คำนำสำนักพิมพ์กาลาปากอส
โดยบรรณาธิการรูปหล่อ แทนไท ประเสริฐกุล
ความตายกับความตลก บางทีอยู่ใกล้กันนิดเดียว
จริงอยู่ ถ้าใครเพิ่งเสียหรือกำลังจะเสียคนที่รักมากๆ ไป คงท้วงว่ามันไม่เห็นตลกตรงไหนเลยฟะ
อันนี้เข้าใจได้ ผมเองก็เพิ่งจะเสียหมาไปเหมือนกัน และมันไม่ค่อยตลกเท่าไหร่เลย
แต่มานึกๆ ดู วันที่ต้องพาเจ้าอุนไปฉีดยาให้หลับและส่งร่างเข้าเตาเผานั้น ก็มีเสียงหัวเราะมาคั่นน้ำตาอยู่เป็นระยะ ตั้งแต่การเลื่อนไปเจอรูปตลกๆ ตอนเด็กของมัน การรำลึกวีรกรรมต่างๆ กับคนในครอบครัว การเล่นมุกงี่เง่ากันระหว่างรอให้เผาเสร็จ นี่ยังไม่นับจังหวะที่นึกตลกอยู่คนเดียว ตอนเห็นรูปปั้นน้องหมาหน้าสถานฌาปนกิจซึ่งมีปีกเทวดาแบบคริสต์ แต่อยู่ในวัดบรรยากาศพุทธแบบสุดจะไทย
ผมนึกย้อนไปถึงงานศพของพ่อเพื่อนสมัยมัธยมคนหนึ่ง ซึ่งก็เต็มไปด้วยเสียงหัวเราะเหมือนกัน เพราะกลายเป็นงานเลี้ยงรุ่นไปโดยไม่ได้ตั้งใจ โดยเฉพาะบุตรชายของผู้วายชนม์นั้นดูจะหัวเราะเยอะกว่าเพื่อนด้วยเหตุผลบางประการ
ความตายเป็นเรื่องซับซ้อน หลากหลายอารมณ์ และบางทีความตลกก็อยูใกล้กับความตาย
หนังผีมากมายเล่นกับความใกล้ชิดตรงนี้ และกี่ครั้งในชีวิตพวกเราที่สนุกสนานกับการปล่อยมุกดาร์กๆ ผมเองมักล้อเล่นกับแฟนว่า ในงานศพเราให้เปิดเพลง Hawaii Five-O (ตึด ตึด ตึด ตื๊น ตืน ตื่น…) แล้วฉายวิดิโอเราเต้นระบำพุงวนไปเรื่อยๆ พร้อมกับบังคับให้ทุกคนที่มาร่วมงานต้องเต้นตามด้วย มุกทำนองนี้ใครๆ ก็เคยเล่นกัน (ใช่ไหมนะ?)
ทว่า นอกเหนือจากความตลกแล้ว หนังสือเล่มนี้ยังเพิ่มอีกมิติให้กับความตาย นั่นก็คือความสงสัยไร้เดียงสาแบบเด็กๆ
ถ้าฉันตาย น้องแมวจะหม่ำลูกตาฉันไหมนะ?
ทำไมไก่ตายแล้วเรากินเนื้อไก่ได้ แต่คนตายแล้วเรากินเนื้อคนไม่ได้?
ตอนยายตาย เราสามารถส่งยายลงเรือแล้วยิงธนูจุดไฟเผาแบบชาวไวกิ้งได้ไหมนะ?
หรือ… ถ้ากลืนเมล็ดป๊อบคอร์นเข้าไปทั้งถุงก่อนตาย ตอนเผาศพมันจะป๊อบทะลุพุงออกมาไหมนะ?
เหล่านี้คือคำถามจากเด็กๆ จริงๆ ที่ผู้เขียน คุณเคทลิน โดตี้ รวบรวมมาตอบในเล่ม
เมื่อมองผ่านสายตาเด็ก ความสยองกับความสงสัย บางทีก็อยู่ใกล้กันนิดเดียว
ผู้เขียน คุณเคทลิน โดตี้ มีประสบการณ์คลุกคลีกับความตายมายาวนาน ด้วยสายอาชีพที่เป็นนักจัดการศพ หรือนักจัดพิธีศพ หรือเรียกแบบไทยๆ อาจจะพอเทียบเคียงได้กับสัปเหร่อ ตลอดชีวิตการทำงานเธอประสบพบเจอคำถามเกี่ยวกับศพและความตายมาแล้วทุกรูปแบบ และรวบรวมเขียนเป็นหนังสือมาแล้วหลายเล่ม (From Here to Eternity, Smoke Gets in Your Eyes) แต่เล่ม Will My Cat Eat My Eyeballs? นี้มีความพิเศษตรงที่ว่าเป็นคำถามที่รวบรวมมาได้มาจากเด็กๆ โดยเฉพาะ
มาดพี่สาวสัปเหร่อใจดีของเธอน่าจะยิ่งเชื้อเชิญให้น้องๆ กล้ายิงคำถามรัวๆ โดยไม่ต้องกลัวโดนดุ หลายข้อผมอ่านแล้วก็รู้สึกประทับใจคำตอบพอๆ กับคำถาม เพราะเป็นเรื่องที่ไม่เคยนึกถึงมาก่อนเลย เช่น ถ้ามีคนตายบนเครื่องบินจะเกิดอะไรขึ้น? เครื่องจะลงจอดทันที หรือไปต่อ? ถ้าเครื่องเต็ม ศพจะนั่งรัดเข็มขัดอยู่ที่เดิมต่อไปไหม? แล้วถ้าศพนั้นนั่งอยู่ข้างเราพอดีล่ะ?
แม้ภาษาที่ใช้จะง่ายๆ แต่ในทุกๆ บท คุณเคทลินตั้งใจตอบน้องอย่างจริงจังมาก ไม่ว่าคำถามจะมาแนวไหน ทำไมคนเราตายแล้วเปลี่ยนสี? มัมมีกลิ่นเป็นยังไง? ตายนอกโลกจะต่างจากตายบนโลกยังไง? เธอพร้อมเล่าโดยเชื่อมโยงความรู้ทั้งจากวิทยาศาสตร์ของความตายและการย่อยสลาย สู่เกร็ดความรู้ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม กฎหมาย และอื่นๆ ซึ่งเมื่อผนวกกับประสบการณ์ตรงในฐานะสัปเหร่อเข้าไปอีกก็ยิ่งทำให้หนังสือเล่มนี้อ่านมัน เพลิน ฮา กันเอง เบิกเนตร และสลับอารมณ์ระหว่างเอ็นดูกับอาดูรได้อย่างจริงใจ
หากเปรียบการอ่านหนังสือเล่มนี้เป็นดั่งการเดินเล่นข้ามแม่น้ำสติกซ์ อีกสิ่งที่สำเหนียกได้เบาๆ ตลอดเส้นทางก็คือ
ความตายช่างเป็นเรื่องธรรมชาติ
ไม่ว่า วัยไหน ชาติไหน ภาษาไหน ยุคไหน
เราทุกคนล้วนผ่าน อยากรู้ เข้าใจ และท้ายที่สุด เผชิญ
แทนไท ประเสริฐกุล
8 กันยายน 2567
—---------