ราคารวม : ฿ 0.00
สุนทรภู่ ครูกลอน อักษรศิลป์, เป็นยอดจินตกวี ศรีสยาม, ผ่านภัยเคราะห์ เพาะสร้างพจน์ แสนงดงาม, จารึกความ เจิดจรัส สมบัติไทย, รอบร้อยปี มีหนึ่งมา ว่ายังยาก, จึงได้ฝาก ชื่ออยู่ คู่สมัย, คนนับถือ ลือเลื่อง เมืองใกล้ไกล, เกียรติยิ่งใหญ่ ก้องหล้า มหากวี
ประพันธ์โดย ก้องภพ รื่นศิริ, เนื่องในวันสุนทรภู่ 26 มิถุนายน 2564
นิราศพระบาท https://www.chulabook.com/th/product-details/56684
นิราศภูเขาทอง https://www.chulabook.com/th/product-details/17336
รำพันพิลาป สุนทรภู่ยอดกวี https://www.chulabook.com/th/product-details/110571
ขุนช้าง ขุนแผน https://www.chulabook.com/th/product-details/16484
มติชน ฉบับวันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2564
พอพล สุกใส อาจารย์ภาควิชาภาษาตะวันออก คณะโบราณคดี ม.ศิลปากร
สุนทรภู่ จากจินตนาการคนยุคหลัง
พระสุนทรโวหาร (ภู่) หรือ สุนทรภู่ เป็นกวีสำคัญท่านหนึ่งแต่ครั้งต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ตามประวัติเกิดวันจันทร์ เดือน 8 ขึ้นค่ำ 1 จุลศักราช 1148 ตรงกับวันที่ 26 มิถุนายน พุทธศักราช 2329 ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เข้ารับราชการที่ "ขุนสุนทรโวหาร" ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 จ นกระทั่งในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ย้ายไปขึ้นสังกัดกรมพระราชวังบวรสถานมงคลเป็นที่ "พระสุนทรโวหาร" และถึงแก่กรรมเมื่อพุทธศักราช 2398 อายุได้ 69 ปี
อาจกล่าวได้ว่า พระสุนทรโวหาร (ภู่) เป็นกวีที่มีความชำนาญด้านการประพันธ์กลอน ซึ่งแสดงออกถึงทรรศนะ โลกทัศน์ ทักษะ ความรู้ ถ่ายทอดไว้ในงานกวีนิพนธ์จำนวนมาก ทั้งยังอาจถือไปด้วยท่านได้สร้างขนบการประพันธ์กลอนนิทานและกลอนนิราศขึ้นใหม่ อันถือเป็น "ประดิษฐการ" สำคัญที่รังสรรค์ไว้เป็นมรดกแก่วรรณศิลป์ และกวีนิพนธ์ไทย ดังจะกล่าวถึงต่อไป
พระอภัยมณี เล่ม 3 พิมพ์ที่โรงพิมพ์ราษฎร์เจริญ พ.ศ.2491 (ภาพจากฐานข้อมูลหนังสือเก่า ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธรฯ)
นิทานคำกลอนเรื่องพระอภัยมณี ถือเป็นวรรณคดีที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นผลงานที่ดีเด่นที่สุดเรื่องหนึ่งของสุนทรภู่ ด้วยเหตุที่วรรณคดีเรื่องนี้มีความแตก
ต่างจากวรรณคดีแบบฉบับเรื่องอื่นๆ เพราะถึงแม้ว่าเนื้อหาตอนต้นของเรื่องจะยังคงรูปแบบตามขนบการแต่งวรรณกรรมจักรๆ วงศ์ๆ ทั่วไป กล่าวคือ มักกล่าวถึงตัวละครเอกเป็นโอรสกษัตริย์ ต้องไปเรียนศิลปวิทยาการกับฤๅษี หรือพราหมณ์ทิศาปาโมกข์ แล้วจึงกลับบ้านเมือง ระหว่างนั้นตัวละครเอก หรือชายา มักถูกยักษ์ หรือโจร ลักพาให้พลัดพรากกัน ภายหลังจึงตามหากันจนพบ นอกจากนั้นยังอาจมีเหตุให้พระราชบิดาไม่ยอมรับ และขับไล่ตัวละครเอกออกจากบ้านเมือง ซึ่งตัวเอกมักจะได้ไปครองเมืองอื่นในภายหลัง
ดังที่กล่าวแล้วเป็นขนบของการแต่งวรรณกรรมจักรๆ วงศ์ๆ ทั่วไป ซึ่งเมื่อศึกษาวรรณคดีเรื่องพระอภัยมณีแล้ว พบว่าเนื้อหาตอนต้นเรื่องคือตั้งแต่พรรณนาความเมืองสุทัศน์ พระอภัยมณี ศรีสุวรรณ ไปเรียนวิชา เรื่อยไปจนถึงตอนพระอภัยมณีถูกนางผีเสื้อสมุทรลักพาตัว ยังถือว่าเป็นการดำเนินเรื่องไปตามขนบโบราณอย่างแท้จริง
เนื้อเรื่องพระอภัยมณีตอนหลังจากนั้น คือ ตั้งแต่ศรีสุวรรณเข้าเมืองรมจักร พระอภัยมณีหนีนางผีเสื้อสมุทร ไปจนสิ้นสุดสงครามเมืองลังกา อาจถือได้ว่าเป็นส่วนที่เด่นที่สุดของสุนทรภู่ ด้วยเหตุที่นำเสนอมุมมอง โลกทัศน์ใหม่ ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องใหม่ในสมัยนั้น เช่น ให้ตัวเอก คือ พระอภัยมณี แก้ไขปัญหาต่างๆ ด้วยดนตรี และศิลปะทางการทูต มากกว่าใช้ความสามารถทางการรบเช่นเดียวกับตัวละครอื่นๆ ที่เคยเป็นมาในวรรณกรรมเรื่องอื่นๆ
นอกจากนี้ พระอภัยมณียังถือเป็นตัวแทนโลกทัศน์ของสุนทรภู่ที่มีต่อชาวต่างชาติ โดยชาวสยามในสมัยนั้นส่วนใหญ่มีมุมมองด้านลบต่อชาวต่างชาติ ด้วยมองสาเหตุการเข้ามาว่าเพื่อแสวงหา และกอบโกยผลประโยชน์ทางทรัพยากรจากสยาม แต่สุนทรภู่มองในมุมกลับสยามก็น่าจะได้ประโยชน์จากชาวต่างชาติ เช่น สรรพวิทยาการต่างๆ อันจะได้จากความสัมพันธ์ ดังนั้น สุนทรภู่จึงสร้างตัวละครพระอภัยมณี ให้สนใจศึกษาสรรพวิชาการต่างๆ จากชาวต่างชาติเรือแตกที่อาศัยอยู่ ณ เกาะแก้วพิสดาร โดยมองว่าอาจจำเป็น และได้ใช้ประโยชน์ต่อได้
ที่สำคัญอีกประการหนึ่งสุนทรภู่ยังแสดงโลกทัศน์เกี่ยวกับสตรี ที่แตกต่างจากโลกทัศน์ของคนในสังคมร่วมสมัยเดียวกัน ด้วยเหตุที่สุนทรภู่มิได้ปิดกั้นสิทธิด้านต่างๆ ของสตรีโดยเฉพาะด้านการศึกษา เช่น ยกย่องสตรีที่มีปัญญาความรู้ หรือสตรีที่มีสภาวะเป็นผู้นำ โดยนำเสนอผ่านตัวละครสตรีในเรื่องพระอภัยมณี เช่น กำหนดให้นางวารี เป็นผู้มีสติปัญญา ความรู้พอที่จะเป็นคู่คิดร่วมทุกข์สุขกับพระอภัยมณีได้ รวมถึงกำหนดให้กษัตริย์เมืองลังกา เป็นสตรี คือนางละเวง และสุนทรภู่ยังสร้างให้นางละเวงเป็นผู้นำที่มีความรู้ ความสามารถ ในอันจะบริหารบ้านเมืองได้ เช่นนี้เป็นต้น ดังคำประพันธ์
๏ ส่วนวาลีปรีชาปัญญาหญิง
เป็นยอดยิ่งยิ้มย่องสนองไข
จะฟันแทงแย้งยิงออกชิงชัย
สงสารไพร่ก็จะม้วยลงด้วยกัน
๏ แม้นลวงล่อพอให้ได้ชัยชนะ
ก็เห็นจะทำได้ใจหม่อมฉัน
ขอพระองค์จงเป็นกองออกป้องกัน
คุมกำปั่นแปดร้อยคอยระวัง
๏ แม้นสงครามตามตีจงหนีหลบ
ไปวันหนึ่งจึงค่อยทบตลบหลัง
มาปากอ่าวก้าวสกัดตัดกำลัง
ให้พร้อมพรั่งทั้งทัพรบสมทบกัน
๏ ข้าจะรับจับท้าวเจ้าสิงหล
ด้วยเล่ห์กลโอนอ่อนคิดผ่อนผัน
นางทูลความตามปัญญาสารพัน
ทั้งสุวรรณมาลีเห็นดีจริง
๏จึงทูลว่าข้าจะรับเป็นทัพซ้ำ
ช่วยเผาลำนาวาประสาหญิง
พระทรงฟังนั่งเอกเขนกอิง
เห็นดียิ่งเจียวปัญญานางวาลี
๏ทั้งโฉมยงนงลักษณ์อัคเรศ
รู้ไตรเพทพอใจรบไม่หลบหนี
เคยรบเรือเชื่อถือฝีมือดี
พระเปรมปรีดิ์ปรึกษาเสนาใน
๏ให้เตรียมรับทัพลังกาพวกข้าศึก
ที่ตื้นลึกเล่าแจ้งแถลงไข
เห็นสมคะเนเสนีก็ดีใจ
ไปเตรียมไว้พร้อมพรั่งคอยฟังความฯ
(พระอภัยมณี)
ดังที่ได้กล่าวมาแล้วนี้ นิทานคำกลอนเรื่องพระอภัยมณี นอกจากจะมีคุณค่าในเชิงวรรณคดีแล้ว ยังถือได้ว่าเป็นการนำเสนอมุมมองโลกทัศน์ใหม่ที่ล้ำหน้าเกินกว่าคนในสังคมยุคเดียวกัน และถือได้ว่าเป็นจุดเปลี่ยนของการสร้างสรรค์งานอันเป็นต้นแบบของงานวรรณกรรมในรุ่นหลังต่อไป
โคลงนิราศ ฉบับโครงนิราศสุพรรณ
พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ ทรงอธิบายว่า ที่มักเข้าใจว่า "นิราศ" มาจากคำบาลี (นิรา) สันสกฤต (นิราศ) แปลว่า "ปราศจากความหวัง" (ไม่มีอาศา) ยังไม่ทรงเห็นพ้องเช่นนั้น ด้วยว่า คำว่า นิราศ แปลว่าไม่มี "อาศา" (ความหวัง) นั้นถูกตามศัพท์ แต่จะแปล "หนังสือนิราศ" ว่า "ไม่มีอาศา" ดูไม่เข้ากัน ทั้งนี้ทรงอธิบายโดยหลักศาสนาว่า "อาศาเป็นเครื่องร้อน เป็นของไม่ดี ไม่มีอาศา คือตัดเครื่องร้อนได้ เป็นความสุข" นอกจากนี้ทรงอ้างคาถาจากวิธุรบัณฑิตชาดกว่า
"นิราสนฺติ ปุตฺตทาราทีหิ นิราสจิตฺตํ" "ความว่านิราสจิต คือจิตที่พลัดพรากจากลูกเมียได้โดยไม่มีเดือดร้อนกังวล"
นอกจากนี้ยังทรงตั้งข้อสันนิษฐานเพิ่มว่า "นิราศ" ที่หมายถึงหนังสือคร่ำครวญ น่าจะมาจากศัพท์ว่า "นิร" (ป.สํ) ที่แปลว่า ไม่ ไม่มี ออก ภายหลังทำให้เป็นเสียงยาวโดยเติมสระอา จาก นิร เป็น นิรา และ เติม ศ เข้าลิลิตอีกในภายหลัง
วรรณคดีนิราศ จึงเป็นเรื่องที่กวีจับเอาอารมณ์เมื่อต้องจากจากนางอันเป็นที่รักมาแต่งพรรณนาอารมณ์ มาเป็นแก่นของเรื่อง และนำรายละเอียดในการเดินทางมาเป็นกระพี้ หรือส่วนประกอบของเรื่อง จึงปรากฏเป็นวรรณคดีนิราศขึ้น ลักษณะดังกล่าวนี้ นี่เป็นลักษณะของหนังสือนิราศในสมัยแรก และค่อยๆ คลี่คลาย พัฒนารูปแบบขนบการเขียนเรื่อยมาตามความนิยมในแต่ละสมัย
นิราสเมืองเพ็ชร์ พิมพ์ที่โรงพิมพ์ราษฎร์เจริญ พ.ศ. 2492 (ภาพจากฐานข้อมูลหนังสือเก่า ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธรฯ)
วรรณคดีนิราศแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา นิยมให้ความสำคัญและเน้นในเรื่องอารมณ์ ความรู้สึกการคร่ำครวญถึงนางอันเป็นที่รักเป็นหลัก โดยอาศัยเหตุการณ์ สถานที่ เป็นสื่อเชื่อมโยงเรื่องราวเท่านั้น เช่น กำสรวลสมุทร โคลงทวาทศมาส แล้วจึงค่อยเพิ่มน้ำหนักการพรรณนาเหตุการณ์ สถานที่ในช่วงปลายกรุงศรีอยุธยา เช่น นิราศเมืองเพชร (เพลงยาวหม่อมภิมเสน) โคลงนิราศธารโศก โคลงนิราศธารทองแดง เป็นต้น
ในสมัยรัตนโกสินทร์ อาจกล่าวได้ว่าสุนทรภู่ เป็นกวีสำคัญท่านหนึ่งที่มีงานกวีนิพนธ์เชิงนิราศเป็นจำนวนมาก และนิราศเหล่านั้น มีประดิษฐการที่ต่างออกไปจากวรรณคดีนิราศแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา โดยให้ความสำคัญกับการพรรณนาอารมณ์ความรู้สึก และการในรายละเอียดของเหตุการณ์ สถานที่ ในอัตราส่วนเสมอกัน ไม่หนักไปทางใดทางหนึ่ง จึงมีลักษณะคล้ายกับการบันทึกเรื่องราว เหตุการณ์ เช่น
๏ ถึงบางพลัดยิ่งอนัตอนาถจิต นิ่งพินิจนึกน่าน้ำตาไหล พี่พลัดนางร้างรักมาแรมไกล ประเดี๋ยวใจพบบางริมทางจร, ถึงบางซื่อชื่อบางนี้สุจริต เหมือนซื่อจิตที่พี่ตรงจำนงสมร มิตรจิตขอให้มิตรใจจร ใจสมรขอให้ซื่อเหมือนชื่อบาง, ถึงบางซ่อนเหมือนเขาซ่อนสมรพี่ ซ่อนไว้นี่ดอกกระมังเห็นกว้างขวาง เจ้าเยี่ยมหน้าออกมาหาพี่หน่อยนาง จะลาร้างแรมไกลเจ้าไปแล้ว ฯ (นิราศพระบาท)
๏ โรงหีบหนีบอ้อยออด แอดเสียง สองค่างรางรองเรียง รับน้ำ, อ้อยใส่ไล่ควายเคียง คู่รับ เวียนเอย อกพี่นี้ชอกช้ำ เช่นอ้อยย่อยระยำ (โคลงนิราศสุพรรณ)
นอกจากนี้ยังมีการแสดงทรรศนะ สัจธรรมของชีวิตแทรกไว้ในงานนิราศ เช่น
๏ เหมือนบายศรีมีงานท่านถนอม เจิมแป้งหอมน้ำมันจันทน์ให้หรรษา พอเสร็จงานท่านเอาลงทิ้งคงคา ต้องลอยไปลอยมาเป็นใบตอง (รำพันพิลาป)
๏ ถึงบางพูดพูดดีเป็นศรีศักดิ์ มีคนรักรสถ้อยอร่อยจิต แม้พูดชั่วตัวตายทำลายมิตร จะชอบผิดในมนุษย์เพราะพูดจา (นิราศภูเขาทอง)
๏ มาถึงบางธรณีทวีโศก ยามวิโยคยากใจให้สะอื้น โอ้สุธาหนาแน่นเป็นแผ่นพื้น ถึงสี่หมื่นสองแสนทั้งแดนไตร เมื่อเคราะห์ร้ายกายเราก็เท่านี้ ไม่มีที่พสุธาจะอาศัย ล้วนหนามเหน็บเจ็บแสบคับแคบใจ เหมือนนกไร้รังเร่อยู่เอกาฯ (นิราศภูเขาทอง)
การนำเสนอภาพสังคมวัฒนธรรม เช่น ความหลากหลายทางชาติพันธุ์และการผสมผสานทางวัฒนธรรม ดังเห็นจากความนิราศที่พรรณนาถึงชุมชนรามัญ ที่มาตั้งอยู่ที่เกาะเกร็ด และภายหลังมีความคลี่คลายทางวัฒนธรรม โดยหญิงสาวชาวรามัญแทนที่จะไว้ผมมวยแบบเดิม กลับนิยมจับเขม่า ถอนไรผมเหมือนชาวไทย ดังความ
๏ ถึงเกร็ดย่านบ้านมอญแต่ก่อนเก่า ผู้หญิงเกล้ามวยงามตามภาษา เดี๋ยวนี้มอญถอนไรจุกเหมือนตุ๊กตา ทั้งผัดหน้าจับเขม่าเหมือนชาวไทย (นิราศภูเขาทอง)
นอกจากนี้พระสุนทรโวหาร (ภู่) ยังได้กล่าวถึงการประกอบอาชีพของชาวญวน เมื่อเดินทางผ่าน "บ้านญวน" ว่าชาวญวนในสมัยนั้นเลี้ยงชีพด้วยการทำประมง ดังความ
๏ ถึงบ้านญวนล้วนแต่โรงแลสะพรั่ง มีข้องขังกุ้งปลาไว้ค้าขาย ตรงหน้าโรงโพงพางเขาวางราย พวกหญิงชายพร้อมเพรียงมาเมียงมอง (นิราศภูเขาทอง)
นอกจากการพรรณนาความนิราศ การให้รายละเอียดสถานที่แล้ว พระสุนทรโวหาร (ภู่) ได้สอดแทรกคติความเชื่อทางพระพุทธศาสนาไว้ใน นิราศภูเขาทอง ความตอนหนึ่งดังกล่าวถึง ความเชื่อที่ว่าหากใครคบชู้ คือประพฤติตนผิดศีลข้อ 2 ตามหลักศีล 5 เมื่อตายไป ผู้นั้นจะตกนรกและต้องปีนต้นงิ้วซึ่งมีหนามยาว แหลมคม
๏ งิ้วนรกสิบหกองคุลีแหลม ดังขวากแซมเสี้ยมแทรกแตกไสว ใครทำชู้คู่ท่านครั้นบรรลัย ก็ต้องไปปีนต้นน่าขนพอง (นิราศภูเขาทอง)
เนื้อความนี้เป็นความเชื่อมโยงอิทธิพลเรื่องไตรภูมิในสังคมไทย ดังความใน "ปฐมกัณฑ์" ว่าด้วยนรกภูมิ ที่กล่าวถึง
นรกบ่าวถัดนั้นอันเป็นคำรบ 15 ชื่อ โลหสิมพลีนรก ฝูงคนอันทำชู้ด้วยเมียท่านก็ดี แลหญิงอันมีผัวแล้วแลทำชู้จากผัวก็ดี คนฝูงนั้นตายไปเกิดในนรกนั้น นรกนั้นมีป่าไม้งิ้วป่าหนึ่งหลายต้นนักแล ต้นงิ้วนั้นสูงได้แลโยชน์ แลหนามงิ้วนั้นเที้ยรย่อมเหล็กแดงเป็นเปลวลุกอยู่ แลหนามงิ้วนั้นยาวได้ 16 นิ้วมือ...
การพรรณนาความนิราศในงานกวีนิพนธ์ของสุนทรภู่ ยังสร้างประดิษฐการเป็นแบบแผนขึ้นใหม่อีกระดับหนึ่ง จากเดิมที่เป็นเพียงการพรรณนาความถึงนางอันเป็นที่รัก โดยอาศัยเหตุการณ์ สถานที่เป็นสื่อนำอารมณ์ โดยยกระดับขึ้นสู่การพรรณนาความสะเทือนใจถึงพระมหากษัตริย์ ดังความ
๏ ถึงหน้าวังดังหนึ่งใจจะขาด คิดถึงบาทบพิตรอดิศร โอ้ผ่านเกล้าเจ้าประคุณของสุนทร แต่ปางก่อนเคยเฝ้าทุกเช้าเย็น พระนิพพานปานประหนึ่งศีรษะขาด ด้วยไร้ญาติยากแค้นถึงแสนเข็ญ ทั้งโรคซ้ำกรรมซัดวิบัติเป็น ไม่เล็งเห็นทึ่งจะพึ่งพา (นิราศพระบาท)
๏ โอ้ปางหลังครั้งสมเด็จพระบรมโกศ มาผูกโบสถ์ก็ได้มาบูชาชื่น ชมพระพิมพ์ริมผนังยังยั่งยืน ทั้งแปดหมื่นสี่พันได้วันทา โอ้ครั้งนี้มิได้เห็นเล่นฉลอง เพราะตัวต้องตกประดาษวาสนา เป็นบุญน้อยพลอยนึกโมทนา พอนาวาติดชลเข้าวนเวียน (นิราศพระบาท)
คำประพันธ์ข้างต้น แสดงความสะท้อนสะเทือนใจของสุนทรภู่ที่ต้องออกจากราชการภายหลังสิ้นรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ลักษณะการพรรณนาความดังกล่าวนี้ ยังอาจถือได้ว่ามีอิทธิพลต่องานกวีนิพนธ์ของกวีรุ่นหลัง ดังปรากฏความลักษณะเดียวกันในนิราศวังบางยี่ขัน ของคุณพุ่ม ที่แต่งขึ้นในปี พ.ศ.2412 ดังนี้
หยุดบังคมพระบรมโกษฐ์รัตน์ โทมนัศนึกมานิจาเอ๋ย สิ้นพระเดชเขตรยศสลดเลย เหลือจะเงยภักตราลงมาแพ ฯ...............
นาวาล่วงทรวงเสียวเหลียวเหลียวหลัง แลดูวังสังเกตเทวศหมอง นิจาเอ๋ยเคยเปนข้าฝ่าลออง อำไพผ่องเพียงเดือนบนเรือนรถ สิ้นพระชนม์ล้นกระหม่อมจอมกระษัตริย์ เคยเปรมปราสาระพัดวิบัติหมด แต่ก่อนเอ๋ยเคยมีอิศริยศ เดี๋ยวนี้ลดลับเลือนเหมือนเดือนดาว (นิราศวังบางยี่ขัน)
ดังจะเห็นได้ว่า งานกวีนิพนธ์ประเภทงานนิราศของสุนทรภู่ เป็นพัฒนาการขั้นสำคัญของงานนิราศที่มีความแตกต่างไปจากวรรณคดีนิราศสมัยกรุงศรีอยุธยา ที่มีเพียงแต่เน้นอารมณ์ความรู้สึกในการพรรณนาความนิราศเท่านั้น หากยังเป็นเสมือนเครื่องมือบันทึกเรื่องราว ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมของสังคมไทยแต่ครั้งกรุงรัตนโกสินทร์ ผ่านมุมมอง และโลกทัศน์ของกวี คือสุนทรภู่ ที่ถ่ายทอดร้อยเรียงได้อย่างไพเราะสละสลวย ทั้งยังสร้าง ประดิษฐการ ทั้งด้านลีลาการประพันธ์ และขนบการแต่งวรรณคดีนิราศ อันส่งอิทธิพลต่อกวีรุ่นหลังยึดถือเป็นแบบแผนในการประพันธ์อีกด้วย
ขอขอบคุณข้อมูล มติชน วันที่ 26 มิถุนายน 2564
และผู้เขียน อาจารย์พอพล สุกใส ภาควิชาภาษาตะวันออก คณะโบราณคดี ม.ศิลปากร
Share :
Write comment