ราคารวม : ฿ 0.00
โนอาห์แห่งความทรงจำ โดย อ้อมแก้ว กัลยาณพงศ์
“จะเป็นอย่างไรถ้ามนุษย์เราสามารถลบความทรงจำที่ไม่ต้องการทิ้งไปได้?”
ประโยคข้างบนนี้คือ theme ของนวนิยายเรื่อง “โนอาห์แห่งความทรงจำ” ที่ถูกเขียนขึ้นโดยอ้อมแก้ว กัลยาณพงศ์ หนังสือเล่มนี้เป็นนวนิยายขนาดสั้น-ไลท์โนเวล จัดอยู่ในหมวดวรรณกรรมร่วมสมัย เป็นเรื่องราวที่ถูกแต่งขึ้นหลังจากสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ได้ผ่อนคลายลงไปแล้ว โดยเนื้อเรื่องยังมีการพูดถึงบทกระทบจากโควิด-19 อยู่ในบางประเด็น
นวนิยายเดินเรื่องผ่านตัวละครนางเอกที่ชื่อ “ยี่หก มหากุล” ที่เธอต้องการลบความทรงจำอันเลวร้ายบางอย่างในชีวิตออกไป จนกระทั่งเธอไปเจอโครงการการทดลองทางวิทยาศาสตร์ระดับนานาชาติ ที่เพิ่งเข้ามาทำการทดลองเป็นครั้งแรกกับคนไทย ในชื่อโครงการโนอาห์แห่งความทรงจำ ยี่หกสมัครเข้าร่วมโครงการนี้ด้วยความหวังที่อยากจะลบความทรงจำที่เธอไม่ต้องการทิ้งไป
“ในโลกนี้เต็มไปด้วยเรื่องราว บางประสบการณ์คุณไม่คิดว่าจะเกิดขึ้นจริงกับตัวเอง หากเป็นความสุขคุณย่อมหวงแหนและไขว่คว้าเอาไว้ แต่หากเป็นความทุกข์คุณย่อมอยากจะผลักไสให้ห่างตัว เพราะสิ่งเหล่านั้นล้วนทำให้รู้สึกเสียใจและเจ็บปวด ผู้คนมักพูดกันว่าเวลาจะเยียวยาได้ แต่บางครั้งมันกลับฉุดให้เราจมไปกับความผิดพลาดในอดีตต่างหาก .... บางครั้งเวลาจึงไม่ได้ช่วยอะไร ซ้ำยังกินช่วงชีวิตของคุณให้หายไปเรื่อย ๆ คุณพบว่าหนทางเดียวที่จะจัดการได้คือการลืม ลบล้างให้หายไปจนสิ้นเหมือนการลบข้อมูลในไฟล์ดิจิทัล และนี่คือการเกิดขึ้นของโนอาห์แห่งความทรงจำ เรือลำนี้จะช่วยล้างความทรงจำที่คุณไม่ต้องการออกไปจากชีวิต”
(จากหน้า 34)
สำหรับตัวผู้เขียน อ้อมแก้ว กัลยาณพงศ์ ไม่ใช่หน้าเขียนหน้าใหม่ เธอเคยมีผลงานเขียนออกมาแล้ว ซึ่งครั้งหนึ่งนวนิยายของเธอได้เข้าถึงรอบ Short List ซีไรต์ และในครั้งนี้นวนิยายเรื่อง “โนอาห์แห่งความทรงจำ” น่าจะเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ได้รับการพูดถึงในแวดวงวรรณกรรมไทย เพราะนอกจากจะเป็นงานเขียนที่มีความร่วมสมัยและก้าวทันกับสถานการณ์ปัจจุบันแล้ว ประเด็นของเรื่องอาจเป็นปมปัญหาที่ฝังลึกอยู่ในใจของใครหลาย ๆ คนก็ได้ ผมอ่านจากคำนำของผู้เขียนแล้วได้ทราบว่า ผู้เขียนพยายามค้นคว้าหาข้อมูลอ้างอึงทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับเรื่องประสาทวิทยา วิศวกรรมชีวการแพทย์ เทคโนโลยีชีวภาพ ฯลฯ เพื่อนำมาสร้างเป็นนวนิยายเรื่องนี้
อีกหนึ่งประเด็นที่น่าสนใจก็คือวิธีการเขียน สำหรับผมเมื่อผมอ่านเรื่องนี้จบแล้วผมคิดว่าผู้เขียนเลือกที่จะสร้างตัวละคร “ยี่หก” ขึ้นมาสะท้อนภาพเงาของตัวผู้เขียนเอง อาทิเช่น การให้ตัวละครเอกมีอาชีพเป็นผู้ให้บริการทางด้านการจัดงานศิลปะนั้น มันคืออาชีพจริงของผู้เขียน , การสร้างเหตุการณ์เลวร้ายที่ตัวละครเจอ อาจจะทำให้ผู้อ่านที่รู้จักตัวจริงผู้เขียนแอบคิดลึก ๆ ว่า มันมาจากชีวิตจริงของผู้เขียนหรือไม่? หรือว่านักอ่านอย่างตัวผมอาจจะคิดไปเองก็ได้ มันเหมือนกับว่าผู้เขียนพยายามจะสร้างความลวงขึ้นมาเพื่อบรรยายภาพของความจริง หรือในอีกมุมหนึ่งผู้เขียนจงใจสร้างเรื่องจริงให้ชัดเจนในแบบความลวงก็เป็นได้เช่นกัน
ตัวผมต้องขอชมเรื่องการสร้างฉากในเรื่อง เนื่องด้วยตัวผู้เขียนเองก็เป็นคนที่ทำงานศิลปะอยู่ด้วย ดังนั้นการบรรยายฉากในเรื่องนั้นชัดเจนเห็นภาพและสวยงาม รับรู้ได้ว่าการบรรยายฉากเป็นงานศิลปะที่สร้างขึ้นในรูปแบบวรรณศิลป์ที่งดงาม ผู้เขียนสร้างฉากของร้านอาหารและคาเฟ่หลายแห่งขึ้นมาด้วยจินตนาการที่ล้ำสมัยเกินใครคิด ชื่ออาหารและชื่อเครื่องดื่มต่าง ๆ ผู้เขียนประดิษฐ์คำขึ้นมาใช้แบบเป็นตัวของตัวเอง ไม่ซ้ำแบบใคร สถานที่หลายฉากในเรื่องนี้แม้ว่าจะไม่มีอยู่จริง แต่ผมเชื่อว่าในอนาคตต้องมีคนลอกเลียนไอเดียการสร้างฉากจากนิยายเรื่องนี้ไปใช้จริงก็ได้
อีกเรื่องหนึ่งที่ผมอยากจะบอกก็คือ “โนอาห์แห่งความทรงจำ” เรื่องนี้จัดอยู่ในหมวดนิยายวิทยาศาสตร์ได้เลย ในเรื่องมีคำศัพท์คำหนึ่งที่ผู้เขียนนำมาใช้ คือคำว่า “นีโอออปโตเจเนติกส์” (Neo-Optogenetics) เป็นเทคนิคทางชีววิทยาที่ใช้แสงในการเปิดหรือปิดกลุ่มเซลล์ประสาทที่เฉพาะเจาะจงในสมอง ในอนาตเทคโนโลยีนี้อาจพัฒนาให้ก้าวหน้าขึ้นตามแนวคิดของนวนิยายเรื่องนี้ก็เป็นได้ อีกไม่กี่ปีข้างหน้าคนเราเลือกที่จะลืมเรื่องราวบางอย่าง หรือเลือกที่จะลืมใครบางคนได้ง่าย ๆ ถึงขนาดที่ลบใครทิ้งไปจากความทรงจำได้เลย
“โนอาห์แห่งความทรงจำ” โดย อ้อมแก้ว กัลยาณพงศ์ พิมพ์ครั้งแรกโดยสำนักพิมพ์มติชน เดือนมกราคม 2566 เล่มปกอ่อน ความหนา 248 หน้า ราคาปก 320 บาท
นวนิยายเรื่อง “โนอาห์แห่งความทรงจำ” เล่มนี้มีขายที่ศูนย์หนังสือจุฬา นอกจากนั้นท่านสามารถหาซื้อได้ตามร้านหนังสือทั่วไปได้เลย เพราะเป็นหนังสือใหม่ที่กำลังวางแผงอยู่ในขณะนี้
ขอให้ทุกท่านมีความสุขกับการอ่านหนังสือครับ
Share :
Write comment