพระเป็นเณรเรียกว่า “บวชล้างกรรม”

      ล้างทุจริต คือการที่มีคนทำทุจริตกันมาก แล้วก็เกิดมีคนสุจริตเห็นว่าจะเป็นความหายนะแก่บุคคลและองค์กร ก็ตั้งกระบวนการจับทุจริต นำคนทำผิดมาลงโทษ เมื่อกระทำได้สำเร็จแล้วชื่อว่า “ล้างทุจริต”

      ล้างกรม ล้างบาง ล้างกระทรวง คือ การที่ในองค์กรนั้น ๆ เปลี่ยนแปลงผู้บังคับบัญชาเพื่อต้องการกำจัดคนเก่าออกไป ต้องการนำคนใหม่ของตนเข้ามา จึงต้องมีการโยกและย้ายอย่างขนานใหญ่ อย่างนี้เรียกว่า “ล้างกรม ล้างบาง ล้างกระทรวง”

      ล้างผลาญ คือ การใช้ทรัพย์สินของตน ของคนอื่น และของชาติ อย่างสิ้นเปลืองโดยไม่มีผลประโยชน์กลับมาทดแทนทรัพย์สินที่ใช้ไปแล้วนั้น อย่างนี้ก็ได้ชื่อว่า “ล้างผลาญ” เช่น รัฐบาลคณะนั้นผลาญงบประมาณของชาติ เป็นต้น

      ล้างชาติ คือ คนที่ไม่รักชาติเป็นเส้นสายให้คนต่างชาติเข้าทำลายยึดดินแดนถิ่นปิตุชาติมาตุภูมิของตนเอง เมื่อชาติถูกยึดครองโดยคนชาติอื่น ทรัพย์สินของชาติถูกกอบโกยจนหมดสิ้นอย่างนี้เรียกว่า “ล้างชาติ”

      ล้างมีสารพัดที่จะกล่าวถึง แต่สำหรับการล้างบางนั้นเป็นเรื่องที่จะต้องคำนึงนึกถึงให้จงหนักว่า...ทำเพื่อใคร และ ทำเพื่ออะไร...และต้องเข้าใจเสมอว่าผู้ที่จะล้างนั้นจะต้องสะอาดกว่าผู้ที่ถูกล้าง ถ้าผู้ที่ถูกล้างสะอาด แต่ ผู้ล้างเลวกว่าสกปรกกว่า คนเขาดูเขาก็จะสงสารคนที่ถูกล้างคือถูกเด้ง ย้าย ปลด แล้วคนดูเขาก็จะสมเพชการกระทำของผู้ที่ล้างบาง นอกจากสมเพชแล้วก็จะพากันสาปแช่งสาปส่ง คนเราถ้าถูกคนดีมีศีลธรรมเขาสาปแช่งสาปส่งโดยที่ตนเองไม่รู้ตัว ความวิบัติที่เกิดขึ้นก็จะเกิดโดยไม่รู้ตัวทั้งแก่ตัวเอง ครอบครัว พรรค พวก

      ข้าราชการประจำ และ ข้าราชการการเมือง ต้องตระหนักในความสุจริตในการปฏิบัติหน้าที่ให้มั่นคง อย่าได้เบียดเบียนซึ่งกันและกัน ข้าราชการประจำก็ควรคิดว่า “เราเป็นคนของพระราชา” จะต้องไม่เห็นข้าราชการการเมืองเป็นผู้บังคับบัญชา จนต้องพินอบพิเทาคุกเข่ากราบตีนนักการเมืองเมื่อขอยืนอยู่ในตำแหน่ง หรือ ขอย้ายเลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่ง มันเป็นสิ่งน่าสะอิดสะเอียน

      ข้าราชการการเมือง จะต้องไม่เบียดเบียนข้าราชการประจำที่ดี ต้องรู้ว่า “ตนมาจากประชาชน” แล้วจึงมา “เป็นคนของพระราชา” การมาของพวกคุณเป็นอย่างไรควรรู้ตัว จะต้องให้เกียรติข้าราชการประจำ แต่ถ้าข้าราชการประจำมีพฤติกรรมดังกล่าวแล้วก็ควรที่จะล้างบางได้ การย้าย การโยก การยืน ในความเป็นข้าราชการนั้น ขอให้ท่านผู้เป็นข้าราชการการเมือง และ ข้าราชการประจำ พึงสังวรระวัง “คนมหาภัย” ในองค์กรนั้น ๆ ไอ้พวกคนมหาภัยนี้มันมีคำพูดติดปากมันอยู่ ๕ คำ คือ

 

                          ได้ครับพี่                    ดีครับผม

                 เหมาะสมครับนาย                ฉิบหายผมไป

                 ได้ดีผมกลับ                        หมดทรัพย์ผมทิ้ง

 

 

                                                   พระเทพปฏิภาณวาที

                                                       (เจ้าคุณพิพิธ)

 

 


View : 0

Share :


Write comment