Barcode : 3000000016613
หมวดหนังสือ : การคลัง/ภาษีอากร
แต่เดิม “ภาษีป้าย” มีการจัดเก็บรวมอยู่กับภาษีโรงค้า ต่อมาถูกยกเลิกไปพร้อมกับการจัดเก็บภาษีโรงค้า และได้มีการนำการจัดเก็บภาษีป้ายมาบัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2496 โดยให้กรมสรรพากรเป็นผู้จัดเก็บเรื่อยมาจนถึง พ.ศ. 2510 จึงได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติภาษีป้ายพ.ศ. 2510 แยกออกจากประมวลรัษฎากร และให้หน่วยงานราชการบริหารส่วนท้องถิ่นเป็นผู้มีอำนาจหน้าที่ในการจัดเก็บ นับถึงปัจจุบันเป็นเวลา 53 ปีแล้ว ปัจจุบันสังคมโลกมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก ป้ายที่เคยเป็นแผ่นโฆษณาติดอยู่ตามหน้าร้านค้าหรือสถานที่ต่างๆ มีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบไปมาก มีการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยผสมผสานกับป้ายรูปแบบเดิม มีการคิดค้นรูปแบบป้ายขึ้นมาใหม่ให้มีภาพแสดงการเคลื่อนไหว มีสีสันมีแสง รวมทั้งอาจมีเสียงและมีกลิ่นเพิ่มเติมขึ้นมา เพื่อช่วยดึงดูดความสนใจของผู้ที่พบเห็นแต่รูปแบบการจัดเก็บภาษีป้ายยังคงเป็นไปในลักษณะเดิม กล่าวคือ มีการคำนวณหาพื้นที่แบบกว้างคูณยาว ซึ่งไม่เหมาะสมกับสภาพความเป็นจริงของป้ายในปัจจุบัน ดังนั้น ในทางปฏิบัติจึงมักจะมีปัญหาในการตีความเกี่ยวกับเรื่องจัดเก็บภาษีป้าย ผู้เขียนเห็นว่า ขณะนี้ยังไม่มีนักวิชาการคนใดเขียนคำอธิบายภาษีป้ายอย่างละเอียดไว้ คงมีแต่คู่มือการจัดเก็บภาษีท้องถิ่นของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นและกรุงเทพมหานคร ที่มีการรวบรวมกฎระเบียบและข้อหารือไว้ แต่ก็ยังไม่สามารถตอบโจทย์ของผู้มีปัญหาได้อย่างครอบคลุมทางบริษัท ธรรมนิติ เพรส จำกัด จึงขอให้เขียนบทความเรื่องภาษีป้ายลงในคอลัมน์ภาษีท้องถิ่นที่ควรรู้ ลงในเอกสารภาษีอากรเป็นประจำทุกเดือน แต่ก็มีข้อจำกัดด้วยพื้นที่และเวลา ด้วยผู้เขียนมีงานประจำที่ต้องรับผิดชอบในราชการจำนวนมาก จึงอาศัยเวลาว่าง สรุปเนื้อหาที่เคยบรรยายมาเขียนเป็นบทความเพื่อให้ผู้ที่สนใจทำการศึกษามาอย่างต่อเนื่องและเมื่อเขียนบทความจบ บริษัท ธรรมนิติ เพรส จำกัด เห็นว่า เนื้อหาในบทความดังกล่าวยังคงมีความทันสมัย มีภาพประกอบที่สวยงามทำให้ผู้อ่านเข้าใจง่าย หากมีการนำมา รวมเล่มก็จะทำให้ค้นคว้าง่ายขึ้น และหากมีการเผยแพร่ไปในวงกว้างก็จะเป็นประโยชน์อย่างมากต่อผู้ที่สนใจ ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบกิจการร้านค้า พนักงานเจ้าหน้าที่ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดเก็บภาษีป้ายและประชาชนที่สนใจทั่วไป