Episode 7 : จาริกบุญและท่องเที่ยวสระบุรี และพิมาย/นครราชสีมา

จาริกบุญและท่องเที่ยวสระบุรี 

และพิมาย/นครราชสีมา

By: รณยุทธ์ จิตรดอน

(ลุงป้าพาเที่ยว Chulabook blog)

     วันนี้ที่ 1 กรกฎาคม สมเด็จพระพุฒาจารย์ กรรมการมหาเถรสมาคม เจ้าคณะใหญ่หนตะวันออก เจ้าอาวาสวัดไตรมิตรวิทยาราม เป็นประธานในพิธีพุทธาภิเษกพระพุทธสิหิงค์มิ่งมงคล ท้าวเวสสุวรรณ และท้าวกุเวร พิธีเริ่มเมื่อเวลา 14:00 น พระราชาคณะโดยพระพรหมโมลี เจ้าอาวาสวัดปากน้ำภาษีเจริญ เป็นอาทิ สวดชัยมงคลคาถา เมื่อประธานในพิธีมาถึงได้จุดเทียนชัย พระเกจินั่งปรก 4 ทิศ น่าเสียดายที่ทัาวเวสสุวรรณองค์ทองคำหล่อไว้เพียง 50 องค์ จึงหมดแล้ว  

     วันที่ 2 กรกฎาคม เป็นวันพระใหญ่ขึ้น 15 ค่ำเดือน 8 ได้ถือปฏิบัติเป็นปกติถวายภัตตาหารเพล (ข้าวเหนียว ไก่ย่างวิเชียรบุรี ส้มตำไทย ส้มสายน้ำผึ้ง นมถั่วเหลือง) 3+1 ชุด แก่พระสงฆ์วัดเสมียนนารี พร้อมๆ กับ เข้า zoom on line พิธีบูชาข้าวพระ อาทิตย์ต้นเดือน วัดพระธรรมกาย เข้าบ้านแล้วได้นำพวงมาลัย และดอกกุหลาบสีแดง 9 ดอก ถวายองค์ท้าวเวสสุวรรณ เทพแห่งขุมทรัพย์และโชคลาภ โดยได้จุดธูป 9 ดอก บูชาพระมหามุนี รัตนโคดม บริเวณลานหน้าบ้าน อาราธนาศีล บูชาพระรัตนตรัย สวดบูชาท้าวเวสสุวรรณ 9 จบ เพื่อประทานพร และความสำเร็จ เทอญ   สาธุ

     ท่องเที่ยวจาริกบุญครึ่งแรกของปี 2566 เป็นการท่องเที่ยวเชิงศิลปวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม ทั้ง 6 ตอนครอบคลุมพื้นที่ ระยองชลบุรี หัวหิน และ ชะอำ โดยนำผลจากการพัฒนาตามแนวทางศูนย์การศึกษาสิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริมาปลูกป่าสวนผสมในพื้นที่ส่วนตัว อ.ท่าม่วง กาญจนบุรี และยังได้ร่วมบุญทวงคืนพื้นที่ให้ศูนย์ปฏิบัติธรรม อ.ปากช่อง นครราชสีมา นอกจากนั้นยังได้ถวายภัตตาหารแก่พระสงฆ์ทุกวันพระ และร่วมกิจกรรมบุญในพื้นที่เป็นปกติ ซึ่งหมายรวมถึงในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา คือวันมาฆบูชา และวันวิสาขบูชา อีกด้วย

https://www.chulabook.com/blog/127/691  

ตั้งแต่ปี 61 เป็นต้นมาได้รวบรวมบทความเกี่ยวกับการท่องเที่ยว  

- ปี 61-63 ท่องเที่ยวประเทศไทย 14 ตอน

- ปี 64 4 ตอน

- ปี 64 เตรียมทอดกฐิน 4 ตอน

- ปี 64 ท่องเที่ยวทางศิลปวัฒนธรรมและ Biennial โคราช 2 ตอน

- ปี 65 ทัวร์บุญ ทางศิลปวัฒนธรรม และธรรมชาติ 10 ตอน

- ปี 66 ท่องเที่ยวศิลปวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม 6 ตอน  

     รวม 6 ปี 40 ตอน ครอบคลุมแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ ทั่วประเทศ และททท. ได้จัดทำแหล่งท่องเที่ยวใหม่อันซีน ทั่วประเทศอีก 25 แห่ง จะได้พาไปท่องเที่ยวต่างๆ ต่อไป

     วันที่ 8 กรกฎาคม สมาคมครุศาสตร์สัมพันธ์ จุฬาฯได้จัดงาน”วัฒนายุคครุปิยาจารย์ แสดงกตเวทิตาจิต แด่คณะปิยาจารย์อาวุโส ที่อายุเกินกว่า 84 ปี (รวม 73 ท่าน ที่อายุสูงสุด 97 ปี) ที่ยังมีชีวิตอยู่ ณ คณะครุศาสตร์ เวลา 9:00-13:00 น. ได้มาร่วมพิธีด้วยเพราะเรียนจบจาก สาธิตจุฬาฯ ได้ร่วมแสดงกตเวทิตาจิตแก่คณะปิยาจารย์ และร่วมรับประทานอาหารกลางวัน เป็นโต๊ะจีน(ออเดิร์ฟ, โหงวก๊วย, ปลาเปรี้ยวหวาน, เย็นตาโฟแห้ง, ข้าวผัด, เป็ดตุ๋นเห็ดหอม และ แป๊ะก๊วยนมสด)

     เนื่องในโอกาสที่ศิษย์เก่า(ท่านวัน โมฮะหมัด นอร์มะทา) ได้รับโปรดเกล้าดำรงตำแหน่งประธานรัฐสภา จึงได้ร่วมแสดงความยินดีกับท่านด้วย ให้สมดังเพลงที่ว่า”…ถาวรยศอยู่คู่ไทย  ไชโย”  

     เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม ได้ร่วมพิธีกตัญญูกตเวทีปิยาจารย์ที่เจริญอายุกว่า 84 ปี ที่มีชีวิตอยู่ ณ คณะครุศาสตร์ จุฬาฯ วันรุ่งขึ้นได้ร่วมบุญสร้างอาคารปฏิบัติธรรม ณ ศูนย์ปฏิบัติธรรมพระมงคลเทพมุนี อำเภอสองพี่น้อง สุพรรณบุรี   สาธุ

     วันที่ 11 กรกฎาคม ได้โอกาสไปสถานที่ท่องเที่ยวอันซีน ที่ได้รับเลือกเป็นอันดับ 1 ไม่ไกลจากกทม. อยู่อำเภอแก่งคอย สระบุรีนี่เอง หอมนสิการ ที่ภายในหอจัตุรัสอันศักดิ์สิทธิ์ มีโซนนิทรรศการร่วมสมัยบอกเล่าความเป็นมาเป็นไปของพระพุทธเจ้า ได้สักการะพระบรมโลกนาถ ตรงโถงกลาง และห้องแสดงหลักธรรมแบบครบวงจร รวมทั้งให้ผู้สนใจมาปฏิบัติธรรมทั้งแบบอานาปาณสติ และวิปัสสนา โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายอีกด้วย 

     พื้นที่สระบุรียังเป็นที่ตั้งของสถานที่ศักดิ์สิทธิ์อีกหลายแห่งที่เป็นที่ผู้คนแวะเวียนมากราบไหว้ขอพร เริ่มตั้งแต่หลวงพ่อสำเร็จศักดิ์สิทธ์ อำเภอหนองแค สระบุรี ก่อนเดินทางไปต่อ แวะทานข้าวกลางวันที่ร้านสวนไทรทอง    (แวะเวียนทานมื้อกลางวันทุกครั้ง เสียดายคราวนี้ไม่มีกุ้งแม่น้ำ) สั่งซี่โครงหมูสัปปะรด, ต้มยำปลาคังน้ำข้นและ ผักบุ้งผัดกุ้งกะปิ และข้าวหอมมะลิ 1 จาน รายการอาหารทั้งหมด 730 บาท และเจ้าของยังแบ่งต้นโกศลมาปลูกอีก 15 ต้นด้วย

     หลังอาหารแล้วจึงได้แวะโครงการเศรษฐกิจพอเพียงแห่งแรกของประเทศในบริเวณวัดมงคลชัยพัฒนา อ.เฉลิมพระเกียรติ ซึ่งในหลวงรัชกาลที่ 9 ได้มีพระราชดำริเริ่มโครงการเศรษฐกิจพอเพียงที่แห่งนี้ ยังคงปรากฏแบ่งพื้นที่เป็นบ่อน้ำ ปลูกข้าว ไม้ผลและที่อยู่อาศัยไว้ชัดเจน โครงการนี้ได้เดินทางแวะเยี่ยมครั้งนี้เป็นครั้งที่ 4 แล้ว และเส้นทางจากโครงการนี้ไปมนสิการนั้นก็มีโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยหินขาว ตามพระราชดำริในหลวงรัชกาลที่ 9 ด้วย 

     ที่สุดท้ายที่ได้เคยนำไปเขียนในหนังสือสถานที่ปฏิบัติธรรม 100 แห่งทั่วประเทศตั้งแต่ปี 2552 มาคราวนี้ได้เห็นการเปลี่ยนแปลงไปเป็นสถานปฏิบัติธรรมที่สัปปายะ และมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้กราบไหว้ขอพร และนั่งปฏิบัติธรรมในถ้ำนารายณ์ หรือมีอาคารปฏิบัติธรรมสำหรับผู้มาปฏิบัติธรรมอีกด้วย

     การเดินทางมาสระบุรีใช้เวลาไม่นานแต่เพียบพร้อมด้วยอรรถรสและดื่มด่ำด้วยรสธรรม เดินทางกลับด้วยความปลาบปลื้ม และจะหาโอกาสมาปฏิบัติธรรมต่อไป

     วันที่ 14 ของทุกเดือนถวายผลไม้มี สัปปะรด ส้ม กล้วยหอม ขนุน แอปเปิ้ล และมะพร้าว องค์พระโพธิสัตว์กวนอิมที่บ้าน เพื่อความสุขสวัสดิ์พิพัฒนมงคล  สาธุ  

     เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม ได้ถวายผลไม้องค์พระโพธิสัตว์กวนอิมที่บ้าน เตรียมตัวถวายภัตตาหารเพลพระสงฆ์ 7 รูป และสามเณร 7 รูปที่วัดหนองแก วันที่ 15 กรกฎาคม อาหารที่จัดถวายมี ผัดกระเพราทะเล, แกงเขียวหวานไก่, แกงเผ็ดไก่, น้ำยาปลา, ลาบหมู และข้าว สวยกับขนมจีน แตงโม(อาหารที่จัดเป็นเมนูเดียวกับที่พระฉัน)

     และได้ร่วมพิธีบวช ณ อุโบสถ มีพระครูสุมนธรรมประยุต เป็นพระอุปัชฌาย์ และพระคู่สวดประกอบพิธี เสร็จพิธีกล่าวบูชาพระรัตนตรัย และญาติโยมถวายอัฐบริขาร และปัจจัยแก่พระบวชใหม่ซึ่งจะจำวัดที่วัดหนองแกตลอดพรรษา สาธุ

     ขากลับแวะเข้าไป หอมนสิการ (เตโชวิปัสสนา) อ.แก่งคอย เป็นครั้งที่ 2 ในรอบสัปดาห์นี้ เพื่อจะถามกำหนดการอนาปานะสติ(เสียดายที่จัดเพียงเดือนละครั้งเท่านั้น ครั้งละ 4 วัน) ในระหว่างเดือนสามารถเข้ามานั่งที่ห้องปฏิบัติสมาธิได้มีวันละ 3 รอบ มาคราวนี้ รอ.พิทักษ์ฯ รน. ผู้อำนวยการ คุณพิชญ์นันท์ฯ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ และคุณยา จิตอาสา ได้มาสนทนาด้วยจึงทราบว่ามูลนิธิ Knowing Buddha ของท่านอาจารย์อัจฉราวดี ที่รณรงค์ต่อต้านการค้าพระพุทธรูป ได้มาตั้งหอมนสิการแห่งนี้ กระทั่งได้รับเลือกให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวอันซีนอันดับ 1 ของ ททท. และยังมีสถานปฏิบัติธรรมกระจายอยู่ ณ จังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ ก่อนลากลับ แจ้งความประสงค์ที่จะให้มูลนิธิลงใน Chulabook blog ด้วย และคงได้มีโอกาสมาปฏิบัติธรรมในเร็วๆ นี้

     วันพระแรม 15 ค่ำเดือน 8 ตรงกับวันที่ 17 กรกฎาคม  2566 ถวายภัตตาหาร(ข้าวเหนียว, ไก่ย่าง, ส้มตำ, กล้วยน้ำว้าหวีเขื่อง และนมถั่วเหลือง) 3+1 ชุด เป็นสังฆทาน แก่พระสงฆ์วัดเสมียนนารี และเมื่อกลับเข้าบ้านแล้ว ได้ถวายบายศรีดอกดาวเรือง@ 9 ดอก 2 ชุด องค์ท้าวเวสสุวรรณ เทพแห่งขุมทรัพย์ และโชคลาภ ให้ได้รับความสำเร็จ สาธุ

     หลังจากร่วมทานกลางวันกับเพื่อน CUD 4 ที่ห้อง Winning Post, RBSC เสร็จแล้วตรงไปตามที่นัดไว้ที่ “มูลนิธิโรงเรียนแห่งชีวิต” อ่อนนุช 8 เขตสวนหลวง เป็นส่วนหนึ่งของ “เตโชวิปัสสนา” ของมูลนิธิ knowing Buddha เจ้าของ”หอมนสิการ” อำเภอแก่งคอย สระบุรี สถานที่ท่องเที่ยวunseen ที่ได้รับเลือกเป็นอันดับ 1 จาก ททท. นอกจะมีส่วนแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับพุทธศาสนาแล้ว ยังรับผู้สนใจปฏิบัติธรรมทั้ง อานาปานสติ 3 วัน และ วิปัสสนาแนวสติปัฏฐาน 4 วัน โดยผู้สนใจที่จะปฏิบัติธรรมเบื้องต้นที่ “มูลนิธิโรงเรียนแห่งชีวิต” กรุงเทพ 1 วันได้ เข้าดูwebsite “เตโชวิปัสสนา” กรอกใบสมัครส่งกลับ จะมีเจ้าหน้าที่โทรมาสัมภาษณ์เพื่อเข้าปฏิบัติธรรมในคอร์สต่างๆที่จัดไว้

     ต่อไปทิศตะวันออกทางไปลาดกระบัง เลี้ยวขวาตรงทางแยกถนนกาญจนาภิเษก เข้าถนนสุขาภิบาล 2 ไปต่ออีก 3 กม. ซ้ายมือเป็นที่ตั้ง “สวนป่ากลางกรุง” ที่ปตท.จัดตั้งขึ้นจากปัญหาการเติบโตของตัวเมืองเกินไป ปัญหามลภาวะ และน้ำท่วม โครงการเช่นนี้เป็นจุดเริ่มต้นเล็กๆที่จำเป็น ดีกว่าไม่ทำอะไรเลยครับ(!) 

     วันที่ 22 กรกฎาคม นัดผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านหมู่ 5 ตำบลบ้านใหม่ อำเภอท่าม่วง กาญจนบุรี (ผู้ช่วยสนั่นฯ) เพื่อออกโฉนดชุมชน สำหรับที่ดินที่ออกเอกสารสิทธิไม่ได้ประมาณ 50 ไร่ ตามวิธีการของกรมที่ดิน กระทรวงมหาดไทย   

     ในปีที่ผ่านมา ทั้งผักกาดหอม ขึ้นฉ่าย ยังไม่งามเต็มที่ พื้นที่ที่ได้เก็บผักกาดหอมไปแล้ว ก็ลงข้าวโพดหวานไปก่อน มีพริกกะเกรี่ยงเท่านั้นที่งามดีกำลังออกดอก พื้นที่ด้านติดเขาลงปอเทืองไว้บำรุงดิน กำลังงาม จะขยายปลูกในพื้นที่ติดเขาที่ไถใหม่ โดยสรุปแม้ปีที่ผ่านมาผักที่ลงจะให้ผลไม่เต็มที่ เว้นแต่ไม้ยืนต้นทั้งสัก ประดู่ และยางนาเริ่มแตกกิ่งแตกใบแล้วหลังจากฝนตกลงมา 

     ขากลับตั้งใจที่จะทานก๊วยจั๊บเยาวราช บนถนนบรมราชชนนี แต่ของหมดเสียก่อน จึงแวะมาทานอาหารปักษ์ใต้”บ้านไอซ์”อยู่บนถนนประชานิเวศน์ ใกล้ๆบ้าน มีทั้ง หมูผัดพริกขิง กล่ำผัดน้ำปลา กุ้งทอด และแกงส้มปลากระบอก กับข้าวกล้อง   

     กลับถึงบ้านแล้วมีเหรียญหลวงปู่ทวด รุ่นเลื่อนสมณศักดิ์ ปี 09 และองค์หลวงปู่ทวดหลวงปู่ดู่ปลุกเสก ท่านพระครูสุตกิตติวรวัฒน์ เจ้าอาวาสวัดเขาอุดมพร อ.เทพสถิต ชัยภูมิ ส่งมาให้เป็นสิริมงคลอย่างยิ่ง  สาธุ

     วันขึ้น 8 ค่ำเดือน 8 ตรงกับวันที่ 25 กรกฎาคม ถือปฏิบัติทุกวันพระเข้าไปถวายภัตตาหาร (ข้าวเหนียว, ปีกไก่ย่าง, ส้มตำ, ส้มเขียวหวาน และนมถั่วเหลือง) 3+1 ชุด เป็นสังฆทาน แก่พระสงฆ์ ณ วัดเสมียนนารี

     ใกล้เทศกาลเข้าพรรษาแล้ว วัดเสมียนนารีจะประกอบพิธียกฉัตรทองคำพระพุทธสิหิงค์และทอดผ้าป่าสร้างเครื่องปรับอากาศ ศาลาเอนกประสงค์ วันที่ 1 สิงหาคม นี้ และเมื่อกลับเข้าบ้านแล้วได้ถวายแจกันดอกกุหลาบแดง 9 ดอกองค์ท้าวเวสสุวรรณ เทพแห่งขุมทรัพย์และโชคลาภ ขอให้สำเร็จสมปรารถนาเทอญ  สาธุ

     วันนี้ที่ 27 กรกฎาคม ทุกวัดจะจัดพิธีเจริญพระพุทธมนต์ในวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว วัดไตรมิตรวิทยารามก็เช่นกัน ได้มีพิธีตั้งแต่เช้า จึงได้เข้าไปถวายปัจจัยร่วมทำบุญกับเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ เจ้าอาวาสวัดไตรมิตรวิทยาราม เจ้าคณะใหญ่หนตะวันออก กรรมการมหาเถรสมาคม และในโอกาสเฉลิมพรรษานี้ ได้โปรดเกล้าฯพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์พระราชาคณะวัดไตรมิตร 2 รูปคือ

1.พระสรภาณโกศล เป็น พระราชวชิรโกศล

2.พระมหาสมคืด สุนทรธัมโม เป็น พระศรีวชิรธาดา

จึงได้ถือโอกาสมุทิตาท่านเจ้าคุณพระศรีวชิรธาดา ในโอกาสเดียวกัน  

     มาวัดไตรมิตรแล้วจึงแวะไปหาอาหารกลางวันทานที่ซอยสุกร(ตรอกโรงหมู) ร้านที่ทานประจำเกิดปิดเลยฝากท้องร้านติดกันแทน ให้สมกับมาถึงเยาวราช

     ได้ร่วมบุญถวายปัจจัยแก่เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ เจ้าอาวาสวัดไตรมิตรวิทยาราม พิธีเจริญพระพุทธมนต์เฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าอยู่หัว

     และวันที่ 28 กรกฎาคมได้ร่วมบุญงานบวช 15 รูป ณ ศูนย์ปฏิบัติธรรมตะวันเพชร อำเภอปากช่อง นครราชสีมา โดยจะบวชในวันถัดไป เวลา 8:00น. เวียนประทักษิณ 8:30น. พิธีขอขมาผู้ปกครอง 9:00น. พิธีพรรพชาอุปสมบทหมู่  

     เจ้าภาพบวชรูปละ 3000.- เจ้าภาพภัตตาหาร 1000.- เจ้าภาพอุปถัมภ์ตลอดโครงการ 10,000.- สาธุ

     ก่อนออกเดินทางตามเส้นทางอีสานใต้ ได้โอนเงินทำบุญปล่อยปลากับท่านพระครูสุตกิตติวรวัฒน์ เจ้าอาวาสวัดเขาอุดมพร อำเภอเทพสถิต ชัยภูมิ ซึ่งทำเป็นประจำทุกเดือน  

     แวะผ่านโคราชได้กระหรี่พัฟอัฐยายซื้อขนมยายไปฝากคุณจำรัส บัวจัตุรัส (แดง) และเพิ่มอาหารที่ร้าน ”รสหนึ่งลูกชิ้นปลา” (ร้านนี้เป็นบ้านที่ผมเกิดเมื่อ 72 ปีที่แล้ว)

     ใช้เส้นทางออกจากตัวเมืองโคราชผ่านศาลเจ้าพ่อหลักเมือง ที่ตั้งของวัดพระนารายณ์มหาราช ซึ่งสมเด็จพระนารายณ์ได้มาสร้างเมืองโคราชไว้เมื่อครั้งครองราชย์ ออกแบบโดยสถาปนิกฝรั่งเศส หนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยว unseen ที่ ททท. คัดเลือก

     ใช้เส้นทางสู่บ้านปรางค์นคร อำเภอคง ออกจากโคราชผ่านทั้ง อำเภอโนนไทย อำเภอพระทองคำ และเข้าตัวบ้านปรางค์นคร เป็นปรางค์องค์เดียวทำด้วยศิลาแลง หันหน้าด้านทิศตะวันออก ในเขตชุมชนมีวิสาหกิจชุมชน ตั้งอยู่บนสระน้ำขนาดใหญ่(บาราย)  

     ออกจากบ้านปรางค์นครไปผ่านอำเภอคง แล้วเข้าสู่อำเภอพิมาย แวะนำขนมฝากแดงก่อนเข้าที่พักที่พิมายพาราไดซ์

     วันถัดมา ยังคงอยู่ในพื้นที่อำเภอพิมาย ผ่านเข้าเมืองพิมายมาอีกครั้ง ครั้งสุดท้ายที่มาเมื่อคราวงานแสดงศิลปนานาชาติครั้งที่ 3 International Biennale Arts Festival ที่จัดขึ้นในเขตอำเภอปากช่อง อำเภอเมือง และ อำเภอพิมาย นครราชสีมาเมื่อปลายปี 2564 ถึงกุมภาพันธ์ 2565  

     คราวนี้ได้ขอรถ backhoe ของคุณเกรียงไกร สินสวัสดิ์ (ต้น) เข้ามาถากถางพื้นที่ริมฝั่งน้ำมูล เพราะได้ขอออกโฉนดที่งอก เพื่อเตรียมทำเขื่อนดินกันน้ำ คาดคะเนจากหลักหมุดโฉนดเดิมยื่นออกไปในแม่น้ำแล้วจะได้พื้นที่มากพอที่จะทำเขื่อนกันน้ำได้กว้างทีเดียว

     ด้วยความเป็นเมืองสำคัญมาตั้งแต่ก่อนประวัติศาสตร์ จึงยังมีสถานที่แสดงงานศิลปะที่ผ่านมา ทั้งไทรงาม พิพิธภัณฑ์แห่งชาติพิมาย (เก็บวัตถุโบราณจากปราสาทหินต่างๆ ในพื้นที่อีสานใต้ไว้ที่นี่)  

     อุทยานประวัติศาสตร์พิมาย (วันนี้ยังเปิดให้เข้าชมแม้ปกติจะปิดทุกจันทร์) และรถแห่เทียนเข้าพรรษาที่วัดเดิม(เป็นโรงเรียนพระโพธิวรญาณ แต่งรถแห่เทียนได้รับรางวัลที่ 1 ประเภท ก คือขนาดใหญ่) ทุกปีจะได้มาโคราชทุกครั้งที่มีแห่เทียนเข้าพรรษา รถที่เข้าแห่เทียนจะจัดแสดงที่ลานย่าโม ปีนี้มาเร็วจึงแวะเข้ามาดูที่วัดเดิมที่ได้รับรางวัลที่ 1 ทีเดียว

     กลับเข้าตัวเมืองโคราชอีกครั้ง ผ่านศาลหลักเมือง แวะซื้อกระหรี่พัฟขนมบ้านคุณย่า ที่มีสาขา 35 แห่ง ทั่วอีสานใต้ กลับไปทานกรุงเทพ แล้วจะกลับมาเยือนโคราชอีกเร็วๆ นี้

เรื่อง :  2566 ท่องเที่ยวศิลปวัฒนธรรม&สิ่งแวดล้อม

By : รณยุทธ์  จิตรดอน

 


View : 0

Share :


Write comment