ครั้งหนึ่ง “ปาตานี” เกือบจะได้รับเอกราชจากประเทศไทย' อันเป็นผลงานของเติงกู มะห์หมูด มะห์ยิดดีน (บุตรชายคนสุดท้องของเติงกู อับดุล กาดีร์ กามารุดดีน ราชาองค์สุดท้ายของปาตานี)
เติงกู มะห์หมูด มะห์ยิดดีนเป็นบุคคลที่โลกลืม โดยเฉพาะโลกรัฐไทยที่พยายามทำให้โลกมลายูปาตานีลืมบุรุษผู้มีความสำคัญอย่างยิ่งในประวัติศาสตร์ปาตานีโดยเฉพาะในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองและหลังจากนั้น
ชีวิตของเติงกูมะห์หมูดฯมีสีสันมาก เขาถือกำเนิดในค.ศ.1908 ก่อนหน้าการทำสนธิสัญญาระหว่างสยามกับอังกฤษเพียงหนึ่งปี สนธิสัญญาดังกล่าวส่งผลให้ปาตานีอยู่ภายใต้การปกครองของสยาม
เขาได้ย้ายถิ่นฐานไปพำนักที่รัฐกลันตันตามบิดาที่ลี้ภัยไปอยู่ที่นั่นเมื่อค.ศ.1915 หลังจากบิดาถูกจับกุมและคุมขังในข้อหาเป็น ‘กบฏ’ ต่อสยาม หลังจากที่มีการปฏิรูปการปกครองหัวเมืองให้เป็นแบบมณฑลเทศาภิบาล
เติงกูมะห์หมูดฯเป็นที่รู้จักและจดจำในฐานะนักชาตินิยม, นักการศึกษา, นักการเมืองมาเลเซีย และในฐานะผู้นำการปฏิรูปการศึกษาในกลันตัน
ตอนที่ญี่ปุ่นบุกยึดมลายาช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง เขายังมีบทบาทสำคัญในกองกำลังอาสาสมัครต่อต้านญี่ปุ่น เติงกูมะห์หมูดฯได้เข้าร่วมรบกับกองกำลังอาสาในการต่อต้านการรุกรานของญี่ปุ่น โดยเป็นผู้นำ ‘Force 136’ ทำสงครามกองโจรต่อต้านญี่ปุ่นและไทยที่ดินแดนแหลมมลายู ต่อมาได้ล่าถอยไปที่สิงคโปร์ เมื่อสิงคโปร์ตกอยู่ภายใต้การยึดครองของญี่ปุ่น เขาจึงลี้ภัยไปอยู่ที่อินเดีย
ที่อินเดีย เขาได้จัดรายวิทยุของ All India Radio โดยรับผิดชอบการออกอากาศเป็นภาษามลายูในชื่อ ‘Suara Harimau Malaya’ ซึ่งหมายความว่า ‘เสียงเสือมลายา’ รายการนี้ได้ถ่ายทอดไปทั่วคาบสมุทรมลายูรวมถึงปาตานีด้วย ซึ่งเติงกู มะห์หมูด มะห์ยิดดีนได้เรียกร้องให้ชาวมลายูต่อต้านทั้งญี่ปุ่นและสยาม
เนื่องจากรัฐบาลของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ทำสัญญาเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่น และได้ประกาศสงครามกับอังกฤษและสหรัฐอเมริกาในวันที่ 25 มกราคม ค.ศ.1942
ต่อมาเติงกูมะห์หมูดฯได้รับมอบหมายให้คุมกองกำลัง Force 136 ที่ไปฝึกที่ศรีลังกา โดยเขาได้รวบรวมนักศึกษาชาวมลายูในตะวันออกกลาง ท่านเป็นผู้เดินทางไปเชิญชวนด้วยตนเอง; กองกำลัง Force 136 จะส่งทหารกลับไปยังดินแดนมลายูเพื่อเป็นสายลับให้กับอังกฤษ
ด้วยผลงานอันเป็นที่ประจักษ์หลายอย่างของท่าน ทหารอังกฤษชื่นชอบและให้เกียรติเขามาก กระทั่งมีการสรรเสริญและสัญญาว่าหากอังกฤษได้รับชัยชนะ อังกฤษจะช่วยปาตานีดินแดนของท่านให้ได้รับเอกราชจากสยาม โดยตะโกนประโยค “Long live the King of Patani” หลายครั้งที่นิวเดลี
อย่างไรก็ดี เมื่อสงครามจบลงด้วยความพ่ายแพ้ของญี่ปุ่น เพราะฝ่ายสัมพันธมิตรโดยสหรัฐอเมริกาทิ้งระเบิดปรมาณูที่ฮิโรชิมาและนางาซากิ อังกฤษกลับไม่ทำตามสัญญาทั้งๆ ที่มีโอกาสลงโทษสยามเพราะสยามร่วมมือกับญี่ปุ่น แต่อังกฤษก็เลือกผลประโยชน์ของตัวเองตามสนธิสัญญาสันติภาพกับสยามปี 1946 ที่จะไม่ลงโทษสยามด้วยการยึดปาตานีเพื่อรวมกับดินแดนมลายูที่เหลือ และรับข้อเสนอของสยามที่จะมอบข้าว 1.5 ล้านตันแทน เติงกูมะห์หมูดฯผิดหวังกับอังกฤษ จึงลาออกจากข้าราชการอังกฤษ เพื่อทำตามความฝันอันสูงสุดคือการช่วยให้ปาตานีได้รับเอกราชจากสยาม
ในช่วงเวลาเดียวกัน รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ประกาศใช้นโยบายรัฐนิยมทั่วประเทศ ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของชาวปาตานี เพราะกฎหมายอิสลามที่ใช้ในปาตานีต้องถูกล้มเลิก และวัฒนธรรมของชาวมลายูถูกเบียดเบียน ทำให้ชื่อของหะยีสุหลงกลายเป็นที่รู้จักในฐานะประธานคณะกรรมการอิสลามจังหวัดปัตตานี และผู้ก่อตั้งองค์กรเซอมางัตปาตานีเพื่อยับยั้งสยาม และยังเป็นผู้รวบรวมความต้องการของชาวบ้านผ่านคณะกรรมการอิสลามทั่วปาตานีออกเป็นข้อเรียกร้อง 7 ประการ
กล่าวได้ว่า ณ ขณะนั้นปาตานีมีสองผู้นำจิตวิญญาณ คือหะยีสุหลงและเติงกูมะห์หมูดฯ อย่างไรก็ดี ข้อเรียกร้อง 7 ประการ ของหะยีสุหลงไม่ได้ถูกตอบรับจากรัฐบาลสยาม ส่วนเติงกูมะห์หมูดฯก็เพิ่งผิดหวังจากอังกฤษ เป็นเหตุบรรจบให้ทั้งสองคนต้องมาร่วมงานกัน โดยองค์กรเซอมางัตปาตานีมอบหมายให้เติงกูมะห์หมูดฯเป็นตัวแทนชาวปาตานีในการเจรจากับรัฐบาลสยาม และภายหลังทั้งสองก็เป็นบุคคลสำคัญในการก่อตั้งองค์กรสมัชชามลายูปาตานีรายา หรือ (Gabungan Melayu Patani Raya – GEMPAR) ในปี 1948
ผลงานของเติงกูมะห์หมูดฯที่เคลื่อนไหวภายใต้ GEMPAR คือการทำให้ GEMPAR เป็นที่ยอมรับในวงชนชั้นนำในดินแดนมลายู อีกทั้งยังเคยเสนอปาตานีให้เป็นส่วนหนึ่งของ Indonesia Raya แต่ประธานาธิบดีซูการ์โนของอินโดนีเซียเห็นว่าปาตานีควรรวมกับมลายามากกว่า
ในที่สุดความตั้งใจของเขาไปไม่ถึงจุดหมาย เมื่อเติงกูมะห์หมูดฯเสียชีวิตด้วยวัยเพียง 46 ปี ในปี ค.ศ. 1954
ครั้งหนึ่งเขาได้กล่าวกับผู้แทนอังกฤษ กรณีปาตานีต้องอยู่ใต้ปกครองของไทย ว่า “ปาตานีจะกลายเป็นหนามตำเท้า รัฐไทย ต่อไปอีกนาน”