ราคารวม : ฿ 0.00
บทความเรื่อง Golden Circle Theory อาจช่วยให้หลายคนได้คำตอบกับชีวิตตัวเอง เราต้องการทำอะไรสักอย่างเพื่อเหตุผลอะไร ชีวิตมีเรี่ยวแรง ความหวังครั้งใหม่เริ่มมีให้เห็นกันบ้าง
กระนั้นความจริงของชีวิตก็ใช่ว่าจะง่ายดายไปเสียหมด ขณะที่แรงปรารถนาของเรายังคงลุกโชนสว่างไสว การทุ่มเทกับอะไรสักอย่างอาจจะได้แค่ความผิดหวัง เหตุการณ์ไม่ได้อย่างใจมักจะขวางทางเราเป็นประจำ
ในยุคสมัยแห่งเทคโนโลยีที่รวดเร็ว กระแสของข่าวสารดูหลากล้น เรื่องราวมาถึงผู้คนผ่านโทรศัพท์เล็กๆในมือได้มากมาย ความสุขของเราน่าจะหาง่ายขึ้น แต่หลายคนยังมีคำถามกับความรู้สึกไม่เต็มของชีวิตตัวเองอยู่ตลอดเวลา
แม้โลกจะเต็มไปด้วยรอยต่อของคนหลากรุ่น ความแตกต่างของคนหลายกลุ่มมีให้เห็นอยู่เสมอ ทว่าธรรมชาติทางใจคนยังคงไม่เปลี่ยน เราสามารถอธิบายมันได้ด้วยลำดับชั้นความต้องการของ Maslow ตามรูปด้านล่าง
ที่มา: https://www.coachilla.co/blog/the-new-hierarchy-of-needs
โดยลำดับปกติของ Maslow เราจะแสวงหาจากลำดับล่าง (ปัจจัยสี่เพื่อยังชีพ) เรื่อยขึ้นไปจนถึงจุดสูงสุด (Self Actualization : การประจักษ์ตนเอง) แต่การใช้ Golden Circle Theory จะทำให้เห็นมุมมองที่ต่างออกไป
หากเราตอบคำถามของชีวิตตัวเองได้เมื่อใด การประจักษ์ตนเองจะถือกำเนิดขึ้น การค้นหาสิ่งที่ขาดหายของเราจะตามมาเองโดยอัตโนมัติ มันเป็นการไล่ลำดับความต้องการแบบกลับด้านกันนั่นเอง
ดูจะเป็นแผนการที่เรียบง่าย แต่ภาคปฏิบัติมีน้อยคนที่จะเข้าถึงจนครบทุกลำดับชั้น ไม่ใช่เรื่องแปลกที่หลายคนจะรู้สึกว่าชีวิตตัวเองยังไม่เต็ม ความสุขในชีวิตดูขาดๆหายๆ ยิ่งเอาชีวิตตัวเองไปเทียบกับคนอื่น ความรู้สึกด้อยค่ายิ่งหน่วงใจให้หนักอึ้งขึ้นไปทุกที
ทั้งที่รู้ว่าชีวิตขาดอะไร แต่พยายามแค่ไหนก็ยังไม่สมดังใจ
เราจะรับมือกับความใจร้ายของโลกใบนี้ยังไงดี?
นอกจากเราจะมุ่งเน้นไปกับแรงปรารถนาและวินัยทางความคิดแล้ว เรายังต้องรู้จักการให้เวลากับชีวิตด้วย มนุษย์ถูกผูกติดไว้กับมันอย่างแน่นหนาตั้งแต่ก่อนเราจะเกิดเสียอีก ตัวอย่างง่ายๆคือการตั้งครรภ์ของมนุษย์ที่ต้องใช้เวลาประมาณ 9 เดือน เร็วหรือช้าไปกว่านี้ไม่ได้นี่เอง
แม้ว่าเราจะส่งข้อความข้ามฟากโลกได้ภายในเวลาไม่กี่วินาที แต่กับบางเรื่องราวเรายังต้องให้เวลากับการเติบโตและงอกงามไปตามทางที่มันควรจะเป็น ที่ร้ายว่านั้นคือการเติบโตที่ว่าก็อาจจะไม่ได้ออกมาเป็นอย่างที่คาดหวังเอาเสียด้วย
การทำความเข้าใจกับความไม่แน่นอนของชีวิตจึงเป็นทักษะสำคัญอีกอย่างหนึ่งของมนุษย์ เราได้เห็นตัวอย่างของคนที่ขาดเรื่องนี้อยู่ทั่วไป เมื่อแบกความผิดหวังต่อไปไม่ไหว ชีวิตก็พังทลายกลางทาง เป็นการใช้ชีวิตที่ไม่คุ้มกับเวลาและความพยายามที่จ่ายไปเท่าไหร่นัก
บางคนหลงลืมว่าชีวิตเป็นเกมส์ยาว การรักษาแรงกายและจิตวิญญาณตัวเองเป็นเครื่องชี้วัดว่าใครจะยืนระยะได้นานกว่ากัน หากเหนื่อยล้าและขาดเสบียงความสุขที่ควรสะสมเอาไว้ระหว่างการเดินทาง ชีวิตของเขาก็ไปต่อได้ไม่ไกลนัก
การใช้ชีวิตแบบเร็วบ้าง ช้าบ้าง สม่ำเสมอตามแต่จังหวะชีวิตจะอำนวยจึงไม่ใช่เรื่องเสียหาย หากเราทำเพื่อทะนุถนอมแรงกายแรงใจและไฟปรารถนาให้คงอยู่ นาฬิกาแห่งช่วงชีวิตของแต่ละคนเดินเร็วช้าต่างกัน และไม่มีใครรู้สึกถึงวงรอบของมันได้ดีเท่ากับตัวเราเอง
ในที่สุดแล้ว มันจะไปถึงจุดหมายดีๆได้เองในสักวันหนึ่ง อาจไม่พิเศษหรือโดดเด่น แต่เป็นประโยชน์และมีคุณค่ากับคนสำคัญที่อยู่รอบตัวเรา
มันน่าจะง่ายและมีความสุขมากกว่าใช่ไหม?
หมายเหตุ ผู้ที่สนใจเพิ่มเติมเรื่องจิตวิทยาของการใช้ชีวิตกับ ดร.ต้อง สามารถชม VDO clip ตามด้านล่าง (มีทั้งหมด 2 ตอน)
Share :
Write comment