ในวัย 70 ปี ในยุคสมัยที่โรคของคนส่วนใหญ่คือโรคเรื้อรังที่เกิดจากการกินและการใช้ชีวิตซึ่งแพทย์ไม่มีปัญญาที่จะไปรักษาให้หายได้ และหลักฐานวิทยาศาสตร์ก็ล้วนบ่งชี้ไปทางว่าการเปลี่ยนวิธีกินวิธีใช้ชีวิตต่างหากที่จะทำให้ผู้คนหายจากโรคเรื้อรังได้ เวลาในชีวิตที่เหลืออยู่ของผมนี้ สิ่งที่ผมอยากทำมากที่สุดก็คือทำอย่างไรจึงจะช่วยให้คนทั่วไปสามารถดูแลสุขภาพตัวเองได้ด้วยตัวเอง กล้าเปลี่ยน lifestyle หรือเปลี่ยนวิธีกินวิธีใช้ชีวิตเพื่อให้ตนเองมีสุขภาพดีไม่เป็นโรคเรื้อรัง ที่เป็นแล้วก็หายจากโรคเรื้อรังได้
นั่นทำให้ผมคิดจะเขียนหนังสือสักเล่มไว้เป็นคู่มือสุขภาพสำหรับคนทั่วไปแบบปูความรู้พื้นฐานเรื่องร่างกายมนุษย์และผลวิจัยเกี่ยวกับโรคเรื้อรังที่สำคัญไว้ให้อย่างหนักแน่น คนในบ้านใครเป็นอะไรหรืออยากรู้อะไรก็มาเปิดอ่านดูได้ทุกเมื่อ สอนวิธีกลั่นกรองข้อมูลหลักฐานวิจัยที่ตีพิมพ์กันอย่างดกดื่นในอินเตอร์เน็ทด้วยว่าอะไรเชื่อได้มากน้อยแค่ไหน ผมคิดมาหลายปีแล้ว แต่มันมาติดตรงที่ผมยังไม่สามารถสื่อเรื่องกลไกการทำงานของร่างกายและกลไกการเกิดโรคเรื้อรังให้เข้าใจง่ายๆได้ จะไม่พูดถึงเรื่องพื้นฐานเหล่านี้ก็ไม่ได้ เพราะสมัยหนึ่งผมเคยไปสอนในชั้นที่ผู้เรียนเป็นกลุ่มแพทย์ที่จบแพทย์จากต่างประเทศแต่สอบใบประกอบโรคศิลป์ไม่ได้สักที พอสอนไปได้ชั่วโมงเดียวผมสรุปได้ทันทีว่าแพทย์เหล่านั้นมีปัญหาตรงที่ความรู้พื้นฐานเรื่องร่างกายมนุษย์ไม่แน่นทำให้สร้างความรู้ต่อยอดไม่ได้ ดังนั้นเมื่อจะเขียนหนังสือเล่มนี้ผมจะต้องมีวิธีสื่อให้ผู้อ่านซึ่งไม่มีพื้นอะไรเลยให้เข้าใจหลักพื้นฐานวิชาแพทย์อย่างถ่องแท้ก่อน การจะสื่อเรื่องยากให้ง่ายมันต้องใช้ภาพช่วยบ้าง ใช้การ์ตูนบ้าง แต่ผมเองวาดภาพไม่เป็น ผมเคยลองจ้างช่างวาดภาพเวชนิทัศน์มาลองวาดให้ก็ไม่ได้อย่างใจ จึงทำได้แค่ “ซุกกิ้ง” คือจับโครงการเขียนหนังสือเล่มนี้ใส่ลิ้นชักไว้ตั้งหลายปี
จนกระทั่งผมได้พบกับคุณหมอมาย นักอาหารบำบัด (พญ.ดร.พิจิกา วัชราภิชาต) ตอนที่พบกันนั้นเธอตั้งรกรากอยู่ที่อังกฤษ มีครอบครัวอยู่ที่นั่น ซื้อบ้านอยู่ที่นั่น ทำงานอยู่ที่นั่น ได้ใบอนุญาตให้เป็นผู้พำนักตลอดชีพ (PR) ของประเทศอังกฤษแล้วด้วย หมอมายนอกจากจะเป็นคนรุ่นใหม่ที่เรียนมามากทั้งปริญญาแพทย์จากจุฬาและปริญญาโทปริญญาเอกจากมหา’ลัยลอนดอนแล้ว ยังเป็นผู้ที่ได้ศึกษาต่อเนื่องและปฏิบัติด้วยตนเองอย่างลึกซึ้งในเรื่องอาหารบำบัด ยิ่งไปกว่านั้นเธอมีงานอดิเรกเป็นนักวาดภาพวาดการ์ตูนด้วย เมื่อเธอยอมรับคำชวนของผมให้กลับมาทำงานด้วยกันที่เมืองไทย หนังสือเล่มนี้จึงได้เกิด
ผมมั่นใจว่าหนังสือเล่มนี้จะเป็นคู่มือให้ท่านดูแลสุขภาพตัวเองด้วยตัวเองได้ 99% โดยไม่จำเป็นต้องมีพื้นความรู้ทางการแพทย์มาก่อนเลย มันเป็นหนังสือที่อ่านง่าย เข้าใจง่าย ใช้เวลาอ่านสั้น จบสมบูรณ์ในแต่ละเรื่องแต่ละตอนโดยไม่ต้องอ่านจนหมดเล่มถึงจะเข้าใจ สงสัยเรื่องใดเมื่อใดก็เปิดอ่านเฉพาะเรื่องนั้นได้เมื่อนั้น
นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์…”
-------------------------------------------
สารบัญ
บทนำ
1. ทำอย่างไรเมื่อเกิดกรณีฉุกเฉินทางการแพทย์
1.1 การเรียกรถฉุกเฉิน และแอ็พมือถือ EMS 1669
1.2 เจ็บหน้าอกแบบด่วน
1.3 อัมพาตเฉียบพลัน
1.4 แพ้แบบเฉียบพลัน (Anaphylaxis)
1.5 หน้ามืด เป็นตะคริว เป็นลม หมดสติ
1.6 ปวดศีรษะเฉียบพลันแบบอันตราย
1.7 ปวดท้องเฉียบพลันและท้องร่วง
1.8 กินสารพิษเข้าไป
1.9 สัมผัสสารพิษ
1.10 แผล ผิวหนังฉีกขาด
1.11 แผลถลอก
1.12 กระดูกหัก
1.13 การยกย้ายผู้บาดเจ็บ
1.14 ฟันหัก ฟันหลุด
1.15 สัตว์กัด งูกัด แมลงต่อย
1.16 พิษแมงกะพรุน
1.17 จมน้ำ
1.18 ไฟฟ้าดูด
1.19 บาดเจ็บกล้ามเนื้อ
1.20 ชัก
1.21 วิธีใช้สิทธิเบิกเงิน UCEP ในภาวะฉุกเฉิน
2. ทำความเข้าใจกลไกการเกิดโรคเรื้อรังแบบไม่ติดต่อ
2.1 ไมโครไบโอม ชุมชนจุลชีพในลำไส้
2.2 อนุมูลอิสระและสารต้านอนุมูลอิสระ
2.3 การอักเสบในร่างกาย
2.4 การสูญเสียดุลยภาพของระบบประสาทอัตโนมัติ
2.5 การดื้อต่ออินซูลิน
3. สุขภาพดีด้วยตนเอง
3.1 โภชนาศาสตร์สมัยใหม่สำหรับทุกคน
3.1.1 คาร์โบไฮเดรต (Carbohydrate)
(1) คาร์โบไฮเดรตเชิงเดี่ยว
(2) คาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน
(3) ทำไมเราจึงควรเลือกกินคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน
(4) Resistant starch คืออะไร