ตอนที่ 8 : แอ๋วเชียงราย: วัดพระธาตุดอยเวา, วัดห้วยปลากั้ง, วัดร่องเสือเต้น แวะจิบชาไร่ชาฉุยฟง

แอ๋วเชียงราย: วัดพระธาตุดอยเวา, 

วัดห้วยปลากั้ง, วัดร่องเสือเต้น, 

  แวะจิบชาไร่ชาฉุยฟง

One Day Trip เที่ยวเหนือ

วัดพระธาตุดอยเวา แม่สาย      

         แม่สาย อำเภอเหนือสุดของ เชียงราย และประเทศไทย นอกจากจะมี ที่เที่ยวธรรมชาติ ที่น่าสนใจแล้ว ยังมี วัดสวย อย่าง วัดพระธาตุดอยเวา ที่ประดิษฐานองค์พระธาตุที่ว่ากันว่ามีความเก่าแก่รองลงมาจาก พระธาตุดอยตุง     พระธาตุดอยเวานั้น ตั้งอยู่บนยอดดอยเวา แต่พระอุโบสถและเขตสังฆาวาสจะอยู่ที่เชิงดอย ผู้ที่จะขึ้นไปนมัสการต้องเดินขึ้นบันไดไปนมัสการ ซึ่งข้างบนเป็นจุดชมทัศนียภาพสองฝั่งสาย  สามารถมองเห็นวิวของ อำเภอแม่สาย และ เมืองท่าขี้เหล็ก ประเทศเมียนม่า ได้อย่างชัดเจน ถือเป็นอีกหนึ่งทริปที่ได้ทั้งบุญ และสัมผัสธรรมชาติไปพร้อมๆ กัน 

    ตามตำนานกล่าวว่าวัดแห่งนี้สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 364 โดย พระองค์เวาผู้ครองนครโยนก กษัตริย์องค์ที่ 10 วงศ์สิงหนวัติ แห่งนครนาคพันธุ์สิงหนวัติ หรือ เชียงแสนโบราณ เพื่อเป็นที่บรรจุพระเกศาธาตุ เมื่อเวลาผ่านพ้นไปนับพันปี พระเจดีย์ที่เคยสร้างเอาไว้ก็ชำรุดผุพังตามอายุขัย  จึงได้มีการค้นพบผอบบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ 5 องค์ และบรรจุไว้ในฐานเจดีย์ดังเดิม

 

 

วัดห้วยปลากั้ง (พระอาจารย์พบโชค) จ.เชียงราย

         เริ่มก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ.2544 โดยคณะศรัทธาวัดห้วยปลากั้งเริ่มกันก่อตั้งเป็นสำนักสงฆ์ จนกระทั่งวันที่ 19 พฤศจิกายน 2548 ได้มีพระอาจารย์พบโชค ติสฺสวํโสได้เดินทางมาปฏิบัติธรรมและเริ่มมีการก่อตั้งศาสนวัตถุ เริ่มตั้งแต่กุฏิสงฆ์ ศาลาการเปรียญ หอฉัน เจดีย์และเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2552 ทางสำนักงานพุทธศาสนาแห่งชาติ ได้มีประกาศแต่งตั้งให้เป็นวัดโดยชื่อว่า วัดห้วยปลากั้ง โดยมีพระอธิการพบโชค ติสฺสวํโส เป็นเจ้าอาวาสรูปแรก ปัจจุบันวัดห้วยปลากั้งเป็นวัดที่มีศรัทธาจากต่างจังหวัด ต่างประเทศ เข้ามากราบไหว้นมัสการ และปฏิบัติธรรมเป็นจำนวนมาก ถือเป็นจุดกำเนิดพุทธศาสนาในเชียงรายแห่งหนึ่งที่สำคัญ   

     วัดห้วยปลากั้ง ตั้งอยู่ในตำบลริมกก อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย เป็นอีกวัดหนึ่งที่มีความสวยงามไม่แพ้วัดอื่นๆ ในจังหวัดเชียงราย ตั้งอยู่บนเขาและรายล้อมด้วยเนินเขาและวิวที่งดงาม จุดเด่นของวัดนนี้คือ "พบโชคธรรมเจดีย์" เจดีย์สูง 9 ชั้น ทรงแหลมศิลปะจีนผสมล้านนาสง่างามด้วยทันได้ที่มีมังกรทอดยาวทั้งสองข้างบันได ล้อมรอบด้วยเจดีย์จำลองขนาด 12 ราศี ภายในเจดีย์ ประดิษฐานพระพุทธรูปและพระอรหันต์ต่างๆ รวมถึงเจ้าแม่กวนอิมแกะสลักจากไม้จันหอมองค์ใหญ่ แต่เดิมเคยเป็นวัดร้างที่มีมาแต่โบราณ ถูกบูรณะโดย พระอาจารย์พบโชค ติสสะวังโส จนฝื้นกลับมาเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวเชียงรายอีกครั้ง และมีความเชื่อกันว่าหากใครมาเยือนจะรู้สึกเหมือนได้ขึ้นสวรรค์

 

วัดร่องเสือเต้น

     วัดร่องเสือเต้น  ความโดดเด่นของวันร่องเสือเต้นที่เห็นได้ชัดคือ วิหารวัดร่องเสือเต้น สร้างและออกแบบโดยศิลปินพื้นบ้านชาวเชียงราย นายพุทธา กาบแก้ว หรือที่คนรู้จัดในนาม สล่านก หลังจากที่จบการศึกษาใหม่ๆก็มีโอกาสได้มาเป็นลูกศิษย์ของอาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ในการสร้างวัดร่องขุ่น จนได้ซึมซับศิลปะแนวพุทธศิลป์มาจากอาจารย์เฉลิมชัย เรียกว่า ศิษย์ก้นกุฏิเลยก็ว่าได้ การสร้างวิหารวัดร่องเสือเต้น สร้างขึ้นเมื่อ วันที่ 27 ตุลาคม 2548 โดยมีขนาดกว้าง 13 เมตร ยาว 48 เมตร สร้างเสร็จเมื่อ วันที่ 22 มกราคม 2559 ร่วมใช้เวลาก่อสร้างแล้วเสร็จถึง 11 ปี

     โทนสีที่ใช้เป็นโทนสีน้ำเงินฟ้าตัดกับสีทองเพื่อสร้างความโดดเด่นให้กับวิหาร โดยสีน้ำเงินฟ้าของตัววิหารนั้นแสดงถึงธรรมะขององค์สมเด็จพระพุทธเจ้าที่ขจรขจายไปทั่วโลก ซึ่งเป็นหลักคำสอนที่เป็นความจริงตามหลักเหตุและผล เปรียบเสมือนดังท้องฟ้าที่สดใส เป็นศิลปะแนวพุทธศิลป์ร่วมสมัยที่แฝงด้วยธรรมของพุทธองค์ 

       ส่วนภายในวิหารเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรัชมงคลบดีตรีโลกนาถ สีขาวมุกขนาดหน้าตักกว้าง 5 เมตร สูง 6.5 เมตร โดยมีพระรอดลำพูน จำนวน 88,000 องค์ และแก้วแหวนเงินทองหลายสิ่งถูกฝังอยู่ใต้พระพุทธรูปองค์นี้ รวมทั้งบริเวณพระเศียรก็ได้บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ซึ่งได้รับพระราชทานจากสมเด็จพระญาณสังวรสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก รวมทั้งยังได้รับพระราชทานนาม รัชมงคลบดีตรีโลกนาถ ทีหมายความว่า “พระพุทธเจ้าทรงเป็นมงคลเจ้าในความเป็นราชา เป็นที่พึ่งในสามโลก”

 

 วัดถ้ำปลา

        วัดถ้ำปลา หรือ วัดพุทธสถานถ้ำปลา ตั้งอยู่ที่บ้านถ้ำปลา หมู่ที่ 14 ตำบลโป่งผา อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย โดย ถ้ำปลา มีลักษณะเป็นลำธารเล็ก ๆ ไหลออกจากใต้ภูเขาหินปูน ไหลทะลุผ่านภูเขาหลายเส้นทางโดยไหลออกทางหน้าปากถ้ำด้านทิศตะวันออกสายน้ำ เหล่านี้มีต้นกำเนิดมาจาก น้ำตกห้วยเนี้ย ถ้ำนี้วัดความกว้างได้ประมาณ 2.50 เมตร ความสูงวัดจากฝั่งน้ำขึ้นไป สูงประมาณ 1.50 เมตร น้ำลึกประมาณ 0.50 เมตร และภายในถ้ำยังมีพระพุทธรูปศิลปะพม่า สร้างขึ้นโดยพระภิกษุชาวพม่า ประชาชนทั่วไปเรียกว่า "พระทรงเครื่อง" เป็นที่เลื่อมใสของประชาชนในแถบนี้เป็นอย่างมาก

ตำนาน "วัดถ้ำปลา"

         มีตำนานเล่าว่า ... เมื่อครั้งพระพุทธเจ้าเสด็จมาโปรดสัตว์และออกบิณฑบาตที่เมืองโยนกนครไชยบุรีศรีช้างแสน ได้ดำเนินเลียบเชิงเขามายังถ้ำแห่งหนึ่ง (ถ้ำเปลวปล่องฟ้าในปัจจุบัน) ปรากฏว่ามีชาวบ้านนำปลาหนีบไม้ปิ้งมาใส่บาตร พระพุทธเจ้าได้ทรงอธิฐานให้ปลากลับมามีชีวิตใหม่อีกครั้ง จากนั้นได้ปล่อยลงรูเหวในถ้ำ เกิดเป็นธารน้ำไหลออกมาทางหน้าผาด้านตะวันออก จากนั้นพระพุทธเจ้าทรงนำก้อนหินปิดรูเหวที่เทน้ำลงไป และนำเส้นพระเกศาไว้ในหินให้เป็นที่สักการะบูชาของคนต่อไป จนกระทั้งราวพุทธศตวรรษที่ 15 เจ้าอุชุตราช ผู้ครองโยนกนคร ได้สถาปนาพระเจดีย์และบรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้ในถ้ำ นับแต่นั้นมาจึงเรียกกันว่า "ถ้ำปลา"

 

“ไร่ชาฉุยฟง”  

     ไร่ชาฉุยฟง ตั้งอยู่ที่ อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงรายค่ะ ที่นี่เป็นแหล่งปลูกชาชั้นดีของ บริษัท ฉุยฟงที จำกัด ซึ่งเป็นผู้ผลิตใบชารายใหญ่ที่สุดในจังหวัดเชียงรายมากว่า 40 ปีแล้ว 

     ไร่ชาฉุยฟง สถานที่ท่องเที่ยวเชียงราย ยอดฮิต ที่หากให้ได้ไปเที่ยวเชียงราย ต้องแวะมาเที่ยว ไร่ฉุยฟง ไร่ชาที่เป็นแหล่งผลิตชาคุณภาพของชาไทย ของคนไทย ที่มีพื้นที่มากกว่า 1000 ไร่ ที่โอบล้อมไปด้วย ชาฉุยฟง ที่เขียวขจีไกลสุดลูกหูลูกตา นอกจากจะเป็น ที่เที่ยวเชียงราย ที่ต้องห้ามพลาดแล้ว ยังเป็นคาเฟ่ ร้านอาหาร และที่พัก ที่มีมาบริการนักท่องเที่ยวได้เพลิดเพลินกับชา ฉุยฟง ให้ทุกท่านได้ชื่นชมบรรยากาศของไร่ชาฉุยฟงได้อย่างเต็มที่ พร้อมยังมีผลิตภัณฑ์ให้ทุกท่านได้เพลิดเพลินกับ ชาเขียว ชาอู๋หลง เค้กชาเขียว และผลิตภัณฑ์ต่างๆของ ไร่ชาฉุยฟง ให้ทุกท่านได้สามารถซื้อติดไม้ติดมือ กลับไปฝากคนที่บ้าน  

     นอกจากไร่ชา ท่ามกลางภูเขา และท้องฟ้าสีครามแล้ว ที่นี่ยังมีคาเฟ่เล็กๆ ให้นักท่องเที่ยวได้อร่อยกับเค้ก พร้อมนั่งจิบชาชมวิวในบรรยากาศดีๆ อีกด้วยค่ะ แน่นอนว่ามาทั้งที เราก็ไม่พลาดที่จะไปลองชิมสักหน่อย

 

       เมนูชามีมากมายให้เลือกแล้วแต่ความชอบ สำหรับวันนี้เลยลอง ชาน้ำผึ้งมะนาว และ ชาเขียวถั่วแดง คู่กับเครปเค้กชาเขียว ดูสักหน่อย ไฮไลท์ก็คือ ยอดใบชาที่ปักลงมาในทุกเมนูนี่แหละค่ะ แถมรสชาติยังดีใช้ได้เลยค่ะ ได้นั่งชมวิวจิบชา กินเค้กไปด้วยแบบนี้ ฟินสุดๆ ไปเลย  

ทริปบุญรักคำราม

 

 


อ่าน : 0

แชร์ :


เขียนความคิดเห็น