ตอนที่ 3 : ตำนาน "นางสงกรานต์" 2564

เปิดที่มา 'นางสงกรานต์' 2564 'รากษสเทวี' เผยคำทำนายว่าอะไร?

11 เมษายน 2564 | โดย กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

     ... ชวนอ่านตำนาน "นางสงกรานต์" เรื่องราวความเชื่อที่อยู่คู่คนไทยมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน พร้อมรู้จัก "รากษสเทวี" นางสงกรานต์ประจำปี 2564 เผยคำทำนายของดวงเมืองปีนี้   

  เทศกาล "สงกรานต์" เป็นช่วงเวลาแห่งการเดินทางกลับภูมิลำเนาไปเยี่ยมพ่อแม่ญาติพี่น้อง และร่วมกิจกรรมตามประเพณีไทย อีกสิ่งหนึ่งที่ผู้คนให้ความสนใจทุกปีนั่นคือ ความเชื่อเกี่ยวกับ "นางสงกรานต์" และคำทำนายดวงเมืองประจำปีในวันปีใหม่ไทย โดยปีนี้ นางสงกรานต์ประจำปี 2564 มีชื่อว่า "รากษสเทวี"

     กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ ชวนเปิดตำนาน "นางสงกรานต์" กันอีกครั้งและมาดูสิว่าปีนี้ "รากษสเทวี" เผยคำทำนายดวงเมืองปีนี้ว่ายังไงบ้าง?

1. รากษสเทวี "นางสงกรานต์" 2564 มีลักษณะยังไง?

     อาจารย์คฑา ชินบัญชร ให้ข้อมูลว่าสำหรับ "นางสงกรานต์" ประจำปี 2564 นั้นมีนามว่า "รากษสเทวี" ทรงพาหุรัด ทัดดอกบัวหลวง อาภรณ์แก้วโมรา ภักษาหารโลหิต พระหัตถ์ขวาทรงตรีศูล พระหัตถ์ซ้ายทรงธนูศร เสด็จนอนหลับตา มาเหนือหลังวรวาหะ (สุกร) เป็นพาหนะ

2. เผยคำทำนายฝนฟ้า ธัญญาหาร และดวงเมือง

     รากษสเทวี เป็นนางสงกรานต์ประจำวันอังคาร มีคำนำนายของปีนี้ว่า จะเกิดอันตรายกลางเมือง จะเกิดเพลิงภัยและโจรผู้ร้าย ผู้คนจะเจ็บไข้นักแลฯ, วันพุธเป็น "วันเนา" ข้าวจะแพง คนทั้งหลายจะได้รับความทุกข์ร้อน แม่หม้ายจะพลัดที่อยู่, วันพฤหัสบดีเป็น "วันเถลิงศก" พ่อค้าพานิชย์ทั้งหลาย อันไปค้าขายในประเทศต่างๆ จะประกอบไปด้วยพัสดุเงินทอง และมีความสุขเป็นอันมากแลฯ, นางสงกรานต์ ไสยาสน์หลับเนตร (นอนหลับตา) พระมหากษัตริย์จะเจริญรุ่งเรืองดี

- เกณฑ์พิรุณศาสตร์ ปีนี้ เสาร์ เป็นอธิบดีฝน บันดาลให้ฝนตก 400 ห่า : ตกในเขาจักรวาล 160 ห่า ตกในป่าหิมพานต์ 120 ห่า ตกในมหาสมุทร 80 ห่า ตกในโลกมนุษย์ 40 ห่า

- เกณฑ์ธาราธิคุณ ปีนี้ตกราศีกรกฏ ชื่ออาโป (ธาตุน้ำ) : ทำนายว่า น้ำมาก น้ำท่วม

- เกณฑ์นาคราชให้น้ำ ปีนี้นาคราชให้น้ำ 6 ตัว : ทำนายว่า ฝนดีตลอดปี

- เกณฑ์ธัญญาหาร ชื่อปาปะ : ข้าวกล้าในไร่นา จะได้ 1 ส่วน เสีย 10 ส่วน คนทั้งหลายจะตกทุกข์ได้ยากลำบากแค้น เพราะกันดารอาหารบ้าง จะฉิบหายเป็นอันมากแลฯ

3. "นางสงกรานต์" มีตัวตนจริงหรือไม่?

     นอกจากนี้ ยังมีหลายคนสงสัยว่า “นางสงกรานต์” มีตัวตนจริงหรือไม่? คำตอบคือ.. นางสงกรานต์ไม่ได้มีตัวตนจริง แต่เป็นเพียงคติความเชื่อที่ปรากฏอยู่ใน “ตำนานสงกรานต์” ซึ่งเป็นอุบายของคนโบราณให้สามารถจดจำวันปีใหม่ไทยหรือวันมหาสงกรานต์ได้ง่าย โดยสมมติให้นางสงกรานต์ทั้ง 7 คน มาเทียบเคียงกับวันแต่ละวันในหนึ่งสัปดาห์นั่นเอง

4. นางสงกรานต์ทั้ง 7 คน มีใครบ้าง?

     ตามตำนานและคติความเชื่อเกี่ยวกับเทศกาลสงกรานต์เล่าว่า นางสงกรานต์มีทั้งหมด 7 คน โดยแต่ละคนมีหน้าที่ต้องผลัดเปลี่ยนกันมาถือพานเศียรของท้าวกบิลพรหม แต่ละคนจะมีนาม อาหาร อาวุธ สัตว์ที่เป็นพาหนะแตกต่างกันไป ดังนี้

- วันอาทิตย์ นางสงกรานต์นาม “ทุงษะเทวี” ทรงพาหุรัดทัดดอกทับทิม อาภรณ์แก้วปัทมราช ภักษาหารอุทุมพร (ผลมะเดื่อ) พระหัตถ์ขวาทรงจักร พระหัตถ์ซ้ายทรงสังข์ เสด็จมาบนหลังครุฑ แต่ทางล้านนาจะมีความเชื่อว่าวันอาทิตย์ ชื่อ นางแพงศรี

- วันจันทร์ นางสงกรานต์นาม “โคราคะเทวี” ทรงพาหุรัดทัดดอกปีบ อาภรณ์แก้วมุกดา ภักษาหารเตลัง (น้ำมัน) พระหัตถ์ขวาทรงขรรค์ พระหัตถ์ซ้ายทรงไม้เท้า เสด็จมาบนหลังพยัคฆ์ (เสือ) แต่ทางล้านนาจะมีความเชื่อว่าวันจันทร์ ชื่อ นางมโนรา

- วันอังคาร นางสงกรานต์นาม “รากษสเทวี” ทรงพาหุรัดทัดดอกบัวหลวง อาภรณ์แก้วโมรา ภักษาหารโลหิต พระหัตถ์ขวาทรงตรีศูล พระหัตถ์ซ้ายทรงธนู เสด็จมาบนหลังวราหะ (สุกร)

- วันพุธ นางสงกรานต์นาม “มณฑาเทวี” ทรงพาหุรัดทัดดอกจำปา อาภรณ์แก้วไพฑูรย์ ภักษาหารนมเนย พระหัตถ์ขวาทรงเข็ม พระหัตถ์ซ้ายทรงไม้เท้า เสด็จมาบนหลังคัทรภะ (ลา) แต่ทางล้านนาจะมีความเชื่อว่าวันพุธ ชื่อ นางมันทะ

- วันพฤหัสบดี นางสงกรานต์นาม “กิริณีเทวี” ทรงพาหุรัดทัดดอกมณฑา อาภรณ์แก้วมรกต ภักษาหารถั่วงา พระหัตถ์ขวาทรงขอช้าง พระหัตถ์ซ้ายทรงปืน เสด็จมาบนหลังคชสาร (ช้าง) แต่ทางล้านนาจะมีความเชื่อว่าวันพฤหัส ชื่อ นางัญญาเทพ

- วันศุกร์ นางสงกรานต์นาม “กิมิทาเทวี” ทรงพาหุรัดทัดดอกจงกลนี อาภรณ์แก้วบุษราคัม ภักษาหารกล้วยน้ำ พระหัตถ์ขวาทรงขรรค์ พระหัตถ์ซ้ายทรงพิณ เสด็จมาบนหลังมหิงสา (ควาย) แต่ทางล้านนาจะมีความเชื่อว่าวันศุกร์ ชื่อ นางริญโท

- วันเสาร์ นางสงกรานต์นาม “มโหธรเทวี” ทรงพาหุรัดทัดดอกสามหาว อาภรณ์แก้วนิลรัตน์ ภักษาหารเนื้อทรายพระหัตถ์ขวาทรงจักร พระหัตถ์ซ้ายทรงตรีศูล เสด็จมาบนหลังมยุรา (นกยูง) แต่ทางล้านนาจะมีความเชื่อว่าวันเสาร์ ชื่อ นางสามาเทวี

5. "นางสงกรานต์" กับความเชื่อเกี่ยวกับพรหมโลก

     มีจารึกที่ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม บอกเล่าเกี่ยวกับตำนานของ “นางสงกรานต์” ทั้ง 7 คนเอาไว้ว่า นางสงกรานต์มีความเกี่ยวข้องกับ “ท้าวกบิลพรหม” หรือ “ท้าวมหาพรหม” เทพผู้สถิตอยู่บนพรหมโลกชั้นที่ 3 มีหน้าที่สอดส่องดูแลมวลมนุษย์และสรรพสัตว์ทั้งหลาย และพระองค์ทรงมีพระธิดา 7 องค์ ซึ่งก็คือนางสงกรานต์ทั้ง 7 คนอย่างที่บอกไปข้างต้น

     ตามตำนานเล่าว่าครั้งหนึ่ง “ท้าวกบิลพรหม” เกิดอยากทดสอบปัญญาของมนุษย์หนุ่มผู้หนึ่งนามว่า “ธรรมบาลกุมาร” (ผู้เป็นบุตรของเศรษฐี ที่พระอินทร์ประทานให้ลงมาจุติ) จึงเสด็จลงมาจากสวรรค์เพื่อมาถามปัญหากับธรรมบาลกุมาร 3 ข้อว่า “ตอนเช้าศรีอยู่ที่ไหน ตอนเที่ยงศรีอยู่ที่ไหน และตอนค่ำศรีอยู่ที่ไหน”

     โดยมีเงื่อนไขว่าหากตอบไม่ได้ ท้าวกบิลพรหมจะตัดศีรษะธรรมบาลกุมารเสีย แต่ถ้าธรรมบาลกุมารตอบได้ ท้าวกบิลพรหมก็จะตัดเศียรของตนเพื่อบูชาแก่กุมาร ด้านธรรมบาลกุมารขอเวลา 7 วันเพื่อไปหาคำตอบ

     ธรรมบาลกุมารคิดหาคำตอบอยู่นานก็คิดไม่ออก จนล่วงเข้าวันที่ 6 ธรรมบาลกุมารบังเอิญได้ยินนกอินทรีสองผัวเมียคุยกัน เกี่ยวกับเรื่องคำถามที่ท้าวกบิลพรหมถามตนเอง ซึ่งนกอินทรีเผลอเฉลยคำตอบออกมา ธรรมบาลกุมารพอได้ฟังก็จดจำคำตอบนั้นไว้ วันถัดมาซึ่งครบกำหนด 7 วัน ธรรมบาลกุมารจึงนำคำตอบที่ได้มาไปตอบท้าวกบิลพรหมได้ถูกต้อง ดังนั้นท้าวกบิลพรหมจึงต้องทำตามคำพูดของตนท่ีลั่นวาจาไว้ นั่นคือตัดเศียรของตนเอง

6. สาเหตุที่นางสงกรานต์ต้องผลัดกันมาในแต่ละปี คืออะไร?

     หลังจากที่ “ท้าวกบิลพรหม” รู้ตัวว่าจะต้องตาย จึงตรัสเรียกธิดาทั้ง 7 องค์มาประชุมพร้อมกัน แล้วบอกว่าพ่อจะตัดเศียรตัวเองเพื่อบูชาธรรมบาลกุมาร แต่เศียรของพ่อนี้หากตั้งไว้บนแผ่นดิน ไฟก็จะไหม้โลก หากโยนขึ้นไปบนอากาศ ฝนก็จะแล้ง หากนำไปทิ้งในมหาสมุทรน้ำก็จะแห้ง ดังนั้นจึงให้ธิดาทั้ง 7 ต้องหาพานมารองรับเศียรของตน ไม่ให้ตกลงบนพื้นโลก หรือพื้นน้ำ หรือบนอากาศ

     จากนั้นมาทุกๆ 1 ปี ธิดาของท้าวกบิลพรหมทั้ง 7 ก็จะผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนมาทำหน้าที่อัญเชิญพระเศียรท้าวกบิลพรหมแห่ไปรอบเขาพระสุเมรุ เป็นเวลา 60 นาที แล้วประดิษฐานไว้ในถ้ำคันธุลี ณ เขาไกรลาศ แต่ละปีนางสงกรานต์จึงต้องมาทำหน้าที่นี้ผลัดเปลี่ยนกันตามวันมหาสงกรานต์นั่นเอง

https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/930143

ขอขอบคุณ ข้อมูลจาก กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 11 เมษายน 2564

 


อ่าน : 0

แชร์ :


เขียนความคิดเห็น