นี่คือหนังสืออัตชีวประวัติของชายผู้ใช้ชีวิตวัยเยาว์ในศานตินิเกตัน อาศรมที่รพินทรนาถ ฐากุรเป็นผู้สร้างเพื่อให้เป็นสถานศึกษาในอุดมคติ ชายผู้เกือบเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็ง แต่กลับรักษาหาย จนกลายเป็นชายผู้ได้ไปศึกษาต่อที่เคมบริดจ์ มหาวิทยาลัยชั้นนำของอังกฤษ และกลายเป็นคนอินเดียผู้ได้ดำรงตำแหน่งเดียวกับเซอร์ไอแซก นิวตัน ในฐานะมาสเตอร์แห่งตรินิตีคอลเลจอันทรงเกียรติ เป็นชายที่ได้รับรางวัลโนเบล (สาขาเศรษฐศาสตร์) รางวัลเดียวกันกับที่ฐากุรเคยได้รับ (สาขาวรรณกรรม) และใช้เงินรางวัลไปกับการสร้างศานตินิเกตัน
นี่คือเรื่องราวของชีวิตอันมหัศจรรย์ของอมรรตยะ เสน ผู้มีชีวิตโลดแล่นดั่งวรรณกรรมชั้นดี หนังสือเล่มนี้จึงมิใช่เป็นแต่เพียงชีวประวัติของบุคคลธรรมดา หากแต่มันคือประสบการณ์ตรงต่อยุคสมัย ซึ่งช่วยให้เราเข้าใจภาพของอินเดียในยุคเปลี่ยนผ่าน ผ่านงานเขียนที่ประกอบด้วยวรรณศิลป์และความทรงจำอันงดงาม จนอาจกล่าวได้ว่า นี่คือหนังสืออัตชีวประวัติชั้นเยี่ยมเขียนโดยปัญญาชนชั้นยอด ซึ่งระบบการศึกษาจากฝั่งตะวันออกและตะวันตกพึงผลิตได้ หนังสือเล่มนี้ แม้จะหนา ทว่าอ่านสนุก เพราะเขียนด้วยความรู้อันลึกซึ้ง ด้วยท่วงทำนองของความรัก ความเมตตา และที่สำคัญเปี่ยมด้วยอารมณ์ขันทั้งแบบอินเดียและอังกฤษ นี่คือหนังสือซึ่งสามารถเป็นต้นแบบในการคิด การเขียน การศึกษา และการพัฒนาตนเองแบบแยบคาย โดยมิได้มีแค่วาทศิลป์ หากแต่เต็มเปี่ยมไปด้วยประสบการณ์ตรง และคงมีน้อยคนที่จะถ่ายทอดออกมาได้ ถ้ามิได้ผ่านประสบการณ์นั้น มันจึงเป็นหนังสือที่ควรค่าแก่การมีติดบ้านไว้เพื่อสอนลูกหลานและตนเองว่า บ้านที่ดี การศึกษาที่ดี เพื่อนที่ดี ครูที่ดี สร้างชีวิตที่ดีและโลกที่ดีได้อย่างไร
อมรรตยะ เสน ถ่ายทอดบรรยากาศการเรียนในศานตินิเกตัน การเรียนในเคมบริดจ์ ซึ่งช่วยให้เราเข้าใจว่า ระบบการศึกษาที่ดีนั้นมีบรรยากาศเช่นไร และระบบการศึกษาแบบไหนจึงจะสร้างผู้คนชั้นเลิศได้ หนังสือเล่มนี้ช่วยต่อจิ๊กซอว์เกี่ยวกับอินเดียและอังกฤษที่เราขาดหาย ช่วยขยายความเรื่องมาร์กซ์ที่เราอาจเข้าใจผิด ช่วยให้เราเข้าใจการจัดการกับภาวะวิกฤต และที่สำคัญที่สุดคือช่วยให้เราเข้าใจชีวิตในมิติที่กว้างขวางหลากหลาย จากคนที่ใช้ชีวิตอยู่ในหลายโลกและหลายบ้าน