ราคารวม : ฿ 0.00
เดือนกรกฎาคม เดิมเดือนนี้ใช้ชื่อว่า ควินตีลิส (Quintilis) ในภาษาละติน ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น "July" ตามชื่อของจูเลียส ซีซาร์ (Julius Caesar) เพราะเป็นเดือนที่พระองค์เกิด และอ่านออกเสียงว่าจูลีจนถึงคริสต์ศตวรรษที่ 18 จูเลียส ซีซาร์ มีส่วนสำคัญอย่างมากในการปรับปรุงปฏิทินโรมันซึ่งมีอิทธิพลต่อปฏิทินเกรกอเรียนที่เราใช้งานในปัจจุบัน ประเทศไทยเริ่มใช้ชื่อเดือนกรกฎาคมในปี พ.ศ. 2432 ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 5
วันสำคัญ เดือนกรกฎาคม
1 กรกฎาคม : วันสถาปนาลูกเสือแห่งชาติ
1 กรกฎาคม : วันหยุดครึ่งปีธนาคาร
4 กรกฎาคม : วันประสูติ สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี
4 กรกฎาคม : วันชาติอเมริกา
6 กรกฎาคม : วันจูบสากล
7 กรกฎาคม : วันพูดความจริง
11 กรกฎาคม : วันประชากรโลก
11 กรกฎาคม : วันคล้ายวันสวรรคต สมเด็จพระนารายณ์มหารา
13 กรกฎาคม : วันประสูติ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ
24 กรกฎาคม : วันอาสาฬหบูชา (วันหยุดราชการ)
25 กรกฎาคม : วันเข้าพรรษา (วันหยุดราชการ)
: วันจันทร์ 26 กรกฎาคม หยุดชดเชยวันอาสาฬหบูชา (วันเสาร์ที่ 24 กรกฎาคม 2564)
28 กรกฎาคม : วันพระบรมราชสมภพ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว (วันหยุดราชการ)
29 กรกฎาคม : วันภาษาไทยแห่งชาติ เพื่อกระตุ้นและปลุกจิตสำนึกให้คนไทยทั้งชาติ ได้ตระหนักถึงคุณค่าและความสำคัญของภาษาไทย
พลโท ลอร์ด เบเดน เพาเวลล์ (Lord Baden Powell) หรือ B-P บิดาแห่งลูกเสือโลก
ลูกเสือ ได้อุบัติขึ้นเป็นแห่งแรกของโลก โดย ลอร์ดเบเดน โพเอลล์ (อังกฤษ: Lord Baden Powell) เรียกย่อว่า "บี พี" ที่ประเทศอังกฤษ เมื่อปี พ.ศ. 2450 (ค.ศ. 1907) สืบเนื่องจากการรบกับพวกบัวร์ (Boar) ในการรักษาเมืองมาฟิคิง (Mafeking) ที่แอฟริกาใต้ในปี พ.ศ. 2442 ซึ่งบี พี ได้ตั้งกองทหารเด็กให้ช่วยสอดแนมการรบ จนรบชนะข้าศึกเมื่อกลับไปประเทศอังกฤษ ในปี พ.ศ. 2450 จึงได้ทดลองนำเด็กชาย 20 คน ไปอยู่ค่ายพักแรมที่เกาะบราวน์ซี (อังกฤษ: Brownsea Islands) ซึ่งได้ผลดีตามที่คาดหมายไว้ ปี พ.ศ. 2451 บี พี จึงได้ตั้งกองลูกเสือขึ้นเป็นครั้งแรกของโลก ที่ประเทศอังกฤษ
พ.ศ. 2455 รัฐบาลอังกฤษได้ประกาศรับรองฐานะของลูกเสืออังกฤษเป็นทางการพร้อมกับออก กฎหมายคุ้มครองให้ด้วย จากนั้นการลูกเสืออังกฤษก็เจริญแพร่หลายออกไปเป็นลำดับ
คติพจน์ที่ท่านลอร์ดบาเดนเพาเวลล์ได้ให้ไว้แก่ลูกเสือก็คือ BE PREPARED (จงเตรียมพร้อม)
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งกองเสือป่าขึ้น เพื่อให้ข้าราชการพลเรือนได้เข้ารับการอบรม โดยมีจุดประสงค์ที่จะมุ่งอบรมจิตใจให้คนไทยรู้จักรักชาติมีมนุษยธรรม มีความเสียสละ สามัคคี และมีความกตัญญู เมื่อกิจการของเสือป่าเจริญก้าวหน้ามั่นคงดีแล้วพระองค์จึงทรงพระราชดำริว่า ควรจะได้มีการอบรมของเสือป่าด้วย ดังนั้นในวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2454 จึงมีพระบรมราชโองการจัดตั้งลูกเสือขึ้นในประเทศไทยนับเป็นประเทศที่ 3 ของโลกรองจากสหรัฐอเมริกา
กิจการลูกเสือไทยก่อตั้งเมื่อ พ.ศ.2454 มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงพระราชบัญญัติลูกเสือมาหลายฉบับ ถึงฉบับสุดท้ายเมื่อ พ.ศ.2551 มีหน่วยงานที่รับผิดชอบหลักคือ สำนักงานลูกเสือแห่งชาติ และสำนักการลูกเสือ ยุวกาชาดและกิจการนักเรียน เมื่อ พ.ศ.2564 วันลูกเสือไทย ก้าวครบรอบสู่ 110 ปี
The 4th of July (Independence Day) หรือ วันชาติสหรัฐอเมริกา หรือ วันฉลองอิสรภาพ สหรัฐอเมริกา เริ่มต้นในฤดูร้อนของปี ค.ศ.1776 (พ.ศ. 2319) ซึ่งเป็นวันที่ โธมัส เจฟเฟอร์สัน ได้ประกาศ "คำประกาศอิสระภาพ" ซึ่งมีใจความสำคัญถึงความมีสิทธิในชีวิตเสรีภาพ และการแสวงหาความสุขของชีวิตของมนุษย์ทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน
ประวัติของประเทศสหรัฐอเมริกานั้น เดิมดินแดนแถบนี้ได้มีชาวอเมริกันพื้นเมือง หรือ "อินเดียนแดง" (Indian) ซึ่งอพยพมาจากทวีปเอเชียเมื่อกว่า 25,000 ปีมาแล้วปกครองอยู่ก่อน จากนั้น คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส (Christopher Columbus) นักสำรวจชาวอิตาเลียนได้เดินเรือมาถึงเกาะบาฮามาส์ (Bahamas) ทางตะวันออกของฟลอริดา ประเทศสหรัฐอเมริกาปัจจุบัน และตั้งชื่อว่า "ซาน ซัลวาดอร์" (San Salvador) และเมื่อต้นศตวรรษที่ 16 ในปี 2150 ชาวอังกฤษกลุ่มแรกได้อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานที่เมือง เจมส์ทาวน์ (Jamestown) จากนั้นชาวยุโรปกลุ่มอื่น ๆ ได้อพยพตามเข้ามาพร้อมกับนำทาสผิวดำจากแอฟริกาเข้ามาด้วย แล้วขยายออกไปทางด้านตะวันตกอย่างรวดเร็ว โดยการขับไล่ชาวอินเดียนแดงให้ถอยร่นออกไป หลังจากประกาศอิสรภาพแล้วก็ได้เกิด สงครามกลางเมือง (American Civil War) ขึ้นในปี 2319-2326 ระหว่างรัฐฝ่ายใต้ทั้ง 13 รัฐที่ต้องการเอกราช กับ 21 รัฐฝ่ายเหนือที่อยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษ หลังจากชัยชนะของฝ่ายใต้ อังกฤษจึงยอมรับประเทศใหม่นี้ จากนั้นสหรัฐอเมริกาก็แผ่ขยายอาณาเขตของตนเองจนมีขนาดใหญ่กว่าเดิมถึงกว่า 4 เท่าตัว
วันจูบสากล (World Kissing Day) 6 กรกฎาคม มาร่วมส่งต่อความรู้สึกดี ๆ แก่กัน ด้วยรอยจูบที่สื่อความหมายมากกว่าแค่คำว่า รัก
การจูบกลายมาเป็นสัญลักษณ์แห่งความใกล้ชิดที่แพร่หลายไปทั่วโลก ในหลายวัฒนธรรมก็ได้ผสานการจูบเข้าเป็นส่วนหนึ่งในการแสดงมิตรภาพ นอกเหนือไปจากจูบของคนรัก แต่ไม่ว่าจะความหมายใด การจูบนั้นก็ได้มอบความรู้สึกดี ๆ แก่กันระหว่างคนสองคนเสมอ
7 กรกฎาคม วันพูดความจริง เลิกโกหกกัน แล้วหันหน้ามาพูดความจริงกันดีกว่า วันพูดความจริง หรือ Tell the Truth Day ตรงกับวันที่ 7 กรกฎาคม มีขึ้นเพื่อให้ได้แสดงความซื่อสัตย์จริงใจต่อกัน รวมทั้งปฏิเสธการโกหกต่อกัน สำหรับวันพูดความจริงนี้ เริ่มมีการพูดถึงวันนี้ขึ้นมาครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ. 2015 (พ.ศ. 2558) ก่อนจะถูกนำไประบุไว้ในเว็บไซต์ whatnationaldayisit.com เช่นเดียวกับวันพิเศษแปลก ๆ วันอื่น อาทิ วันช็อกโกแลต, วันจูบ หรือวันสตรอว์เบอร์รีซันเดย์ ซึ่งถือเป็นวันสำคัญแบบไม่เป็นทางการ โดยมีขึ้นเพื่อจุดประสงค์หลัก ๆ คือเพื่อต้องการกระตุ้นให้ผู้คนพูดความจริงต่อกันมากขึ้น แม้ว่าในบางสถานการณ์จะทำได้ยากก็ตามที
วันประชากรโลก (World Population Day) ถูกกำหนดขึ้นเพื่อให้เกิดความตระหนักในประเด็นปัญหาของประชากรโลก เพื่อให้ประชาชนรู้จักการวางแผนครอบครัวซึ่งการวางแผนครอบครัวจะส่งผลให้ประชากรโลกมีคุณภาพชีวิตที่ดี และสามารถลดปัญหาความยากจนและปัญหาทางสังคมลงได้
ปัญหาของประชากรโลกที่นับวันจะเพิ่มจำนวนขึ้นมาก ทั้งนี้เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2530 เป็นวันที่ประชากรของโลกมีจำนวนเพิ่มขึ้นเป็น 5,000,000,000 (ห้าพันล้าน) ทำให้ประชาชนต่างให้ความสนใจต่อการเพิ่มขึ้นของประชากรอย่างรวดเร็ว ซึ่งการเพิ่มขึ้นของประชากรอาจส่งผลกระทบต่อการพัฒนาคุณภาพประชากร คณะมนตรีประศาสน์การของสหประชาชาติว่าด้วยการพัฒนาจึงได้ประกาศให้วันที่ 11 กรกฎาคม 2532 เป็นวันประชากรโลก เพื่อเป็นการเน้นย้ำให้ทุกคนตระหนักถึงจำนวนของประชากรที่เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ
สมเด็จพระนารายณ์มหาราช หรือ สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 3 เป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 27 แห่งกรุงศรีอยุธยา และเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ที่ 4 และพระองค์สุดท้ายของราชวงศ์ปราสาททอง เสด็จสวรรคตเมื่อ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2231 ณ พระที่นั่งสุทธาสวรรย์ พระนารายณ์ราชนิเวศน์ จังหวัดลพบุรี รวมครองราชสมบัติเป็นเวลา 32 ปี มีพระชนมายุ 56 พรรษา
ทรงเป็นพระราชโอรสใน พระเจ้าปราสาททอง และ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกัลยาณี อัครราชเทวี พระราชมารดาเป็นพระราชธิดาในสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม เสด็จพระบรมราชสมภพ เมื่อ วันจันทร์ เดือนยี่ ปีวอก พ.ศ. 2175 ในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาเล่าว่าเมื่อแรกเสด็จพระบรมราชสมภพนั้น พระองค์มีพระนามเดิมว่า "เจ้าฟ้านรินทร์" แต่เมื่อขึ้นพระอู่ พระญาติเห็นพระโอรสมีสี่กร พระราชบิดาจึงโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามใหม่ว่า "พระนารายณ์"
สมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ทรงพระปรีชาสามารถอย่างยิ่ง ทรงสร้างความรุ่งเรือง และความยิ่งใหญ่ให้แก่กรุงศรีอยุธยาเป็นอย่างมาก โดยทรงยกทัพไปตีเมืองเชียงใหม่ และหัวเมืองพม่าอีกหลายเมืองได้แก่ เมืองจิตตะกอง สิเรียม ย่างกุ้ง แปร ตองอู หงสาวดี และมีกำลังสำคัญที่ทำให้สมเด็จพระนารายณ์นั้นสามารถยึดหัวเมืองของพม่าได้คือ เจ้าพระยาโกษาธิบดี
พระองค์โปรดให้สร้างเมืองลพบุรีเป็นราชธานีที่สอง และโปรดประทับที่เมืองลพบุรีปีละ 8 - 9 เดือนนั้นเป็นการนำความเจริญ รุ่งเรืองมาสู่เมืองลพบุรี เพราะมีการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้าสู่เมืองลพบุรี อาทิ ระบบประปา หอดูดาว สร้างกำแพงเมือง ประตูเมือง และป้อมปืนเมืองลพบุรี จึงคึกคักมีชีวิตชีวา ตลอดรัชกาลของพระองค์ มีการคล้องช้าง มีชาวต่างชาติ คณะทูตเข้ามาเจริญสัมพันธไมตรี มีบาทหลวงเข้ามา ส่องกล้องดูดาว ดูสุริยุปราคา จันทรุปราคา
ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในสมัยสมเด็จพระนารายณ์รุ่งเรืองขึ้นมาอีกครั้ง โดยมีการติดต่อทั้งด้านการค้าและการทูตกับประเทศต่าง ๆ เช่น จีน ญี่ปุ่น อิหร่าน อังกฤษ และฮอลันดา มีชาวต่างชาติเข้ามาในพระราชอาณาจักรเป็นจำนวนมาก ในจำนวนนี้รวมถึงเจ้าพระยาวิชเยนทร์ (คอนสแตนติน ฟอลคอน) ชาวกรีกที่รับราชการตำแหน่งสูงถึงที่สมุหนายก ขณะเดียวกันยัง โปรดเกล้าฯ ให้แต่งคณะทูตนำโดย เจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) ไปเจริญสัมพันธไมตรีกับราชสำนักฝรั่งเศส ในรัชสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ถึง 4 ครั้งด้วยกัน ผู้ที่เขียนเกี่ยวกับกรุงศรีอยุธยา และสยามมากที่สุดในสมัยนี้ก็คือ ซีมง เดอ ลา ลูแบร์
สมเด็จพระนารายณ์มิใช่เพียงทรงพระปรีชาสามารถทางด้านการทูตเท่านั้น หากทรงเป็นกวีและทรงอุปถัมภ์กวีในยุคของพระองค์อย่างมากมาย กวีลือนามแห่งรัชสมัยของพระองค์ก็ได้แก่ พระโหราธิบดี หรือพระมหาราชครู ผู้ประพันธ์หนังสือจินดามณี ซึ่งเป็นตำราเรียนภาษาไทยเล่มแรก และตอนหนึ่งของเรื่องสมุทรโฆษคำฉันท์ (อีกตอนหนึ่งเป็นพระราชนิพนธ์ของสมเด็จพระนารายณ์) กวีอีกผู้หนึ่งคือ ศรีปราชญ์ ผู้เป็นปฏิภาณกวี เป็นบุตรของพระโหราธิบดี งานชิ้นสำคัญของศรีปราชญ์ คือ หนังสือกำศรวลศรีปราชญ์ และอนุรุทรคำฉันท์ ด้วยพระปรีชาสามารถดังได้บรรยายมาแล้ว สมเด็จพระนารายณ์จึงได้รับการถวายพระเกียรติเป็น มหาราช พระองค์หนึ่ง
ปัจจุบันพระราชวังเมืองละโว้หรือลพบุรี เปิดเป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สมเด็จพระนารายณ์มหาราช กรมศิลปากร จัดแสดงโบราณวัตถุที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ โบราณคดีของจังหวัดลพบุรี โดยเฉพาะพระที่นั่งจันทรพิศาล จัดแสดงนิทรรศการถาวรเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ภาพประวัติศาสตร์เหตุการณ์สำคัญ และโบราณวัตถุในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช อาทิ ภาพวาดสมเด็จพระนารายณ์มหาราชรับพระราชสาสน์ของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14, เหรียญที่ระลึกในโอกาสราชทูตสยามเข้าเฝ้าพระเจ้าหลุยส์ที่ 14, ธรรมาสน์ไม้ มีจารึกระบุศักราชการสร้างในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เป็นต้น
"อาสาฬหบูชา" ย่อมาจากคำว่า "อาสาฬหปุรณมีบูชา" แปลว่า การบูชาในวันเพ็ญเดือนอาสาฬห คือ เดือน 8 ถือเป็นวันสำคัญวันหนึ่งในพระพุทธศาสนา เพราะมีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้น 3 ประการ ดังนี้
1. เป็นวันที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนา คือ แสดงธรรมเป็นครั้งแรก มีชื่อว่า ธรรมจักกัปปวัตนสูตร ซึ่งมีใจความสำคัญกล่าวถึงอริยสัจ หรือความจริงอันประเสริฐ 4 ประการ ได้แก่
ทุกข์ คือ ความลำบาก ความไม่สบายกายไม่สบายใจ,
สมุทัย คือ เหตุที่ทำให้เกิดทุกข์,
นิโรธ คือ ความดับทุกข์, และ
มรรค คือ ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งทุกข์
การแสดงธรรมครั้งแรกนี้ เพื่อโปรดเหล่าปัญจวัคคีย์ทั้ง 5 คือ อัญญาโกณฑัญญะ วัปปะ ภัททิยะ มหานามะ และอัสสชิ จึงถือกันว่าเป็นวันที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงประกาศพระศาสนา
2. เป็นวันที่เกิดสังฆรัตนะ หรือเป็นวันที่เกิดพระอริยสงฆ์ สาวกในพระพุทธศาสนาขึ้นครั้งแรกในโลก พระอริยสงฆ์สาวกองค์แรกคือ พระอัญญาโกณฑัญญะ ซึ่งเมื่อพระธรรมเทศนาธรรมจักกัปปวัตนสูตรแล้ว บังเกิดดวงตาเห็นธรรมทูลขอบวช ซึ่งพระพุทธองค์ประทานอนุญาตให้อุปสมบทเป็นภิกษุรูปแรกในพระพุทธศาสนา ด้วยวิธี เอหิภิกขุอุปสัมปทา ในวันนี้
3. เป็นวันที่พระรัตนตรัย คือ พระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ เกิดขึ้นครบ 3 ประการ และเป็นครั้งแรกในโลก
เหตุการณ์ในวันอาสาฬหบูชานี้ เกิดขึ้นหลังจากที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ ในวันเพ็ญวิสาขะ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 แล้วสองเดือน
ความหมายของ วันเข้าพรรษา คือ เป็นวันที่พระภิกษุสงฆ์อธิษฐานว่าจะพักประจำอยู่ ณ ที่แห่งใดแห่งหนึ่ง ตลอดระยะเวลาฤดูฝนมีกำหนด 3 เดือนตามพระวินัยบัญญัติ โดยไม่ไปค้างแรมในที่อื่น เรียกกันโดยทั่วไปว่า "จำพรรษา" วันเข้าพรรษา กำหนดเป็น 2 ระยะ คือ ปุริมพรรษา (วันเข้าพรรษาต้น วันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 ) และ ปัจฉิมพรรษา (วันเข้าพรรษาหลัง ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11)
อย่างไรก็ตาม หากมีกิจธุระ คือเมื่อเดินทางไปแล้วไม่สามารถจะกลับได้ในวันเดียวนั้น ก็ทรงอนุญาตให้ไปแรมคืนได้ คราวหนึ่งไม่เกิน 7 คืน เรียกว่า "สัตตาหะ" หากเกินกำหนดนี้ถือว่าไม่ได้รับประโยชน์แห่งการจำพรรษา จัดว่าพรรษาขาด
ประเพณีแห่เทียนวันเข้าพรรษาของชาวพุทธที่ได้กระทำต่อเนื่องกันมาแต่พุทธกาลโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา ธรรมบูชา และสังฆบูชา
ประเพณีถวายเทียนพรรษา เพื่อจุดตามประทีปเป็นพุทธบูชานั้น มาจากอานิสงส์การถวายเทียนเพื่อจุดเป็นพุทธบูชา ที่ปรากฏความในพระไตรปิฎกและในคัมภีร์อรรถกถา ว่าพระอนุรุทธะเถระ เคยถวายเทียนบูชาทำให้ได้รับอานิสงส์มากมาย รวมถึงได้เป็นผู้มีจักษุทิพย์ (ตาทิพย์)
แม้การเข้าพรรษาจะเป็นเรื่องของพระภิกษุ แต่พุทธศาสนิกชนก็ถือเป็นโอกาสดีที่จะได้ทำบุญรักษาศีล และชำระจิตใจให้ผ่องใส ก่อนวันเข้าพรรษาชาวบ้านก็จะไปช่วยพระทำความสะอาดเสนาสนะ ซ่อมแซมกุฏิวิหารและอื่น ๆ พอถึงวันเข้าพรรษาก็จะไปร่วมทำบุญตักบาตร ถวายเครื่องสักการบูชา ดอกไม้ ธูปเทียน และเครื่องใช้ เช่น สบู่ ยาสีฟัน เป็นต้น พร้อมฟังเทศน์ ฟังธรรม และรักษาอุโบสถศีลกันที่วัด บางคนอาจตั้งใจงดเว้นอบายมุขต่าง ๆ เป็นกรณีพิเศษ เช่น งดเสพสุรา งดฆ่าสัตว์ เป็นต้น อนึ่ง บิดามารดามักจะจัดพิธีอุปสมบทให้บุตรหลานของตน โดยถือกันว่าการเข้าบวชเรียนและอยู่จำพรรษาในระหว่างนี้จะได้รับอานิสงส์อย่างสูง
: วันจันทร์ 26 กรกฎาคม หยุดชดเชย วันอาสาฬหบูชา (วันเสาร์ที่ 24 กรกฎาคม 2564)
28 กรกฎาคม : วันพระบรมราชสมภพ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ขอทรงพระเจริญยิ่ง
พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ มหิศรภูมิพลราชวรางกูร กิติสิริสมบูรณอดุลยเดช สยามินทราธิเบศรราชวโรดม บรมนาถบพิตร พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชสมภพ ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต เมื่อวันจันทร์ที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2495 เป็นพระราชโอรสพระองค์เดียวของพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ 9 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามมินทราธิราช บรมนาถบพิตร) กับสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จขึ้นทรงราชย์เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2559 เป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ปัจจุบันของประเทศไทย นับเป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 10 แห่งราชวงศ์จักรี
วันภาษาไทยแห่งชาติ ตรงกับวันที่ ๒๙ กรกฎาคม ของทุกปี เพื่อระลึกถึงเหตุการณ์ในวันที่ ๒๙ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๐๕ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (รัชกาลที่ ๙) เสด็จพระราชดำเนินไปทรงอภิปรายเรื่อง "ปัญหาการใช้คำไทย" ร่วมกับผู้ทรงคุณวุฒิที่ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทรงแสดงพระปรีชาสามารถและความสนพระราชหฤทัยห่วงใยในภาษาไทย จนเป็นที่ประทับใจผู้ร่วมประชุมครั้งนั้นเป็นอย่างยิ่ง และทรงมีพระราชดำรัสตอนหนึ่งความว่า
"เรามีโชคดีที่มีภาษาของตนเองแต่โบราณกาล จึงสมควรอย่างยิ่งที่จะรักษาไว้ ปัญหาเฉพาะในด้านรักษาภาษานี้ก็มีหลายประการ อย่างหนึ่งต้องรักษาให้บริสุทธิ์ในทางออกเสียง คือ ให้ออกเสียงให้ถูกต้องชัดเจน อีกอย่างหนึ่งต้องรักษาให้บริสุทธิ์ในวิธีใช้ หมายความว่า วิธีใช้คำมาประกอบประโยค นับเป็นปัญหาที่สำคัญ ปัญหาที่สาม คือ ความร่ำรวยในคำของภาษาไทย ซึ่งพวกเรานึกว่าไม่ร่ำรวยพอ จึงต้องมีการบัญญัติศัพท์ใหม่มาใช้...สำหรับคำใหม่ที่ตั้งขึ้นมีความจำเป็นในทางวิชาการไม่น้อย แต่บางคำที่ง่ายๆก็ควรจะมี ควรจะใช้คำเก่าๆที่เรามีอยู่แล้ว ไม่ควรจะมาตั้งศัพท์ใหม่ให้ยุ่งยาก"
พ่อขุนรามคำเเหงได้ประดิษฐ์อักษรไทยขึ้นเมื่อปี พศ 1826 (คศ1283) มี พยัญชนะ 44 ตัว (21 เสียง) สระ 21 รูป (32 เสียง) วรรณยุกต์ 5 เสียง คือ เสียง สามัญ เอก โท ตรี จัตวา ภาษาไทยดัดเเปลงมาจากบาลี เเละ สันสกฤต
คนไทยเป็นผู้ที่โชคดีที่มีภาษาของตนเอง เเละมีอักษรไทย เป็นตัวอักษร ประจำชาติ อันเป็นมรดกล้ำค่าที่บรรพบุรุษได้สร้างไว้ ซึ่งเป็นเครื่องเเสดงว่าไทยเราเป็นชาติที่มีวัฒนธรรมสูงส่งมาเเต่โบราณกาล เเละยั่งยืนมาจนปัจจุบัน คนไทยผู้เป็นเจ้าของภาษา ควรภาคภูมิใจที่ชาติไทยใช้ภาษาไทย เป็นภาษาประจำชาติมากว่า 700 ปีเเล้ว เเละจะยั่งยืนตลอดไป ถ้าทุกคนตระหนักในความสำคัญของภาษาไทย
แชร์ :
เขียนความคิดเห็น