ราคารวม : ฿ 0.00
Simon Sinek เป็นนักพูดสร้างแรงบันดาลใจมายาวนาน แต่เริ่มเป็นที่รู้จักในวงกว้างเมื่อได้รับเชิญให้ขึ้นบรรยายในรายการ TEDtalk เมื่อราวปี ค.ศ.2010 ที่ผ่านมา
หนึ่งในการบรรยายของเขาได้นำเสนอ Golden Circle Theory หรือทฤษฏีวงกลมทองคำ แสดงภาพตัวอย่างให้เห็นถึงความเชื่อมโยงกับสมองของมนุษย์เข้าด้วยกันด้วยลำดับ WHY >> HOW >> WHAT ตามด้านล่าง
ที่มา: https://blog.firstwealth.co.uk/first-wealth-why-day-simon-sinek-golden-circle
อย่างไรก็ตาม การบรรยายครั้งนั้นเน้นไปในเชิงการตลาดของวงการธุรกิจเป็นส่วนมาก ซึ่งหลายองค์กรได้นำไปทดลองจนเริ่มเห็นผล และเป็นที่ยอมรับของวงการโฆษณาในที่สุด
ดังนั้นหากเราได้เห็นโฆษณาที่ขึ้นต้นด้วยประโยคที่ว่า “หากคุณเชื่อว่า....” มันหมายถึงการสื่อสารด้วย Golden Circle Theory ของ Simon Sinek นี่เอง
ในเวลาต่อมา แนวคิดดังกล่าวของเขาได้แตกแขนงไปในเรื่องของการค้นหาเป้าหมายของชีวิตด้วย โดยแบ่งเป็นลำดับชั้นของคำถามดังนี้
ในกรณีผลลัพธ์ยังไม่เป็นไปตามที่เราต้องการ แรงปรารถนาจาก WHY จะผลักดันให้เราค้นหาวิธีการ (HOW) ต่อไปเพื่อให้เกิดผลลัพธ์ใหม่ เป็นเช่นนี้จนกว่าความต้องการของเราจะถูกเติมเต็มในที่สุด
ฟังดูเรียบง่าย ไม่น่าจะซับซ้อนอะไรนัก แต่สิ่งที่ Simon Sinek บรรยายไว้ยังมีเนื้อหาสำคัญซ่อนอยู่ มันคือแรงดึงดูดให้ผู้คนเริ่มติดตามสิ่งที่เรากำลังทำมันอย่างเอาเป็นเอาตายนั่นล่ะ
ถ้าเราจะเชื่อมโยงมันกับกฎของแรงดึงดูดก็อาจทำได้ แต่มันเป็นมุมที่แตกต่างออกไป เพราะกฎของแรงดึงดูดไม่มี WHY และ HOW มีแค่นึกถึงสิ่งที่เราต้องการ (WHAT) เพื่อดึงดูดให้คนที่ต้องการสิ่งเดียวกับเราเข้ามา
ทว่าความคลั่งไคล้กับเป้าหมายเพราะรู้ว่าตนเองกำลังทำไปเพื่ออะไร กับแรงผลักดันอันเกิดจากผู้ที่เข้าใจและเห็นด้วยกับ WHY ของเรากลับมีพลังมากกว่า ความช่วยเหลือและการสนับสนุนจากผู้คนเหล่านั้นจะเกิดขึ้นมาในหลากหลายรูปแบบ
บ้างก็เป็นเงินทุน บ้างก็เป็นสิ่งของ บ้างก็เป็นความคิดใหม่ๆ บ้างก็เป็นความร่วมมือที่มอบให้ เป็นแรงงาน เป็นมือไม้ที่พร้อมจะร่วมทุกข์ร่วมสุขไปกับเราตลอดทาง และแม้กระทั่งสิ่งเล็กๆน้อยๆอย่างคำพูดดีๆเป็นกำลังใจอยู่ห่างๆ
มันจึงเป็นเรื่องอันตราย หากเราได้รับความสนใจมากเกินไป บางคนอาจเริ่มไขว้เขว้ หลงลืมว่าตนเองกำลังทำสิ่งเหล่านั้นไปทำไม ความมุ่งมาดปรารถนาของเขาก็ไปไม่ถึงฝั่งฝัน ซึ่งบทเรียนเหล่านี้ก็มีให้เราเห็นตลอดเวลา
แรงปรารถนาและวินัยทางความคิดของตนเองจึงต้องควบคู่กันไป เพื่อให้แรงปรารถนาของเรามุ่งไปในทางที่มันควรจะเป็น ดังที่เห็นได้จากคนที่ประสบความสำเร็จในชีวิต ทุกคนล้วนต้องผ่านช่วงยากลำบากและต้องคอยถามใจตนเองอยู่เป็นประจำ
สภาพของเราในตอนนี้ มันเป็นสิ่งที่เราต้องการจริงๆหรือเปล่า?
เป็นคำถามสั้นๆ แต่ในบางครั้งกับใครบางคนก็ตอบได้ยากเย็นเต็มที อาจเป็นเสียงกระท่อนกระแท่น เพราะยังรู้สึกกึ่งเสียดายกึ่งพอใจกับ comfort zone ณ จุดที่เราอยู่
ทว่าเมื่อใดที่เราตอบคำถามนี้ได้เต็มเสียง พลังของคำตอบจะไม่ต่างกับช้างถีบ เส้นทางอนาคตของเราจะชัดเจนยิ่งกว่าจินตภาพของกฎแรงดึงดูดเป็นไหนๆ
ถ้าเป็นอย่างนั้น มันก็น่าจะลองตอบกันดูสักหน่อยไม่ใช่หรือ?
หมายเหตุ สำหรับผู้ที่สนใจรายละเอียด TEDtalk ของ Simon Sinek สามารถฟังจาก Video ด้านล่างนี้ (สามารถเปิดคำบรรยายไทยได้)
แชร์ :
เขียนความคิดเห็น