Episode 3 : Stand Out Fit In

     ก่อนหน้านี้เราพูดถึงการสร้างแรงปรารถนาจาก Golden Circle Theory ช่วยผลักดันให้เห็นเป้าหมายในชีวิต และความสุขระหว่างการเดินทางไกลเพื่อให้ชีวิตมีเรี่ยวแรงไปต่อได้ในระยะยาว

     อย่างไรก็ตาม เรี่ยวแรงและเวลาของมนุษย์มีอยู่อย่างจำกัดจำเขี่ย แม้ว่าเราจะยังมีเหลืออยู่มากมายในวัยหนุ่มสาว เมื่อมันถูกใช้ไปอย่างต่อเนื่อง พลังเหล่านั้นย่อมหดหายไปตามครรลองของความเปลี่ยนแปลง

     การสงวนเรี่ยวแรงและพักฟื้นกำลังระหว่างการเดินทางของชีวิตยังคงจำเป็นอยู่เสมอ เราจะทำความเข้าใจกับมันผ่านงานเพลงของวงดนตรีสัญชาติญี่ปุ่นนามว่า ONE OK ROCK (อักษรย่อ OOR) ซึ่งก่อตั้งวงเมื่อปี ค.ศ.2005 เป็นต้นมา

ภาพสมาชิกปัจจุบันของวง ONE OK ROCK

     OOR ไม่ต่างจากวงดนตรีอื่นที่ต้องผ่านการลองผิดลองถูก ทั้งเพื่อสะสมประสบการณ์และแสวงหาตัวตนทางดนตรีของพวกเขาเองมาหลายครั้ง พวกเขาเริ่มเป็นที่รู้จักแก่ผู้ฟังทั่วโลกผ่านงานเพลงประกอบภาพยนตร์ดัดแปลงจากมังงะญี่ปุ่นเรื่อง ซามูไรพเนจร (Rurouni Kenshin) ในปี ค.ศ.2013

     แนวเพลงของ OOR ในยุคแรกเริ่มเป็น Rock เสียส่วนมาก หลากหลายตั้งแต่ Pop Rock, Punk Rock บางเพลงหนักหน่วงจนถึงขั้น Heavy Metal, Nu-Metal อันเป็นที่ชื่นชอบของผู้ฟังเฉพาะกลุ่ม

     ทว่าในผลงานชุด Eye of The Storm พวกเขาได้เปลี่ยนแนวดนตรีมาเป็น Pop ผสมกับ EDM (Electronic Dance Music) ทั้งชุด โดย Single ลำดับที่ 2 ของชุดนี้คือ Stand Out Fit In อันเป็นชื่อเดียวกับบทความนี้เอง


     งานเพลงดังกล่าวสื่อสารกับเราผ่านความขัดแย้งของชื่อเพลง ย้ำเตือนถึงตัวตนที่เราเป็นผ่านความหมายของเนื้อร้อง และความโดดเดี่ยวแปลกแยกผ่านเรื่องเล่าของคนจีนพลัดถิ่นตั้งแต่ยังเด็กของ Hao ที่ได้ถ่ายทอดไว้ใน Music Video

     เนื้อเรื่องของ MV บอกเล่าเรื่องราวของ Hao ผู้เป็นตัวเอกของเรื่องที่ต้องจมสู่ความโดดเดี่ยว ชีวิตเติบโตสู่วัยรุ่นด้วยการประดิษฐ์ตัวตนอื่นขึ้นมาบดบังตัวเองที่เคยเป็น ทั้งหมดก็เพื่อให้เข้ากับสังคมและดูไม่เป็นตัวประหลาดในสายตาคนอื่น

     ตัวตนใหม่ของเขาทำให้ชีวิตง่ายแต่ไม่ใช่ชีวิตที่ดี เบื้องลึกของ Hao ยังพยายามหยุดความเศร้าหมองของตัวเองอยู่เสมอ เมื่อตัวตนใหม่พัดพาชีวิตไปประสบกับจุดวิกฤต ตัวตนอันแท้จริงของเขาจึงปรากฎขึ้นมาเผชิญหน้าด้วยรูปลักษณ์ของ "เปี้ยนเหลียน" (ภาษาจีน: 变脸 , ภาษาไทย: งิ้วเปลี่ยนหน้ากาก)

งิ้วกรีดรำนำกระบวนร่าย เปลี่ยนลวดลายแปลงหน้ากาก
ประหนึ่งอยากทวงคำถามเราทั้งหลาย
กี่ครั้งหนจำต้องทนเป็นคนอื่น?
ใต้เปลือกปลอมเหล่านั้น ตัวตนของฉันคือใคร?

     แม้ความหมายของเพลงต้องการสนับสนุนให้เราเป็นตัวเองมากขึ้น ความเป็นจริงมักยากเย็นกว่าอุดมคติเสมอ ดังที่ OOR ได้ซ่อนความย้อนแย้งนี้เอาไว้ระหว่างคำว่า Stand Out (โดดเด่น) และ Fit in (กลมกลืน) ในชื่อเพลง

     ผลของความโดดเด่นล้วนเป็นดาบสองคม เหตุเพราะอีกด้านของมันคือความโดดเดี่ยว ความแตกต่างมักผลักเราออกจากกลุ่มคนอยู่เสมอ การหาจุดสมดุลระหว่างตัวตนที่เราเป็น กับตัวตนที่สังคมคาดหวังให้เราเป็นจึงไม่ง่ายนัก

     ส่วนหนึ่งเพราะเข้าใจเรื่องการรักษาตัวตนผิดไป อุ้มชูแต่ความพอใจส่วนตัวจนกลายเป็นถืออัตตา เมื่อเรารู้สึกเฉยชาต่อสังคม ความขัดแย้งกับคนรอบข้างย่อมเกิดขึ้นไม่จบสิ้น กลายเป็นชีวิตอันร้อนรุ่มหาความสงบทางใจไม่ได้เลย

     กับคนบางส่วนกลับยอมทิ้งตัวตนไปทั้งหมด ฝืนทนไปตามที่ผู้คนรอบข้างขีดเส้นเอาไว้ให้ ปลายทางที่เห็นได้มีแต่การเกลียดชีวิตตัวเองที่ดำเนินไปในแต่ละวัน เมื่อความขัดแย้งในใจบานปลายจนรับไม่ไหว ชีวิตก็เหลือแค่เปลือกสวยๆให้คนอื่นชื่นชม จิตวิญญาณภายในกลับแห้งตายไปก่อนเวลาเสียแล้ว

     คำถามใหญ่จึงเกิดขึ้นเมื่อเรากำลังเสี่ยงกับวิกฤตเช่นนี้

เรากำลังอยู่ถูกที่ถูกทางแล้วหรือเปล่า?

     Peter F. Drucker บิดาแห่งวิชาการจัดการองค์กร ได้เขียนหนังสือ ปัญญางาน จัดการตน (Managing Oneself) ระบุใจความอันเป็นวัตถุประสงค์ของหนังสือเล่มนั้นเอาไว้ว่า "เพื่อให้เราค้นพบที่ทางของตน"

     คำถามอันสำคัญที่ตั้งเอาไว้มีเพียง 3 ประการ

  1. เราทำสิ่งใดได้ดีบ้าง? 
         สิ่งที่เราทำได้ดีมักพัฒนาไปเป็นระดับยอดเยี่ยมได้รวดเร็ว ต่างจากการทำสิ่งที่เราไม่ถนัดซึ่งต้องใช้ความพยายามหนักหนา ซ้ำยังได้แต่ผลงานในระดับกึ่งดิบกึ่งดีเท่านั้น
     
  2. วิธีการทำงานของเราเป็นแบบไหน?
         เราทำงานได้ดีภายใต้สภาวะใด ไม่ว่าจะเป็นประเภทของงาน ขนาดองค์กร ผู้คนรอบข้าง หรือกฎระเบียบบางอย่าง รวมไปถึงวิธีเรียนรู้งานที่ให้ประสิทธิผลของเรานั้นเป็นเช่นไร
     
  3. คุณค่าที่เรายึดถือคือสิ่งใด?
         เราอุทิศสิ่งใดให้กับคนรอบข้าง สังคมนั้นให้คุณค่าในสิ่งเดียวกับเราอยู่หรือไม่ บางแห่งอาจเป็นเรื่องของเงินทองและการแข่งขัน บางแห่งอาจเป็นความมุ่งมั่น จิตอาสา หรือการมีน้ำใจต่อกัน

     ผลของการละเลยคำถามทั้ง 3 ข้อมีตัวอย่างให้เราเห็นอยู่มากมาย ชีวิตของพวกเขาดูทรมานและต้องดิ้นรนอย่างน่าใจหาย ไม่ใช่เพราะไร้ความสามารถ แต่เป็นเพราะหาที่ทางของตัวเองไม่เจอ กลายเป็นต้นไม้ที่อยู่ผิดดินจนหมดโอกาสเติบใหญ่ไปเสียก่อน

     เมื่อเราอยู่ถูกที่ถูกทางแล้ว แรงปรารถนาและพลังกายพลังใจจะถูกใช้ให้เกิดประโยชน์เต็มที่ ทรัพยากรชีวิตที่จ่ายไปดูจะคุ้มค่ากว่าเป็นไหนๆ ยิ่งคุณค่าเหล่านั้นเกิดขึ้นกับทั้งตนเองและส่วนรวมไปด้วยกัน ผลตอบแทนย่อมคุ้มเหนื่อยเป็นทวีคูณ

     แต่กระนั้นทุกอย่างก็ไม่ได้ราบรื่นเสมอไปเสียหมด สิ่งเป็นพิษระหว่างชีวิตในแต่ละวันยังกดดันและบั่นทอนกำลังของเราได้ตลอดเวลา อาจเป็นเรื่องความเจ็บป่วย นิสัยน่าเบื่อหน่ายจากคนรอบข้าง หรือเหตุการณ์แย่ๆที่พาเราหม่นหมองอ่อนล้า

     เช่นเดียวกับใน MV ที่แม้ Hao จะยอมรับและปลดปล่อยตัวตนที่เขาเป็นออกมา เคลื่อนไหวร่ายรำด้วยท่วงท่าที่ตัวเองคุ้นเคย สังคมรอบข้างยังบีบเค้นให้เขาต้องเต้นไปตามแบบที่คนอื่นเขาทำกันอยู่เช่นเดิม

     ด้วยเหตุนี้แล้ว การอยู่ให้ถูกที่ถูกทางของผู้คนจึงไม่ใช่แค่หาพื้นที่ปลดปล่อยพลังสร้างสรรค์เพียงอย่างเดียว มันยังหมายถึงการพักฟื้นแบตเตอรี่ของชีวิตเราอย่างถูกที่ถูกทางด้วย

     กับใครบางคนอาจหมายถึงการท่องเที่ยว บางคนเป็นหนังสือดีๆสักเล่ม อาจเป็นครอบครัว สัตว์เลี้ยง หรือใครสักคนที่เข้าใจถึงตัวตนของเราดี ทั้งหมดนี้ก็เพื่อล้างพิษออกจากชีวิตและฟื้นฟูจิตวิญญาณ

     เช่นเดียวกับตอนจบของ MV เมื่อ Hao ได้กลับไปพบกับแม่ เธอผู้ที่ยังยิ้มให้เขาได้อยู่เสมอ ไม่ว่ารูปลักษณ์ภายนอกจะเปลี่ยนไปอย่างไร เขายังเป็นเด็กน้อยคนเดิมที่เธอรู้จักเสมอมา

     เมื่อเราพบที่ทางเพื่อรังสรรค์ชีวิตตามแรงปรารถนา รู้จักการประคองจังหวะของช่วงชีวิตได้เหมาะสม รวมถึงหาที่ทางสำหรับพักฟื้นได้ครบถ้วนแล้ว ชีวิตจะดำเนินไปได้ง่าย เปล่งประกายและโดดเด่นโดยไม่ต้องเสแสร้งเป็นคนอื่นนัก

     ยิ่งความโดดเด่นนั้นสร้างคุณค่าให้ตัวเราและคนรอบข้างไปพร้อมกันแล้ว ความแปลกแยกย่อมคลายตัวลงไปเอง เราจะพบจุดสมดุลระหว่างตัวตนและสังคมได้ในที่สุด

     ถือเป็นนิยามของชีวิตอันโดดเด่น (Stand Out) และกลมกลืน (Fit In) ที่เรายังต้องค้นหามันให้เจอในสักวันหนึ่งนั่นเอง


View : 0

Share :


Write comment